เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน
ให้กำลังใจ “เฌอปราง” – ชี้ รบ.กระแสแรง ไม่ต้องโหนใคร
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ออกมาโจมตี “เฌอปราง อารีย์กุล” กัปตันวงเกิร์ลกรุ๊ปไอดอล BNK48 ว่าเป็นเครื่องมือรับใช้รัฐบาล หลังออกรายการเดินหน้าประเทศไทย โดยถามกลับว่า แล้วการต่อต้านรัฐบาลทำได้หรือไม่ ไม่ว่าทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มีเขียนไว้หรือไม่ คนพวกนี้ส่วนใหญ่ก็หนีคดีไปอยู่ต่างประเทศแล้วก็ทำความผิดจากต่างประเทศ
“กรณีน้องเฌอปราง ผมก็สงสารเด็กเขานะ การที่ทุกคนมาช่วยกันทำความดีให้กับประเทศมันเสียหายตรงไหน แล้วผมก็ไม่มีผลประโยชน์อะไรจากดาราพวกนี้ เขาจะเอาเงินทองมาให้ผมหรือก็ไม่ใช่ หรือผมจะทำให้เขามีรายได้ดีขึ้นหรือก็ไม่ใช่ เราบอกว่าเราต้องการคนรุ่นใหม่ ซึงคนรุ่นใหม่ก็เข้ามาได้หลายอย่าง จะมาเป็นรัฐบาล นายกรัฐมนตรีก็ได้ หากเลือกตั้งมาได้ก็เป็นไป ส่วนคนที่ไม่ได้เข้าสู่การเมืองเขาก็ต้องมาสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ปัญหาในการดำเนินนโยบายทางการเมืองต่อไป วันนี้เขาเพียงแต่เป็นโฆษกให้กับรัฐบาลโดยที่เขาไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย แล้วผิดหรือ การทำความดีผิดตรงไหน สงสารน้องเฌอปรางและอีกหลายคน” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ทั้งนี้ตนไม่ทราบว่าเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องการเอื้อประโยชน์ได้อย่างไร ไปเอื้อประโยชน์ตรงไหนตนไม่เข้าใจ หรือว่าไปโหนกระแส กระแสใคร กระแสรัฐบาลก็แรงอยู่แล้วในวันนี้ ซึ่งรัฐบาลพยายามขับเคลื่อนกระแสในทางทีดี ถูกต้อง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน แล้วผิดตรงไหน บางคนไม่ฟังตนพูด เพราะเบื่อ ที่ตนพูดไม่เพราะบ้าง ดุเกินไป ก็เอาสาวๆ มาพูด ทั้งนี้ตนขอให้กำลังใจน้องเฌอปราง อย่าไปยอมแพ้คนไม่ดี คนไม่มีคุณธรรม ศีลธรรม อย่าไปยอมแพ้ ใครก็ได้ เพราะการทำความดีทำได้ทุกเวลา ทำได้ทุกหน้าที่ทุกกิจการ ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดเพื่อประเทศชาติและประชาชนของเราต่างคนต่างไม่ได้ประโยชน์แต่ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์ ต้องมองตรงนี้
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ถ้าทุกคนไม่อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรรัฐบาลก็ไม่ปวดหัวไม่มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง สร้างความขัดแย้งกับใครคนก็ชอบ รักรัฐบาล เลือกตั้งกี่ทีก็มาหมดวันนี้ต้องจัดระเบียบบ้านเมือง สร้างการรับรู้ให้ได้ ว่าจะร่วมมือกันอย่างไร การใช้งบประมาณจะคุ้มค่าอย่างไร การเลือกตั้งจะได้รัฐบาล หรือ ส.ส. ที่ดีมาอย่างไร ที่ทำเพื่อคนทั้งประเทศ
“ผมพูดตรงนี้มันเอื้อประโยชน์ใคร ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ใคร และผมไม่ได้อยู่พรรคไหนซักพรรคนึง ฉะนั้น อย่าเพิ่งมากังวลกันเรื่องนี้ ผมไม่อยากให้ฟังนักการเมืองมากนักในตอนนี้ ฟังได้แต่อย่ามาไล่ล่ากับผม มันไม่ใช่ คนละเรื่องกัน แยกแยะให้ออกหน่อยว่าผมกำลังทำอะไร และเขากำลังทำอะไร เขาก็เตรียมการไปสู่การเลือกตั้งของเขา สิ่งที่ผมกังวลคือเมื่อถึงช่วงการปลดล็อกอะไรต่างๆ มันจะวุ่นวายหรือไม่ ท่านต้องช่วยผมลดความขัดแย้งตรงนี้ ไม่เช่นนั้น บ้านเมืองจะเสียหายการลงทุนการท่องเที่ยวจะติดชะงัก จะได้อะไรขึ้นมา ได้รัฐบาลเดิมๆ ขึ้นมา ที่ชนะคะคานมาด้วยความขัดแย้งบิดเบือนซึ่งกันและกัน แล้วจะได้รัฐบาลที่ดีมาไหม” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ไม่สน “จตุพร” แนะอยู่เฉยๆ เตรียมตัวสู้คดี
พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) ออกมาเสนอแนะให้ทุกพรรคถอดหัวโขนมาจับเข่าคุย ก่อนตกลงกับ คสช. เพื่อให้พรรคเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล ว่า “ผมว่า ถอดหัวตัวเองออกไปก่อน คนพูด ไปขยายความเขาทำไม น่าเชื่อถืออะไรหรือไม่ แล้วมีส่วนร่วมในความขัดแย้งของการเมืองช่วงที่ผ่านมาหรือไม่ ทุกคนก็รู้ในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไปว่ามา ผมไม่ไปทะเลาะด้วย ให้เขาเงียบๆ ไปบ้าง ถอดหัวตัวเองออกไปบ้าง อยู่เฉยๆ ดีที่สุด ไปเตรียมสู้คดีที่มีเยอะแยะเถอะ”
ชี้ “สหพันธรัฐไท” ผิดกม. เข้าข่ายกบฏ
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีจับผู้ที่จำหน่ายเสื้อยืดสีดำมีแถบป้ายสีขาวและสีแดงบริเวณหน้าอกที่เรียกว่าสัญลักษณ์การแบ่งแยกการปกครองเป็นสหพันธรัฐไท ว่า ตนขอถามกลับไปว่า คำว่า “สหพันธรัฐไท” เป็นคำที่ถูกกฎหมายหรือไม่ ประเทศไทย คือ “ราชอาณาจักรไทย” ตามรัฐธรรมนูญ แล้วความหมายของสหพันธรัฐคืออะไร เป็นการล้มระบอบการปกครองหรือไม่ เข้าข้อหากบฏ อั้งยี่ ซ่องโจร หรือไม่
“เขาก็ดำเนินการโดยกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นอย่าไปทำ ใครอย่าไปร่วมมือเพราะมันเป็นการบ่อนทำลายประเทศชาติของเรา ในเมื่อเราเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั่นคือสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นอาณาจักรหนึ่งเดียวแบ่งแยกไม่ได้ แต่คำว่าสมาพันธรัฐเป็นแบ่งแยก เป็นรัฐต่างๆ มีอิสระ เราเป็นอย่างนั้นหรือ ถ้าอะไรที่คัดค้ากับรัฐธรรมนูญทำไม่ได้ทั้งนั้นผิดกฎหมาย และกฎหมายเรื่องนี้ก็แรงด้วย ฉะนั้นต้องระมัดระวัง” นายกรัฐมนตรี กล่าว
