ThaiPublica > เกาะกระแส > รำลึกเทียนอันเหมิน ชาวฮ่องกงนับแสนคนร่วมอาลัย วิตกอนาคตเสรีภาพของตัวเอง

รำลึกเทียนอันเหมิน ชาวฮ่องกงนับแสนคนร่วมอาลัย วิตกอนาคตเสรีภาพของตัวเอง

5 มิถุนายน 2019


ที่มาภาพ: https://www.abc.net.au/news/2019-06-05/hong-kong-commemorates-30th-anniversary-of-tiananmen-square/11180318

เมื่อคืนนี้ (4 มิถุนายน 2562) ซึ่งเป็นวันครบ 30 ปีของเหตุการณ์ปราบปรามการประท้วงเรียกร้องการเปิดกว้างปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ชาวฮ่องกงจำนวนนับแสนคนได้ออกมาร่วมจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์

ฮ่องกงและมาเก๊าเป็น 2 เขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนที่ประชาชนออกมาร่วมรำลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตในปี 1989

จีนไม่เคยเปิดเผยตัวเลขจริงของผู้เสียชีวิต แต่ประเมินกันว่ามีจำนวนนับหลายร้อยคน และจำนวนผู้ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินคาดว่าจะมากถึง 1 ล้านคน

ผู้จัดงานในฮ่องกงให้ข้อมูลว่า มีผู้เข้าร่วมรำลึกเหตุการณ์เทียนอันเหมิน 180,000 คน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่า มีจำนวนเพียง 40,000 คน

ในจีนแผ่นดินใหญ่ ทางการได้สั่งห้ามไม่ให้พูดถึงการปราบปรามการประท้วงที่เกิดขึ้นในเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังการประท้วงครั้งใหญ่ แต่ข่าวการใช้ความรุนแรงการปราบปรามผู้ประท้วงได้ถูกส่งไปยังฮ่องกง ซึ่งขณะนั้งยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ นักศึกษาในฮ่องกงได้ระดมเงินจำนวนหลายล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนประชาธิปไตย

เมื่อวานนี้ (4 มิถุนายน 2562) จีนได้มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในเครื่องแบบนอกเครื่องแบบ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยตรวจตรา ขณะที่มีนักท่องเที่ยวเข้าแถวเพื่อรอรับการตรวจ นอกจากนี้ยังมีรถตำรวจพร้อมอาวุธเข้าประจำที่ตลอดเส้นทางไปยังจัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าการเพิ่มความเข้มงวดการรักษาความปลอดภัยวันนี้เป็นกรณีพิเศษ

ผู้สื่อข่าวต่างประเทศไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบได้ห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าวถ่ายรูปด้วยการใช้ร่มบัง และไม่สามารถเข้าไปยังที่ทำการสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งในจีน เช่น ซีเอ็นเอ็น รอยเตอร์ส บลูมเบิร์ก จากที่ปกติไม่มีการปิดกั้น

ก่อนวันครบรอบ นักเคลื่อนไหวจำนวนหนึ่งถูกควบคุมตัวและมีการเพิ่มการตรวจสอบมากขึ้น รวมทั้งมีการจับตากลุ่ม Tiananmen Mothers หรือกลุ่มแม่ที่เสียลูกไปในเหตุการณ์ นักเคลื่อนไหวหลายคนต้องออกจากพื้นที่และหลายคนถูกจับตา

ที่มาภาพ: https://www.theguardian.com/world/2019/jun/04/tiananmen-china-hong-kong-vigil-anniversary

ประชาชนไม่มีวันลืม

บริเวณวิกเตอเรียพาร์กเมื่อคืนวันที่ 4 มิถุนายน 2562 กลายเป็นทะเลเทียนที่จุดโดยชาวฮ่องกงนับแสนคนที่ไปร่วมรำลึกเทียนอันเหมิน หลายคนอยู่ในชุดสีดำ ต่างพากันอยู่ในความสงบ ขณะที่ถือเทียนในมือ บางคนร้องไห้ บางช่วงบางตอนก็ส่งเสียงพร้อมกันว่า “ประชาชนจะไม่มีวันลืม”

