ThaiPublica > เกาะกระแส > จีนสั่งรวมเศรษฐกิจเสิ่นเจิ้นเข้ากับฮ่องกงและมาเก๊า ดันเสิ่นเจิ้นเป็นพื้นที่นำร่องสังคมนิยมแบบจีน

จีนสั่งรวมเศรษฐกิจเสิ่นเจิ้นเข้ากับฮ่องกงและมาเก๊า ดันเสิ่นเจิ้นเป็นพื้นที่นำร่องสังคมนิยมแบบจีน

21 สิงหาคม 2019


สะพานลก หม่า เชาข้ามแดนจากฮ่องกงเข้าศูนย์นวัตกรรมแทคโนโลยี เสิ่นเจิ้น ที่มาภาพ: https://www.scmp.com/comment/insight-opinion/hong-kong/article/2149897/hong-kongs-future-lies-beyond-greater-bay-area

คณะรัฐมนตรีจีนสั่งให้รวมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของเสิ่นเจิ้นเข้ากับฮ่องกงและมาเก๊า เพื่อยกระดับเสิ่นเจิ้นให้เป็นพื้นที่นำร่องของการเป็นสังคมนิยมแบบจีน และขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ Greater Bay Area

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562 คณะรัฐมนตรีจีน (State Council) ได้มีคำสั่งให้พัฒนาเสิ่นเจิ้นและรวมวัฒนธรรมกับเศรษฐกิจของเสิ่นเจิ้นเข้ากับฮ่องกงและมาเก๊า

คำสั่งนี้มีขึ้นหลังการประท้วงในฮ่องกงที่ยืดเยื้อเป็นภัยคุกคามสถานะศูนย์กลางการเงินของฮ่องกง

คำสั่งคณะรัฐมนตรีที่ประกอบด้วย 19 แนวทาง เผยแพร่ผ่านพีเพิล’ส เดลี (People’s Daily) สื่อของรัฐ มีเป้าหมายเพิ่มความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของเสิ่นเจิ้น เพื่อยกระดับให้ติดอันดับโลกภายในปี 2025 และเป็นมาตรฐานโลกภายในกลางศตวรรษนี้

คำสั่งของคณะรัฐมนตรียังส่งเสริมการพัฒนากติกาสังคมของเสิ่นเจิ้นในทันสมัย ผ่านแอปพลิเคชั่ชันที่ใช้บิ๊กดาต้า คลาวด์คอมพิวติง ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังสั่งให้มีการรวมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของเสิ่นเจิ้นเข้ากับฮ่องกงและมาเก๊า ผ่านการสนับสนุนทางการเงินแก่โรงพยาบาล การร่วมมือบรรเทาสาธารณภัยและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ตลอดจนการพัฒนาโครงการ Greater Bay Area (GBA) ที่รวมฮ่องกงและมาเก๊า ต่อเนื่อง และส่งเสริมแนวปฏิบัติของนโยบายหนึ่งประเทศ สองระบบ

คำสั่งรวมวัฒนธรรมของเสิ่นเจิ้นกับเศรษฐกิจเข้ากับฮ่องกงและมาเก๊าของคณะรัฐมนตรีจีนเป็นแผนพัฒนาเสิ่นเจิ้นให้เป็นเมืองที่ดีกว่าฮ่องกงซึ่งมีพื้นที่ติดกัน หลังจากการประท้วงที่ยืดเยื้อในฮ่องกงนานร่วมกว่า 2 เดือนทำให้จีนต้องวางกรอบโอกาสในการพัฒนาเสิ่นเจิ้น

แผนการพัฒนานี้มีเป้าหมายที่จะยกระดับเสิ่นเจิ้นให้เป็นพื้นที่นำร่องของการเป็นสังคมนิยมแบบจีน (socialism with Chinese characteristics) และแม้ว่าในแผนยังไม่มีรายละเอียดมากนัก แต่หนึ่งเป้าหมายที่สำคัญคือการปรับโฉมเสิ่นเจิ้นให้เป็นเมืองที่เศรษฐกิจเข้มแข็งและมีการพัฒนาที่มีคุณภาพ ติดอันดับโลกในปี 2025

เอกสารทางการในชื่อ Guidelines on supporting Shenzhen in building a pilot demonstration area of socialism with Chinese characteristics ยังมีเป้าหมายปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์สำหรับ Greater Bay Area และส่งเสริมนโยบายหนึ่งประเทศ สองระบบ

แนวทางนี้ได้ให้เสิ่นเจิ้นใช้โอกาสจากโครงการ Greater Bay Area และตอกย้ำสถานะการเป็นเครื่องยนต์หลัก

ข้อมูลจากองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (Hong Kong Trade Development Council) ระบุว่า Greater Bay Area มีประชากรรวมกัน 71.16 ล้านคน มี GDP รวมกัน 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2018 สูงเป็นอันดับสามรองจากอ่าวโตเกียว (Tokyo Bay Area) และนิวยอร์ก

ที่มาภาพ: https://www.abc.net.au/news/2019-01-16/china-approves-plan-for-greater-bay-area-to-rival-silicon-valley/10715690

เทียน เฟยหลง ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเป่ยหางและผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการฮ่องกง ให้ความเห็นว่า การประกาศคำสั่งของคณะรัฐมนตรีที่มีขึ้นหลังการประท้วงที่ยืดเยื้อของฮ่องกง แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกลางตัดสินใจแล้วว่าเสิ่นเจิ้นต้องเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของยุทธศาสตร์ Greater Bay Area

“ฮ่องกงไม่เหมาะที่จะมีบทบาทหลักในยุทธศาสตร์ Greater Bay Area และควรที่จะเป็นเมืองจากจีนแผ่นดินใหญ่ แต่บทบาทของฮ่องกงในยุทธศาสตร์นี้ยังไม่มีใครแทนได้ เพราะยังคงเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ” เทียน เฟยหลง กล่าว

ด้าน เม่ย ซินอวี้ ผู้เชี่ยวชาญอีกรายจากปักกิ่ง มองว่า การประท้วงที่ฮ่องกงทำให้สถานะของเสิ่นเจิ้นโดดเด่นขึ้นในยุทธศาสตร์ระดับชาติของจีน

ขณะที่ อังกัส อึ้ง ฮก หมิง รองประธานสมาคมเยาวชนแห่ง Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area ให้ความเห็นว่า คำสั่งนี้ยิ่งเป็นแรงผลักดันที่แข็งแกร่งของการพัฒนาโครงการ Greater Bay Area และเป็นที่น่ายินดีที่ได้เห็นการสนับสนุนเสิ่นเจิ้นอย่างมากในเชิงนโยบาย เมื่อการกำกับดูแลของฮ่องกงมีปัญหาและข้อจำกัดในการจัดการกับประเด็นทางเศรษฐกิจและด้านที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คน

อึ้งกล่าวอีกว่า คนฮ่องกงควรจะตระหนักได้ว่ากำลังเจอวิกฤติ และนโยบายการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางไม่ได้มีอยู่ตลอดไป

วิทแมน ฮุง ไว่ ม่าน รองประธานาสภาประชาชนแห่งจีน กล่าวว่า การออกคำสั่งของคณะรัฐมนตรีไม่ต้องการสับเปลี่ยนความสำคัญระหว่างฮ่องกงกับเสิ่นเจิ้น แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าเสิ่นเจิ้นจะมีบทบาทแทนที่ฮ่องกงในบางด้าน

ในทางกลับกัน ฮ่องกงมีความเสี่ยงที่จะตามเสิ่นเจิ้นไม่ทัน จากความเห็นของ เทียน เฟยหลง โดยกล่าวว่า หากฮ่องกงยังไม่พร้อมที่ใช้โอกาสนี้เข้าร่วมแผนการพัฒนาของประเทศ การพัฒนาของฮ่องก็จะถูกจำกัดในอนาคต ขณะที่เสิ่นเจิ้นนำหน้าไปไกลอย่างรวดเร็ว

เทียน เฟยหลง ยังมองว่า ก่อนที่รัฐบาลจะให้โอกาสการพัฒนาแก่ฮ่องกงคงจะพิจารณากันหลายรอบ เพราะต้องคำนึงถึงการคัดค้านกฎหมายส่งมอบผู้ร้ายข้ามแดนและการประท้วง

ปี 2018 เศรษฐกิจเสิ่นเจิ้นมีขนาดใหญ่แซงหน้าฮ่องกงไปแล้วเมื่อวัดจาก GDP และเป็นเมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดใน Greater Bay Area

นักวิเคราะห์มองว่า เสิ่นเจิ้นจะเป็นตัวอย่างให้กับคนฮ่องกงและเมืองอื่นในภูมิภาค ว่าจะประสานนโยบายท้องถิ่นกับกลไกการสนับสนุนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาของชาติได้อย่างไร

อนาคตของของหลักการบริหารงานในเสิ่นเจิ้นจะล้ำหน้าฮ่องกง รวมทั้งกฎหมายสากลและแนวปฏิบัติทางธุรกิจ เพื่อที่จะดึงดูดมืออาชีพจากเมืองใกล้เคียง และจากทั่วโลกเพื่อสร้างศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับโลก

ขณะเดียวกันเอกสารทางการระบุว่า เสิ่นเจิ้นจะแสดงให้เห็นถึงเมืองที่มีหลักนิติธรรม และมีการพัฒนาที่มีคุณภาพ มีอารยธรรม มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สำหรับการรวมเสิ่นเจิ้นเข้ากับฮ่องกงและมาเก๊า คำสั่งของคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ว่า ภายในปี 2035 เมืองเสิ่นเจิ้นต้องเป็นผู้นำโลกที่มีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจโดยรวม

ฮ่องกงซึ่งเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบสิบปี จากการประท้วงรัฐบาลได้ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงและส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกและการลงทุน

Greater Bay Area
แผนพัฒนาพื้นที่บริเวณ Guangdong-Hong Kong-Macau Greater Bay มีจุดประสงค์หลักเพื่อพัฒนาและสร้างระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจ (economic ecosystem) อย่างสมบูรณ์แบบให้เกิดขึ้นภายในกลุ่มเมืองต่างๆ บริเวณ Guangdong-Hong Kong-Macau Greater Bay การสร้างระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจ คือการจัดตั้งเครือข่ายเพื่อการเชื่อมโยงและสัมพันธ์ระหว่างกัน มีการทำงานที่เกื้อกูลกันโดยใช้ทรัพยากรต่างๆ เช่น สินค้า บริการ แรงงาน และอื่นๆ จากภายในกลุ่มเมืองของระบบนิเวศน์ แต่ละเมืองถูกแบ่งหน้าที่แตกต่างกันไปตามความถนัด ซึ่งจะเป็นการรวมตัวกันทำให้เกิดระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ โดยจะอาศัยนวัตกรรมเป็นแกนหลักของการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในพื้นที่ มีการส่งเสริมการค้าขายการให้บริการอย่างเสรีระหว่างกลุ่มเมือง มีการร่วมมือกันในธุรกิจอุตสาหกรรมการให้บริการเพื่อเป็นฐานนวัตกรรมโลกในเขตทางใต้ของจีน

สำหรับพื้นที่ในเขต Greater Bay ข้างต้นจะประกอบด้วยหัวเมืองทั้งหมด 11 เมือง ได้แก่ เขตบริหารพิเศษ 2 เขต (HKSAR และ Macau SAR) และหัวเมืองทั้งหมด 9 แห่งใน Pearl River Delta ได้แก่ Guangzhou, Shenzhen, Zuhai, Foshan, Huizhou, Dongguan, Zhongshan, Jiangmen และ Zhaoqing มีพื้นที่รวมทั้งหมดประมาณ 56,000 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 67 ล้านคน ซึ่ง GDP ในปี 2559 ของบริเวณอ่าว Greater Bay รวมทั้งหมดมีจำนวนถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (US$ 1.3 trillion) ซึ่งมากกว่าเขตอ่าวซานฟรานซิสโกเป็นสองเท่า และใกล้เคียงกับ GDP ของเขตอ่าวนิวยอร์ก ที่สำคัญพื้นที่ในเขต Greater Bay มีการนำเข้า และส่งออกรวมมูลค่าทั้งสิ้นถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (US$ 1.5 trillion)

แผนการเชิงยุทธศาสตร์แห่งชาติของรัฐบาลจีน ได้วางแผนสร้าง Guangdong-Hong Kong-Macau Greater Bay เป็นหนึ่งในเขตพื้นที่ที่สำคัญระดับโลก ที่เป็นศูนย์กลางทางด้านการเงิน การค้า เทคโนโลยี นวัตกรรม การขนส่ง และการแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมบนส้นทาง Maritime Silk Road และจะเป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกเพื่อการทำการค้าระหว่างจีน และประเทศอื่นๆ บนเส้นทาง Maritime Silk Road

ในแง่มุมมองของแผนยุทธศาสตร์ของจีน การพัฒนา Greater Bay เป็นการขยายพื้นที่ทางเศรษฐกิจออกมาจากเขต Pearl River Delta (PRD) โดยมีฮ่องกงรับบทบาททำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมเขต PRD ออกสู่เศรษฐกิจภายนอก และยกระดับเป็นเศรษฐกิจโลกเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาประเทศจีนฉบับที่13 (The National 13th Five-Year Plan) บวกกับนโยบาย “One Belt One Road” ซึ่งเป็นการรวมตัวทางเศรษฐกิจคู่ระหว่างการขยายตัวจากจากเศรษฐกิจภายในออกสู่ภายนอก และการเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจภายนอก โดยภายในเขต Greater Bay มีการพัฒนาการบริหารการใช้ของทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าด้วยประโยชน์สูงสุด เพื่อการเสริมสร้างความสามารถในด้านนวัตกรรม และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สำหรับบทบาทต่อภายนอกของ Greater Bay คือจะเป็นหน้าต่างทางการค้าระหว่างจีน และต่างประเทศ ในด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้งของพื้นที่อ่าว Greater Bay จะหันไปทางใต้ของทะเลจีนใต้ และติดกับประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางหลักของ Maritime Silk Road อีกด้วย
ที่มา: https://www.thaibizchina.com

ฮ่องกงได้กลับคืนสู่การปกครองของจีนในปี 1997 ภายใต้นโยบายหนึ่งประเทศ สองระบบ ที่ให้เสรีภาพมากกว่าพลเมืองในแผ่นดินใหญ่ เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ขณะที่หากข้ามแดนมาเสิ่นเจิ้นซึ่งอยู่ติดกันกลับต้องถูกจำกัดการเข้าถึงข่าวสารและข้อมูล แต่กำลังผงาดขึ้นเป็นสัญลักษณ์แห่งการปฏิรูปและเปลี่ยนโฉมที่จีนประกาศไว้เมื่อ 40 ปีก่อน

เอกสารของภาครัฐระบุว่า ประชาชนฮ่องกงและมาเก๊าที่เข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในเสิ่นเจิ้นจะได้รับการปฏิบัติเยี่ยงคนในชาติ (citizen treatment) เป็นผู้มีถิ่นฐานในเสิ่นเจิ้น ซึ่งแนวทางนี้จะเสริมสร้างระบบการเข้าออกที่เปิดกว้างและสะดวกมากขึ้นตรงบริเวณพรมแดน รวมทั้งต่างชาติที่เข้ามาตั้งถิ่นที่อยู่ในเสิ่นเจิ้นได้จะได้รับอนุญาตให้ก่อตั้งกิจการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อฮ่องกง เพราะเป็นพื้นที่ที่ธุรกิจต่างประเทศใช้เป็นฐานจัดตั้งกิจการได้ง่าย

แต่ฮ่องกงจะได้รับประโยชน์จากการที่เสิ่นเจิ้นผงาดขึ้นมาเป็นเมืองชั้นนำระดับโลก เพราะมืออาชีพที่เข้ามาทำงานในเสิ่นเจิ้นยังสามารถติดต่อทางธุรกิจกับฮ่องกงได้

ในทศวรรษ 1990 การปฏิรูปไปสู่ระบบตลาด การสนับสนุนของรัฐบาล และหลังจากที่มีสถานะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้เสิ่นเจิ้นยกระดับจากหมู่บ้านประมงมาสู่ศูนย์กลางในการผลิตและเทคโนโลยีของจีน ปัจจุบันเสิ่นเจิ้นเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทระดับโลก เช่น เทนเซนต์ ยักษ์ใหญ่ด้านโซเชียลมีเดียของจีน และหัวเว่ย ผู้ผลิตอุปกรณ์ด้านเครือข่ายเทเลคอมรายใหญ่ และยกระดับเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Greater Bay Area ซึ่งพัฒนา 11 เมืองสำคัญ ที่รวมฮ่องกง มาเก๊า มณฑลกว่างตงซึ่งเป็นที่ตั้งของเสิ่นเจิ้น

ในเอกสารยังระบุว่า จีนมุ่งมั่นที่จะรวมเมืองเศรษฐกิจทั้ง 3 เมืองเข้าด้วยกันเพื่อส่งเสริมแนวปฏิบัติของนโยบายหนึ่งประเทศ สองระบบ และตอกย้ำเอกลักษณ์กับการทำงานแบบฮ่องกงและความเป็นเพื่อนร่วมชาติของมาเก๊า ผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรมข้ามแดน

นอกจากนี้ แนวทางในคำสั่งยังสั่งให้เสิ่นเจิ้นปรับปรุงประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมอย่างเบ็ดเสร็จรวมทั้งขยายการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมืองอย่างเป็นระเบียบภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และให้เสิ่นเจิ้นสามารถประยุกต์ใช้กฎหมายและกฎระเบียบอย่างยืดหยุ่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปฏิรูปและการปฏิบัติอย่างสร้างสรรค์

แนวทางของคำสั่งยังสนับสนุนโครงการนำร่องในการส่งเสริมให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลสำคัญของโลกและการพัฒนาหลักเกณฑ์ทางการเงิน

ที่มาภาพ: https://www.savills.com/prospects/data-opportunities-abound-in-the-greater-bay-area.html

เรียบเรียงจาก reuters, globaltimes, channelnewsasia