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า เห็นหรือไม่ในโซเชียลมีเดียที่มีความพยายามปิดกั้นสิ่งที่สื่อสารไปในทางนี้ แต่ข้อความมีที่มาจากต่างประเทศ จึงก็ต้องใช้อำนาจศาลในการปิดแต่ละอัน พอปิดใหม่ก็เปิดใหม่ซึ่งเป็นความยากง่าย ไม่ใช่ไม่ทำในทุกเรื่อง จะเห็นได้ว่ามีคนนั้นคนนี้ออกมาพูดในโซเชียลมีเดีย เปิดเฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์โจมตีอยู่ทุกวัน มันถูกหรือผิด แล้วคนกลุ่มนี้เชื่อมโยงกับคนกลุ่มนั้นที่อยู่ต่างประเทศหรือไม่ มันมีเบื้องหลังทั้งหมด ฉะนั้นอย่ามาบอกว่ารัฐบาลรังแกคน ไม่ได้ ต้องเอากฎหมายมาดู ว่าผิดกฎหมายข้อไหนบ้าง เชื่อมโยงใครบ้าง
“วันนี้ออกหมายจับไปแล้ว อยู่ในขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน ขายเสื้อ ขายอะไรต่างๆ สัญลักษณ์ประเทศไทยเป็นธงไตรรงค์ไม่ใช่หรือ ที่ผ่านมาก็มีคดีเหล่านี้อยู่” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ตอบคำถาม “กรณ์” ล้มดีลซื้อหุ้นพลังงาน ต้องมอง 2 ด้าน
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่นายกรณ์ จาติกวณิช แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือเพื่อขอให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยกเลิกแผนการซื้อหุ้นของ บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) เนื่องจากเกรงจะเกิดปัญหาเรื่องการผูกขาดพลังงานไฟฟ้า ว่า ยังไม่มีเรื่องมาถึงตน แต่เมื่อเรื่องมาถึงเมื่อไรก็ต้องมาดูเรื่องกฎหมายว่า ปตท. นั้นสามารถทำเช่นนั้นได้หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายหลายประการควบคุมอยู่ ฉะนั้น วันนี้จะต้องมีการรับฟังและสื่อสารทั้ง 2 ทาง เพราะมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองสอดแทรกเข้ามาด้วย
แจงอบรม ขรก.-ปชช. เน้นสร้างการรับรู้ หวังดึงคนใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 90%
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการอบรมพิเศษข้าราชการท้องถิ่น และประชาชน 90 วันก่อนการเลือกตั้ง ว่า ทั้งหมดนั้นหมายความว่าเป็นการสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ ซึ่งวันนี้ทางกระทรวงมหาดไทยได้สร้างการรับรู้ไปบ้างแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้าใจว่า เราจะมีการบริหารราชการอย่างมีธรรมาภิบาลได้อย่างไร ในหลักการทั้ง 6 ข้อ เป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว ซึ่งวันนี้ประชาชนต้องรู้และเข้าใจระบการบริหารงานราชการแผ่นดิน รัฐบาลจึงต้องสร้างความรับรู้
“ที่ผ่านมาก็พูดแค่ตรงนี้แล้วสื่อนำไปขยาย แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง เพราะประชาชนในพื้นที่เขาก็ทำงานไม่ได้ติดตามข่าวสารทั้งหมด ฉะนั้นจึงต้องมีกระบวนการสร้างความรับรู้ ไม่ใช่เพื่อจะไปสนับสนุนใคร อย่ามองทุกอย่างเป็นการเมืองทั้งหมด วันนี้หลายคนก็บอกว่าประชาชนไม่รู้เลยว่ารัฐบาลทำ แล้วก็กลับมาว่ารัฐบาลทำไมไม่ทำให้ประชาชนเข้าใจ ส่วนนี้เป็นส่วนที่ผมเอามาทบทวนว่า เราควรจะทำอย่างไร ซึ่งทุกกระทรวงต้องสรุปแนวทางในสิ่งที่ทำไปแล้วตลอด 3-4 ปีทีผ่านมา ใครได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ ไปสู่การบริหารราชการในวันหน้า หากไม่อธิบายตรงนี้ก็ต้องวนกลับมาที่เดิม” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียังคงยืนยันว่า ในระดับท้องถิ่นก็ไม่ใช่การสนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่ง เพียงแต่ท้องถิ่นนั้นมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น ทุกคนจึงต้องมีหลักคิดว่าจะเลือกคนอย่างไรเข้ามาบริหาร มีความรู้หรือไม่ในการบริหารราชการ หรือใช้จ่ายงบประมาณ เพราะงบประมาณส่วนหนึ่งมาจากการเก็บภาษีจากท้องถิ่น ซึ่งเราสามารถเก็บภาษีมาได้เพียง 70,000 กว่าล้านบาทต่อปี แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดต้องใช้เงินเกือบ 300,000 ล้านบาทต่อปี รัฐบาลจึงต้องใช้เงินจากงบกลางเพิ่มไปให้ ที่ผ่านมาเดิมรัฐบาลอาจมีนโยบายหรือแผนงานที่ไม่ตรงกับความต้องการของพื้นที่ ก็ต้องมีการทำความเข้าใจส่วนนี้ต่างหาก
“ผมก็อยากให้ทุกคนออกมาเลือกตั้งให้หมด ที่ผ่านมามีผู้มาใช้สิทธิ์ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งควรจะได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไปหรือไม่ ถ้าเขาไม่รู้ว่าที่เขามาเลือกสำคัญอย่างไรก็จบหมด ฉะนั้นจึงต้องบอกว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้นเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน วันนี้มีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลง เช่น การใช้บัตรใบเดียว การเปิดโอกาสให้กาไม่เลือกใคร การไม่ออกมาเลือกตั้งแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ประชาชนต้องรู้ว่าสิ่งที่เขากาไปนั้นเป็นสิทธิ หน้าที่ของเขาที่ต้องทำ หากเขามีความเข้าใจในหลักการและเหตุผลแล้วก็จะได้การเลือกตั้งที่มีคุณภาพ ได้นักการเมืองที่มีคุณภาพเข้ามาสู่ในระบบการบริหารราชการแผ่นดิน หากประชาชนไม่เข้าใจพื้นฐานตรงนี้มันก็ไปไม่ได้ทั้งหมด”
“ไม่มีฐานเสียงอะไรทั้งสิ้น เพราะทุกอย่างถูกจับตาโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้งสิ้น วันนี้รัฐบาลต้องอยู่ตรงกลางให้ได้ และต้องขับเคลื่อนสิ่งใหม่ๆ ลงไป ที่ผ่านมาทุกคนก็ทราบดีอยู่แล้วว่าการเลือกตั้งเป็นอย่างไร ดีบ้างไม่ดีบ้างก็แล้วแต่ วันนี้เรากำลังทำทุกอย่างให้โปร่งใส ให้ดีขึ้น ชัดเจนขึ้น พวกเราก็น่าจะเข้าใจ เว้นแต่บางคนที่ตั้งใจจะไม่เข้าใจ มีอะไรก็มีปัญหาไปเสียทั้งหมด ผมไม่ต้องการให้ทุกอย่างกลับไปที่เดิม” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ยาเสพติดทะลัก – สั่งทุกหน่วยเข้มงวดกวดขัน ชี้แก้ปัญหาต้องดูทั้งระบบ
