ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. ออกมาตรการบ้านหลังแรกช่วยภาคอสังหาฯ – ดึงเงินกองทุนหมุนเวียน 2.8 หมื่นล้าน ช่วยกระตุ้น ศก.

ครม. ออกมาตรการบ้านหลังแรกช่วยภาคอสังหาฯ – ดึงเงินกองทุนหมุนเวียน 2.8 หมื่นล้าน ช่วยกระตุ้น ศก.

13 ตุลาคม 2015


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธาน มีวาระสำคัญคือการพิจารณามาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์

ย้ำ สปท.-สนช. ต้องปฏิรูปประเทศตามแนวทางรัฐบาล

หลังการประชุม พล.อ. ประยุทธ์ แถลงข่าวว่า ตนให้ความสำคัญกับการปฏิรูปประเทศช่วงนี้มาก เพราะเป็นเวลาที่รัฐบาลจะได้ทำงานจนถึงเดือนกรกฎาคม 2560 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เข้ามาใหม่จึงต้องดำเนินการให้ตรงกับที่รัฐบาลริเริ่มไว้ ทราบว่ามีการถอดแนวทางของรัฐบาลออกมาได้เป็น 30 กิจกรรม จากนั้น สปท. ต้องไปหารือกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขับเคลื่อนให้ออกมาเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้ได้ในอนาคต

“ระหว่างนี้อีก 1 ปีครึ่งผมก็จะปฏิรูปเป็นระยะที่ 1+x คือ 1 แรกทำไปแล้วตั้งแต่ คสช. เข้ามาจนถึงปัจจุบันในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน หลายเรื่องก็มีผลสัมฤทธิ์ออกมาแล้ว การลดความเหลื่อมล้ำ การค้าการลงทุนต่างๆ นี่คือการปฏิรูปแล้ว ส่วน +x ก็คืออะไรที่จะขยายต่อ เรื่องกฎหมายยุติธรรม ต้นทางปลายทางจะทำอย่างไร อย่างน้อยต้องมีการริเริ่มทำแผน แล้วไปพิจารณาที่ สปท. สนช. ก็ว่ากันไปอะไรทำได้ก็ทำ แต่คนที่จะชี้ทั้งหมดในเรื่องการปฏิรูปคือรัฐบาลและ คสช. ซึ่งจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในช่วง 4 ปีข้างหน้า ที่เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของประเทศจะเข้มแข็งขึ้น”

ส่วนการยกร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องนำรัฐธรรมนูญฉบับเก่าๆ รวมถึงฉบับที่ตกไปมาดูข้อดีข้อเสีย แล้วคัดกรองว่าอะไรที่เป็นประชาธิปไตยที่พอรับได้ก็นำมาใส่ไว้ พร้อมกับต้องสร้างกลไกการปฏิรูป ที่กังวลเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ก็เป็นเพียงเรื่องหนึ่งที่มีการเสนอมาเท่านั้น ตนไม่เคยคิดจะไปครอบงำรัฐบาลเพื่อป้องกันตัวเอง เพียงแต่ต้องการจะทำให้ประเทศเดินหน้าได้อย่างมั่นคง

ยันไม่กลั่นแกล้งเรียกค่าเสียหายจำนำข้าวจาก “ยิ่งลักษณ์”

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวชี้แจงถึงการเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย ได้ชี้แจงไปแล้วว่า เรื่องนี้มีระยะเวลาจำกัดเพียง 2 ปี จึงเป็นหน้าที่ของตนจะต้องส่งเรื่องไป แล้วใช้คำสั่งทางปกครองในการเรียกร้องความเสียหาย กฎหมายตรงนี้มีอยู่แล้ว ไม่ใช่ใช่กฎหมายใหม่ หรือไม่ใช่กรณีที่ตนใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 หากไม่เห็นด้วยหรือมีปัญหาอะไรก็ไปฟ้องศาลปกครอง

“เช่นเดียวกับการฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีอื่นๆ ที่ผมจะพยายามไม่ใช้กลไกพิเศษในการแก้ปัญหา เพราะจะยิ่งทำให้ปัญหาทับซ้อนไปเรื่อยๆ” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เขียนจดหมายเปิดผนึกร้องขอความเป็นธรรม พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า จดหมายนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์คงไม่ได้เขียนเองอยู่แล้ว คงเป็นคำแนะนำของฝ่ายกฎหมาย ส่วนเจตนาในการส่งจดหมายตนไม่รู้

เมื่อถามถึงตัวเลขความเสียหายที่จะเรียกจากอดีตนายกฯ รวมถึงกรณีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้ข้อยุติ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่สิ่งที่ต้องยึดอันดับแรก คือทำให้ทันเวลา ต่อมาคือมาตรการที่ใช้ต้องรัดกุมและชัดเจน ไม่ใช่เป็นการกลั่นแกล้งกัน วันนี้ต้องเคลียร์ให้ออกว่าขายข้าวไปเท่าไร เสียหายเท่าไร เพราะความเสียหายเพิ่มขึ้นทุกวัน จะผลีผลามขายข้าวก็ไม่ได้เพราะเป็นของกลางในคดี ราคาก็ตกลงไปเรื่อยๆ ก็ต้องไปดูว่ามีความเกี่ยวข้องบ้าง กฎหมายก็ระบุไว้ว่าหากเกิดความเสียหาย ต้องใช้มาตรการทางปกครอง ส่วนการทุจริตเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้

สั่งผู้เกี่ยวข้องศึกษาข้อดีข้อเสีย ร่วม TPP

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP) ว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียดว่าหากไทยเข้าร่วมความตกลงดังกล่าวจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง ทั้งข้อดีและข้อเสีย เรื่องนี้ไม่ต้องรีบร้อนเพราะรัฐบาลยังมีเวลาอยู่อีก 1-2 ปี ถ้าเข้าไปแล้วเสียหายจะเดือดร้อน ต้องไปดูว่าประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง และหาวิธีที่จะทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์กับทุกฝ่ายโดยที่เราไม่มีข้อขัดแย้งกันเอง

สอบ สสส. ใช้งบ เล็งฟ้องศาลถ้าผิดกฎหมาย

เมื่อถามถึงการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบประเด็นอยู่ ซึ่ง คตร. ก็ตรวจสอบอยู่ทุกวัน แต่ยังไม่ได้ชี้ผิดหรือถูก เพราะกฎหมายของระเบียบ สสส. เดิมเขียนไม่ชัดเจน เปิดให้พิจารณาได้กว้างขวางเกินไป ไม่ได้ตีกรอบการใช้จ่ายงบประมาณเอาไว้ ทำให้อาจดำเนินการไปไกลแล้วเอามาผูกโยงกับเรื่องสุขภาพ ซึ่งตนให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาอยู่ หากพิจารณาแล้วไม่ผิดก็อาจต้องยกประโยชน์ให้กับจำเลย

เมื่อถามว่าจะทบทวนกฎหมายและระเบียบของ สสส. หรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า กองทุนเหล่านี้จะหยุดไม่ได้ เพราะจะทำให้ประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากตรงนี้เดือดร้อน ตอนนี้ก็เพียงแค่ทำให้ถูกต้อง แต่ในเชิงบริหาร ผู้ที่ทำให้เกิดกรณีดังกล่าวต้องมีมาตรการลงโทษ ปรับเปลี่ยนในเรื่องการปกครองบังคับบัญชา หากพบเจอสิ่งที่ผิดกฎหมายต้องไปฟ้องร้องให้ศาลตัดสิน

วธ. เล็งจัดสัมมนาใหญ่รื้อประวัติศาสตร์ชาติไทย

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็นเล่มให้ดู ตนเห็นว่ามีเนื้อหาดีแต่ควรเพิ่มเติมทำให้เป็นร้อยกรอง เพื่อให้เด็กนักเรียนเข้าใจได้ง่ายขึ้น หลายคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือก็ทำให้เป็นสรุปมาว่าประวัติศาสตร์ไทยมีกี่ยุคกี่สมัย บรรพบุรุษได้สร้างอะไรไว้ให้บ้าง เพราะคนรุ่นใหม่บางคนก็ไม่รู้

ด้านนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า สำหรับหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทยได้มีการจัดพิมพ์ออกมาแล้วจำนวน 10,000 เล่ม และจะจัดพิมพ์เพิ่มเติมอีกในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ ต้นเดือนพฤศจิกายน 2558 วธ. จะจัดงานสัมมนาใหญ่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย คล้ายการชำระประวัติศาสตร์ใหม่ โดยให้นักประวัติศาสตร์ เช่น ดร.ประเสริฐ ณ นคร มาหารือเพิ่มเติมในบางส่วนที่อาจขาดหายไป

เมื่อถามว่าจะเชิญนักประวัติศาสตร์หัวก้าวหน้าอย่างนายธงชัย วินิจจะกูล หรือนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ เข้ามาร่วมด้วยหรือไม่ นายวีระกล่าวว่า ใครที่สนใจสามารถเข้ามาร่วมงานได้

(จากซ้ายไปขวา) นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
(จากซ้ายไปขวา) นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

