พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีการอนุมัติงบประมาณ แผนงาน และโครงการที่สำคัญ ดังนี้
เร่งเบิกจ่าย-บี้ส่วนราชการระดมจัดซื้อ-จัดจ้าง
คณะรัฐมนตรี รับทราบตามคำสั่งของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย เร่งรัดดำเนินโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้ว เพื่อให้เม็ดเงินถึงมือประชาชน และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง เช่น โครงการแก้ปัญหาในพื้นที่ประสบภัยแล้งรุนแรง โครงการตำบลละ 1 ล้านบาท โดยแบ่ง 50% เป็นค่าจ้างแรงงาน
นอกจากนี้ยังได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ พ.ศ. 2558 ที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยในสิ้นเดือนมกราคม มีการเบิกจ่ายงบค่าใช้จ่ายประจำ 910,786.354 ล้านบาท 42% งบลงทุน 58,253.810 ล้านบาท 12.9% เงินกันเหลื่อมปี 95,576.669 ล้านบาท 27.8% ซึ่งไกลจากเป้าหมาย ที่ต้องการให้มีการเบิกจ่ายงบค่าใช้จ่ายประจำ ในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 1,275,314.544 ล้านบาท 60% งบลงทุน 134,842.728 ล้านบาท 30% เงินกันเหลื่อมปี 154,405.406 ล้านบาท 45%
ทั้งนี้ ตามเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณ รายจ่ายประจำ ต้องเบิกให้ได้ภายในสิ้นเดือนกันยายน 2558 ประมาณ 98% คิดเป็นงบประมาณ 2,083,013.755 ล้านบาท ของจำนวนงบประมาณ 2,125,524.240 ล้านบาท โดยรายจ่ายลงทุนมีเป้าหมายเบิกจ่าย 80% ของจำนวนงบทั้งสิ้น 449,475.760 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินงบประมาณ 359,580.608 ล้านบาท และเงินกันเหลื่อมปีต้องเบิกจ่ายให้ได้ 85% ของจำนวนงบทั้งสิ้น 343,123.125 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินงบประมาณ 291,654.656 ล้านบาท
ด้วยจำนวนตัวเลขที่มีการรายงานต่อคณะรัฐมนตรีดังกล่าว พล.อ. ประวิตรจึงได้สั่งการกำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งระดมจัดซื้อ-จัดจ้างให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะหน่วยงานที่รับผิดชอบวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างสูง เช่น โครงการของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมทรัพยากรน้ำ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อนำข้อมูลการลงนามในสัญญา, การเริ่มก่อสร้าง และขั้นตอนการใช้จ่ายงบประมาณ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไปวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อเสนอให้คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประวิตรเป็นประธานในการติดตามเร่งรัดต่อไป
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ มีการเบิกจ่ายไปแล้วรวม 47,205 ล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวนาผู้ปลูกข้าวนาปีปี 2557/2558 วงเงิน 40,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2557-30 มกราคม 2558 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวแล้วจำนวน 38,429 ล้านบาท คิดเป็น 96.1% ขณะที่โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางวงเงิน 8,200 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2557-30 มกราคม 2558 ธ.ก.ส. จ่ายเงินให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางแล้วจำนวน 7,330 ล้านบาท คิดเป็น 89.4%
นอกจากนี้ยังมีส่วนของเงินไทยเข้มแข็งเดิม และเงินตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 350,000 ล้านบาท โดยการเบิกจ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 หรืองบไทยเข้มแข็งเดิมมีวงเงิน 4,142 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557-30 มกราคม 2558 เบิกจ่ายแล้วจำนวน 809 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19.5% ขณะที่เงินตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ มีวงเงินที่สามารถใช้ได้จำนวน 1,754 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้วจำนวน 637 ล้านบาท คิดเป็น 36.3%
ไฟเขียว รฟท. ต่ออายุเงินกู้ 800 ล้านบาทแก้ขาดสภาพคล่อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต่ออายุสัญญาเงินกู้วงเงิน 800 ล้านบาท ออกไปอีก 1 ปี ตาม พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้แก่ รฟท. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีรับพิจารณาแล้ว
ทั้งนี้ รฟท. ได้รายงานให้ ครม. ทราบว่าหนี้เงินกู้จำนวนดังกล่าว รฟท. ได้ทำสัญญาไว้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ประกอบไปด้วยวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี 300 ล้านบาท และวงเงินกู้โดยตั๋วสัญญาใช้เงินแบบหมุนเวียน 500 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกันทั้งนี้สัญญาเงินกู้ดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 29 มีนาคม 2558 โดย รฟท. จำเป็นที่จะต้องมีวงเงินสำรองเพื่อใช้เป็นสภาพคล่องในช่วงที่มีปัญหาเงินสดขาดมือ ดังนั้น เพื่อให้ รฟท. ดำเนินการให้บริการได้อย่างต่อเนื่องจึงต้องกู้เงินระยะสั้น โดยต่ออายุสัญญาเงินกู้วงเงิน 800 ล้านบาท กับธนาคารกรุงไทยออกไปอีก 1 ปีโดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมค่าค้ำประกันเงินกู้ โดยกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อให้ รฟท. ดำเนินการต่อไปได้ และเป็นไปตามหลักการที่ รฟท. ต้องขออนุมัติจาก ครม. ในการขอกู้เงินเกินครั้งละ 5 ล้านบาท
สำหรับวงเงินกู้ดังกล่าว อยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 1.253 ล้านล้านบาท ซึ่งแยกเป็นของ รฟท. วงเงินรวม 36,412 ล้านบาท โดยมีรายการเงินกู้เพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่อง วงเงิน 12,493 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกู้เพื่อต่ออายุสัญญาเงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่อง (เงินเบิกเกินบัญชี) จำนวน 800 ล้านบาท และเงินกู้ระยะยาว เพื่อใช้ในการดำเนินงานของ รฟท. จำนวน 11,693 ล้านบาท
ผ่านพรบ.หลักประกันธุรกิจ เอื้อ SMEs กระตุ้นเศรษฐกิจ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย (สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
โดยร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ขยายกรอบการนำทรัพย์สินที่นำมาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ จากเดิมจำกัดเพียงอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่ส่งมอบการครอบครองได้ เช่น ทองคำ พันธบัตร ไปถึงสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ต้องมีการส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินนั้น อาทิ สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เครื่องจักร หรือทรัพย์สินทางปัญญา เป็นการสร้างระบบการบังคับหลักประกันให้มีความรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการประกอบธุรกิจและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการให้สินเชื่อของผู้รับหลักประกัน
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อรองรับกระบวนการบังคับชำระหนี้ให้รวดเร็วกว่ากระบวนการทางศาล ซึ่งจะเป็นหนึ่งในมาตรการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากจะมีผลทำให้เอกชนโดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้น
แก้ พ.ร.บ.ล้มละลาย ดึงอันดับความน่าเชื่อถือไทยจากธนาคารโลก
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นการปรับปรุงกระบวนการบังคับคดีล้มละลายของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
โดยให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณามีคำสั่งคำขอรับชำระหนี้โดยไม่ต้องเสนอศาล ซึ่งจะทำให้เกิดความรวดเร็วในกระบวนการล้มละลายในขั้นตอนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ทั้งยังปรับปรุงสิทธิลูกหนี้ร่วม และผู้ค้ำประกันในการได้รับชำระหนี้โดยการรับช่วงสิทธิ์การเป็นเจ้าหนี้ได้ รวมทั้งปรับปรุงการยื่นคำขอประนอมหนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ลำดับการชำระหนี้ จำนวนเงินที่ขอประนอมหนี้ การกำหนดระยะเวลาการดำเนินการจัดการกับหลักทรัพย์ และปรับเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาให้เหมาะสม
ซึ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวถือเป็นหลักกฎหมายที่ธนาคารโลกเรียกร้อง เมื่อกฎหมายเสร็จสิ้น การจัดลำดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยต่อการทำธุรกรรมด้านการเงินจะดีขึ้น รวมทั้งสอดคล้องกับหลักการฟื้นฟูกิจการให้ลูกหนี้สามารถพลิกฟื้นกิจการขึ้นมาใหม่ได้ เนื่องจากมีการจำแนกหนี้อย่างชัดเจน ป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้เข้ามายึดเอาทรัพย์จากลูกหนี้ไปทั้งหมด
รับทราบโรดแมปกำจัดขยะ 6 จังหวัด
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการการแก้ไขปัญหาในพื้นที่วิกฤตที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหากำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกต้องและตกค้างสะสม ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ฉบับแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติม ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ซึ่งเป็นเรื่องของการกำจัดขยะ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางในการคัดแยก กำจัด และจัดเก็บขยะมูลฝอย โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน
ตามแนวทางที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ตั้งแต่เป็นหัวหน้า คสช. ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ในการจัดการกับขยะมูลฝอยใหม่ และการจัดการกับขยะมูลฝอยที่มีอยู่เดิม ซึ่งแยกออกเป็น 2 ส่วนย่อยๆ คือ ขยะมูลฝอยในพื้นที่ 6 จังหวัด ซึ่งอยู่ในภาวะวิกฤติ เนื่องจากมีปริมาณขยะมาก ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม ลพบุรี สระบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี ส่วนที่ 2 คือ ขยะมูลฝอยเก่าที่อยู่ในจังหวัดที่มีปริมาณขยะอยู่ในภาวะปกติ
