ThaiPublica > เกาะกระแส > “ยิ่งลักษณ์” ขึ้นศาลฎีกาฯ คดีจำนำข้าว ให้การปฏิเสธทุกข้อหา – ใช้เงินฝาก 30 ล้านบาทประกันตัว ศาลห้ามออกนอกประเทศ

“ยิ่งลักษณ์” ขึ้นศาลฎีกาฯ คดีจำนำข้าว ให้การปฏิเสธทุกข้อหา – ใช้เงินฝาก 30 ล้านบาทประกันตัว ศาลห้ามออกนอกประเทศ

19 พฤษภาคม 2015


“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มาปรากฏตัวที่ศาลฎีกาฯ เป็นครั้งแรก ร่วมพิจารณาคดีทุจริตจำนำข้าว ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา – ใช้เงินฝาก 30 ล้านบาทประกันตัว ศาลห้ามออกนอกประเทศ – นัดตรวจพยานหลักฐาน 21 และ 28 ก.ค. นี้

580519yingluck
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาร่วมการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะผู้พิพากษาของศาลฎีกาฯ ในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในคดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558 กล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ได้ออกนั่งบัลลังก์เพื่อพิจารณาคดีเป็นครั้งแรก

โดยในวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางมาปรากฏตัวที่ศาลฎีกาฯ เป็นครั้งแรก โดยมีอดีตรัฐมนตรี แกนนำคนเสื้อแดง และสมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) จำนวนหนึ่งเดินทางมาให้กำลังใจ อาทิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกฯ นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการ พท. เป็นต้น

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวก่อนเดินทางเข้าห้องพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ สั้นๆ ว่า มั่นใจในความบริสุทธิ์ พร้อมขอให้ยุติการวิพากษ์วิจารณ์เพราะคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลแล้ว

นายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา ในฐานะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ฟัง มีใจความโดยสรุปว่า ระหว่างเดือนสิงหาคม 2554 – เดือนพฤษภาคม 2557 จำเลยดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 รวมถึงเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) คดีนี้จำเลยได้ดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวเปลือก รวม 5 โครงการ ได้แก่ ข้าวนาปี 2554/2555 ข้าวนาปรัง 2555 ข้าวนาปี 2555/2556 ข้าวนาปรัง 2556 และข้าวนาปี 2556/2557

ระหว่างดำเนินการตามนโยบายนี้ มีข้อทักท้วงทั้งก่อนและระหว่างดำเนินการจากหลายหน่วยงาน ทั้ง ป.ป.ช. สตง. กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ รวมไปถึงพรรคฝ่ายค้าน ว่านโยบายนี้มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อคุณภาพข้าว บิดเบือนกลไกตลาด และเกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งจำเลยและคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบระมัดระวัง ทั้งในการกำหนดราคารับจำนำอย่างสมเหตุสมผล และมีมาตรการป้องกันความเสียหายจากการทุจริตและระบบเศรษฐกิจของประเทศ

“แต่จำเลยและ ครม. กลับเดินหน้านโยบายนี้โดยไม่ยับยั้งความเสียหาย ไม่มีการปรับแก้หลักเกณฑ์ให้เกิดความรอบคอบ ทำให้ความเสียหาย ทั้งที่คำนวณเป็นเงินได้และไม่ได้ โจทก์จึงยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษจำเลย ทั้งในความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 157 มีอัตราโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 123/1 มีอัตราโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จำเลยจะให้การรับสารภาพ หรือปฏิเสธ หรือมีอะไรจะกล่าวเพิ่มเติมหรือไม่” นายวีระพลกล่าว

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรมาภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2558

ส่วนคำร้องของฝ่ายจำเลยที่ขอให้พิจารณาคดีลับหลัง นายวีระพลกล่าวว่า ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องมาศาลตามนัดทุกนัด หากไม่สามารถมาศาลในนัดใด จะต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุจำเป็นต่อ โดยศาลจะพิจารณาสั่งเป็นคราวๆ ไป จากนั้น ได้นัดตรวจพยานหลักฐานของคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย ในวันที่ 21 และ 28 กรกฎาคม 2558 เวลา 09.30 น.

“ส่วนที่จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอนุญาตโดยมีเงื่อนไขห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล” นายวีระพลกล่าว

ทั้งนี้ ฝ่ายโจทก์ได้แจ้งต่อศาลเบื้องต้นว่า จะมีพยานบุคคลจำนวนทั้งสิ้น 13 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลยแจ้งว่าจะมี 20 ปากขึ้นไป ทั้งที่อยู่และไม่อยู่ในสำนวนของ ป.ป.ช.

ภายหลังศาลฎีกาฯ พิจารณาคดีครั้งแรกเสร็จสิ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็เดินทางกลับโดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ ท่ามกลางผู้สนับสนุนที่ตะโกนให้กำลังใจว่า “นายกฯ สู้ๆ”

ด้านนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยว่า หลักทรัพย์ที่ใช้ในการประกันตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ครั้งนี้ คือบัญชีเงินฝากรวมมูลค่า 30 ล้านบาท