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงปัญหายาเสพติดที่มีการจับกุมเป็นจำนวนมากในขณะนี้ โดยปฏิเสธว่า กรณีของยาเสพติดนั้นไม่ได้มีปัญหามากในช่วงนี้ แต่เป็นปัญหาที่เรื้อรังมาตลอด ซึ่งขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลมีมาตรการอย่างไร ตั้งแต่ชุมชน ท้องถิ่น ที่จะช่วยกันอย่างไร หลายพื้นที่ประสบความสำเร็จในเรื่องของการทำเป็นพื้นที่ปลอดยาเสพติด สำหรับส่วนไหนที่มีการเล็ดลอดเข้ามาทางรัฐบาลก็มีการเพิ่มมาตรการในการกวดขัน สอดส่องการขนย้าย การข้ามแดนต่างๆ ซึ่งในขณะนี้มีการปะทะ และการจับกุมได้เป็นจำนวนมาก
“เราก็มองได้ 2 ประเด็น ไม่ใช่ว่ามีมากขึ้น มันอาจจะมีมากอยู่แล้วแล้วเราจับไม่ได้ แล้ววันนี้เราจับได้มากขึ้น ก็เป็นวิธีคิดอีกแง่หนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ไม่ได้ประมาทหรือนิ่งนอนใจว่าจับได้มากแล้ว ก็ต้องไปดูว่าที่จับไม่ได้มีอีกเท่าไร ถ้าเล็ดลอดออกไปจะมีเป็นจำนวนมากหรือไม่ ต้องหามาตรการรับมือที่เหมาะสมที่จะสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย” นายกรัฐมนตรีกล่าว
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ตนได้กวดขันไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ตำรวจ ทหาร กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) หรือหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ จากนั้นต้องมาดูว่าปลายทางคืออะไร เพราะมีผู้ถูกจับกุมได้เป็นจำนวนมากในเรื่องยาเสพติด เกิดปัญหาคนล้นคุกไปอีก จึงต้องคิดทั้งวงจร
“เรากำลังหามาตรการที่เหมาะสมว่าจะดำเนินการต่อคดีเหล่านี้อย่างไร รวมไปถึงเรื่องคดีต่างๆ ขอทุกคนอย่าไปเข้าใจว่าคนรวยไม่ติดคุก คนจนติดคุก ผมเคยพูดไปแล้ว รัฐบาลพยายามทำทุกอย่างตามกฎหมายให้มีความชัดเจนเกิดขึ้น อะไรที่เป็นคดีแห่งความรุนแรง อุกฉกรรจ์ ที่สังคมยอมรับไม่ได้ก็ต้องมีการทบทวนดูว่าจะต้องลงโทษสถานหนักตามบทกำหนดโทษที่มีอยู่ ซึ่งก็ไปคาบเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนที่หลายคน และระดับโลกกำลังขับเคลื่อน เช่น เรื่องโทษประหารชีวิต แต่รัฐบาลคิดแบบมองทุกประเด็นแห่งปัญหา เพื่อจะแก้ไขให้ได้ผลเป็นรูปธรรมที่สุด” นายกรัฐมนตรีกล่าว
มอบ “กลาโหม” หาเจ้าภาพดูแล “อนุสาวรีย์ชัยฯ”
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการหาเจ้าภาพดูและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ว่า การหาเจ้าภาพดูแลอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และอนุสาวรีย์อื่นๆ วันนี้กระทรวงกลาโหมเขากำลังประชุมกันว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เรื่องนี้มีงบประมาณอยู่แล้ว เพียงแต่ผู้รับผิดชอบจะต้องทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นว่าจะเป็นหน่วยงานใด กรุงเทพมหานคร กระทรวงกลาโหม หรือองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เป็นการแบ่งแยกให้ชัดเจนเท่านั้นเอง ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีผู้ดูแลอยู่แล้ว
เล็งสร้างครัสเตอร์ขยะ 300 แห่ง – ที่ผ่านมาจัดงบกลางฯแก้ปัญหาปีละ 1.7 ล้าน
พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ในการประชุ ครม. วันนี้ตนได้ให้แนวทางในการดำเนินงานไปหลายเรื่อง ซึ่งเรื่องที่ตนให้ความสำคัญที่สุดคือ การจัดการขยะ ซึ่งตนได้ให้กระทรวงมหาดไทยไปทำความเข้าใจอีกครั้งหนึ่งว่าขยะนั้นแยกเป็นประเภทอะไรได้บ้าง ตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งตนเห็นว่าหากสามารถทำการแยกขยะได้ตั้งแต่ต้นทาง ใส่ถุงแยกไว้จะทำได้หรือไม่ โดยแบ่งเป็นสี เช่น ถุงสีแดงขยะมีพิษ ถุงสีเขียวเป็นขยะอาหาร หรืออินทรีย์วัตถุ ถุงสีขาวขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เป็นต้น
“รัฐบาลกำลังคิดวิธีที่จะทำให้คนรู้ว่าขยะเหล่านี้มีมูลค่าได้อย่างไร เมื่อแยกขยะได้ตั้งแต่ต้นทาง เพราะปริมาณขยะของประเทศแต่ละปีมีถึง 27 ล้านตัน ซึ่งทั้งประเทศควรมีคลัสเตอร์ขยะ ทั้งหมดประมาณ 300 คัสเตอร์ ซึ่งในจำนวนี้ต้องไปดูว่าจะมีการบริหารจัดเก็บกันอย่างไร หน้าที่ส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของท้องถิ่น วันนี้เงินที่เก็บไปก็ไปบริหารจัดการขยะ ซึ่งเมื่อพูดถึงการเก็บเงินขยะก็จะมีเรื่องอีก แต่ทุกคนก็ต้องการให้มันดี ที่นี้ต้องย้อนกลับมาว่าจะเริ่มต้นได้อย่างไรให้เกิดขึ้นได้ เริ่มต้นตั้งแต่ผู้ผลิตขยะก่อน” นายกรัฐมนตรีกล่าว
แม้กลางทางจะไม่สามารถแบ่งแยกได้มากนัก แต่เมื่อต้นทางมีการแยกมาเป็นประเภทที่ชัดเจนอยู่แล้ว ก็ช่วยการจัดการสุดท้ายได้ เพราะ รถขนขยะมีปริมาณจำกัด งบประมาณกำจัดขยะมีประมาณ 2,800 ล้านบาทต่อปี แต่ต้องใช้จริงถึง 20,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรัฐบาลต้องใช้งบกลางเพิ่มเข้าไปในส่วนที่ขาด เมื่อพูดถึงเรื่องเก็บเงินก็เป็นปัญหา แล้วจะทำเช่นไรเพราะรัฐบาลเองก็ไม่รู้จะนำเงินจากไหนมาให้
“ไม่ได้บอกว่าตูดขาด ที่ผ่านมาสามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย หลายอย่างก็เก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย ไม่มีตูดขาดหรอกครับ คำว่าตูดขาดนั้นหมายถึงบริหารไม่ได้ หนี้สาธารณะท่วมหัว มันไม่ท่วมหรอกครับ ทุกวันนี้ส่วนที่ได้เพิ่มนั้นนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดมูลค่าในอนาคต เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ ซึ่งหนี้เหล่านี้ไม่เกินจากที่กฎหมายกำหนด คือ 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ตอนนี้รัฐบาลเป็นหนี้ระยะยาวประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเท่านั้น อีกทั้งไทยยังมีเงินสำรองระหว่างประเทศที่มั่นคง” นายกรัฐมนตรีกล่าว