ผู้ที่เข้าร่วมรำลึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ได้ปรบมือและส่งเสียงขานรับ ลีแอน ลี ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ได้เข้าร่วมการประท้วงในปี 1989 ได้ตะโกนเสียงดังว่า “เราไม่มีวันที่จะลืม เราไม่มีวันที่จะเชื่อคำโกหก”

เทเรซา ชาน ซึ่งได้เข้าร่วมรำลึกเหตุการณ์ทุกปีนับตั้งแต่ปี 1990 ไม่เคยขาด ยกเว้นช่วงที่ป่วย กล่าวว่า “ฉันต้องการที่จะไปปักกิ่งเพื่อร่วมประท้วง แต่ไม่ได้ไป ฉันไม่เคยคิดว่าเหตุการณ์จะจบลงแบบนี้ ยากที่จะลืม”

ท่ามกลางผู้คนที่ไปร่วมรำลึกเหตุการณ์นั้น เป็นคนหน้าใหม่น้อย โดยเหลียง ผู้เข้าร่วมงานรำลึกในปีนี้ เปิดเผยว่า เธอเพิ่งเข้าร่วมเป็นครั้งแรก เพราะกังวลเกี่ยวกับอนาคตของฮ่องกง และกล่าวว่า “ฉันหงุดหงิดกับสิ่งที่รัฐบาลจีนทำในฮ่องกง”

ลี ชุก-ยาน อดีตนักกฎหมายที่อยู่ในกรุงปักกิ่งขณะที่มีการปราบปรามการประท้วงกล่าวว่า “จีนทั้งประเทศไม่มีการเคลื่อนไหว แต่เรามีช่องทาง ในฮ่องกง เพื่อบอกให้โลกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น”

ลีเล่าว่า “ได้ยิงเสียงปืน และเห็นว่ารถถังเคลื่อนเข้ามา มีการใช้รถสามล้อเคลื่อนย้ายคนเจ็บ” และเมื่อกลับมาปักกิ่งใน 20 ปีให้หลัง หลายคนบอกว่า ต้องบอกให้โลกรู้ความจริง

ชาวจีนแผ่นดินใหญ่บางคนได้เดินทางมาฮ่องกงด้วยความตั้งใจที่จะเข้าร่วมงานรำลึกเทียนอันเหมินในปีนี้ ดังเช่นครอบครัวของเจิง ที่มาพร้อมกับภรรยาและลูกสาววัย 11 ปี ซึ่งเธอกล่าวว่า เป็นเหตุการณ์ที่เปิดหูเปิดตา “หนูต้องการที่จะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของจีน ตอนนี้ก็รู้แล้วว่าจีนไม่ได้ได้ดีกว่าประเทศอื่น”

นอกจากการจุดเทียนและการวางดอกไม้จากผู้ที่เข้าร่วมงานรำลึกเทียนอันเหมินแล้ว ยังมีการนำโปสเตอร์ที่แสดงออกถึงการประท้วงการแก้ไขร่างกฎหมายการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับจีนแผ่นดินใหญ่ฉบับใหม่ หลายคนเกรงว่าการแก้ไขจะนำไปสู่การถดถอยของสิทธิเสรีภาพของประชาชนในฮ่องกง

ที่มาภาพ: https://www.abc.net.au/news/2019-06-05/hong-kong-commemorates-30th-anniversary-of-tiananmen-square/11180318

ฮ่องกงวิตกอนาคตเสรีภาพตัวเอง

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้เข้าร่วมงานรำลึกเทียนอันเหมินยังคงอยู่ที่ระดับ 100,000 คน แต่ 4 ปีที่ผ่านมาจำนวนคนลดลงต่อเนื่อง หลังจากการชุมนุมยึดพื้นที่เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2014 ไม่ได้รับการตอบสนองจากจีน ทำให้นับจากนั้นคนรุ่นใหม่ของฮ่องกงหันมาส่งเสริมแนวคิดอนุรักษ์ความเป็นฮ่องกงไว้ เน้นไปที่การรักษาวัฒนธรรม เสรีภาพ และมองว่าจีนเป็นภัยคุกคาม

