นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบแผนการดำเนินงานโครงการลงทุนพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง ปี 2558 ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ 8 ปี (2558-2565) และอนุมัติงบประมาณ 2558 วงเงิน 68,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ได้ทบทวนยอดเงินลงทุน 2.4 ล้านล้านใหม่ หลังจากมีการจัดประชุมเวิร์กชอปยุทธศาสตร์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ ทางอากาศ และทางบก ไปแล้ว 3 ครั้ง
ทั้งนี้ แผนการลงทุนทั้ง 8 ปี มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนการขนส่งทางรางจาก 2.5% เป็น 5% เพิ่มการขนส่งทางน้ำจาก 15% เป็น 19% เพิ่มจำนวนการใช้รถไฟฟ้าภายในเมืองจาก 40% เป็น 60% และลดต้นทุนการขนส่งหรือต้นทุนโลจิสติกส์จากเดิมไม่น้อยกว่า 2%
นอกจากนี้ มีการเปลี่ยนแปลงรายการที่สำคัญในโครงการรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร จากรายงานก่อนหน้านี้โดยนำเส้นทางสายเชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ออกจากแผนเดิมที่ระบุไว้ 2 เส้นทาง ได้แก่ 1. สายหนองคาย-โคราช-สระบุรี-แหลมฉบัง-มาบตาพุด 2. สายเชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ระยะทางรวม 1,392 กิโลเมตร วงเงิน 741,460 ล้านบาท และแก้ไขแผนงานใหม่ออกเป็น 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,060 กิโลเมตร ได้แก่
1. สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และนครราชสีมา-มาบตาพุด 512 กิโลเมตร
2. สายกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 193 กิโลเมตร
3. สายนครราชสีมา-หนองคาย 355 กิโลเมตร
โดยทั้ง 3 โครงการนี้จะเริ่มต้นศึกษาออกแบบ ศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าของโครงการ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในปี 2558 โดยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นจะเริ่มเวนคืนที่ดินประมาณ 2 ปี จึงเริ่มต้นก่อสร้างได้ในกรอบเวลา 3-4 ปี
นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ปี 2558 มีวงเงินลงทุนรวม 68,000 ล้านบาท ขณะที่วงเงินรวมทั้ง 8 ปี ของแผนยุทธศาสตร์คมนาคมทั้งหมดยังไม่สามารถกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณได้ โดยปี 2558 กระทรวงคมนาคมจะให้ความสำคัญกับโครงการรถไฟทางคู่เป็นหลัก 6 เส้นทางก่อน
“ตอนนี้ตัวเงินยังไม่ได้ วันนี้เป็นการนำเสนอ ครม. ในลักษณะของการนำเสนอแผนยุทธศาสตร์และโครงการ หลังจากนี้กระทรวงคมนาคมต้องเอาการบ้านนี้ไปทำ คือเอาไปร้อยเรียงโครงการทั้งหมดที่มีอยู่ สุดท้ายจึงเสนอ ครม. อีกครั้ง” นายชัยวัฒน์กล่าว
ด้านรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตร มีโครงการเร่งด่วนปี 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 6 เส้นทางตามแผนการเดิม แบ่งตามความคืบหน้า 3 ระยะ ระยะทางรวม 903 กิโลเมตร วงเงิน 129,308 กิโลเมตรได้แก่
1) โครงการที่พร้อมก่อสร้าง 1 เส้นทาง ได้แก่ สายฉะเชิงเทรา-คลอง 19–แก่งคอย คาดว่าจะเริ่มต้นประมูลและก่อสร้างได้ต้นปี 2558
2) โครงการที่อยู่ระหว่างนำเสนอ ครม. ขออนุมัติโครงการ 2 เส้นทาง ได้แก่ สายชุมทางจิระ–ขอนแก่น ปัจจุบันได้อนุมัติรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้ว ขณะที่สายประจวบคีรีจันธ์-ชุมพร กำลังพิจารณารายงานอีไอเอ คาดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นปี 2557
3) โครงการที่อยู่ระหว่างนำเสนอของอนุมัติรายงานอีไอเอ 3 เส้นทาง ได้แก่ สายลพบุรี-ปากน้ำโพ, สายมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และสายนครปฐม-หัวหิน
ทั้งนี้ มีความคืบหน้าสำหรับโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ระยะทาง 1,626 กิโลเมตร จำนวน 8 เส้นทาง โดยศึกษาออกแบบในปีงบประมาณ 2558 ดังนี้
1. สายหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กิโลเมตร
2. สายปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร
3. สายชุมทางจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กิโลเมตร
4. สายขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กิโลมเตร
5. สายชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กิโลเมตร
6. สุราษฎร์ธานี-สงขลา ระยะทาง 339 กิโลเมตร
7. สายหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร
8. สายเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 217 กิโลเมตร
นอกจากนี้ ครม. ยังได้อนุมัติการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ โดยเร่งรัดจัดซื้อรถโดยสารประจำทางใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ NGV จำนวน 3,183 คัน โดยคาดว่าจะสามารถส่งมอบรถปรับอากาศ 5 คันแรกภายในเดือนมกราคม 2558 เพื่อทดลองวิ่งดำเนินการ และภายในเดือนมีนาคม 2558 จะได้รับมอบรถตามสัญญาจำนวน 489 คัน ส่วนที่เหลือ 2,694 คัน ได้รับมอบภายในปี 2558
ขณะที่ โครงการพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีโครงการที่อยู่ระหว่างเร่งรัดก่อสร้างทั้งสิ้น 4 โครงการ ได้แก่ โครงการบางซื่อ-บางใหญ่, โครงการบางซื่อท่าพระ/หัวลำโพง-บางแค, โครงการแบริ่ง-สมุทรปราการและโครงการบางซื่อ-รังสิต
มีโครงการที่อยู่ระหว่างเร่งรัดประกวดราคา 1 โครงการ ได้แก่ โครงการหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, โครงการเตรียมขออนุมัติ 6 โครงการ ได้แก่ โครงการแคราย–มีนบุรี, โครงการศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี, โครงการลาดพร้าว-พัฒนาการ-สำโรง, โครงการหัวหมาก-บางซื่อ-หัวลำโพง, โครงการรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และโครงการแอร์พอร์ทเรลลิงค์ต่อขยาย ดอนเมือง-พญาไท และสุดท้ายมีโครงการระหว่างศึกษาออกแบบ 1 โครงการ ได้แก่ โครงการบางแค-พุทธมณฑล สาย 4
ด้านยุทธศาสตร์ทางน้ำ มีการขยายท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือชุมพร ท่าเรือสงขลา ให้รองรับสินค้าได้มากขึ้น มีการเสริมตลิ่งให้แก่แม่น้ำป่าสัก ขณะที่ทางอากาศนั้น มีการปรับปรุงสนามบิน เช่น สนามบินภูเก็ต สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินในภูมิภาค