ThaiPublica > เกาะกระแส > “ฮ่องกง”หลุดดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางเศรษฐกิจ หลังครองเศรษฐกิจเสรีที่สุดในโลก 25 ปี

“ฮ่องกง”หลุดดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางเศรษฐกิจ หลังครองเศรษฐกิจเสรีที่สุดในโลก 25 ปี

4 มีนาคม 2021


ที่มาภาพ: https://www.reuters.com/article/us-hongkong-economy/hong-kong-dropped-from-economic-freedom-index-as-policies-controlled-from-beijing-idUSKBN2AW0OI

ฮ่องกงไม่ได้ถูกจัดอยู่ในดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางเศรษฐกิจ Index of Economic Freedom ที่จัดทำโดยมูลนิธิ Heritage Foundation อีกต่อไป เป็นผลจากนโยบายเศรษฐกิจถูกควบคุมจากกรุงปักกิ่ง ส่งผลให้หลุดออกจากตำแหน่งผู้นำที่ครองมาร่วม 25 ปีจนถึงปี 2019

มูลนิธิ Heritage Foundation ระบุว่า เศรษฐกิจที่เสรีที่สุดในโลกสำหรับปี 2021 ยังตกเป็นของสิงคโปร์เป็นปีที่ 2 ขณะที่เสรีภาพในการลงทุนของฮ่องกงได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองและสังคม ตั้งแต่ปี 2019

ผลการจัดอันดับตามดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางเศรษฐกิจประจำปี 2021ซึ่งเผยแพร่วันที่ 4 มีนาคม มูลนิธิ Heritage Foundation ระบุ ฮ่องกงและมาเก๊า ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน ไม่ได้รวมอยู่ในดัชนีนี้อีกต่อไป เนื่องจาก “วัดเสรีภาพทางเศรษฐกิจเฉพาะในประเทศเอกราชที่รัฐบาลใช้อำนาจอธิปไตยในการควบคุมนโยบายเศรษฐกิจ” และแม้ประชาชนจะมีอิสรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่า ประชาชนจีนโดยทั่วไปในจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ “พัฒนาการในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ว่าท้ายที่สุดแล้วนโยบายเหล่านั้นถูกควบคุมจากปักกิ่ง”

การพัฒนาในฮ่องกงหรือมาเก๊าที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพทางเศรษฐกิจ นำไปพิจารณาในบริบทของการประเมินจีนในดัชนี ซึ่งอันดับของจีนในดัชนีลดลงมาอยู่ที่ 107 จากอันดับ 103 จากทั้งหมด 178 ประเทศ

ความตึงเครียดระหว่างประเทศตะวันตกและโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา กับรัฐบาลของจีนและฮ่องกงเพิ่มขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมาจากปัญหาการค้าและการปราบปรามกลุ่มเห็นต่างในฮ่องกงของปักกิ่ง

การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของปักกิ่งในฮ่องกงเมื่อปีที่แล้วและการจับกุมผู้คัดค้านทางการเมืองหลายสิบคนในเวลาต่อมา เพื่อตอบโต้การประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างกว้างขวางในปี 2019 ทำให้สหรัฐฯใช้มาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายคน รวมถึงผู้บริหารเขตปกครองฮ่องกง แคร์รี ลัม และเซี่ย เป่าหลง ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊า ของคณะมนตรีจีน(State Council)

ผู้นำธุรกิจในฮ่องกงซึ่งเป็นศูนย์กลางของ บริษัท ที่มีการดำเนินงานในแผ่นดินใหญ่แสดงความประหลาดใจกับการตัดสินใจของมูลนิธิเฮอริเทจ

“นี่เป็นความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนหลังจากกว่าสองทศวรรษที่จัดให้ฮ่องกงอยู่ในอันดับต้นๆ ของดัชนี” ทารา โจเซฟ ประธานหอการค้าอเมริกันในฮ่องกงให้ความเห็น

“ ฮ่องกงภูมิใจอย่างมากกับอันดับที่ได้ในดัชนี และนี่เป็นการเตือนว่าชื่อเสียงของพวกเขาตกลงอย่างรวดเร็ว และจะทำให้สำนักงานใหญ่ของบริษัท และนักวางแผนความเสี่ยงเฝ้าระวังฮ่องกงและมองว่าฮ่องกงมีความเสี่ยงมากขึ้น”

“การที่ฮ่องกงหลุดออกจากดัชนี คงไม่ทำให้บริษัทหยุดทำธุรกิจในฮ่องกง แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความกังวลที่แท้จริง ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น “โจเซฟกล่าว

“สำหรับธุรกิจที่มีการลงทุนอย่างมากในฮ่องกงแล้ว ก็จะมีความระมัดระวังมากขึ้น แต่หลายคนมองเห็นอนาคตทางเศรษฐกิจที่สดใส หลายภาคส่วนมองเห็นธุรกิจที่แข็งแกร่ง จากการค้ากับจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

