ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > Fitch Ratings ชี้ความผันผวนทางการเมือง กระทบจัดทำนโยบาย อาจจะมีผลให้ปรับเครดิต เรตติ้งในทางลบ

Fitch Ratings ชี้ความผันผวนทางการเมือง กระทบจัดทำนโยบาย อาจจะมีผลให้ปรับเครดิต เรตติ้งในทางลบ

20 สิงหาคม 2024


นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ คนที่ 31

Fitch Ratings ฮ่องกงวิเคราะห์ไทยเปลี่ยนผู้นำ สะท้อนความผันผวนทางการเมืองกระทบการจัดทำนโยบายและความเชื่อมั่นนักลงทุน ซึ่งอาจจะนำไปสูการปรับเครดิต เรตติ้งในทางลบ

วันที่ 20 สิงหาคม 2567 สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือฟิทช์เรทติ้งส์(Fitch Ratings) ฮ่องกงเผยแพร่บทวิเคราะห์ว่า การให้ความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรให้แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา จะช่วยให้มีความต่อเนื่องทางด้านนโยบาย แต่สถานการณ์ล่าสุดตอกย้ำว่า ความผันผวนทางการเมืองของไทยจะมีผลกระทบต่อการจัดทำนโยบายและความเชื่อมั่นของนักลงทุน

สภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วยคะแนนเสียง 319 เสียงจากทั้งหมด 500 ที่นั่ง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้า สิ้นสุดลงจากการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในการแต่งตั้งรัฐมนตรี นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังได้มีมติยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งกวาดที่นั่งได้มากที่สุดในการเลือกตั้งปี 2566 จากการกระทำอันฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญ ด้วยการเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

เราเชื่อว่าโดยทั่วไปรัฐบาลชินวัตรจะยังคงยึดจุดยืนนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน เนื่องจากว่าพรรคเพื่อไทยเป็นยังเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากในรัฐบาลร่วม เราเห็นว่ามีความเสี่ยงที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีสิ้นสุดเดือนกันยายน 2568(ปีงบประมาณ 2568) จะมีความล่าช้านั้นไม่มาก โดยร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายมีกำหนดเข้าพิจารณาในวาระสองและวาระสาม ของสภาผู้แทนราษฎรในเดือนหน้า ก่อนที่จะส่งต่อไปยังวุฒิสมาชิกเพื่อพิจารณาก่อนทูลเกล้าถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ระบุว่า รัฐบาลจะศึกษาเพิ่มเติมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่มีความล่าช้ามาก ซึ่งเป็นการแจกเงินจำนวน 10,000 บาท(ราว 290 ดอลลาร์สหรัฐ) ให้ประชาชนที่มีสิทธิจำนวนประมาณ 50 ล้านคน และมีการประมาณการจากรัฐบาลชุดเก่าว่าจะมีสัดส่วนประมาณ 2.4% ของ GDP กระจายไปตลอดสองปีงบประมาณ ทั้งนี้การยกเลิก การปรับหรือ การเลื่อน ก็ไม่ใช่ว่าไม่มี แต่ก็คาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นทางการคลังในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งออกมา จากการประมาณการครั้งล่าสุดของฟิทช์ ซึ่งได้คำนึงถึงโครงการนี้ไว้แล้ว คาดการณ์ว่าการขาดดุลทางการคลังจะเพิ่มเป็น 4.3% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2567 และ 4.4% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2568 จาก 2% ของ GDP ใน 2566 เทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มอันดับเครดิตของประเทศในระดับ BBB ที่ 3.2% ของ GDP และ 3.0% ของ GDP ตามลำดับ

ถ้าหากรัฐบาลลดขนาดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้มากที่จะรัฐบาลจะใช้ทรัพยากรทางการคลังที่เพิ่มขึ้น เพื่อใช้ไปเป็นเงินทุนเพื่อในมาตรการอื่น และอาจจะมีแรงกดดันทางการเมืองที่จะดำเนินมาตรการการใช้จ่ายขนาดใหญ่เพิ่มเติมไปถึงหลังปี 2568 ซึ่งอาจจะทำให้ยากที่จะกลับมาปรับการคลังให้เข้าสู่ภาวะปกติ(fiscal consolidation) ในระยะปานกลางเมื่อสิ้นสุดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และจะทำให้มีความไม่แน่นอนมากขึ้นกับแนวโน้มการขาดดุลและภาระหนี้ของรัฐบาล โดยเฉพาะหากการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นนั้นมีผลต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นมากกว่าที่จะเป็นการจัดการกับอุปสรรคการเติบโตเชิงโครงสร้าง

  • Fitch Ratings:ปัจจัยทางการเมืองและการคลังยังคงเป็นความเสี่ยงด้านเครดิตสำคัญของไทย
  • ฟิทช์เชื่อว่า การที่รัฐบาลเข้าถึงตลาดทุนของประเทศที่มีความลึกและโครงสร้างตลาดตราสารหนี้ที่ดี คือมีระยะเวลาไถ่ถอนโดยเฉลี่ยที่ยาวและส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินท้องถิ่น จะช่วยลดความเสี่ยงบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นอย่างมากของภาระหนี้ต่อGDP ของรัฐบาล นับตั้งแต่ปี 2562 อย่างไรก็ตามหนี้ที่สูงขึ้นอาจจะเป็นข้อจำกัดความสามารถทางการคลังของรัฐบาลในการรับมือกับผลกระทบ(shock) ทางเศรษฐกิจในอนาคต ในการยืนยันอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ BBB+ และแนวโน้มมีเสถียรภาพของฟิทช์ในเดือนพฤศจิกายน 2566 พิทช์ได้ระบุว่า การที่รัฐบาลไม่มีความสามารถในการรักษาเสถียรภาพของอัตราส่วนหนี้สาธารณะ อาจจะเป็นปัจจัยผลักดันให้มีการปรับอันดับเครดิตในเชิงลบ

    ความผันผวนทางการเมืองที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งของประเทศไทยได้มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการจัดทำนโยบาย ดัวชี้วัดด้านธรรมาภิบาลก่อนด้อยกว่าคู่เทียบในกลุ่มอันดับเครดิต BBB และเหตุการณ์ล่าสุดอาจจะลดการที่จะได้ยกระดับในการจัดอันดับด้านธรรมาภิบาลใน World Bank Governance Indicators ซึ่งฟิทช์ได้คาดการณ์ในการประเมินเดือนพฤศจิกายน 2566 ความผันผวนทางการเมืองก็ยังเป็นอุปสรรคต่อความพยายามของประเทศในการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ ภาคธุรกิจและผู้บริโภคในประเทศ

    เราเชื่อว่าการแต่งตั้งแพทองธาร ชินวัตร และการตอบสนองของสาธารณชนต่อการยุพรรคก้าวไกลที่ค่อนข้างเงียบ บ่งชี้ว่า ความเสี่ยงที่ความไม่สงบทางการเมืองจะขยายวงนั้นอยู่ในระดับต่ำในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถตัดทอนความเสี่ยงทางการเมืองที่จะยกระดับขึ้น การหยุดชะงักทางการเมืองมากพอที่จะลดประสิทธิภาพในการจัดทำนโยบายเศรษฐกิจและแนวโน้มการเติบโตอาจจะนำไปสู่การปรับอันดับเครดิตในทางลบ