ไฟไหม้บ่อขยะแพรกษาเป็นเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งรุนแรงที่สุดของไทย ที่อยู่ในความสนใจของสังคม และกลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดให้การแก้ไขปัญหาขยะและน้ำเสียเป็นวาระแห่งชาติ
“บ่อขยะแพรกษา” มีพื้นที่กว่า 100 ไร่ อยู่ในซอยแพรกษา 8 หมู่ 4 ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรปราการ เหตุการณ์ไฟไหม้เมื่อวันที่ 16-22 มีนาคม 2557 เป็นเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะที่รุนแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ใช้เวลากว่า 1 สัปดาห์ไฟถึงจะมอดดับ ส่วนควันพิษจากไฟปกคลุมพื้นที่โดยรอบซึ่งเป็นเขตชุมชน หมู่บ้านจัดสรร และแพร่กระจายออกไปยังพื้นที่อื่นๆ จนต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ และประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน
ทั้งนี้ ผลตรวจสอบคุณภาพอากาศโดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในช่วงที่เกิดเหตุเพลิงไหม้พบว่า ในชุมชนรัศมี 1 กิโลเมตรรอบบ่อขยะ มีสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินค่ามาตรฐาน 20-30 เท่า และพบฝุ่นขนาดเล็กมากปริมาณถึง 350 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่ามาตรฐาน 30 เท่า โดย คพ. ระบุว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ และควรอพยพประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 1.5 กิโลเมตรรอบบ่อขยะออกจากพื้นที่
เหตุการณ์ดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายพันคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบ ทั้งด้านสุขภาพอนามัย สุขภาพจิต รวมถึงก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจ จนเกิดการรวมตัวของประชาชนจำนวนกว่า 2,000 คน ร่วมกันฟ้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางปกครองแก่หน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และเรียกร้องให้มีการปิดบ่อขยะแห่งนี้ ตลอดจนเร่งฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้สามารถอาศัยอยู่ต่อไปได้อย่างปลอดภัย
แต่ปัจจุบันผ่านมากว่า 4 เดือน ปัญหาผลกระทบจากบ่อขยะดังกล่าวก็ยังคงรุนแรงอยู่ ประชาชนในชุมชนโดยรอบยังคงเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นและมลพิษอื่นๆ ที่เนื่องมาจากบ่อขยะ อีกทั้งต้องหวั่นวิตกว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอยอีก ซึ่งภายหลังจากเหตุการณ์ในเดือนมีนาคม ก็ได้เกิดเหตุเพลิงลุกไหม้ซ้ำที่บ่อขยะเดียวกันอีกถึง 2 ครั้งในเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และ พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ประชุมร่วมกันโดยสรุปมีแผนงานให้ ทส. เร่งรัดดำเนินการทั้งหมด 5 เรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “การกำหนดการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยและน้ำเสียเป็นวาระแห่งชาติ (แบบบูรณาการทุกหน่วยงาน)”
ด้านนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 ว่า หลังจากที่ชาวบ้านแพรกษาประมาณ 30 คน นำโดยนายสุชาติ นาคนก ประธานเครือข่ายต่อต้านบ่อขยะแพรกษา ยื่นหนังสือถึงกรมควบคุมมลพิษว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติก็คือ เหตุการณ์ไฟไหม้ขยะที่แพรกษา สมุทรปราการ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะครั้งที่รุนแรงมากที่สุด ทั้งนี้ข้อเสนอต่างๆ ที่ชาวบ้านเสนอมาตรงกับแผนงานการจัดการขยะที่ทาง คพ. เสนอไปให้ คสช. แล้วรอการอนุมัติ ส่วนปัญหาอื่นๆ กำลังแก้ไขให้ไปตามระบบ
ในหนังสือดังกล่าว ชาวบ้านแพรกษามีข้อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม 8 ข้อ คือ
1. ประกาศให้บริเวณดังกล่าวเป็น “พื้นที่ปนเปื้อนเพื่อการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม” และห้ามประกอบกิจการอื่นใดนอกจากการฟื้นฟู
2. ยกเลิกและห้ามออกใบอนุญาตประกอบกิจการทุกประเภทในพื้นที่บ่อขยะที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ
3. ฟื้นฟูการปนเปื้อนถูกต้องตามหลักวิชาการ
4. ผู้ประกอบการหรือเจ้าของที่ดินจะต้องทำรั้วสูงไม่เกิน 1.2 เมตรจากพื้นดิน และเปิดทัศนวิสัยให้ชาวบ้านมองเห็นได้จากภายนอก เพื่อให้ชุมชนติดตามตรวจสอบการฟื้นฟูได้
5. มีคณะกรรมการอย่างน้อย 4 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ประกอบการ ภาคประชาสังคม และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง มากำกับ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนทุกขั้นตอน
6. มีหลักประกันคุ้มครองสวัสดิภาพของเครือข่ายต่อต้านบ่อขยะแพรกษา และประชาชนที่ออกมาเรียกร้องทุกกรณี
7. แก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องและเท่าทันเหตุการณ์ในปัจจุบันและบังคับใช้ได้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ
8. ขอให้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติเพิ่มเติมและออกใบรับรองให้ประชาชนผู้ประสพภัยจากบ่อขยะตามความเป็นจริง
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 ชาวบ้านแพรกษาได้ยื่นหนังสือต่อ คสช. เพื่อขอความช่วยเหลือด้วย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม มีคำสั่งสมาคมโลกร้อนฟ้อง ต.แพรกษา ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษาดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 โดยสั่งห้ามบุคคลที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่พิพาท และจัดเวรยามเฝ้าระวังพื้นที่บ่อขยะที่พิพาทตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันมิให้เกิดเพลิงไหม้ พร้อมทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือสำหรับดับเพลิงไว้ให้พร้อม ทั้งนี้ต้องรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวให้ศาลทราบทุกวันที่ 5 ของเดือน จนกว่าคดีถึงที่สุด
ตามคดีหมายเลขดำที่ ส.11/2557 [คดีพิพาทระหว่างสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน (ผู้ฟ้องคดี) กับนายกเทศมนตรีตำบลแพรกษากับพวกรวม 4 ราย (ผู้ถูกฟ้องคดี)] และในคดีหมายเลขดำที่ ส.16/2557 [คดีพิพาทระหว่างนายสุชาติ นาคนก กับพวกรวม 162 ราย (ผู้ฟ้องคดี) กับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษากับพวกรวม 7 ราย (ผู้ถูกฟ้องคดี)] ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร (คดีเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ) ทั้งนี้คดีทั้งสองสำนวนนี้ อธิบดีศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยให้สำนวนคดีหมายเลขดำที่ ส.11/2557 เป็นคดีหลัก
จากการสำรวจปัญหาขยะที่กลายเป็นข่าวของมูลนิธิบูรณะนิเวศพบว่า ในปี 2557 มีเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะรวม 15 ครั้ง ดังนี้ (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปัญหาขยะอื่นๆ อีก เช่น บ่อขยะส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชน น้ำจากบ่อขยะไหลลงแหล่งน้ำสาธารณะ การลอบทิ้งขยะทั้งขยะทั่วไปและกากอุตสาหกรรมในที่ดินสาธารณะและที่ดินส่วนตัว ฯลฯ ซึ่งกลายเป็นข่าวให้เห็นอยู่เป็นประจำ