ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลฎีกาฯ คดีนักการเมือง รับฟ้อง “ยิ่งลักษณ์” ทุจริตจำนำข้าว นัดพิจารณาครั้งแรก 19 พ.ค. 2558

ศาลฎีกาฯ คดีนักการเมือง รับฟ้อง “ยิ่งลักษณ์” ทุจริตจำนำข้าว นัดพิจารณาครั้งแรก 19 พ.ค. 2558

19 มีนาคม 2015


น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี (ซ้าย) ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/Y.Shinawatra/photos/a.819218524789271.1073743007.105044319540032/819218591455931/?type=1&theater
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี (ซ้าย) ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/Y.Shinawatra/photos/a.819218524789271.1073743007.105044319540032/819218591455931/?type=1&theater

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะผู้พิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ได้มีการประชุมและมีมติเลือกนายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน

จากนั้น ได้ออกนั่งบัลลังก์และมีคำสั่งว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 9(1) และข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2543 ข้อ 8 จึงมีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้

นัดพิจารณาคดีครั้งแรก วันที่ 19 พฤษภาคม 2558 เวลา 09.30 น.

ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลย โดยให้โจทก์หรือผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานศาลไปส่งภายใน 7 วัน การส่งหมายหากไม่พบจำเลยหรือไม่มีผู้รับแทนโดยชอบ ให้ปิดหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ มีเฉพาะตัวแทนฝ่ายโจทก์ นำโดยคณะทำงานของ อสส. เท่านั้น ที่มาฟังคำสั่งขององค์คณะผู้พิพากษา

นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน เปิดเผยว่า การพิจารณาคดีครั้งแรก ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 มีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นวันเริ่มต้นการพิจารณาคดี หากจำเลยมาศาลก็จะถือว่าอยู่ในอำนาจศาล จากนั้นศาลจะอ่านคำสั่งว่าจะให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือขังไว้เลย แล้วจะนัดวันตรวจพยานหลักฐาน ซึ่งขณะนี้ คณะทำงานอยู่ระหว่างจัดทำบัญชีพยาน โดยน่าจะยื่นพยานบุคคล 13 ปาก พยานเอกสารและพยานวัตถุจำนวนมาก

“คดีนี้ เมื่อ อสส. มีคำสั่งเห็นสั่งฟ้อง ก็แสดงว่ามั่นใจในพยานหลักฐานที่มีอย่างเต็มที่ แต่ฝ่ายจำเลยก็อาจมีข้อโต้แย้งในเชิงกฎหมายว่า เมื่อได้แถลงนโยบายรับจำนำข้าวต่อรัฐสภาไม่สามารถระงับยับยั้งได้ ก็ต้องไปว่ากันในขั้นตอนการไต่สวนพยานหลักฐาน”

เมื่อถามว่าระหว่างนี้ หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ขอเดินทางออกนอกประเทศจะอนุญาตหรือไม่ เพราะเคยมีกรณีที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พี่ชายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอเดินทางออกนอกประเทศแล้วไม่กลับมา นายสุรศักดิ์กล่าวว่า เรื่องนั้นเป็นคนละกรณีกัน การจะอนุญาตหรือไม่ ขณะนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล เพราะถือว่าอยู่ในอำนาจของศาลแล้ว ตามหลักการ หากศาลปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย ก็อาจจะมีการวางข้อกำหนดบางอย่าง เช่น ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของจำเลย

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจ หลังทราบว่าศาลฎีกาฯ มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีนี้ โดยยังยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเองว่าทำทุกอย่างตามกฎหมาย พร้อมเรียกร้องให้การพิจารณาคดดีครั้งนี้ เป็นอย่างถูกต้อง โปร่งใส เป็นธรรม และปราศจากอคติใดๆ และวอนทุกอย่างให้ยุติการวิพากษ์วิจารณ์ หรือกดดัน ชี้นำ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง จนกว่าการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ จะเสร็จสิ้น

สำหรับคดีนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูก อสส. ฟ้องในข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (และแก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 วรรคสี่ มีอัตราโทษสูงสุดจำคุก 10 ปี ปรับ 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เปิดปูม “วีระพล ตั้งสุวรรณ” ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน

สำหรับประวัติของนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีนี้ เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนปานะพันธุ์วิทยา ในพระบรมราชูปถัมภ์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระดับปริญญาโทนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และเนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

รับราชการในศาลยุติธรรมมาตลอดชีวิต เคยป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดกระบี่ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพิจิตร ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เลขานุการศาลอุทธรณ์ภาค 1 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแขวง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการเนติบัณฑิตยสภา และกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

