ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > แผน 8 ปี โครงข่ายคมนาคมขนส่งไทย

แผน 8 ปี โครงข่ายคมนาคมขนส่งไทย

30 กรกฎาคม 2014


เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยในปี 2558-2565 ระยะเวลา 8 ปี มีโครงการเร่งด่วนในปี 2557-2558 ได้แก่ การพัฒนารถไฟทางคู่ แบ่งเป็น โครงการพัฒนาปรับปรุงเส้นทางเดิม โดยสร้างทางรถไฟเพิ่มขนานไปกับเส้นทางเดิมและใช้รางขนาด 1 เมตร หรือ Meter Gauge จำนวนทั้งสิ้น 6 โครงการ รวมทั้งสิ้น ระยะทาง 887 กิโลเมตร วงเงิน 127,472 ล้านบาทคือ

1. เส้นทาง ชุมทางจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร วงเงิน 26,007 ล้านบาท
2. เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 17,293 ล้านบาท
3. เส้นทางนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร วงเงิน 20,038 ล้านบาท
4. เส้นทางมาบกระเบา-นครราชสีมา ระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงิน 29,855 ล้านบาท
5. ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร วงเงิน 24,842 ล้านบาท
6. หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กิโลเมตร วงเงิน 9,437 ล้านบาท

รถไฟทางคู่

รถไฟทางคู่มาตรฐาน

ทางคู่-3

อีกด้านเป็น “โครงการวางมาตรฐานใหม่สำหรับอนาคต” โดยสร้างเส้นทางคู่ใหม่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร หรือ Standard Gauge จำนวนทั้งสิ้น 2 โครงการ รวมระยะทาง 1,392 กิโลเมตร วงเงิน 741,460 ล้านบาทคือ

1) เส้นทางหนองคาย-โคราช-สระบุรี-แหลมฉบัง-มาบตาพุด ระยะทาง 737 กิโลเมตร วงเงิน 392,570 ล้านบาท
2) เส้นทางเชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ระยะทาง 655 กิโลเมตร วงเงิน 348,890 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีโครงการเร่งด่วนปี 2557-2558 ในยุทธศาสตร์เชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล 4 โครงการ

1. รถไฟฟ้าเส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.4 กิโลเมตร
2. รถไฟฟ้าเส้นทางศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 20 กิโลเมตร
3. รถไฟฟ้าเส้นทางแคราย-มีนบุรี 36 กิโลเมตร
4. รถไฟฟ้าเส้นทางลาดพร้าว-พัฒนาการ 30.4 กิโลเมตร

โดยโครงการแรกอยู่ระหว่างประกวดราคา ขณะที่สามโครงการที่เหลือพร้อมประกวดราคาแล้ว ทั้งนี้ ได้มีการเสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม พิจารณาจัดสรรเงินลงทุนในปี 2557–2558 ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์เร่งด่วนภายใน 30 วัน

สำหรับยุทธศาสตร์ระยะต่อไป มีการเสนอยุทธศาสตร์เชื่อมโยงโครงข่าย แบ่งเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างประเทศ คือ

1. การพัฒนาท่าอากาศยานสำคัญ คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานอู่ตะเภา
2. การพัฒนาด่านชายแดนเพิ่มสนับสนุนการค้า โดยในภาคเหนือประกอบไปด้วยด่านแม่สอด จังหวัดตาก ด่านแม่สาย ด่านเชียงแสน ด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย ด่านบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ด่านคลองใหญ่ จังหวัดตราด ด่านสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ด่านมุกดาหาร ด่านนครพนม ด่านหนองคาย ด่านปาดังเบซาร์และด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ด่านสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส
3. การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและปากบารา
4. ถนนเชื่อมระหว่างประเทศ ทล.3 คราด-หาดเล็ก ทล.12 ตาก-แม่สอด ทล.212 อ.โพนพิสัย-บึงกาฬ ตอน 1, ถนนเลี่ยงเมืองอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว, โครงข่ายถนนทางหลวงชนบทเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ด้านโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างเมืองหลัก จะสร้างระบบถนนเชื่อมต่อระหว่างเมืองหลัก ได้แก่

1. โครงการพัฒนาทางหลวง 4 ช่องจราจร เช่น ทล.4 กระบี่-ห้วยยอด, ทล.12 กาฬสินธุ์-อ.สมเด็จ ตอน 2, ทล.304 กบินทร์บุรี-อ.ปักธงชัย (ทางเชื่อมผืนป่า), ทล.314 อ.บางปะกง-อ.ฉะเชิงเทรา ตอน 2, ทล.314 อ.บางปะกง-อ.ฉะเชิงเทรา ตอน 2, ทล.3138 อ.บ้านบึง-อ.บ้านค่าย ตอน 3
2. โครงการบูรณะทางหลวงสายหลักระหว่างภาค เช่น ทล. สาย 1, 2, 11, 32, 35, 41, 43, 117 และ 331
3. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองพัทยา-มาบตาพุด

สำหรับโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะต่อไปประกอบด้วยโครงการรถไฟฟ้า 8 สาย รวม 116.9 กิโลเมตร คือ

1. สายรังสิต-ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 10.3 กิโลเมตร
2. สายบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน ระยะทาง 25.5 กิโลเมตร
3. ARL ต่อขยายดอนเมือง-พญาไท ระยะทาง 21.8 กิโลเมตร
4. สายบางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 19.8 กิโลเมตร
5. สายจรัญสนิทวงศ์-ศูนย์วัฒนธรรม ระยะทาง12.5 กิโลเมตร
6. ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14 กิโลเมตร
7. ศิริราช-ตลิ่งชัน ระยะทาง 6 กิโลเมตร
8. สมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 7 กิโลเมตร

ด้านความคืบหน้าของโครงการ พบว่าโครงการ 2, 3 และ 8 กำลังอยู่ในระหว่างประกวดราคาโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ขณะที่โครงการที่ 4 และ 5 กำลังศึกษาออกแบบ โครงการที่ 6 และ 7 อยู่ระหว่างพิจารณา EIA และโครงการแรกอยู่ระหว่างเสนอ EIA ฉบับปรังปรุงต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ทั้งนี้ ถ้าสร้างเสร็จตามเป้าหมายในปี 2562 จะทำให้ประเทศไทยมีรถไฟฟ้าเชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งสิ้น 410 กิโลเมตร