ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มลภาวะจีน ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (7): ชาวจีนรวมตัวทวงความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น

มลภาวะจีน ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (7): ชาวจีนรวมตัวทวงความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น

22 สิงหาคม 2014


รายงานโดย…อิสรนันท์

ข่าวร้ายกับข่าวดีมักจะมาคู่กันเสมอ ข่าวดีในรอบหลายปีสำหรับลูกหลานมังกรก็คือ ขณะนี้ผู้นำจงหนานไห่ได้เร่งเดินหน้าแก้ปัญหามลภาวะในอากาศอย่างยั่งยืน ด้วยการออกมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการลดการใช้พลังงานลง ข่าวร้ายก็คือ คงต้องใช้เวลากว่า 16 ปี กว่าการฟื้นฟูสภาพอากาศจะกลับสู่ระดับมาตรฐานสากล

โดยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและปกป้องสิ่งแวดล้อมประจำกรุงปักกิ่งแถลงต่อที่ประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมชุมชนเมือง ว่าจีนอาจจะต้องใช้เวลาอีกราว 16 ปี ในการลดระดับค่ามลพิษให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากลขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ว่า ไม่ควรเกิน 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากที่ขณะนี้กรุงปักกิ่งมีค่ามวลมลพิษที่มีอนุภาคฝุ่นระดับ 89.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือเกินกว่ามาตรฐานปกติถึง 2 เท่าครึ่ง ทางการได้วางเป้าหมายว่าจะให้ลดลงอยู่ที่ระดับ 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก่อนปี 2560 เชื่อว่าการลดระดับค่ามลพิษให้ได้มาตรฐานสากลคงจะเห็นผลในราวปี พ.ศ. 2573

มลพิษเหล่านี้ ส่วนใหญ่เกิดจากฝุ่นจากควันเสียของรถยนต์ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งทางการได้พยายามใช้มาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมมลพิษในกรุงปักกิ่ง รวมไปถึงการกำหนดค่าปรับเพื่อลงโทษเจ้าของโรงงานที่ปล่อยควันพิษ หรือโรงงานเผาไหม้ถ่านหิน โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ เป็นเหตุให้มีโรงงานจำนวนมากถูกปรับ ฐานปล่อยควันเสียมากเกินกำหนด รวมทั้งปล่อยปละละเลยไม่เก็บของเสียจากอุตสาหกรรมในที่มิดชิด

ข่าวร้ายซ้ำสองก็คือ ขณะนี้แม้กระทั่งมลพิษโอโซนที่เกาะฮ่องกงก็มีค่าพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ สร้างสถิติสูงสุดในรอบทศวรรษ โดยเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมกลุ่มเครือข่ายอากาศสะอาดในฮ่องกงยอมรับว่าใน ปีนี้ ค่ามลพิษโอโซนในฮ่องกงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบเกือบสิบปี จากการวัดที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้ง 15 แห่งทั่วเกาะ มีระดับค่าเฉลี่ย 43 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึง 2 เท่า แม้ว่าไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่นละอองอื่น จะเริ่มลดลงแล้วในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ก็ตาม

กลุ่มเครือข่ายอากาศสะอาดยังให้ข้อสังเกตว่า ระดับมลพิษโอโซนปีนี้แตกต่างจากปีที่แล้วและปี 2547 ซึ่งเป็นปีที่มีมลพิษโอโซนสูงสุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น สะท้อนให้เห็นคุณภาพอากาศของฮ่องกงที่กำลังเลวร้ายลงอย่างชัดเจน

มลภาวะอากาศฮ่องกง ที่มาภาพ : http://mediad.publicbroadcasting.net
มลภาวะอากาศฮ่องกง ที่มาภาพ : http://mediad.publicbroadcasting.net

ผู้บริหารของกลุ่มเครือข่ายอากาศสะอาดยังได้แสดงความหวังว่า คณะผู้บริหารของฮ่องกงจะเสริมสร้างความร่วมมือกับแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งศึกษาหาแหล่งต่างๆ ที่เป็นตัวการปล่อยมลพิษโอโซน เพื่อจะได้หยุดยั้งได้ทันการณ์ นอกจากนี้ ผู้บริหารเกาะฮ่องกงยังควรจะเร่งออกกฎหมายบังคับให้เรือที่เทียบท่าฮ่องกงหันไปใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น ตลอดจนเรียกร้องให้ร่วมมือกับกวางตุ้งเพื่อสร้างพื้นที่ควบคุมการปล่อยพลังงาน

ขณะที่โฆษกสำนักการปกป้องสิ่งแวดล้อมฮ่องกงกล่าวว่า เพื่อจะแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ รวมทั้งปัญหามลภาวะโอโซน ฮ่องกงจึงลงนามในข้อตกลงกับกวางตุ้งเพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยพลังงานภายในปี 2558 และ 2563

ทั้งนี้ มลภาวะโอโซนเป็นโอโซนที่สูงกว่าผิวดินต่ำกว่า 20 กิโลเมตร เรียกว่าโอโซนระดับผิวดิน มีผลต่อสุขภาพ สามารถทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจ และหากสูดรับเอาก๊าซโอโซนเข้าสู่ร่างกายโดยตรง จะเกิดอันตราย มีผลทำให้เกิดอาการหอบหืดซึ่งอาจเรื้อรังและมีผลต่อสุขภาวะของประชาชน

สำหรับสาเหตุหลักของมลภาวะโอโซนมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ในอุณหภูมิสูง เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงเครื่องยนต์ของรถยนต์ โรงไฟฟ้า อุตสาหกรรมต่างๆ การเผาไหม้เชื้อเพลิงในครัวเรือน ผลการสำรวจพบว่ารถยนต์เป็นตัวการทำให้เกิดมลภาวะโอโซนมากถึง 55 เปอร์เซ็นต์

ในส่วนของจีนนั้น แม้ว่ารัฐบาลปักกิ่งจะเอาจริงเอาจังมากขึ้นในการเร่งหามาตรการควบคุมมลภาวะทางอากาศ แต่ก็ก้าวไม่ทันกับกระแสการตื่นตัวของภาคพลเมืองในเรื่องของคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ และได้ลุกขึ้นปกป้องสิ่งแวดล้อมรอบและมลภาวะรอบชุมชนอย่างเข้มแข็งแทนที่จะก้มหน้ารับชะตากรรมแต่โดยดีเหมือนในอดีต

ทางการจีนเคยแถลงยอมรับว่า แต่ละปีได้เกิด “เหตุวุ่นวาย” ซึ่งหมายถึงการประท้วงกว่า 90,000 ครั้ง โดยมีต้นตอจากปัญหาเรื้อรัง อาทิ การทุจริตคอร์รัปชัน สิ่งแวดล้อม และการยึดครองที่ดินโดยมิชอบ ดังเมื่อปลายปี 2555 ได้มีการชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีในเมืองหนิงปัวนานติดต่อกันหลายวัน กระทั่งรัฐบาลท้องถิ่นต้องสั่งระงับโครงการนี้

หรือเมื่อปีที่แล้ว ชาวเมืองต้าเหลียน ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รวมตัวประท้วงโครงการโรงงานพาราไซลีน จนทางการต้องสั่งระงับโครงการเช่นกัน ส่วนการประท้วงใหญ่ในปีนี้ มีขึ้นเมื่อปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ชาวเมืองเม่าหมิง ในมณฑลกวางตุ้ง หลายร้อยคนได้รวมตัวต่อต้านการก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีในพื้นที่

แต่ที่กลายเป็นข่าวใหญ่จากผลการโหมประโคมของหนังสือพิมพ์ปักกิ่ง ไทมส์ และสำนักข่าวตะวันตกก็คือ ข่าวตำรวจเมืองอวี้หัง ใกล้กับนครหางโจว เมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียง ได้ยกกำลังนับร้อยคนสลายการชุมนุมยืดเยื้อนานกว่า 2 สัปดาห์นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือน เม.ย. เป็นต้นมาของชาวเมืองอวี้หังที่ต่อต้านโครงการก่อสร้างเตาเผาขยะ เพราะเกรงว่าอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งซ้ำเติมปัญหามลภาวะให้ร้ายแรงกว่าเดิม

การสลายการชุมนุมเป็นไปอย่างดุเดือด เมื่อตำรวจกรูเข้าไปหมายจะควบคุมฝูงชน แต่ได้รับการขัดขืนถึงขึ้นเกิดตะลุมบอนกัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายคน รถตำรวจอย่างน้อย 2 คันถูกกลุ่มผู้ชุมนุมจับพลิกคว่ำกลางถนน ขณะที่ผู้ประท้วงถูกจับกุมหลายคน

ท้ายสุด รัฐบาลท้องถิ่นเมืองอวี้หังต้องสั่งระงับโครงการเตาเผาขยะ พร้อมกับประกาศเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมพูดคุยว่าจะเดินหน้าการก่อสร้างต่อไปหรือไม่

“เราพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็นของประชาชน เพื่อรับประกันว่าทุกคนมีสิทธิ์รับรู้สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต…ขอให้ประชาชนยุติการประท้วง และรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยและเสถียรภาพของสังคม”

แถลงการณ์ของทางการที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ย้ำว่า แม้การชุมนุมประท้วงจะเปรียบเสมือนกระจกเงาสะท้อนความเป็นห่วงกังวลถึงความปลอดภัยในชีวิต แต่ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตอันปกติสุขของผู้อื่นในสังคมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ขณะที่ภาครัฐและภาคประชาสังคมต่างพยายามหาทางออกเพื่อให้การแก้ปัญหามลภาวะเป็นไปโดยสันติ นักวิจัยจีนต่างมีงานล้นมือในโครงการวิจัยการใช้เทคโนโลยีในการต่อสู้กับหมอกควัน เพื่อลดต้นทุนในการกำจัดหมอกควันและมลภาวะในอากาศในกรุงปักกิ่ง จากวิธีปกติที่นิยมใช้กัน รวมไปถึงการใช้สารเคมีทำให้เกิดฝนเทียมหรือหิมะ เพื่อชะล้างมลภาวะแบบเดียวกับที่เคยใช้ก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่งเมื่อปี 2008 แต่เป็นวิธีที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก และมักได้ผลในฤดูหนาวมากกว่ากว่าฤดูอื่น