มติ ครม. มีดังนี้
เห็นชอบกม.ป้องกันลักลอบเข้าเมือง – เพิ่มอำนาจจนท.ตรวจค้น
พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการลักลอบผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดเสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 1) การกำหนดบทนิยามผู้โยกย้ายถิ่นฐาน หมายถึงบุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติของประเทศหรือรัฐที่เข้าไปอยู่และไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ได้ตามกฎหมาย 2) กำหนดความผิดในการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน โดยให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานกลางประสานกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ 3) กำหนดอำนาจหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดในการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานให้สามารถเข้าไปในเคหสถานเพื่อตรวจค้นหรือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ 4) กำหนดมาตรการป้องกันการลักลอบขนโยกย้ายผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางทะเล โดยหากมีเรือต่างชาติที่เจ้าหน้าที่สงสัยว่ากระทำความผิด ให้เจ้าหน้าที่แจ้งไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อติดต่อไปยังรัฐหรือประเทศที่เป็นเจ้าของธงเรือนั้น กรณีที่กระทำความผิดบนเรือต่างชาติ ที่ไร้สัญชาติ เจ้าหน้าที่สามารถให้เรือนั้นหยุดเพื่อเข้าตรวจค้นได้
“เดิม ครม. เคยมีมติตั้งแต่ปี 2544 ให้กระทรวงต่างประเทศลงนามในฐานะตัวแทนประเทศไทยในพิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก เสริมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่กระทำโดยองค์กรอาชญากรรม และพิธีสารว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบขนผู้ย้ายถิ่นโดยทางบก ทางทะเล และทางอากาศ เสริมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่กระทำโดยองค์กรอาชญากรรม อย่างไรก็ตาม พบว่ากฎหมายที่บังคับใช้อยู่ไม่ได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับพิธีสาร จึงต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายใหม่ทั้งหมด เป็นที่มาของกฎหมายฉบับนี้” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
แก้ป.วิแพ่ง วางระบบไกล่เกลี่ย – ลดจำนวนคดีเข้าสู่ศาล
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบหลักการ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนคดีที่จะนำขึ้นสู่ศาลให้น้อยลง เนื่องจากปัจจุบันมิได้กำหนดเรื่องระบบการไกล่เกลี่ยเอาไว้ ทำให้เวลามีข้อพิพาทกันจะต้องเข้าสู่กระบวนของศาลทั้งหมดและและต้องใช้เวลาและทรัพยากรในการพิจารณาจำนวนมาก
ทั้งนี้ สาระสำคัญของกฎหมายคือกำหนดให้ก่อนยื่นฟ้องคดีแพ่ง ผู้ที่จะเป็นคู่ความสามารถยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้แต่งตั้งผู้ประนีประนอมยอมความทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ก่อนที่ข้อพิพาทดังกล่าวจะเป็นคดีขึ้นสู่ศาล และหากตกลงกันได้ก็อาจขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมได้ทันที นอกจากนี้ คู่ความสามารถนำสัญญาประนีประนอมยอมความยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำพากษาได้ ในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจจะไม่เห็นด้วย เพราะอาจจะอยู่ในสภาพจำใจหรือคิดว่ามิชอบด้วยกฎหมาย ถ้าศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ชอบด้วยกฎหมายก็จะมีอำนาจในการพิพากษาให้เป็นไปตามสัญญานั้น แต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่าน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการเอารัดเอาเปรียบ ศาลอาจจะไต่สวนปฏิเสธการพิพากษาตามสัญญานั้นได้เช่นกัน
“ก็มีข้อสังเกตว่ากฎหมายจะไปซ้ำซ้อนกับกฎหมายไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนที่ผ่าน ครม. ไปก่อนหน้านี้หรือไม่ ก็มีการรายงานว่าไม่ได้ซ้ำซ้อน เพราะกฎหมายไกล่เกลี่ยภาคประชาชนจะมีลักษณะเป็นกฎหมายกลางและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่วงเงินไม่ได้สูงมาก ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอำนาจศาล แต่กรณีของวันนี้จะเป็นการกำหนดอำนาจของศาล ซึ่ง ครม. เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อคู่ความ และลดจำนวนคดีที่จะนำขึ้นสู่ศาลได้” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
ผ่านร่างกม. Digital ID – ยืนยันตัวตนผ่านอิเล็กทรอนิกส์
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. มีมติมติเห็นชอบในหลักการ ร่างพระราชบัญญัติการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ตลอดจนการกำหนดแนวทางการคุ้มครองประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลและผู้ใช้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล
ในสาระสำคัญของกฎหมายได้กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมกำกับดูแลการพิสูจน์และยืนยันตัวตน โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงเป็นรองประธาน และมีสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานเลขานุการ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลโครงข่ายระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเป็นการทั่วไป, ออกประกาศ คำสั่งเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. นี้, กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการของบริษัทผู้ให้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล รวมทั้งการกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การให้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับการจัดตั้งในรูปแบบบริษัท และได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี นอกจากนี้บริษัทผู้ให้บริการจะต้องกำหนดมาตรฐานในการรักษาความลับ และความปลอดภัยของข้อมูลในโครงข่ายระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล โดยมีมาตรฐานการเข้ารหัสหรือดำเนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการกำหนด ขณะเดียวกันได้กำหนดบทลงโทษแก่บริษัทผู้ให้บริการที่จงใจหรือประมาทเลินเล่อในการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องให้แก่ผู้อื่น หรือไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่เป็นไปตาม พ.ร.บ.นี้จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใช้บริการหรือเจ้าของข้อมูล บริษัทผู้ให้บริการจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นด้วย และหากฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการฯ ต้องโทษปรับ 300,000 บาทและค่าปรับอีกวัน 10,000 บาท จนกว่าจะปรับปรุงให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการฯ
ด้านนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่าเนื่องจากการทำธุรกรรมหรือการทำนิติกรรมสัญญาหลายประเภทในระบบเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีการพิสูจน์ตัวตน การให้ความยินยอม การลงลายมือชื่อ หรือการแสดงเจตนาของผู้ทำธุรกรรมดังกล่าวและในอดีตที่ผ่านมา การพิสูจน์ตัวตนมักจะให้ผู้ใช้บริการ (ผู้ทำธุรกรรม) ต้องไปแสดงตนต่อผู้ให้บริการ เช่น หน่วยงานราชการ ธนาคารพาณิชย์ โรงพยาบาล เป็นต้น พร้อมส่งเอกสารหลักฐานในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน จึงก่อให้เกิดความไม่สะดวก และเป็นภาระต่อผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบกับประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคอิเล็กทรอนิกส์โดยที่มีการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างแพร่หลาย ดังนั้น หากการพิสูจน์และยืนยันตัวตนสามารถกระทำในรูปแบบดิจิทัลได้ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ ซึ่งจะเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
กระทรวงการคลังจึงเสนอร่างพระราชบัญญัติการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ. Digital ID) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) พัฒนาโครงข่ายระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (โครงข่ายฯ) ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ 2) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล รวมทั้งกำกับดูแลผู้ให้บริการ และ 3) ยกระดับการให้บริการของหน่วยงานของรัฐ โดยหน่วยงานของรัฐสามารถใช้ประโยชน์จากโครงข่ายฯ ได้
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. Digital ID เป็นกฎหมายเชิงกำกับดูแล โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลโครงข่ายฯ เพื่อให้กระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเป็นไปอย่างถูกต้องครบถ้วน และผู้ใช้บริการซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ อำนาจการกำกับดูแลของคณะกรรมการสามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้
-
1) ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Platform) ซึ่งให้บริการโดยบริษัทผู้ให้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล โดยคณะกรรมการมีอำนาจกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัท อีกทั้งการจัดตั้งบริษัทยังต้องได้รับความเห็นชอบ รวมถึงใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
2) ระบบทำการแทน (Proxy Server) ซึ่งเป็นการให้บริการระบบทำการแทนแก่ผู้ที่ประสงค์จะเข้าสู่ Platform ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่ไม่มีมาตรฐานทางเทคโนโลยีเพียงพอ เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับ Platform ผ่าน Proxy Server ได้ โดยคณะกรรมการมีอำนาจกำกับดูแลผู้ให้บริการ Proxy Server รวมถึงอำนาจในการพิจารณาอนุญาตการเชื่อมต่อระหว่าง Platform และ Proxy Server หรือสั่งให้หยุดการเชื่อมต่อดังกล่าว
3) การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยคณะกรรมการมีอำนาจเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการเข้ารหัสข้อมูล หลักเกณฑ์การส่งผ่านข้อมูลระหว่าง Platform และ Proxy Server รวมถึงอำนาจในการเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลหรือพิจารณาคำอุทธรณ์ของผู้ได้รับความเสียหายจากการใช้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล นอกจากนี้ ยังมีอำนาจกำหนดมาตรฐานในการส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานในโครงข่ายฯ ในกรณีที่เจ้าของข้อมูลให้ความยินยอมให้ส่งข้อมูลในโครงข่ายฯ
นอกจากบทบัญญัติในเชิงการกำกับดูแลแล้ว ร่าง พ.ร.บ. Digital ID ยังกำหนดกรอบขั้นตอนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลไว้อย่างยืดหยุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังเปิดให้หน่วยงานของรัฐเข้าสู่ระบบได้ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อเข้า Platform โดยตรง หรือผ่านการใช้บริการ Proxy Server ซึ่งหากหน่วยงานของรัฐประสงค์จะให้บริการ Platform ก็สามารถกระทำได้ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ออกโดยพระราชกฤษฎีกา
“การพิสูจน์และยืนยันตัวในรูปแบบดิจิทัลจะลดภาระของประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในฐานะผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการต่าง ๆ ที่ต้องมีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนก่อนการใช้บริการ เช่น ประชาชนจะสามารถเปิดบัญชีธนาคารหรือขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์จากเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือของตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องไปแสดงตนที่สาขาของธนาคารพาณิชย์ เมื่อได้ดำเนินการพิสูจน์และยืนยันตัวตนและแสดงความจำนงที่จะทำธุรกรรมดังกล่าวกับผู้ให้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายเป็นการเฉพาะ เป็นต้น”
ไฟเขียวรฟม.สร้างรถไฟฟ้า “เชียงใหม่-พังงา-ภูเก็ต”
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่ พังงา และภูเก็ต ในรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบาหรือ โมโนเรล โดยเดิม ครม. เคยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้ศึกษาพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมหัวเมืองในภูมิภาคเมื่อปี 2555 และได้ข้อสรุปว่าควรสร้างรถไฟฟ้ารางเบาใน 3 จังหวัดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เดิมอำนาจหน้าที่ของ รฟม. สามารถดำเนินธุรกิจได้ภายพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่านั้น จึงต้องออกเป็น พ.ร.ฎ. ขยายอำนาจของรฟม.ในครั้งนี้ เพื่อรองรับโครงสร้างพื้นฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจเชื่อมการเดินทางภาคใต้
“สำนักงบประมาณได้ชี้แจงเพิ่มว่ายืนยันว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวจะยังไม่สร้างภาระงบประมาณในขณะนี้ แต่เป็นเพียงการดำเนินการในทางกฎหมาย เรื่องขอบเขตอำนาจของ รฟม. เท่านั้น ส่วนรายละเอียดโครงการและการใช้งบประมาณจะเป็นอีกเรื่องในอนาคตต่อไป” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
จัดทุนประเดิม-เงินอุดหนุน กองทุนเสมอภาคการศึกษาฯ 1,222 ล้าน
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. เห็นชอบการขอรับเงินจัดสรรทุนประเดิม และเงินอุดหนุนให้กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ปีงบประมาณ 2561 จำนวน 1,222.2 ล้านบาท โดยกองทุนดังกล่าวใช้ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนผู้ขาดทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพของครูและอาจารย์ ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวเป็นหน่วยงาน ที่ตั้งขึ้นใหม่ ยังไม่เคยได้รับการจัดสรรงบประมาณและได้รับเพียงทรัพย์สินที่โอนมาจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพของเยาวชน จำนวน 24 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ จึงมีการนำเสนอแผนของบประมาณในปี 2561-2562 ประกอบด้วยทุนประเดิม 700 ล้านบาท และงบอุดหนุน 522.2 ล้านบาท รวมเป็น 1,222.2 ล้านบาท
“สำหรับงบประมาณทั้ง 2 ส่วนมีขอบเขตในการใช้จ่ายที่รัดกุมและชัดเจน ในส่วนทุนประเดิมจะนำไปใช้ในเรื่องการจัดสร้างระบบสารสนเทศ ในการบริหารสำนักงานในการติดตามและวิเคราะห์โครงการจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อตรวจสอบกลุ่มเป้าใหม่ให้มีประสิทธิภาพ ขณะที่เงินอุดหนุน ใช้ช่วยเหลือนักเรียนยากจน ซึ่งมีการสำรวจแล้วมีประมาณ 600,000 คนในสถานศึกษา 30,000 แห่งจะได้รับเงินสนับสนุนในกองทุนดังกล่าว นอกจากนี้ ครม. มีข้อกำหนดไปว่าขอให้กองทุนฯ เร่งรัดดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้ได้มา ซึ่งเงินประเดิมให้ครบทั้ง 1,000 ล้านบาทตามที่กำหนดในกฎหมายภายในปีงบประมาณ 2563 ด้วย” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
ชาวนาเฮ! เพิ่มเงินค่าฝากข้าวในยุ้งฉางตันละ 1,000 บาท
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ทบทวนโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/2562 ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) จากเดิมในกรณีที่สถาบันเกษตรกรหรือสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกจะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวตันละ 1,500 บาท เงินส่วนนี้สถาบันเกษตรกรหรือสหกรณ์จะต้องจัดสรรค่าฝากเก็บให้เกษตรกร 500 บาท สหกรณ์ได้รับเอง 1,000 บาท ปรับเป็นให้เกษตรกรได้รับ 1,000 บาท ส่วนสหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกรได้รับ 500 บาท