คนในวัยน้อยกว่า 30 ปีที่เข้าร่วมงานรำลึกได้ลดลงจาก 55% เหลือ 31% ในช่วงปี 2010-2018 ขณะที่สมาพันธ์นักศึกษาไม่เข้าร่วมมา 5 ปีแล้ว

การจัดงานรำลึกเทียนอันเหมินปีนี้ เป็นช่วงเวลาแห่งความเปราะบางของผู้นำฮ่องกง ที่กำลังเผชิญกับกระแสต่อต้านจากประชาชน ในกรณีที่เสนอแก้ไขร่างกฎหมายใหม่ซึ่งจะมีผลให้มีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนตัวกลับจีนแผ่นดินใหญ่

ฮ่องกงได้ถูกส่งคืนให้จีนในปี 1997 หลังจากที่ปกครองโดยอังกฤษร่วม 150 ปี โดยจีนปกครองฮ่องกงแบบหนึ่งประเทศสองระบบ หรือ one country, two systems ที่เป็นระบบให้ความเป็นอิสระสูงไปจนถึงปี 2047 และรวมทั้งยังให้ใช้ระบบตุลาการที่เป็นอิสระและมีสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย

แม้ในช่วง 20 กว่าปีนี้ ฮ่องกงดำรงความเป็นอิสระมาได้ตลอด 20 ปี แต่ผู้บริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้เดินหน้าผลักดันการแก้ไขกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนต่อเนื่อง ทำให้เกิดความกังวลในกลุ่มนักกฎหมาย นักเคลื่อนไหวที่ส่งเสริมประชาธิปไตย และเวทีระหว่างประเทศ

หากร่างแก้ไขที่สนับสนุนโดยแคร์รี แลม ผู้นำ ผ่านความเห็นชอบ ผู้ทำความผิดที่ถูกจับกุมในฮ่องกงจะถูกส่งตัวไปที่จีนแผ่นดินใหญ่เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นรูปแบบที่นักกฎหมายและผู้พิพากษามองว่าเป็นความท้าทายต่อระบบกฎหมายของฮ่องกงที่มีแบบแผนจากระบบกฎหมายของอังกฤษ

นักกฎหมาย นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย ที่คัดค้านร่างแก้ไขกฎหมายนี้ชี้ให้เห็นว่า จีนยังมีการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนไม่ดีพอ และระบบพิจารณาความทางอาญายังมีข้อบกพร่อง มีการตัดสินว่ามีความผิดถึง 99% และการจับกุมคนโดยพลการ รวมทั้งมีการกักขังหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ติดต่อผู้อื่นเป็นเวลานาน

ความกังวลต่อหลักนิติธรรมและกระบวนการในจีนแผ่นดินใหญ่เด่นชัดมากในปี 2015 เมื่อชาวฮ่องกงที่ขายหนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์ผู้นำจีนหายตัวไป หลังจากถูกนำตัวไปทั้งในและต่างประเทศโดยเจ้าหน้าที่จีน และถูกนำเข้าสู่กระบวนการตามจีนแผ่นดินใหญ่และถูกบังคับให้รับสารภาพ

คาดว่าสภานิติบัญญัติฮ่องกงที่ส่วนใหญ่โอนอ่อนตามจีนจะให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขกฎหมายซึ่งมีชื่อว่า Fugitive Offenders Ordinance Amendment Bill ในเร็วๆนี้ ซึ่งหลายประเทศมองว่า การเสนอแก้ไขร่างกฎหมายเป็นภัยต่อหลักนิติธรรมของฮ่องกง

นอกจากนี้ ความกังวลต่อความเป็นอิสระทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นหลังจากผู้นำการชุมนุมยึดพื้นที่ในฮ่องกงที่เรียกว่า Occupy Hong Kong ถูกพิพากษาจำคุกในเดือนเมษายนที่ผ่านมาฐานก่อความรำคาญในที่สาธารณะและทำให้ธุรกิจชะงักงันถึง 79 วัน ในปี 2014 ซึ่งการชุมนุมครั้งนั้นนับว่าเป็นการขัดขืนของภาคประชาชนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ฮ่องกง

นายเบน แบลนด์ นักวิจัยจากสถาบัน Lowy ให้ความเห็นว่า ความเห็นของสาธารณชนในฮ่องกงมีการแตกแยกมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2014 หลักๆ คือ กลุ่มที่ต้องการทำงานให้พรรคคอมมิวนิสต์กับกลุ่มที่ต้องการผลักดันประชาธิปไตย และกลุ่มหลังก็แบ่งแยกกันอีก ทำให้การคัดค้านจีนจึงทำได้ยาก

โจเซฟ เฉิง อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง ให้ความเห็นว่า “เราวิตกว่าคุณค่าของเราและวิถีชีวิตของเราจะถูกทำลาย” อีกทั้ง มีความไม่พอใจลึกๆ ต่อทางการจีนและคณะผู้บริหารฮ่องกง โดยหลักแล้วปักกิ่งใช้ข้ออ้างด้านความเป็นอธิปไตยของชาติ ความมั่นคงของประเทศ การต่อสู้เพื่อเป็นหนึ่งเดียว เป็นเหตุผลและเป็นความชอบธรรมที่จะปราบปราม

นอกจากนี้ ทางการจีนกำลังใช้ข้ออ้างนี้ในการปรับเปลี่ยนระบบบริหาร หนึ่งประเทศ สองระบบ เพื่อลดเงินและพื้นที่ที่ให้กับคนฮ่องกง ซึ่งคนฮ่องกงเองก็เข้าใจและรู้ว่าต้องยืนหยัดเพื่อปกป้องเสรีภาพ

แม้ความเชื่อมั่นที่ว่าจีนจะยังคงให้ฮ่องกงมีสถานะพิเศษนี้ลดลงในช่วงหลัง แต่ฮ่องกงยังมีเสรีภาพมาก ทำให้มองว่าโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับเทียนอันเหมินมีน้อย

นอกจากที่ฮ่องกงแล้ว คาดว่าจะมีการจัดงานรำลึกเทียนอันเหมินที่มาเก๊าและที่ไต้หวัน

จีนมีแถลงการณ์เกี่ยวกับเทียนอันเหมินไม่มากนัก ส่วนใหญ่ไม่ได้บันทึกลงในประวัติศาสตร์ชาติ ขณะที่สำนักข่าวของรัฐไม่ได้มีการรายงานเกี่ยวกับการครบรอบ แต่รายงานข่าวการส่งเสริมรณรงค์การรักษาสิ่งแวดล้อมของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และการเรียกร้องให้ตระหนักถึงพันธกิจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกลาโหมจีน นายเหว่ย เฟิงเหอ ตอบคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์เทียนอันเหมินระหว่างร่วมเสวนาระดับภูมิภาคที่สิงคโปร์ ว่า “เหตุการณ์นั้นเป็นความวุ่นวายทางการเมืองและรัฐบาลกลางได้ใช้มาตรการที่จะหยุดความวุ่นวายลง ซึ่งนับเป็นการดำเนินนโยบายที่ถูกต้อง” และเสริมว่า จากการดำเนินการของรัฐบาลในครั้งนั้น ทำให้จีนมีเสถียรภาพและมีการพัฒนา

ย้อนประวัติศาสตร์ 1989

การประท้วงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางเมืองที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเกิดขึ้นในเดือนเมษายน 1989 และกลายเป็นการประท้วงทางการเมืองครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของจีนซึ่งมีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์

เดือนเมษายน นักศึกษาได้ออกมาประท้วงการทุจริตคอร์รัปชันภายในพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะต้องการให้เปิดกว้างและได้รับแรงหนุนจากการเสียชีวิตของ หู เย่าปัง ผู้นำแนวคิดการปฏิรูป รวมทั้งเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศ

จำนวนผู้ประท้วงเพิ่มมากขึ้นเป็นล้านคน มีการอดอาหารประท้วง รัฐบาลได้มีการเจรจากับกลุ่มตัวแทนนักศึกษา แต่ต้องชะงักในวันที่ 18 พฤษภาคม โดยไม่มีแนวทางแก้ไข

ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า การปราบปรามการกระท้วงที่เทียนอันเหมินในปี 1989 เป็นจุดเปลี่ยนของประเทศ ทำให้ผู้นำให้ความสำคัญกับการใช้อำนาจมากขึ้น ในช่วงใบไม้ผลิปีนั้นหลายปีหลังจากที่มีการเปิดกว้างมากขึ้น ทางการได้เผชิญกับกระแสความเคลื่อนไหวของนักศึกษาในมากกว่า 300 เมือง ที่เรียกร้องให้ปฏิรูปและขจัดการทุจริตคอร์รัปชันในรัฐบาล ให้เสรีภาพกับสื่อและอื่นๆ

การประท้วงยังทำให้กลุ่มผู้นำอาวุโสมีการแตกแยกนานนับสัปดาห์ ระหว่างฝ่ายสนับสนุนการปฏิรูปที่นำโดยจ้าว จื่อหยาง กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนประธานาธิบดีหลี่เผิง ซึ่งเป็นฝ่ายมีชัยชนะ ในการเสนอให้ใช้กำลังกับศูนย์กลางการเคลื่อนไหวและการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยมีการประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 20 พฤษภาคม และสนับสนุนให้ใช้กำลังทางทหาร จึงมีผู้คนถูกจับกุมนับพันคน

ในช่วงกลางคืนวันที่ 3 มิถุนายน จนถึงเช้าวันที่ 4 มิถุนายน มีการเคลื่อนรถถังและรถหุ้มเกราะเข้าสู่จัตุรัสเทียนอันเหมินพร้อมเจ้าหน้าที่จำนวนมาก เริ่มขับไล่ผู้ประท้วงออกนอกพื้นที่หลังจากการประท้วงที่นำโดยกลุ่มนักศึกษาซึ่งกินเวลามาเกือบ 2 เดือน มีการเปิดฉากยิงด้วยกระสุนจริง ทำให้ผู้ประท้วงที่เป็นพลเรือนซึ่งไม่มีอาวุธเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากทั้งในจัตุรัสเทียนอันเหมินและบริเวณรอบๆ

ที่มาภาพ: https://www.asiatimes.com/2019/06/article/thirty-years-on-hong-kong-fears-its-own-tiananmen/

ทางการปฏิเสธว่าไม่มีผู้ใดถูกยิงเสียชีวิตในจัตุรัสเทียนอันเหมิน แต่มีการประเมินกันว่าเหตุการณ์นองเลือดครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตจำนวนตั้งแต่ไม่กี่ร้อยคนไปจนถึง 3,000 คน ข้อมูลลับทางการฑูตของอังกฤษที่เปิดเผยในปี 2017 ระบุว่า มีจำนวนอย่างน้อย 10,000 คน

หลังจากการปราบปรามและรัฐบาลได้ใช้การโฆษณาชวนเชื่อด้วยการระบุว่าประสบกับความสำเร็จกับการปราบปรามกบฏที่ต่อต้านการปฏิวัติ แต่เหตุการณ์นองเลือดมีผลให้กระบวนการการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เริ่มขึ้นในหลายปีก่อนหน้าโดยเติ้ง เสี่ยวผิง ชะลอลง

นับจากนั้น ผู้นำพรรคได้มุ่งเน้นการขยายตัวและการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ แต่จำกัดพื้นที่ของภาคประชาสังคม และหลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในปี 2012 นักเคลื่อนไหวและผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนได้รับแรงกดดันมากขึ้นรวมทั้งมีการตรวจสอบมากกว่าเดิม

เรียบเรียงจาก theguardian, chanelnewsasia, abc, bbc, asiatimes