ครม.ออกมาตรการช่วยอสังหาฯ – ให้ ธอส. ปล่อยกู้ซื้อบ้านหมื่นล้าน

สำหรับวาระการประชุมที่สำคัญมีดังนี้

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการตามที่กระทรวงการคลังเสนอ รวม 3 มาตรการ ประกอบด้วย

  1. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 20% เป็นการถาวร จากเดิมที่เป็นการลดชั่วคราวและจะสิ้นสุดภายในปี 2558 ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักธุรกิจต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
  1. เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนกิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ทั้งการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 10 ปี และยกเว้นภาษีเงินปันผล เพื่อให้ Venture Capital ร่วมลงทุนในประเทศไทย สามารถปล่อยกู้ให้กับธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงบรรดา Startup เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น แต่มีการกำหนดว่าบริษัทที่ Venture Capital จะปล่อยกู้ได้จะต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนในไทย ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ อยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง 10 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงาน อุตสาหกรรมฐานเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ อุตสาหกรรมวัสดุก้าวหน้า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์ และอุตสาหกรรมฐานการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม
  1. เห็นชอบมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ รวม 3 มาตรการย่อย- ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ผ่อนคลายเงื่อนไขการปล่อยกู้ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลางที่เคยถูกปฏิเสธคำขอการกู้เงินจากธนาคารอื่นสามารถกู้เงินจาก ธอส. เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยได้ โดยมีวงเงินขั้นต้น 10,000 ล้านบาท แต่สามารถเพิ่มเติมได้อีก กำหนดระยะเวลาทำนิติกรรม 1 ปี นับแต่วันที่ ครม. มีมติ ระยะเวลาการกู้เงินไม่เกิน 30 ปี กลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่มีรายได้สุทธิไม่เกิน 30,000 บาท/เดือน คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการราว 6,000 ราย- ลดค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ ในอัตราร้อยละ 2% และ 1% ของมูลค่าที่จำนอง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ในกรณีจำนอง เหลือ 0.01% เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อเร่งรัดให้เกิดนิติกรรมโดยเร็ว- ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับที่จ่ายเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์มูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2558 และเป็นการซื้อครั้งแรกและเพื่ออยู่อาศัยจริง ในอัตรา 20% ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ เป็นเวลาติดต่อกัน 5 ปี นับแต่ปีภาษีที่มีการจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ โดยให้แบ่งใช้สิทธิเป็นจำนวนเท่าๆ กันในแต่ละปีภาษี

“มาตรการเหล่านี้ จะช่วยทำให้คนมีอสังหาริมทรัพย์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยที่เริ่มเติบโตช้าลงมีกิจกรรมเพิ่มขึ้น และจะส่งผลต่อธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกันจนช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ทั้ง 3 มาตรการข้างต้น แม้จะกระทบกับการจัดเก็บภาษีของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการลดค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ ที่อาจทำให้รายได้ของรัฐหายไปราว 15,000 ล้านบาท แต่ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว ก็จะได้เงินจากภาษีประเภทอื่นๆ เข้ามาทดแทน

ทั้งนี้ นายกฯ เห็นว่าเรื่องที่อยู่อาศัยถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องทำอย่างไรให้คนไทยมีบ้านเป็นของตัวเอง โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมถึงการเคหะแห่งชาติก็เริ่มหาวิธีว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ตนกับนายอภิศักดิ์คิดว่าจะใช้ธนาคารออมสินเป็นเครื่องมือในการสนองนโยบายดังกล่าว

ดึงเงินกองทุนหมุนเวียน 2.8 หมื่นล้าน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบผลการพิจารณาเรื่องการทบทวนสถานะของกองทุนหมุนเวียนต่างๆ ทั้งนี้ เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 โดยพบว่า มี 30 กองทุนฯ ที่มีสภาพคล่องส่วนเกินค่อนข้างมาก หากเก็บเงินไว้เฉยๆ จะไม่เกิดประโยชน์ จึงให้โอนเงินเหล่านั้นเข้าสู่กระทรวงการคลังเพื่อใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมเป็นเงิน 28,081 ล้านบาท มี 7 กองทุน ที่เกี่ยวข้องกับกีฬา วัฒนธรรม และเหรียญกษาปณ์ ที่ “ให้ควบรวม” เหลือ 3 กองทุน มี 3 กองทุน ให้ “ยุบเลิก” ประกอบด้วยกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ กองทุนส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเงินทุนหมุนเวียนการพิมพ์หนังสือพจนานุกรมและเอกสารทางวิชาการ และมี 2 กองทุน ให้ “คงสถานะไว้” ประกอบด้วย กองทุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี

ขยายเวลาโครงการลงทุนขนาดเล็ก – ไฟเขียวงบอาชีวะ 382 ล้าน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบแก้ไขมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 เรื่องมาตรการเสริมการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ โครงการละไม่เกิน 1 ล้านบาท รวมวงเงิน 24,000 ล้านบาท ที่มีการทำสัญญาไปแล้ว 22,961 ล้านบาท โดยเห็นว่าระยะเวลาในการทำสัญญาที่เดิมกำหนดไว้ว่าไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2558 นั้นสั้นเกินไป จึงควรขยายเวลาไปเป็นไม่เกินวันที่ 31 มกราคม 2559 แทน นอกจากนี้ ยังเห็นชอบโครงการการอาชีวะบริการซ่อมสร้างเพื่อชุมชน ที่ของบประมาณมา 382 ล้านบาท เพราะเห็นว่าอยู่ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เห็นชอบระเบียบ สกัด จนท.รัฐเอี่ยวค้ามนุษย์

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ พ.ศ. …. เพื่อแก้ไขปัญหาขบวนการค้ามนุษย์ภายในประเทศ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานการค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report: TIP Report) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาจะเข้ามาตรวจสอบสถานการณ์ในประเทศไทยอีกครั้ง โดยสาระสำคัญของร่างระเบียบสำนักนายกฯ ดังกล่าว มีด้วยกัน 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. กำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ โดยชี้ให้เห็นถึงโทษที่จะได้รับทั้งทางวินัย อาญา และแพ่ง 2. ให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง มีหน้าที่เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และ 3. กำหนดนิยามการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้รวมถึงการให้ความสนับสนุนด้วย

ควัก 227 ล้าน ช่วยเรือประมงได้รับผลกระทบแก้ปัญหา IUU

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบเปลี่ยนแปลงมติ ครม. เดิม เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 เรื่องมาตรการช่วยเหลือระยะสั้นแก่ชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมของภาครัฐ (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing) จนไม่สามารถออกเรือหาปลาได้ เนื่องจากมาตรการเดิมไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยการช่วยเหลือใหม่จะคำนวณจากค่าแรงคนงาน ค่าที่จอดเรือ ค่าครองชีพ และค่าเสียโอกาส เป็นต้น เบื้องต้นจะให้การช่วยเหลือกลุ่มเรือประมงที่มีเอกสารไม่ครบ จำนวน 4,012 ลำ และกลุ่มเรือประมงที่มีเอกสารครบ รวมถึงมีอาชญาบัตร แต่ไม่สามารถออกหาปลาได้ 330 ลำ และโพงพาง 4 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 227 ล้านบาท โดยจะใช้งบประมาณจากงบกลาง

ส่วนกลุ่มเรือประมงที่เอกสารไม่ครบ และไม่มีอาชญาบัตร 2,658 ลำ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

“วิษณุ” แจง ครม. มีคดีรัฐเป็นคู่ความเรียกเงินพันล้าน 12 คดี

พล.ต. สรรเสริญ ยังกล่าวว่า ตามที่นายกฯ เคยสั่งให้นายวิษณุไปรวบรวมคดีความที่เกิดการฟ้องร้องกันระหว่างรัฐไทยกับต่างชาติหรือกับคนในประเทศ ทั้งที่เป็นโจทก์หรือจำเลย และมีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เนื่องจากเป็นคดีที่อาจส่งผลกระทบต่องบประมาณของภาครัฐ ในการประชุมวันนี้ นายวิษณุได้รายงานกลับมาให้รับทราบว่า มีด้วยกัน 12 คดี โดยรัฐเป็นโจทก์ 6 คดี เป็นจำเลย 6 คดี นายกฯ จึงสั่งให้หน่วยงานต้นเรื่องติดตามคดีความอย่างใกล้ชิดเพื่อดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีที่นายวิษณุได้รายงานต่อ ครม. มีอาทิ 1.คดีทางด่วนโทลล์เวย์ 2.คดีฟ้องร้องกรณีสถานีโทรทัศน์ไอทีวี 3.คดีทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน 4.คดีโฮปเวลล์ 5.คดีมอเตอร์เวย์สายบางนา-บางพลี-บางปะกง 6.คดีภาษีบุหรี่ของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) จำกัด 7.คดีบริษัทวอเตอร์ บาว จำกัด ฟ้องรัฐบาลกรณีโฮปเวลล์ 8.คดีข้อพิพาทระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) 9.คดีโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ 10.คดีทุจริตขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ที่แยกออกเป็น 3 คดีย่อย ได้แก่กรณีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเอกชนที่เกี่ยวข้องรวม 14 ราย