ในจังหวัดที่มีปริมาณขยะในภาวะปกตินั้นได้แย่งแยกการดำเนินการเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การฝังกลบชั่วคราว โดยต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามคุณภาพ และให้ได้มาตรฐาน ไม่ให้เกิดปัญหาในกรณีไฟไหม้บ่อขยะดังที่ผ่านมา ซึ่งการฝังกลบชั่วคราวนี้จะต้องพร้อมที่จะนำกลับขึ้นมาเป็นเชื้อเพลิงในการป้อนโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าในอันดับต่อไป ส่วนที่ 2 คือการขนย้ายไปกำจัดอย่างถูกต้อง คือการฝังกลบอย่างถาวร ส่วนที่ 3 คือ การร่วมมือกับเอกชนในการทำ เทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF) ซึ่งก็คือขยะตากแห้งที่พร้อมจะนำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการประกอบกิจการโรงงานไฟฟ้า
ใน 6 จังหวัดที่มีปริมาณขยะอยู่ในภาวะวิกฤตินั้น ได้มีการดำเนินงานเฉพาะส่วนของตน โดยมีการร่วมมือกับภาคเอกชน อาทิ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีการขนย้ายขยะจำนวน 324,000 ตัน ไปกำจัดที่โรงงานปูน ทีพีไอ โพลีน
ในภาพรวมเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยในส่วนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้รับผิดชอบในการวางแผน
ผ่านพรบ.ป่าสงวน ตั้ง 2 คณะกรรมการ ระดับจังหวัดดูแล
คณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
เนื่องจากพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ได้เปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติให้เหมาะสมและทันต่อการเปลี่ยนแปลง เป็นมาตรการในการควบคุมและการส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟู เพื่อให้เกิดการใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ในการกำหนดมาตรการที่จำเป็นในการควบคุม ดูแล และป้องกันรักษาป่าสงวนแห่งชาติ และหน้าที่ในการสอบสวน วินิจฉัยคำร้องเกี่ยวกับสิทธิ์ที่จะได้รับการทำประโยชน์ในป่าสงวนแห่งชาติ
อีกคณะกรรมการหนึ่งที่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดคือ คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีหน้าที่ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดการจัดให้มีหลักเขตและป้ายหรือเครื่องหมายอื่นแสดงเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ที่เขตป่าสงวนแห่งชาตินั้นตั้งอยู่ทราบด้วย
อนุรักษ์พื้นที่เมืองเก่า 13 แห่งตามรอยเกาะรัตนโกสินทร์
คณะรัฐมนตรี รับทราบมติคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ในการการกำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และมีมาตรการในการควบคุมการก่อสร้างอาคารของภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยเห็นชอบขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และกรอบแนวทางอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า 4 เมือง ได้แก่ เมืองเก่าแพร่ เมืองเก่าเพชรบุรี เมืองเก่าจันทบุรี และเมืองเก่าปัตตานี เพื่อประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546
โดยเห็นชอบมาตรการในการควบคุมการก่อสร้างอาคารของภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐอย่างอื่นที่อาจพึงมีในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ และในบริเวณเมืองเก่าที่ได้รับประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า ให้ส่งเรื่องและแบบแปลนให้คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า โดยผ่านทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และเมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่าแล้ว จึงให้เสนอสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อขอจัดตั้งงบประมาณต่อไป ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานว่า โดยเหตุที่เมืองเก่าปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ ภายในบริเวณเมืองเก่ามีโบราณสถานและอาคารที่มีคุณค่าจำนวนมาก ในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าจึงมีความจำเป็นต้องมีขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และกรอบแนวทางในการดำเนินงานคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้เคยประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า รวม 9 เมือง ได้แก่ เมืองเก่าน่าน เมืองเก่าเชียงใหม่ เมืองเก่าลำปาง เมืองเก่ากำแพงเพชร เมืองเก่าลพบุรี เมืองเก่าพิมาย เมืองเก่านครศรีธรรมราช เมืองเก่าสงขลา และเมืองเก่าลำพูน
จำกัดแรงงานเวียดนาม-ห้ามเปลี่ยนนายจ้าง
คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าว ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2558 แล้ว ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ
ในการดำเนินการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม ให้นับเฉพาะแรงงานที่ถือหนังสือเดินทางและเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย แต่เวลาในการทำงานสิ้นสุดลงแล้ว หากแรงงานเวียดนามผู้ใดต้องการที่จะทำงานในประเทศไทยต่อ ให้ทำการรายงานตัวเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงาน พร้อมด้วยนายจ้าง ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ซึ่งจะได้รับอนุญาตให้ทำงานต่อได้อีก 1 ปี
ซึ่งกำหนดงานที่แรงงานชาวเวียดนามจะสามารถทำต่อได้จะต้องเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับงานรับใช้ในบ้าน งานกรรมกรในกิจการก่อสร้าง ประมง ร้านอาหาร และห้ามแรงงานเปลี่ยนนายจ้าง เพื่อให้ง่ายต่อการจัดระบบ และเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทย
โดยมอบกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำทะเบียนประวัติ และการขออนุญาตทำงาน โดยทำการประสานกับทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 10 มีนาคม 2557 ซึ่งกระทรวงแรงงาน จะต้องมีการหารือร่วมในรายละเอียดกับกระทรวงมหาดไทยต่อไป ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็จะต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุขต้องดำเนินการเรื่องการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพให้กับแรงงานควบคู่กันไป
โยกภารกิจเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น คืนกระทรวงต่างประเทศ
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้โอนภารกิจกำกับดูแลความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) ไปอยู่ในความดูแลของกระทรวงการต่างประเทศ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศนำเสนอ
จากที่ในปี 2552 ได้มีการปรับเปลี่ยนให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามากำกับดูแล เนื่องจากเห็นว่าในขณะนั้นเรื่องที่ดำเนินการส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเจรจาเกี่ยวกับการค้าเสรี แต่ในปัจจุบัน กระทรวงการต่างประเทศได้มีการหารือกับกระทรวงพาณิชย์แล้วมีความเห็นว่าในความตกลงที่เกี่ยวกับ JTEPA นั้นมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การต่างประเทศ ซึ่งมีกรอบความตกลงมากกว่าเรื่องการค้าเสรีโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา เรื่องทรัพยากรมนุษย์ เรื่องวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การท่องเที่ยว การส่งเสริมสภาพแวดล้อม และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ประชุม ครม. จึงเห็นชอบให้โอนย้ายการกำกับดูแลดังกล่าว
รวมอนุมัติกฏหมายเศรษฐกิจ-สังคม 18 ฉบับ
โดยสรุป คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการพระราชบัญญัติ, พระราชกฤษฎีกา, ร่างกฎกระทรวง ด้านเศรษฐกิจและสังคม ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ทั้งสิ้น 18 ฉบับ ประกอบด้วย
1. ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ….
2. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
3. ร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
4. ร่างพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
5. ร่างพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
6. ร่างพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
7. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
8. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลโคกสะอาด อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ พ.ศ. ….
9. ร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ พ.ศ. ….
10. ร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส พ.ศ. ….
11. ร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองตะพานหิน จังหวัดพิจิตร พ.ศ. ….
12. ร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนเกาะลันตาใหญ่–เกาะลันตาน้อย จังหวัดกระบี่ พ.ศ. ….
13. ร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น พ.ศ. ….
14. ร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. ….
15. กฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมเครื่องเล่น พ.ศ. ….
16. ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับหลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นมาตรฐานบังคับ พ.ศ. ….
17. ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 พ.ศ. ….
18. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตหรือใบรับรอง และการออกใบอนุญาตหรือใบรับรอง นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านซึ่งสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่า พ.ศ. ….