เคยร่วมเป็นองค์คณะผู้พิพากษา ที่ตัดสินให้จำคุกนายพิชิต ชื่นบาน อดีตทนายความของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดา และปัจจุบันเป็นคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย กับพวก รวม 3 คน เป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล กรณีนำเงินสด 2 ล้านบาท ใส่ถุงขนมนำมามอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาฯ

นอกจากนี้ นายวีระพลยังเป็นองค์คณะผู้พิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อีกอย่างน้อย 4 คดี อาทิ

1. คดีทุจริตการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม. ที่ตัดสินให้จำคุก นายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นเวลา 12 ปี และจำคุก พล.ต.ต. อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย กทม. เป็นเวลา 10 ปี แต่จำเลยทั้ง 2 หลบหนีจึงให้ออกหมายจับนำตัวมารับการลงโทษ

2. คดีทุจริตการปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย ที่มี พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นหนึ่งในจำเลย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนพยาน แม้จะจำหน่ายคดีในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณไว้ก่อน เพราะหลบหนีไม่เดินทางมาศาล

3. คดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยมิชอบ ที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นหนึ่งในจำเลย ซึ่ง อสส. เพิ่งนำสำนวนส่งฟ้อง เมื่อต้นปี 2558 และศาลฎีกาฯ มีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้ พร้อมนัดวันพิจารณาคดีครั้งแรก ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2558

และ 4. คดีลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา กรณีเขาพระวิหาร โดยมิชอบ ที่มี “นายนพดล ปัทมะ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นจำเลย ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนพยาน

จากวันชี้มูล ถึงวันรับฟ้อง

อนึ่ง หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทำการ “ชี้มูลความผิดอาญา” น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 จากกรณีที่ละเว้นต่อการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และได้ทำสำนวนการไต่สวนพร้อมความเห็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. สมควรสั่งฟ้องให้ อสส. เพื่อทำสำนวนคดีส่งฟ้องต่อศาลฎีกาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ก่อนหน้านี้ อสส. ได้ตีกลับสำนวนการไต่สวน พร้อมให้แก้ไขประเด็นที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เพื่อให้ ป.ป.ช. ดำเนินการแก้ไขถึง 4 ครั้ง

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติ “ถอดถอน” นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วยคะแนน 190-18

ทั้งนี้ นอกจากการดำเนิน “คดีอาญา” แล้ว เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ป.ป.ช. ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้เสียหายร่วม เพื่อให้เรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวใน “คดีความรับผิดทางละเมิด”

ต่อมาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ป.ป.ช. ได้ส่งสรุปสำนวนไต่สวน จำนวน 60 ลัง กรณีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และพวก ให้ อสส. เพื่อส่งฟ้องคดี โดยก่อนหน้านี้มีหลายความเห็นได้ออกมาแสดงทัศนะเกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้คดี และทางหนีทีไล่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อ อสส. ยื่นคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง บ้างวิเคราะห์ว่า อดีตนายกฯ หญิงอาจจะทำการขอ “ลี้ภัยทางการเมือง” ตามช่องทางของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 เช่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เคยใช้ช่องทางนี้เมื่อครั้งถูกยื่นฟ้องในปี 2550 ในคดีที่ดินรัชดา

จนทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาตรการคุมเข้ม ไม่อนุญาตให้นางสาวยิ่งลักษณ์ออกนอกประเทศในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 นางสาวยิ่งลักษณ์จึงเดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษร่วมกับญาติๆ ที่วัดโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ซี่ง คสช. ส่ง “ทัพภาค 3” ตามประกบตรวจค้นขบวนรถอดีตนายกฯ หญิงก่อนออกไปทำบุญในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 อสส. ได้นำสำนวนคดีนี้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งต่อมาที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้มีมติเลือกผู้พิพากษาระดับศาลฎีกาขึ้นไป จำนวน 9 คน มาเป็นองค์คณะผู้พิพากษาที่รับผิดชอบคดีนี้

กระทั่ง วันที่ 19 มีนาคม 2558 ศาลฎีกาฯ ได้มีคำสั่งประทับรับฟ้อง พร้อมนัดวันพิจารณาคดีครั้งแรก เป็นวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 เวลา 09.30 น. ซึ่งหากวันดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มาปรากฏตัวตามข้อกฎหมาย ก็จะมีการออก “หมายจับ” ให้นำตัวจำเลยมาอยู่ในอำนาจศาล เพื่อเริ่มต้นการพิจารณาคดี