ThaiPublica > เกาะกระแส > ประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง “ไทย-จีน” ลงนามเอ็มโอยูรถไฟฉลุย หนุนตั้งสมาคมรถไฟอนุภูมิภาค–เห็นชอบแผนปฏิบัติการรวม 5 ปี วงเงิน 9 แสนล้าน

ประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง “ไทย-จีน” ลงนามเอ็มโอยูรถไฟฉลุย หนุนตั้งสมาคมรถไฟอนุภูมิภาค–เห็นชอบแผนปฏิบัติการรวม 5 ปี วงเงิน 9 แสนล้าน

21 ธันวาคม 2014


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 5 (The 5thGMS Summit)  ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/201214/201214-52532.html
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 5 (The 5thGMS Summit)
ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/201214/201214-52532.html

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2557  พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงรองนายกฯ และรัฐมนตรีของไทยบางส่วน ได้เข้าร่วมการประชุมเต็มคณะ (Plenary Session: Opening Statement) ในการการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 5 (GMS Summit 5th)

ภายในงานมีผู้นำและบุคคลสำคัญร่วมประชุม ประกอบด้วย สมเด็จมหาอัครเสนาบดีฮุนเซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา, นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน, นายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์, นายเหวียน เติ๊น สุง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, รัฐมนตรีของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และนายทาเคฮิโกะ นากาโอะ ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asia Development Bank: ADB) และประธานสภาธุรกิจของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดผู้นำครั้งนี้มีเป้าหมายหลักคือการเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการลงทุนระยะเร่งด่วน (Regional Investment Framework-Implementation Plan: RIF-IP) กรอบระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2557-2561 ) ซึ่งเป็นการคัดเลือกโครงการจากแผนปฏิบัติการรวม 10 ปี (Regional Investment Framework: RIF) ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากการประชุมครั้งที่ผ่านมาในปี 2554 โดยแผนปฏิบัติการ 5 ปี ดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นการจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนในภูมิภาค เพื่อให้เกิดการระดมทุนและทรัพยากรจากภาคส่วนต่างๆ จากทั้งภาครัฐ เอกชน และหุ้นส่วนการพัฒนาระหว่างประเทศ อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ถูกจับตามองจากการประชุมครั้งนี้ของประเทศไทยคือการหารือในส่วนโครงสร้างพื้นฐานระหว่างไทย-จีน รวมถึงแนวทางการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในอนุภูมิภาคตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี ว่าจะมีแนวทางอะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจนบ้าง เนื่องจากมีสัดส่วนของการลงทุนตามแผนปฏิบัติการเกือบ 90% ของวงเงินทั้งหมด

กรณีของประเทศไทย พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) 2 ฉบับ กับประเทศจีน ได้แก่ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558–2565 เน้นส่วนของโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทางประมาณ 734 กิโลเมตร และช่วงแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐานโครงการแรกของไทย

ทั้งนี้ แผนงานเบื้องต้นจะมีการตั้งคณะกรรมการทำงานร่วม 2 ฝ่าย และเริ่มหารือช่วงต้นปี 2558 โดยฝ่ายไทยจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ขณะที่ฝ่ายจีนมีผู้อำนวยการเศรษฐกิจและปฏิรูปแห่งชาติเป็นประธาน  ซึ่งคณะกรรมการมีขอบเขตหน้าที่ประชุมวางแผน การสำรวจ การตั้งงบประมาณลงทุน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 10 เดือนหลังการจัดตั้งคณะ

จากนี้ไป กระทรวงคมนาคม จะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการทำงานอีก 3 คณะ ประกอบด้วยคณะกรรมการบริหาร อนุคณะกรรมการที่ปรึกษา และอนุคณะกรรมการประสานและบูรณาการแผนงาน โดยมีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายร่วมทำงาน เช่น ฝ่ายเทคนิค ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายงบประมาณและการเงิน เจ้าหน้าที่ด้านการฝึกอบรม เจ้าหน้าที่การส่งกำลังบำรุง และเจ้าหน้าที่สนับสนุนด้านธุรการและการบริการต่างๆ

สำหรับบันทึกอีกฉบับคือ  บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตร  เป็นการแสดงเจตจำนงของจีนในการซื้อสินค้าเกษตรของไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศและเศรษฐกิจของภูมิภาคในระยะยาวต่อไป

ส่วนความคืบหน้าของการพัฒนาโครงข่ายระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) จากแม่สอด-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น-มุกดาหาร-ลาว-เวียดนาม จะพัฒนาการขนส่งทางถนนให้เป็นถนน 4 ช่องจราจรทั้งหมด ซึ่งมีการก่อสร้างปรับปรุงอยู่แล้วในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดการก่อสร้างทางรถไฟคู่ขนานกับการก่อสร้างถนน เนื่องจากมีความสะดวกและคุ้มค่า ช่วยลดต้นทุนการขนส่งโดยรวมของประเทศได้มากกว่า ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีการเสนอให้ประเทศญี่ปุ่นทำการศึกษาออกแบบความเป็นไปได้แล้ว และรอการตั้งคณะทำงานไปติดต่ออย่างเป็นทางการอีกครั้ง ส่วนการลงทุนก่อสร้างจริงจะต้องติดตามรายละเอียดในระยะต่อไป โดยเส้นทางรถไฟที่วางเอาไว้มี 2 เส้นทาง ได้แก่ สายแม่สอด-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น-มุกดาหาร และ สายบ้านพุน้ำร้อน-กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ระยอง นอกจากนี้ยังมีการวางแผนสร้างเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ด้วย

การประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 5 (The 5thGMS Summit)  ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/201214/201214-52532.html
การประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 5 (The 5thGMS Summit)
ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/201214/201214-52532.html

นอกจากข้อตกลงดังกล่าว ยังมีการหารือประเด็นอื่นๆ ถึงแนวทางการเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างไทยและอนุภูมิภาค ว่าจะต้องมีการพัฒนาให้มีขีดความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าตามมาตรฐาน โดยในส่วนของประเทศไทยมีเส้นทางถนนหลัก 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางอาร์ 9 จากมุกดาหาร-ลาว-เวียดนาม, เส้นทางอาร์ 12 จากนครพนม-ลาว-เวียดนาม และเส้นทางบึงกาฬ-ปากเซ-ลาว นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงประเด็นการแก้ไขกฎระเบียบให้มีความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนมากขึ้น เช่น ไม่ต้องมีการขนถ่ายสินค้าเมื่อข้ามพรมแดน เป็นต้น

ด้านแนวทางการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในอนุภูมิภาคตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี ที่เป็นรูปธรรม ที่ประชุมมีการเสนอให้จัดตั้งสมาคมการรถไฟแห่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (The Greater Mekong Railway Association) หรือจีเอ็มอาร์เอ มีขอบเขตหน้าที่วางแผนเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรถไฟทั้ง 6 ประเทศ ให้เกิดความเชื่อมต่อกัน รวมไปถึงการเชื่อมแผนปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ หลังจากมีการตั้งแล้วเสร็จ สมาคมจะมีส่วนช่วยในการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางราง เป็นลักษณะการมีส่วนรวม (Partner) ระหว่างประเทศ

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการ 5 ปีด้วย โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 900,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านการขนส่งมูลค่าประมาณ 800,000 ล้านบาท รองลงมาคือแผนด้านพลังงานมูลค่าประมาณ 36,000 ล้านบาท, ด้านเกษตรกรรม ประมาณ 13,000 ล้านบาท, ด้านท่องเที่ยว ประมาณ 13,000 ล้านบาท, ด้านการพัฒนาเมือง ประมาณ 10,000 ล้านบาท, ด้านทรัพยากรมนุษย์ ประมาณ 6,500 ล้านบาท, ด้านความร่วมมืออื่นๆ ประมาณ 6,400 ล้านบาท, ด้านสิ่งแวดล้อม ประมาณ 2,600 ล้านบาท, ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่ง ประมาณ 1,200 ล้านบาท และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประมาณ450 ล้านบาท (ดูกราฟิก)
 
ตามแผนการดังกล่าว ประเทศไทยมีโครงการในลำดับความสำคัญสูงสุดคือ โครงการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์เชื่อมระหว่างบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่า 30,000 ล้านบาท ขณะที่โครงการของประเทศไทยตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี โดยรวมจะมีมูลค่าประมาณ 10% หรือคิดเป็นเงิน 90,000 ล้านบาท

ส่วนรายละเอียดของแผนปฏิบัติการรวมตามกรอบระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านการเห็นชอบจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา จะประกอบด้วย 10 สาขา เช่นเดียวกับแผนปฏิบัติการ 5 ปี รวมทั้งสิ้น 215 แผนงาน มูลค่ารวม 1,545,000 ล้านบาท (ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท) ประกอบด้วยโครงการลงทุน 123 โครงการ มูลค่า 1,538,340 ล้านบาท และโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการ 92 โครงการ มูลค่า 6,660 ล้านบาท

ในส่วนของประเทศไทยตามแผนปฏิบัติการ 10 ปี ประกอบด้วยโครงการลงทุนและโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการจำนวน 78 โครงการ มูลค่ารวม 164,271 ล้านบาท คิดเป็น 10.6 % ของโครงการลงทุนทั้งหมด โดยประเทศไทยมีส่วนร่วมในแผนงานด้านคมนาคมมากที่สุด มูลค่ารวม 146,208 ล้านบาท คิดเป็น 89% ของโครงการของไทย โดยมีโครงการสำคัญคือ โครงการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์เชื่อมระหว่างบางใหญ่-กาญจนบุรี เพื่อเชื่อมท่าเรือแหลมฉบัง-กรุงเทพฯ-ทวาย มูลค่า 60,000 ล้านบาท รองลงมาคือแผนงานด้านพลังงาน มูลค่ารวม 8,457  ล้านบาท, แผนงานด้านเกษตร มูลค่ารวม 6,375 ล้านบาท และแผนงานด้านสิ่งแวดล้อม มูลค่ารวม 2,142 ล้านบาท เป็นต้น

นอกจากประเด็นของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงอนุภูมิภาคเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นประเด็นหลักในการประชุมครั้งนี้ โดยสะท้อนออกมาจากข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมและจากกรอบวงเงินของปฏิบัติการระยะ 5 ปี ที่ประชุม “ทุกประเทศ” รวมถึงธนาคารธนาคารพัฒนาเอเชีย ยังกล่าวถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมและการเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะแปรปรวนของสภาพอากาศที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน เพื่อให้ประเทศในอนุภูมิภาคสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม กรอบวงเงินของโครงการที่เกี่ยวข้องยังถือว่าน้อยกว่าด้านการขนส่งอย่างมาก รวมถึงยังไม่มีการลงนามข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมเท่ากับด้านขนส่ง

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ได้กล่าวถึงประเด็นที่ควรจะต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้แผนปฏิบัติการบรรลุตามเป้าหมาย 7 ประเด็น ดังนี้

1) ใช้ประโยชน์ให้เต็มที่จากการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ โดยจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมกันตามแนวชายแดนของแต่ละประเทศ
2) พัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั้งทางบกและทางทะเลให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมระหว่างประเทศในระยะเร่งด่วนใน 2 เส้นทางหลัก คือเส้นทางอรัญประเทศ-ปอยเปต และเส้นทางที่ 2 ได้แก่ หนองคาย-เวียงจันทน์-คุนหมิง
3) ลดขั้นตอนและระยะเวลาการผ่านแดนภายใต้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Cross Border Transport Agreement: CBTA) โดยขอให้ประเทศสมาชิกร่วมหารือด้านการพัฒนากฎระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ยังเป็นอุปสรรค
4) พัฒนาแหล่งพลังงานร่วมกัน ในอนาคตความต้องการใช้ไฟฟ้าในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นอีกมาก
5) ระดมทุนเพื่อพัฒนา ในเรื่องนี้ผมใคร่ขอความร่วมมือจากประเทศและองค์การระหว่างประเทศที่เป็นหุ้นส่วนการพัฒนาเข้ามามีส่วนร่วมให้ความช่วยสนับสนุน
6) ปรับปรุงสิทธิประโยชน์และส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในภูมิภาค สร้างกลไกการประกันสินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งการเข้าถึงแหล่งเงินของเอสเอ็มอี จะส่งผลสำคัญในการสร้างขีดความสามารถและศักยภาพของธุรกิจเอสเอ็มอีในอนุภูมิภาค
7) ร่วมมือดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการภัยพิบัติ

ด้าน นายหลี่ เค่อเฉียง กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศจีนและประเทศในอนุภูมิภาคได้มีความร่วมมือกันเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม เพื่อการร่วมมือที่มากยิ่งขึ้นในอนาคต ประเทศในอนุภูมิภาคจะต้องมีการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้เริ่มต้นโครงการรถไฟและมีการลงนามความเข้าใจแล้ว นอกจากการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน จะต้องมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจหรือเขตอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะตามแนวของโครงสร้างพื้นฐาน สุดท้ายจะต้องหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาใช้พัฒนาร่วมกัน ซึ่งในส่วนของประเทศจีนได้มีการจัดตั้งแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน (Soft Loan) วงเงินประมาณ 15,848 ล้านบาท รวมทั้งมีการจัดตั้งกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk-road Fund) เพื่อรองรับการเติบโตของอนุภูมิภาคต่อไป

นอกจากความเห็นของผู้นำต่างๆ แล้ว เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ภายในงานได้มีการประชุมร่วมของเอกชนเพื่อหาข้อเสนอและนำมาเสนอยังที่ประชุม โดยนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตัวแทนของภาคเอกชน ได้กล่าวรายงานว่า ปัจจุบันการค้าชายแดนของจีเอ็มเอสมีมากกว่า 80% ซึ่งถือเป็นจุดผ่านสินค้าพรมแดนที่สำคัญของเอเชีย และเป็นส่วนสำคัญต่อไปของการเปิดประชาคมอาเซียนด้านเศรษฐกิจ หรือ เออีซี ดังนั้น จะต้องมีการประสานงานร่วมกันในหลายประเทศ ช่วยกันเสริมสร้างเรื่องเงินทุนและด้านการค้า โดยที่ผ่านมาทั้ง 6 ประเทศได้ลงนามสัตยาบันร่วมกันเพื่อสร้างความสะดวกในด้านการขนส่งตามบันทึก ความเข้าใจข้อตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CBTA) โดยจัดให้มีการดำเนินการต่างๆ  ในการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร  ณ  จุดผ่านแดน  ไปแล้วแต่ยังไม่มีผลทางปฏิบัติ

ดังนั้น การค้าชายแดนต้องมีจุดตรวจแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว โดยเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติงานในหน้าที่ร่วมกันและพร้อมกัน  ทั้งจุดตรวจในประเทศขาเข้าและขาออก นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ ต้องมีการตรวจหรือปฏิบัติงานร่วมกันในบริเวณเดียวกันที่ด่านพรมแดนของแต่ละประเทศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก เพื่อเป็นรากฐานของการค้าขนส่งของลุ่มแม่น้ำโขง

นายอิสระกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จะต้องเสริมสร้างขีดความสามารถของมนุษย์ เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ โดยควรมีการส่งเสริมด้านทักษะอาชีพให้อาชีวศึกษามากขึ้น และควรดึงการลงทุนการค้าในชายแดนให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเวลาด้านการขนส่งให้กับภาคเอกชน รวมถึงการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เกิดการแปรรูปเพื่อส่งออก ยกตัวอย่าง ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์จากกัมพูชา สามารถขนส่งมาที่ประเทศไทย และไทยประกอบเป็นรถยนต์ส่งออกไปยังประเทศอื่นได้

สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น พบว่าที่ผ่านมาเขตเศรษฐกิจพิเศษทำอุตสาหกรรมด้านการเกษตร 60% โดยอุตสาหกรรมด้านการเกษตรนั้นมีส่วนต่อการพัฒนาห่วงโซ่ด้านอุปทาน ดังนั้น ในระยะยาวจะต้องมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารด้านการเกษตร เพื่อที่จะสร้างความร่ำรวยให้กับผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษและลดความเหลื่อมล้ำได้ โดยการช่วยเหลือคือ ทำให้เอกชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เป็นต้น

“การค้าชายแดนจะได้ผลนั้น รัฐบาลจะต้องสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อส่งออกสินค้าไปยังตลาดโลก อาทิ การปล่อยสินเชื่อ การสนับสนุนแหล่งเงินทุน” นายอิสระกล่าว

นายอิสระกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถพัฒนาด้านการท่องเที่ยวได้ โดยทั้ง 6 ประเทศ มีนักท่องเที่ยวกว่า 52 ล้านคน มาท่องเที่ยว ดังนั้น เราสามารถร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถในด้านธุรกิจ การโรงแรม อื่นๆ การป้องกันภัยพิบัติ โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) ให้เป็นประโยชน์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว