ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > คสช. เห็นชอบโรดแมปกรมควบคุมมลพิษ อนุมัติงบกว่า 500 ล้านบาท นำร่องแก้ปัญหาขยะ 6 พื้นที่วิกฤติ

คสช. เห็นชอบโรดแมปกรมควบคุมมลพิษ อนุมัติงบกว่า 500 ล้านบาท นำร่องแก้ปัญหาขยะ 6 พื้นที่วิกฤติ

5 กันยายน 2014


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ซึ่งออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2557 เกี่ยวกับปัญหาและการจัดการขยะของประเทศไทยว่า “เรื่องขยะเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ได้อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการในเรื่องของการกำจัดขยะนำร่องในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โครงการดังกล่าวจะนำขยะไปผลิตไฟฟ้า ใช้เทคโนโลยีแปลงขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง ด้วยการเผาในเตา เตาของเรามีปริมาณความร้อนสูง ถ้าสูงไม่พอก็เผาไม่หมด มีมลพิษออกมาข้างนอกอีก”

โรดแมพขยะของคสช.

พลเอกประยุทธ์กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของสำนักงานสิ่งแวดล้อมระบุว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีปริมาณการผลิตขยะ 1,200 ตันต่อวัน แต่วันนี้สามารถกำจัดขยะได้เพียงประมาณ 700 ตันต่อวัน เกินอยู่ 500 ตันต่อวัน จะทิ้งที่ไหน ตอนนี้มีขยะเก่าขยะใหม่รวมมาทั้งหมด 300,000 ตัน ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยู่ในขณะนี้ ถ้าหากเราตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้านี้ได้ ถ้าตั้งโรงขยะนี้ได้ ก็จะมีโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะ และสามารถรองรับขยะสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพิ่มเติม 300 ตันต่อวัน ดีกว่าเดิม ที่เหลือที่เกินอยู่ ก็จะย้ายหาที่ฝังกลบ ซึ่งสามารถรองรับขยะได้ทั้งสิ้น 760,000 ตัน ในเบื้องต้น

“ทั้งนี้ได้กำชับแล้วว่า ไปทำที่ไหนก็ตามจะต้องไม่ทำให้เสียบรรยากาศ เสียภูมิทัศน์ หรือทำให้เกิดมลพิษ ประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์ สร้างงาน สร้างรายได้จากการแยกขยะ คัดขยะหรือกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวกับโรงงานต่างๆ ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่แถวนั้น ต้องขอความร่วมมือจากภาคประชาชนในพื้นที่ ภาคประชาชนในพื้นที่ช่วยสนับสนุนด้วย ถ้าท่านต่อต้าน ท่านไม่ให้ใช้พื้นที่ จะไปทิ้งที่ไหน ขยะตอนนี้ 300,000 ตัน ท่านจะนำไปถึงไหน ก็กองเป็นภูเขาไปเรื่อยๆ สักวันก็กองไม่ได้แล้ว ไปทางกว้าง ไปเรื่อยๆ ที่เท่าไหร่ก็ไม่พอ กี่ร้อยไร่ก็ไม่พอ แต่ถ้าเรามีโรงงานกำจัดขยะ แยกขยะให้ชัดเจน และไปผลิตไฟฟ้าออกมาก็จะหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ธุรกิจที่เกี่ยวกับขยะ ต่างประเทศเขาร่ำรวย ประชาชนก็มีความสุข อย่าไปรังเกียจว่าเป็นสิ่งน่ารังเกียจ จริงๆ แล้วมีคุณค่า มีประโยชน์”

พร้อมกล่าวย้ำว่า “วันนี้มีคนอีกจำนวนมากที่ทำมาหากินเลี้ยงชีพ เลี้ยงชีวิต เลี้ยงครอบครัวจากขยะ ทุกท่านทราบดี โรงงานที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ ประเด็นสำคัญต้องรับผิดชอบต่อชุมชน ประชาชนโดยรอบ ให้มากขึ้นรอบโรงงาน เช่น เข้มงวดเรื่องระบบ มาตรการกำจัดของเสีย ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องปิดไป หรือจัดตั้งมาต้องแสดงให้เห็นถึงมาตรการควบคุมมลพิษ มาตรการกำจัดน้ำเสีย ต่างๆ ต้องแก้ไข ต้องเตรียมการตั้งแต่ต้น ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่อนุญาต และขอให้กรมควบคุมมลพิษ และในส่วนที่ตรวจสอบต่างๆ เหล่านี้ ของกระทรวงอุตสาหกรรมไปตรวจสอบให้ดีขึ้นด้วย โรงงานเก่าก็ช่วยกัน ท่านต้องไปตรวจ ไม่ใช่ตรวจแต่ใหม่ ตรวจเก่าด้วย เก่าไม่มีประสิทธิภาพก็ปิดไป ต้องพัฒนาสร้างใหม่ หรือปรับปรุงเทคโนโลยี ไม่มีเงินก็หาเงินกู้ เงินมาหมุนเวียน ท่านไม่พัฒนาเลย ท่านก็ปล่อยโทรมไปเรื่อยๆ แต่ท่านก็มีรายได้จากการผลิตไปเรื่อยๆ แต่สังคมเดือดร้อนท่านต้องเข้าใจ” พลเอกประยุทธ์กล่าว(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