“โครงการสินเชื่อชะลอการขายเป็นวิธีการที่ให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางก่อน เพื่อชะลอการขายข้าวในช่วงที่มีผลผลิตข้าวออกมาจำนวนมากจนผลผิตล้นตลาดส่งผลให้ราคาข้าวตกต่ำ พบว่าที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากเกษตรกรพอสมควรแต่ยังไม่มากนัก จึงมาทบทวนว่าหลักการในข้อใดที่ยังไม่ดึงดูดให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ซึ่งพบว่าเงินจ่ายขาดที่มอบไปให้เกษตรกรยังไม่เย้ายวนใจ หลักการของเดิมกรณีที่เกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกรจะได้รับค่าเก็บรักษาข้าวตันละ 1,500 เป็นของสหกรณ์ 1,000 บาท และเป็นของเกษตรกร 500 บาท จึงปรับเงื่อนไขเพื่อให้จูงใจเกษตรกรมากขึ้นโดยให้เกษตรกรได้รับ 1,000 บาท และสหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกรได้รับ 500 บาท” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น ปรับจากข้อกำหนดเดิมที่อนุญาตให้เช่าสถานที่เก็บได้ไม่เกิน 10,000 ตัน จาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันเกษตรกร หรือเอกชนได้ แต่พบว่าหากเป็นสถานที่เก็บที่ไม่ใช่ของตนเองจะมีความสุ่มเสี่ยงต่อการดูแลรักษาทั้งปริมาณและคุณภาพของข้าว ซึ่งเข้าข่ายใกล้เคียงกับโครงการรับจำนำข้าวในอดีตที่ผ่านมา จะทำให้เกิดความเสียหายแบบเดิมอีก เมื่อมีบทเรียนเป็นประสบการณ์แล้วจะไม่ทำให้เกิดปัญหาแบบเดิมอีก
“นอกจากนี้ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร จะต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุในกระสอบป่านหรือถุงบิ๊กแบ๊ก และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูงหรือไซโล ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศเพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
อนุมัติโครงการเฉลิมพระเกียรติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ 9,000 ล้าน
พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. อนุมัติโครงการเฉลิมพระเกียรติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์เนื่องในโอกาสมหามงคลพระชนมายุ 60 พรรษา ตามที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เสนอ สืบเนื่องจากเมื่อปี 2560 อันเป็นปีที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์นายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และองค์ประธานผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ทรงเจริญพระชนมายุ ครบ 60 พรรษา ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงเสนอโครงการเฉลิมพระเกียรติขึ้น 4 โครงการ
-
1) โครงการศูนย์การเรียนรู้และวิจัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษาเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ซึ่งเป็นโครงการระยะที่ 2 ของโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ขนาด 400 เตียง เป็นส่วนขยายเพิ่มเติมในการให้บริการทางการแพทย์ และการจัดการเรียนการสอนระดับคลินิก ของนักศึกษาแพทย์และพยาบาลวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพและบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ วงเงินงบประมาณ 5,300 ล้านบาท
2) โครงการทุนเฉลิมพระเกียรติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระชนมายุ 60 พรรษา เพื่อพัฒนาผู้มีอาชีพระยะภาพทางการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด้านภัยพิบัติ แบ่งเป็นทุนการศึกษาระดับปริญญาโท 1,695 ทุน ทุนฝึกอบรมระยะเวลา 1 ถึง 12 เดือน ที่วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ จำนวน 6,680 ทุน แล้วทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกเฉพาะทางและหลังปริญญาเอกและต่างประเทศ ให้แก่อาจารย์ของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ 185 ทุน วงเงิน 3,586 ล้านบาท
3) ซุ้มเฉลิมพระเกียรติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์เนื่องในโอกาสมหามงคลพระชนมายุ 60 พรรษา เพื่อพัฒนาผู้มีอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นการให้ทุนการศึกษา เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพ ให้แก่ผู้มีอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แบ่งเป็น ทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอกหลักสูตรนานาชาติ 430 ทุน และทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกและหลังปริญญาเอก ณ ต่างประเทศอีก 40 ทุน
4) โครงการศูนย์แพทย์ภัยพิบัติฉุกเฉิน เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นการจัดตั้งศูนย์แพทย์ภัยพิบัติฉุกเฉิน ซึ่งเป็นงานภายในของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เพื่อจัดการศึกษาทำการวิจัยและให้บริการทางวิชาการ และวิชาชีพด้านการแพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉิน รวมทั้งพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ประเทศ ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในภาวะฉุกเฉินต่างๆ
ตั้ง “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” นั่งรองเลขานายกฯ
พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่าครม.มีมติเห็นชอบแต่งตั้งให้นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตแกนนำ กปปส. ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
โดยมีภาระกิจประสานการติดตามเร่งรัดการดำเนินงานนโยบายของรัฐบาล การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และเรื่องร้องเรียนของประชาชน พร้อมทั้งประสานงานด้านรัฐสภา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของวิปรัฐบาล เกี่ยวกับการออกร่างพระราชบัญญัติ เนื่องจากที่ผ่านมาในอดีตจะมีรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่มีหน้าที่ดูแลด้านการประสานงานกับรัฐสภา แลงานด้านความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์จากมาตรการ ของการดำเนินงานด้านต่างๆของรัฐบาล ซึ่งมีความจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับการติดตามข้อมูลผลการดำเนินงาน ตามนโยบายของรัฐบาล จึงให้เป็นผู้ที่สนับสนุนงานของนายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ในฐานะประธานวิปรัฐบาล)
สั่งเคลียร์กฎหมาย 120 ฉบับ – เสร็จก่อนเลือกตั้ง
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุม ครม. ให้แต่ละกระทรวงติดตามเร่งรัดกฎหมายที่ค้างคาอยู่ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานว่า ขณะนี้มีกฎหมายอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จำนวน 80 ฉบับ อยู่ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 40 ฉบับ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าในปี 2562 จะมีการเลือกตั้ง และได้รัฐบาลใหม่ จึงอยากให้เร่งรัดกฎหมายที่รัฐบาลชุดนี้ต้องการผลักดัน เพราะหากออกกฎหมายไม่ทัน กฎหมายก็อาจจะตกไป
ด้าน นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …. ว่าขณะนี้ใกล้เสร็จแล้ว โดยเราไปดูหลักเกณฑ์ของต่างประเทศ อย่างเช่นประเทศสิงคโปร์ ที่คิดว่าสามารถนำมาใช้กับประเทศไทยได้ง่ายสุด แต่ยังมีข้อที่ต้องมาปรับให้เข้ากับประเทศไทย ซึ่งเหลือการประชุมอีก 2 ครั้ง จะเสร็จสิ้น ตนจึงขอให้ดำเนินการให้เร็ว เพราะเป็นเรื่องสำคัญ และพยายามจะให้เสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ ไม่เช่นนั้นเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์จะเดินหน้าไม่ได้
เมื่อถามว่า จะมีการเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งทางโซเชียลมีเดียไปด้วยหรือไม่ นายดิสทัต กล่าวว่า รายละเอียดพวกนี้ต้องไปว่าในการพิจารณาของ สนช.เพราะตอนเสนอมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายังไม่มีเรื่องนี้
ครม.สัญจร “เลย-เพชรบูรณ์”
พ.อ.อธิสิทธิ์ กล่าวว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีมีกำหนดจะเดินทางไปประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ในระหว่างวันที่ 17-18 กันยายน 2561 ที่ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีกำหนดการที่สำคัญดังนี้
ช่วงเช้าของวันที่ 17 กันยายน 2561 นายกรัฐมนตรีจะไปพบปะประชาชน ณ หอประชุมขุมทองวิไล มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย จากนั้นจะเดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดถนน 4 เลน หมายเลข 201 ตอนเลย-เชียงคาน และเป็นประธานสักขีพยานในโอกาสที่รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชนให้แก่ประธานป่าชุมชน 5 จังหวัด คือ บึงกาฬ, เลย, หนองคาย, หนองบัวลำภู และอุดรธานี จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะชมนิทรรศการโครงการไทยนิยมยั่งยืน OTOP นวัตวิถีและการท่องเที่ยวชุมชน โครงการสร้างป่าสร้างรายได้ และโครงการอาหารปลอดภัย รวมทั้งเดินทางไปเยี่ยมชมการจัดการท่องเที่ยวชุมชนตามแนวทางประชารัฐของอำเภอเชียงคาน ที่บริเวณถนนคนเดิน วิถีเชียงคาน อำเถอเชียงคาน จังหวัดเลย
จากนั้นช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะจะเดินทางไป จ.เพชรบูรณ์ เพื่อเยี่ยมชมการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ณ สวนป่าเกษตรห้วยแสนคำ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จะนำเสนอการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมโครงการชุมชนไม้มีค่า และภาพรวมของการขยายผลโครงการชุมชนไม้มีค่า และการสร้างความยั่งยืนด้วยการวิจัยและนวัตกรรม โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะนำเสนอการประเมินมูลค่าไม้มีค่า และกลไกการใช้ไม้มีค่าเพื่อเป็นหลักประกันทางเศรษฐกิจด้วย
ส่วนช่วงเย็น นายกรัฐมนตรีจะพบปะผู้แทนเครือข่ายชุมชนเขาค้อ เพื่อหารือถึงแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเขาค้ออย่างยั่งยืน ณ โรงแรมอิมพีเรียล ภูแก้ว ฮิลล์ รีสอร์ท อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์
วันที่ 18 กันยายน 2561 ช่วงเช้าคณะรัฐมนตรีจะเข้าร่วมประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 (ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์) และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี) ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์ จากนั้นจะเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 7/2561
ช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะจะพบปะประชาชน และเป็นประธานสักขีพยานในโอกาสที่ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 1 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์, ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมกันนี้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชนให้แก่ประธานป่าชุมชน 5 จังหวัด ประกอบด้วย ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุตรดิตถ์ รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ จะมอบหนังสือคู่มือการจัดการที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลแก่ราษฎร 434 รายด้วย
จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะไปเยี่ยมชมตลาดกรีนมาร์เก็ต ใน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัย ภายใต้สัญลักษณ์ “กรีนมาร์เก็ตเพชรบูรณ์” และผลิตภัณฑ์ของดีเพชรบูรณ์ ต่อด้วยไปเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง และเยี่ยมชมการดำเนินงานของคลินิกหมอครอบครัว โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ จากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะ จะเดินทางกลับกรุงเทพ
อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 11 กันยายน 2561 เพิ่มเติม