เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2558 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีการนัดตรวจสอบบัญชีพยานในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในคดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558 กล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว
โดย น.ส. ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาที่ศาลด้วยตัวเอง พร้อมทีมทนายความ และแกนนำพรรคเพื่อไทย
องค์คณะผู้พิพากษา ที่มีนายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา เป็นเจ้าของสำนวน ได้ขึ้นบัลลังก์พร้อมอ่านคำสั่ง กรณีที่ทนายจำเลยยื่นคำร้อง จำนวน 2 คำร้อง
- กรณีที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้รอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว เพราะเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลฎีกาฯ แต่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง ศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์กล่าวหาจำเลยเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกฯ ซึ่งไม่มีกรณีใดเลยที่ให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา จึงไม่มีเหตุให้ต้องรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว ให้ยกคำร้อง
- กรณีที่ทนายจำเลยยื่นคำร้อง คัดค้านพยานบุคคล 23 ปากและพยานเอกสาร ที่ปรากฏในบัญชีพยานของโจทก์ โดยอ้างว่าเป็นพยานหลักฐานที่ไม่ปรากฏในชั้นของการไต่สวนมาก่อน ศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้กฎหมายกำหนดให้ยึดสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหลักในการพิจารณาคดี แต่ก็ให้อำนาจศาลไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ และจำเลยก็มีสิทธิ์นำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้อยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะไม่รับบัญชีพยานของโจทก์ ให้ยกคำร้อง
ทั้งนี้ โจทก์ได้ยื่นพยานเอกสารจำนวน 160 แฟ้ม ส่วนจำเลยยื่นพยานเอกสาร 61 แฟ้ม ซึ่งองค์คณะฯ เห็นว่ามีจำนวนมาก จึงให้คู่ความร่วมกันตรวจพยานหลักฐานต่อไปทุกวันพุธจนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยศาลนัดพร้อมคู่ความเพื่อฟังคำสั่งเกี่ยวกับการตรวจบัญชีพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดไต่สวนพยาน ในวันที่ 29 ตุลาคม 2558 เวลา 09.30 น.
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตนได้ยื่นบัญชีพยานหลักฐาน ซึ่งมีพยานบุคคลรวม 71 ปาก เชื่อว่าไม่มากจนเกินไป ประกอบด้วยพยานบุคคลทั้งที่เคยให้การไว้กับ ป.ป.ช. และที่เคยเสนอให้ ป.ป.ช. ไต่สวน แต่ถูกตัดออกไป ส่วนตัวพร้อมมาตามที่ศาลนัดทุกครั้ง
คกก. ฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนำข้าว รายงานนายกฯ 7 ก.ย. นี้
ส่วนความคืบหน้าในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดชอบทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว จำนวน 2 คณะ ซึ่งจัดตั้งโดยคำสั่งนายกฯ ทั้งกรณีปล่อยปล่อยให้มีการทุจริต โดยมีผู้เกี่ยวข้องคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และกรณีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมีผู้เกี่ยวข้องคือนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก รวม 21 คน จะรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในวันที่ 7 กันยายน 2558 นี้
จากนั้น จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งของกระทรวงการคลังตรวจสอบข้อเท็จจริงและความเสียหายอีกครั้ง หากพบว่าบุคคลดังกล่าวต้องรับผิดชอบต่อค่าเสียหายนั้น ก็จะแจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่ได้รับความเสียหายออกคำสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องชดใช้ค่าเสียหายต่อไป