กรอบเวลาการทำงาน

ขั้นตอนการจัดการขยะ

ต่อมาวันที่ 26 สิงหาคม 2557 คสช. เห็นชอบโรดแมปการบริหารจัดการขยะของประเทศไทยโดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) พร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณจำนวน 526.94 ล้านบาทเพื่อให้ คพ. เร่งจัดการปัญหาขยะที่เร่งด่วน

วันนี้ (29 สิงหาคม 2557) นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แถลงว่า โรดแมปการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ได้รับความเห็นชอบจาก คสช. ประกอบด้วย 4 กิจกรรม คือ 1. เร่งจัดการขยะมูลฝอยสะสมในสถานที่กำจัดขยะพื้นที่วิกฤติ 2. ให้มีรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อจัดการกับขยะที่เข้ามาใหม่ โดยเน้นการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และแปรรูปพลังงานจากขยะ 3. จัดระเบียบมาตรการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย และ 4. กระตุ้นวินัยของคนในชาติ มุ่งสู่การจัดการที่ยั่งยืน

ทั้งนี้โรดแมปดังกล่าว เป็นกระบวนการที่นำพาสู่สิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งมาจาก 10 แนวทาง ดังนี้ 1. ห้ามทิ้งขยะเทกองกลางแจ้ง 2. จัดการบ่อขยะเดิมที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง 3. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำกับดูแลภาพรวม และมีคณะกรรมการทำแผนภาพรวม 4. มีแผนแม่บทการจัดการขยะ โดยระดับจังหวัดทำให้เสร็จภายใน 3 เดือน และระดับประเทศทำให้เสร็จภายใน 6 เดือน 5. คัดแยกขยะจากต้นทาง 6. หารูปแบบใหม่ๆ ในการจัดการขยะชุมชน เช่น มีการจัดการแบบรวมศูนย์และมุ่งเน้นแปรรูปขยะเป็นพลังงาน 7. สร้างระบบจัดการของเสียอันตราย 8. ส่งเสริมให้เอกชนลงทุนและดำเนินการ หากเอกชนสามารถทำได้ดีกว่าและราคาถูกกว่า ส่วนรัฐจะทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบ 9. สร้างวินัยคนในชาติสู่การจัดการที่ยั่งยืน โดยการบรรจุเรื่องการจัดการขยะไว้ในหลักสูตร สร้างธนาคารขยะ ลดใช้ถุงพลาสติก และ 10. จัดการขยะอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงขยะตั้งแต่ต้นทางถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์

การดำเนินงานตามโรดแมปแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ซึ่งต้องทำให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน มีพื้นที่เป้าหมาย 11 จังหวัด ได้แก่ การกำจัดขยะเก่าใน 6 จังหวัด หรือ 619 องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คือ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครปฐม สมุทรปราการ ลพบุรี ปทุมธานี และจังหวัดนำร่องที่จัดการขยะรูปแบบใหม่ 5 จังหวัด คือ นนทบุรี ภูเก็ต สงขลา กรุงเทพฯ เชียงราย

ระยะปานกลาง ต้องทำให้เสร็จสิ้นใน 1 ปี มีพื้นที่เป้าหมาย 20 จังหวัด หรือ 2,172 อปท. ได้แก่ กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ราชบุรี ขอนแก่น ปราจีนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี นครราชสีมา ลำปาง แพร่ ชัยนาท เพชรบูรณ์ ระนอง ชุมพร ยะลา ฉะเชิงเทรา กระบี่ และสมุทรสาคร

และระยะยาว ซึ่งใช้เวลา 1 ปีขึ้นไป ทาง คพ. ก็จะดำเนินการต่อในจังหวัดอื่นๆ ที่เหลืออีก 46 จังหวัด หรือ 4,979 อปท.(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

พื้นที่ขยะ 6 จังหวัด

ด้านการจัดการขยะเก่าสะสมในพื้นที่วิกฤติ 6 จังหวัดนั้น ใช้งบประมาณดำเนินการรวม 526.94 ล้านบาท ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนดังนี้

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีปริมาณขยะสะสมรวม 324,000 ตัน มาจากเทศบาลตำบลนครหลวง 68,000 ตัน และเทศบาลเมืองเสนา 96,000 ตัน โดยจะนำขยะไปเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงานที่โรงปูนเอกชน ในอำเภอแก่งคอย สระบุรี ในงบประมาณ 169.08 ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

จังหวัดลพบุรี มีปริมาณขยะสะสมรวม 153,000 ตัน จากเทศบาลเมืองลพบุรี 80,000 ตัน เทศบาลตำบลเขาสามยอด 27,000 ตัน เทศบาลตำบลลำนารายณ์ 22,000 ตัน และองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสลุง 24,000 ตัน โดยจะนำขยะไปเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงานที่โรงปูนเอกชน ในอำเภอแก่งคอย สระบุรี ในงบประมาณ 79.86 ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

จังหวัดสระบุรี มีปริมาณขยะสะสม 140,000 ตัน จากเทศบาลเมืองพระพุทธบาท โดยจะให้บริษัทเอชนมาลงทุนคัดแยกขยะมูลฝอยเพื่อทำเป็นเชื้อเพลิง (RDF) ในงบประมาณ 16.9 ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จใน 1 ปี

จังหวัดนครปฐม มีปริมาณขยะสะสม 290,000 ตัน จากเทศบาลนครนครปฐม โดยจะนำขยะไปฝังกลบอย่างถูกต้องในสถานที่ฝังกลบของบริษัทเอกชนที่อำเภอกำแพงแสน ในงบประมาณ 261.1 ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

จังหวัดสมุทรปราการ มีปริมาณขยะสะสมรวม 10,090,000 ตัน จากบริษัท อีสเทิร์นเอเนอจีพลัส จำกัด 1,600,000 ตัน บริษัท เด่นชัยปากน้ำ จำกัด 8,000,000 ตัน และบริษัท แพลนเนอร์ซิสเต็มทรานสปอร์ต จำกัด 490,000 ตัน เนื่องจากขยะเหล่านี้อยู่ในความดูแลของเอกชน ดังนั้นจึงกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำกับดูแลการทำงานของ อปท. เช่น สั่งปิดบ่อชั่วคราว เพิกถอนใบอนุญาต สั่งปรับปรุงบ่อขยะเพื่อลดผลกระทบเบื้องต้น และกำจัดขยะตกค้างอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ฯลฯ ทั้งนี้ต้องลดผลกระทบเบื้องต้นภายใน 6 เดือน

จังหวัดปทุมธานี มีปริมาณขยะสะสม 50,000 ตัน จากบริษัท รักษ์บ้านเรา จำกัด เนื่องจากเป็นบ่อขยะของเอกชนจึงกำหนดให้ดำเนินการเช่นเดียวกับจังหวัดสมุทรปราการ

การจัดการขยะรูปแบบใหม่

ด้านการกำจัดขยะรูปแบบใหม่ จะเน้นการผลิตพลังงานจากการเผาขยะ โดย คพ. แบ่งเตาเผาขยะเป็น 3 ขนาด คือ เตาเผาขนาดใหญ่ ซึ่งมีขยะมากกว่า 300 ตันต่อวัน ในพื้นที่นำร่องคือ นนทบุรี ภูเก็ต เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลเมืองสงขลา กรุงเทพฯ และเชียงราย เตาเผาขนาดกลางซึ่งมีขยะ 50-300 ตันต่อวัน ในพื้นที่เทศบาลเมืองน่าน เทศบาลตำบลเมืองแกลง จ.ระยอง และเตาเผาขนาดเล็ก ซึ่งมีขยะน้อยกว่า 50 ตันต่อวัน ในพื้นที่เทศบาลตำบลท่าวังผา จ.น่าน เทศบาลเมืองสีคิ้ว เทศบาลตำบลโนนแดง จ.นครราชสีมา เทศบาลตำบลครึ่ง จ.เชียงราย เทศบาลตำบลลำปลายมาศ เทศบาลตำบลอิสาณ จ.บุรีรัมย์

ด้านระเบียบมาตรการการบริหารจัดการขยะและของเสียอันตรายนั้น เนื่องจากยังไม่ประกาศยกเลิกกฎหมายเดิม ดังนั้นทาง คพ. จึงเพิ่มเติมกฎกระทรวง ปรับปรุงกฎหมายเก่า ให้ อปท. ออกเทศบัญญัติ และเสนอกฎหมายใหม่ คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และร่าง พ.ร.บ.ขยะแห่งชาติ เพื่อใช้จัดการขยะชุมชน โดยจะรวบรวมกฎหมายเดิมที่มีอยู่ 12 ฉบับ และให้ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ภายใน 4 เดือน

สำหรับการสร้างวินัยให้คนในชาติ จะมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ ให้ความรู้ ลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงลดการใช้ถุงพลาสติกและโฟม โดยจะขอความร่วมมือจากร้านค้าปลีกรายใหญ่ แต่หากไม่ประสบความสำเร็จก็อาจออกกฎหมายบังคับใช้ นอกจากนี้ จะบรรจุเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยไว้ในหลักสูตรการศึกษาในโรงเรียน และส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติจริงในสถานศึกษา

กำหนดการต่อไปในปี 2557 ขอ

จากโรดแมปดังกล่าว คพ. กำหนดกรอบเวลาการทำงานไว้ว่า จะสำรวจบ่อขยะเก่าเสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคมนี้ และมีแผนบริหารจัดการขยะระดับจังหวัดภายในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจะปรับปรุงแก้ไขเป็นแผนแม่บทขยะของประเทศได้ภายในเดือนภุมภาพันธ์ 2558 ทั้งนี้ภายใน 6 เดือน ต้องเกิดการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางและมีระบบจัดการของเสียอันตราย รวมมีการคัดแยกประเภทขยะของ อปท. ด้วย ในภายใน 6-12 เดือน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นหน่วยงานหลักเพื่อประชาสัมพันธ์การลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง