เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 เวลา 09.00 น. ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีมติเลือกองค์คณะผู้พิพากษา เพื่อพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ อม.25/2558 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระหว่าง อัยการสูงสุด (อสส.) โจทก์ กับ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก รวม 21 คน ในคดีกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G to G ด้วยวิธีลงคะแนนลับ มีจำนวน 9 คน ดังรายชื่อดังต่อไปนี้
1.นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา
2.นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานแผนกคดีอากรในศาลฎีกา
3.นายวิรุฬห์ แสงเทียน ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา
4.นางทัศนีย์ จั่นสัญจัย ธรรมเกณฑ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา
5.นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา
6.นางพฤษภา พนมยันตร์ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา
7.นายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา
8.นายนวลน้อย ผลทวี ประธานแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา
และ 9.นายอภิรัตน์ ลัดพลี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
โดยจะติดประกาศเพื่อให้คู่ความทราบ ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาฯ พ.ศ.2543 ข้อ 4 หน้าห้องพิจาณาคดีของศาลฎีกาฯ ภายใน 5 วันนับจากวันประชุมใหญ่ หากคู่ความใดประสงค์จะคัดค้านผู้พิพากษาคนใดที่เป็นองค์คณะผู้พิพากษา ให้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลฎีกาฯ ก่อนเริ่มการไต่สวนพยานหลักฐาน
สำหรับคดีนี้ อสส.ได้ขอให้ศาลฎีกาฯ พิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 21 คน ตามข้อกล่าวหาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว, ประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2554) มีอัตราโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต และปรับสูงสุดเป็นเงิน 35,274,611,007 บาท
ชง “ประยุทธ์” ตั้ง กก.เรียกค่าเสียหายจำนำข้าว 6 แสนล้าน
ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ส่งรายชื่อการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพวก ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ระงับหรือยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว และการทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ทำให้รัฐเกิดความเสียหายประมาณ 6 แสนล้านบาท ภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำหนังสือชี้มูลมายังรัฐบาลให้ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายกับผู้เกี่ยวข้องว่า ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว
โดยจะมีคณะกรรมการ 2 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการพิจารณาข้อเท็จจริงและกำหนดจำนวนข้าวเสียหาย โดยมีนายจำเริญ ยุติธรรมสกุล รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ 2.คณะกรรมการพิจารณาเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่อยู่ในระเบียบว่าด้วยการเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง โดยมีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน รวมทั้งมีอัยการและคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นกรรมการ
“คาดว่า นายกฯน่าจะเซ็นแต่งตั้งคณะกรรมการได้ ภายใน 1-2 วัน” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุกล่าวว่า คณะกรรมการพิจารณาข้อเท็จจริงฯ จะมีหน้าที่สอบสวนและพิจารณาเพิ่มเติมว่ามีบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและทำให้รัฐเสียหายในโครงการจำนำข้าวหรือไม่ ซึ่งหากพบว่ามีบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องก็จะดำเนินการส่งฟ้องเพิ่ม สำหรับเรื่องการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายประมาณ 6 แสนล้านบาทนั้น คณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่พิจารณาด้วยว่า จะฟ้องแต่ละบุคคลที่ทำรัฐเสียหายในมูลค่าเท่าใด ไม่ใช่จะฟ้องคนคนเดียวในมูลค่าความเสียหายประมาณ 6 แสนล้านบาทเลยคงทำไม่ได้ หลังจากคณะกรรมการรวบรวมข้อมูลได้ครบถ้วนจะส่งต่อให้อัยการรวบรวมและยื่นฟ้องศาลต่อไป อย่างไรก็ตาม เรื่องของตัวเลขความเสียหายขอให้คณะกรรมการสรุปตัวเลขอีกครั้งก่อนจะดีกว่า
ปิดหมายบ้าน “ยิ่งลักษณ์” เรียกมาศาล 19 พ.ค.
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2558 นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่จากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เดินทางไปที่บ้านพักของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เลขที่ 38/9 ซอยนวมินทร์ 111 แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร เพื่อปิดประกาศหมายที่ศาลฎีกาฯ นัดพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลย ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 เวลา 09.30 น. พร้อมแนบสำเนาคำฟ้องของอัยการสูงสุดโจทก์ เพื่อให้จำเลยรับทราบและเดินทางไปศาลฎีกาตามนัด
ทั้งนี้ ตามระเบียบของศาลฎีกาฯ เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลได้ปิดหมายตามที่อยู่ของจำเลยในคำฟ้องแล้ว หากไม่มีผู้รับหมาย เมื่อเวลาผ่านไป 15 วัน ให้ถือว่าจำเลยรับหมายโดยชอบแล้ว โดยการนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องเดินทางมาแสดงตัวต่อศาลด้วยตัวเอง หากไม่มา ศาลอาจจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวและออกหมายจับ แต่ถ้ามา ศาลจะสอบคำให้การจำเลยว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ รวมทั้งศาลจะมีคำสั่งในการปล่อยตัวชั่วคราวด้วย
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เคยรวบรวมสถิติการส่งฟ้องคดีกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติ ต่อศาลฎีกาฯ พบว่า นับแต่ปี 2545-2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 39 คดี รับฟ้อง 27 คดี ไม่รับฟ้อง 11 คดี และอยู่ระหว่างรอฟังคำสั่ง 1 คดี
ในบรรดาคดีที่รับฟ้อง มีคำพิพากษาแล้ว 19 คดี โดยมีเพียง 4 คดี ที่พิพากษาให้ยกฟ้อง และ 15 คดี พิพากษาให้ลงโทษ ทั้งจำคุก ยึดทรัพย์ รวมไปถึงตัดสิทธิ์ทางการเมือง
โดยระยะเวลาการพิจารณาคดีโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 329 วันต่อคดี คดีที่พิจารณาเร็วที่สุดใช้เวลาเพียง 73 วัน นานที่สุดใช้เวลา 778 วัน หรือ 2 ปีเศษ.