จอร์จ เหลียง ซิ่ว-ฉี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ หอการค้าทั่วไปฮ่องกง กล่าวว่าหอการค้ากังวลว่า การพิจารณาดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยว ข้องกับเสรีภาพทางเศรษฐกิจ

“ใครก็ตามที่ทำธุรกิจในฮ่องกง เข้าใจว่าเศรษฐกิจของฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง” เหลียงและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่คาดหวังว่าฮ่องกงจะหมดความน่าสนใจสำหรับบริษัทต่างชาติ

“ธุรกิจจะพิจารณาจากข้อมูลจริงเมื่อวางแผนที่จะลงทุน” “เราไม่คิดว่าการปลดฮ่องกงออกจะมีผลกระทบใดๆ ต่อการลงทุนจากต่างประเทศในฮ่องกง” เหลียงกล่าวและว่า “โชคไม่ดี ที่ Heritage Foundation ทำให้ชื่อเสียงตัวเองลดลง ด้วยการตัดสินใจที่จะตัดฮ่องกงออกจากดัชนี”

สำนักข่าว RTHK ในฮ่องกง รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฮ่องกง นาย พอล ชาน กล่าวในการแถลงข่าวผ่านระบบออน ไลน์ ให้ความเห็นแย้งมุมมองของมูลนิธิที่ว่า ปักกิ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของอดีตอาณานิคมของอังกฤษ

นายชาน ระบุว่า การประเมินนั้นไม่ยุติธรรมและ“ ถูกบดบังด้วยอคติทางการเมือง

“การตัดสินใจของพวกเขา ถูกบดบังด้วยความโน้มเอียงทางอุดมการณ์และอคติทางการเมือง” นายชานกล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจหลักของฮ่องกง ทั้งกระแสเงินทุน ข้อมูลและสินค้าที่ไหลเวียนอย่างเสรี ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองแบบ“หนึ่งประเทศสองระบบ” ที่เกิดขึ้นในปี 1997 เมื่อฮ่องกงเปลี่ยนจากการปกครองของอังกฤษมาเป็นจีน และ ดอลลาร์ฮ่องกงเป็น “สกุลเงินอิสระที่เชื่อมโยงกับดอลลาร์สหรัฐ”

“ที่นี่มีการยึดถือหลักนิติธรรมอย่างมาก – ตุลาการที่นี่ทำงานอย่างอิสระ” ชานกล่าว

อดีตอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งถูกจัดว่าเป็นเศรษฐกิจที่มีเสรีภาพที่สุดของโลก เริ่มสั่นคลอนเมื่อ 2 ปีก่อนเพราะเกือบจะสูญเสียตำแหน่งให้สิงคโปร์ ด้วยเหตุผล “ประสิทธิผลในการพิจารณาคดี” ที่ลดลงอย่างมาก

ฮ่องกงติดอันดับดัชนีเป็นครั้งแรกในปี 1995 ซึ่งเป็นปีที่ Heritage Foundation เปิดตัวดัชนีและฮ่องกงครองตำแหน่งสูงสุดมาเป็นเวลา 25 ปีจนกระทั่งสิงคโปร์ถูกโค่นแชมป์เมื่อปีที่แล้ว และฮ่องกงหลุดไปอยู่อันดับ 2

สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลกอีกครั้งด้วยคะแนน 89.7 เพิ่มขึ้นจาก 89.4 ในปีที่แล้วโดย 100 คะแนนหมายเสรีภาพทางเศรษฐกิจที่สมบูรณ์แบบ สำหรับ 4 ประเทศได้รับคะแนนมากกว่า 80 ได้แก่ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลียสวิตเซอร์แลนด์และไอร์แลนด์

จีนติดอันดับที่ 107 มีคะแนน 58.4 โดยเศรษฐกิจของประเทศถือว่า “แทบจะไม่เสรี”

การสูญเสียเสรีภาพทางการเมืองและการปกครองตนเองของฮ่องกงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้ฮ่องกงไม่แตกต่างจากศูนย์กลางการค้าหลักอื่น ๆ ของจีน เช่น เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง” เอ็ดวิน เจ. เฟลเนอร์ ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานมูลนิธิเฮอริเทจ เขียนคอลัมน์ใน The Wall Street Journal

เฟลเนอร์ซึ่งได้เข้าร่วมพิธีส่งมอบฮ่องกงในปี 1997 ระบุว่า ฮ่องกงเป็น “สถานที่พิเศษ” และ “มีมนต์ขลังในการเปิดกว้าง”

“ตอนนั้นผมเกรงว่าฮ่องกงอาจกลายเป็นเพียงเมืองจีนขนาดกลางอีกแห่งหนึ่ง” “และน่าเศร้า เพราะนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น”

เรียบเรียงจาก
Heritage Foundation drops Hong Kong from ‘economic freedom’ index
Hong Kong dropped from Economic Freedom Index as policies ‘controlled from Beijing’