ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ระบบทางคู่ ข้อเท็จจริงรถไฟไทย (ตอนที่12): โครงข่ายระบบขนส่งทางราง “ในเมือง-ระหว่างเมือง-ความเร็วสูง”

ระบบทางคู่ ข้อเท็จจริงรถไฟไทย (ตอนที่12): โครงข่ายระบบขนส่งทางราง “ในเมือง-ระหว่างเมือง-ความเร็วสูง”

19 มกราคม 2015


การแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพด้านคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะ “ระบบขนส่งทางราง” ทั้งระบบ ถือเป็นหนึ่งในความคาดหวังของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตั้งใจผลักดันให้สำเร็จภายในรัฐบาลนี้ จากการเร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน 8 ปี เพียง 2 เดือนภายหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศในเดือนพฤษภาคม 2557 และหลังการจัดตั้งรัฐบาลเพียง 1 เดือน คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติในวันที่ 21 ตุลาคม 2557 กำหนดกรอบเวลาของโครงการต่างๆ โดยส่วนใหญ่พยายามให้เปิดประมูลและเริ่มก่อสร้างภายในปี 2558 ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง, รถไฟฟ้า 6 เส้นทาง จากทั้งหมด 10 เส้นทาง, และโครงการรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร ทำให้การดำเนินนโยบายด้านคมนาคมของประเทศไทยในปี 2558 กลายเป็นปีสำคัญที่ต้องติดตามว่าจะสำเร็จตามความตั้งใจของ พล.อ. ประยุทธ์และยกระดับขีดความสามารถด้านคมนาคมขนส่งได้หรือไม่(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ขั้นตอนพัฒนาการระบบราง

ทั้งนี้ แหล่งข่าวอดีตผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า “ระบบการขนส่งทางรางที่ดี” ควรจะประกอบด้วย 1) รถไฟขนส่งมวลชน “ในเมือง” แบ่งเป็น “รถขนส่งมวลชนธรรมดาทำหน้าที่กระจายคน” (Feeder หรือ Distributor) ในเขตธุรกิจ มีระยะห่างระหว่างสถานีสองเท่าของระยะเดินเท้า หรือประมาณ 1 กิโลเมตร ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่เขตใจกลางธุรกิจ หรือซีบีดี (Central Business District: CBD) เท่านั้น ตัวอย่างในปัจจุบัน ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีน้ำเงิน เป็นต้น ขณะที่รถไฟในเมืองอีกประเภท ได้แก่ “รถขนส่งมวลชนระยะไกล” ทำหน้าที่นำคนในเมืองจากระยะที่ห่างออกไปเข้ามาทำงานเขตธุรกิจ มีระยะห่างระหว่างสถานี 3-5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่รอบนอกของเขตซีบีดีหรือพื้นที่ที่อยู่อาศัยจนถึงเขตชานเมือง ตัวอย่างในปัจจุบัน ได้แก่ โครงการรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงค์

2) รถไฟ “ระหว่างเมือง” แบ่งเป็น “รถไฟชานเมือง/ท้องถิ่น ระยะห่างระหว่างสถานี 5-10 กิโลเมตร, “รถไฟแบบเร็ว” ระยะห่างระหว่างสถานี 20-30 กิโลเมตร และ “รถไฟแบบด่วน” ระยะห่างระหว่างสถานี 30-40 กิโลเมตร รถไฟรูปแบบนี้เป็นรูปแบบการให้บริหารของ รฟท. ในปัจจุบัน ซึ่งมีการใช้ทางร่วมกัน โดยประเภทแรกจะทำการจอดหยุดรับผู้โดยสารทุกสถานี โดยมีจุดประสงค์ในการขนส่งคนจากเมืองขนาดเล็กสู่เมืองขนาดใหญ่หรือในทางกลับกัน ขณะที่อีกสองประเภทจะไม่จอดรับผู้โดยสารทุกสถานี โดยมีจุดประสงค์เพื่อขนย้ายคนจากเมืองใหญ่ไปสู่เมืองใหญ่โดยตรง

3) รถไฟ “ความเร็วสูง” แบ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงธรรมดา มีระยะห่างระหว่างสถานี 50-100 กิโลเมตร และรถไฟความเร็วสูงด่วน มีระยะห่างระหว่างสถานี 100-200 กิโลเมตร มีจุดประสงค์ให้บริการรองรับความต้องการส่วนเกินจากรถไฟระหว่างเมือง

แหล่งข่าวกล่าวเสริมว่า การพัฒนารถไฟความเร็วสูงจะต้องอาศัยการพัฒนาเป็นระดับขึ้นมา ไม่สามารถข้ามระดับได้ เนื่องจากจะมีความหนาแน่นของประชากรไม่เพียงพอและจะขาดทุนในที่สุด โดยยกตัวอย่างการพัฒนา “ระบบขนส่งทางราง” ของประเทศไต้หวันว่า ในปี 2526 ไต้หวันได้เริ่มพัฒนาระบบรถไฟชานเมืองเป็นทางคู่รอบเกาะ โดยเน้นทางด้านตะวันตกของประเทศ ส่งผลให้เกิดการชี้นำการตั้งถิ่นฐานของประชากรและเพิ่มความหนาแน่นของประชากรในประเทศฝั่งตะวันตก คิดเป็น 94% ของประชากรทั้งหมด ทำให้ไต้หวันสามารถพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงต่อไปได้ ทั้งที่มีประชากรเพียง 35 ล้านคนเท่านั้น

