เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2558 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะผู้พิพากษา ในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก รวม 21 คน เป็นจำเลย กรณีร่วมกันทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ในคดีหมายเลขดำที่ อม. 25/2558 ได้นัดคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย มาตรวจบัญชีพยานหลักฐาน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
นายบุญทรงให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า คู่ความยังตกลงเรื่องจำนวนพยานไม่ได้เนื่องจากต่างฝ่ายต่างอ้างพยานจำนวนมาก ทั้งพยานเอกสารกว่า 6 หมื่นแผ่น และพยานบุคคลฝ่ายละนับร้อยปาก ศาลจึงนัดให้มาพูดคุยตกลงกันทุกวันอังคาร และนัดพร้อมอีกครั้ง ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 เพื่อฟังคำสั่งว่าจะเริ่มต้นไต่สวนพยานหลักฐานในคดีนี้เมื่อใด
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าว ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เตรียมสรุปมูลค่าความเสียหายภายในวันที่ 31 กันยายน 2558 เพื่อเรียกให้ผู้เกี่ยวข้องชดใช้ นายบุญทรงกล่าวว่า ต้องดูก่อนว่าตัวเลขที่สรุปมามีมูลค่าเท่าใด จากนั้นค่อยไปปรึกษากับทีมทนายความ แต่ยอมรับว่าอาจใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลปกครอง
“ยิ่งลักษณ์” ยื่นศาลอาญาเอาผิด อสส. ปมสั่งฟ้องคดีจำนำข้าว
วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่ง อสส. ได้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ในคดีหมายเลขดำที่ อม. 22/2558 ได้เดินทางไปที่ศาลอาญา เพื่อยื่นฟ้องนายตระกูล วินิจนัยภาค อสส. กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 200 และมาตรา 83 โดยเป็นการกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระกันรวม 3 กรณี ดังต่อไปนี้
- การที่ อสส. มีความเห็นชี้ข้อไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะดำเนินคดีได้รวม 4 ข้อ อันประกอบไปด้วย ประเด็นปัญหาเรื่องโครงการรับจำนำข้าว ประเด็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ประเด็นเรื่องการทุจริต และประเด็นอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ซึ่งเป็นคุณกับตน แต่กลับไม่ได้ไต่สวนให้เสร็จสิ้นตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 และภายหลังกลับมีความเห็นสั่งฟ้อง 1 ชั่วโมง ก่อนการพิจารณาถอดถอนตนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
- การบรรยายฟ้องของ อสส. ที่ยื่นฟ้องตนต่อศาลฎีกาฯ มีการเพิ่มเติมข้อกล่าวหาจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งข้อกล่าวหาเดิมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 โดยไม่มีข้อกล่าวหาว่าทุจริต หรือสมยอมให้ทุจริต แต่คำฟ้องของ อสส. กลับบรรยายว่าตนรู้เห็นและสมยอมให้เกิดการทุจริต ซึ่งเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น
- ในชั้นพิจารณาของศาล อสส. กลับนำเอกสารที่ไม่มีการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. และในชั้นคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการสูงสุดและ ป.ป.ช. ในคดีที่กล่าวหาดิฉันเข้ามาในสำนวนจำนวนกว่า 60,000 แผ่น ซึ่งถือเป็นการนำเอกสารนอกสำนวนเข้ามาในสำนวนโดยมิชอบ
“การดำเนินการของอัยการสูงสุดทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมา เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงจำเป็นต้องรักษาสิทธิและใช้สิทธิตามกฎหมายที่ต้องฟ้องร้องกับทุกกรณีที่เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม และไม่เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย ระเบียบ และหลักนิติธรรม” เอกสารสรุปคำฟ้องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