เมื่อปีที่แล้ว คณะนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุน 250,000 หยวน จากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ได้ทำการวิจัยว่า การปั๊มไนโตรเจนเหลวที่มีความเย็นจัดเข้าสู่บรรยากาศในกรุงปักกิ่งจะช่วยลดมลภาวะในเมืองหลวงได้หรือไม่ เนื่องจากไนโตรเจนเหลวเป็นสารหล่อเย็นในวงการอุตสาหกรรม เย็นกว่าน้ำแข็งแห้งถึง 3 เท่า จึงอาจเป็นไปได้ที่จะใช้กำจัดหมอกควันในกรุงปักกิ่ง

การทดลองมีขึ้น เมื่อนักวิจัยได้ปั๊มก๊าซจากถังขนาดใหญ่ฉีดขึ้นไปบนอากาศ ด้วยความสูงจากพื้นดินอย่างน้อย 10 เมตร ซึ่งจะทำให้เกิดผลึกที่เป็นผลมาจากการก่อตัวของอานุภาคเล็กๆ ของฝุ่นละอองและมลภาวะ ก่อนจะร่วงลงสู่พื้นดิน แม้ว่าแนวของอากาศที่ถูกทำให้เย็นนั้นจะหนาไม่ถึง 20 เมตร แต่ก็สามารถยับยั้งไม่ให้มลภาวะในอากาศลงมาอยู่ในระดับถนนได้

นักวิจัยชุดนี้เผยด้วยว่า ด้วยแนวของอากาศที่เย็นที่เกิดจากการปั๊มไนโตรเจนเหลวเข้าไป จะสามารถคงสภาพอยู่แบบนั้นได้นานหลายชั่วโมง

ต้นอ่อนบลอกโคลี ที่มาภาพ : http://www.med-health.net/images/10415886/image013.jpg
ต้นอ่อนบลอกโคลี ที่มาภาพ : http://www.med-health.net/images/10415886/image013.jpg

ด้านวารสารการวิจัยป้องกันมะเร็งได้นำเสนองานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นผลงานร่วมกันของคณะนักวิจัยจากคณะสาธารณสุข บลูมเบิร์ก มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ กับสถาบันมะเร็งมาโซนิค แห่งมหาวิทยาลัยมินเนโซตา นำโดยนายโทมัส เคนสเลอร์ ระบุว่า บรอกโคลี เป็น “ทางออกวันนี้” สำหรับปัญหาหมอกควันในประเทศ

ในการวิจัย กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 291 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านจากเหอเหอ เมืองชนบท มณฑลเจียงซู บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องมลภาวะทางอากาศเขตหนึ่งของประเทศ จะดื่มน้ำต้มจากต้นอ่อนของบรอกโคลีประมาณ 3 กรัม ผสมกับต้นอ่อนของชา ทุกวันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า การกินน้ำต้นอ่อนของบรอกโคลี “ช่วยเพิ่มการล้างพิษจากอากาศที่ร่างกายสูดเข้าไป และอาจช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งในระยะยาวได้อย่างง่ายๆ และถูกแสนถูก” เนื่องจากในบรอกโคลีมีโมเลกุลเอ็นไซม์ซัลโฟราเฟนอยู่ภายในสารประกอบอินทรีย์ซัลเฟอร์ ที่มีคุณสมบัติต้านมะเร็ง และต้านแบคทีเรีย

กระนั้น ในตอนท้ายของงานวิจัยชิ้นนี้ หัวหน้าคณะวิจัยให้ความเห็นว่า “ผลงานวิจัยนี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดให้ประชาชนที่ต้องมีชีวิตอยู่ใต้ท้องฟ้าอันเต็มไปด้วยหมอกควันได้… คำตอบสุดท้ายของปัญหามลภาวะในจีน ขึ้นอยู่กับรัฐบาลปักกิ่งซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย”

ทางออกง่ายๆ สำหรับวันนี้ จึงอยู่ที่ต้นอ่อนของบรอกโคลี สำหรับผู้ที่ไม่สามารถหาต้นอ่อนได้ คณะนักวิจัยได้แนะนำให้ใช้บรอกโคลีตามท้องตลาดแทน เพียงแต่ต้องบริโภคมากถึง 150 กรัม จึงจะได้ผลเท่ากับน้ำบรอกโคลีจากต้นอ่อนในปริมาณ 3 กรัม