“ทำไมไต้หวันทำความเร็วสูงได้ทั้งที่มีคนแค่นี้ คำตอบคือ 35 ล้านคนก็จริง แต่ 94% กองอยู่ภาคตะวันตก ความหนาแน่นมันได้ คุ้มที่จะสร้างความเร็วสูง แต่ตอนนี้รัฐบาลไทยพยายามจะโดดข้ามไปความเร็วสูงเลย มันไม่มีคนใช้ ต้องพัฒนาเป็นขั้นตอนแบบนี้ ญี่ปุ่นทำชินคังเซน เพราะระบบเดิมมันล้นมา คือจากสองรางไม่พอ เป็นสี่รางก็ยังไม่พอ ต้องขยายอีก จึงเกิดคำถามว่าทำเป็นความเร็วสูงเลยไหม แต่ของเราโดดข้ามเลย เป็นแนวคิดที่ผิด มีการคัดค้านแต่ไม่มีใครฟัง” แหล่งข่าวกล่าว(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ระบบรางไต้หวัน

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของโครงการต่างๆ ที่ต้องจับตามองในปี 2558 พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวถึงโครงการก่อสร้างระบบขนส่งทางรางปัจจุบันว่า ในส่วนโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 6 เส้นทาง จะมีวงเงินลงทุนรวม 129,306 ล้านบาท โดยจะเร่งประมูลให้แล้วเสร็จในปี 2558 และเปิดใช้พร้อมกันปี 2561 ได้แก่

1. สายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร ตามแผนงานจะประมูลได้ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และจะเริ่มสร้างได้ในเดือนมีนาคม 2558

2. สายจิระ-ขอนแก่น 185 กิโลเมตร เสนอครม.อนุมัติเดือนกุมภาพันธ์ เปิดประมูลเดือนมีนาคม และจะเริ่มสร้างเดือนกันยายน 2558

3. สายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 167 กิโลเมตร เสนอครม.อนุมัติเดือนเมษายน เปิดประมูลเดือนพฤษภาคม และจะเริ่มสร้างเดือนพฤศจิกายน 2558

4. สายลพบุรี-ปากน้ำโพ 148 กิโลเมตร เสนอครม.อนุมัติเดือนเมษายน เปิดประมูลเดือนพฤษภาคม และจะเริ่มสร้างเดือนพฤศจิกายน 2558

5. สายมาบกะเบา-จิระ 132 กิโลเมตร เสนอครม. อนุมัติเดือนเมษายน เปิดประมูลเดือนพฤษภาคม และจะเริ่มสร้างเดือนพฤศจิกายน 2558

6. สายนครปฐม-หัวหิน 165 กิโลเมตร เสนอครม. อนุมัติเดือนเมษายน เปิดประมูลเดือนพฤษภาคม และจะเริ่มสร้างเดือนพฤศจิกายน 2558

ด้านโครงการรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร พล.อ.อ. ประจิน คาดว่าจะใช้เวลาอีก 10 เดือน เพื่อจัดทำรายละเอียดโครงการทั้งหมดร่วมกับประเทศจีน หลังจากได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู)กับประเทศจีนในช่วงปลายปีที่ผ่านมาแล้ว

ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าภายในกรุงเทพมหานคร นายรณชิต แย้มสอาด รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร รักษาการผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่าปี 2558 มีแผนงานทั้งสิ้น 3 เส้นทางที่กำลังรอขอ ครม. อนุมัติก่อสร้าง ได้แก่ สายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี 20 กิโลเมตร, สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง 30.4 กิโลเมตร และสายสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี 34.5 กิโลเมตร

ทั้งนี้ รฟม. มีโครงการที่กำลังก่อสร้างในปัจจุบันทั้งสิ้น 3 โครงการ ได้แก่ สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไทร-บางใหญ่ ซึ่งดำเนินการก่อสร้างแล้ว 90% และอยู่ในระหว่างการทดสอบระบบ, สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงเตาปูน-ท่าพระ ดำเนินการก่อสร้างแล้ว 50% ขณะที่การจัดหาผู้เดินรถจะมีการนัดประชุมอีกครั้งช่วงต้นเดือนมกราคมนี้ และสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งดำเนินการก่อสร้างแล้ว 40% นอกจากนี้ยังมีสายสีเขียวเหนือ หมอชิต-คูคต ซึ่งอยู่ในช่วงประกวดราคาอยู่และคาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้ง 4 สัญญาช่วงต้นปี 2558

นายรณชิตกล่าวว่าในอนาคต รฟม. มีแผนงานที่จะก่อสร้างรถไฟฟ้าอีก 2 โครงการ ได้แก่ สายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการปรับแนวเส้นทาง เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายจะลดการเวนคืนจาก 180 หลังคาเรือน ให้เหลือ 30 หลังคาเรือน และสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนออกแบบ คาดว่าจะจัดการแล้วเสร็จ พร้อมเสนอเข้า ครม. ภายในปี 2558 ได้