วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ช่วงเวลา 4-5 เดือนที่ผ่านไปนี้มีบัณฑิตใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน และในจำนวนที่มีงานทำแทบทั้งหมดในขณะนี้อยู่ในสภาพของความกระวนกระวายใจหลายอย่าง ลองเข้าไปนั่งในใจของหนุ่มสาวเหล่านี้กันดู
ในขั้นแรก ผู้เข้าทำงานใหม่แทบทุกคนหวั่นไหวว่าจะไปทำงานอะไรให้เขาได้จนคุ้มค่าจ้าง อีกทั้งไม่มั่นใจว่าจะทำงานได้ และไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรให้นายจ้างตามที่เขาต้องการได้
เมื่อเข้าทำงานสักเดือนสองเดือนโดยทั่วไปก็เริ่มสบายใจขึ้น พอมองออกว่าตนเองมีค่าต่อนายจ้างอย่างไร เริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น อย่างไรก็ดีจำนวนมากจะประสบสิ่งที่เรียกว่า culture shock กับการทำงาน กล่าวคือ ตกใจกับประสบการณ์ในการทำงาน เช่น ต้องตื่นเช้าไปทำงานตรงเวลา ต้องมีวินัยในการทำงาน แต่งตัวเรียบร้อย พูดจามีสัมมาคารวะ จะทำอะไรตามใจชอบอย่างที่เคยเป็นไม่ได้ ถูกดุว่าหรือดุด่าโดยลูกพี่หรือเจ้านาย ฯลฯ
สิ่งที่ทุกคนประสบ หากไม่เคยฝึกงานมาก่อนก็คือสภาพการณ์ที่ผิดไปจากที่คาดหวังไว้ สิ่งที่เคยนึกฝันว่าสถานที่ทำงานจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ผู้คนจะดีและให้ความสำคัญแก่ตนเอง งานที่ทำตรงกับที่เรียนมา ฯลฯ ไม่เป็นความจริง ส่วนใหญ่ที่มีความสามารถในการปรับตัวก็จะทำใจได้เมื่อสัมผัสกับโลกแห่งความเป็นจริง พวกที่ปรับใจไม่ได้ก็จะมีปฏิกิริยาหลายอย่าง เช่น ย้ายงานใหม่ ลาออก ทำงานอิสระเลิกทำงานโดยอยู่บ้านแทน ดิ้นรนเรียนต่อ ฯลฯ
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สำหรับบัณฑิตจำนวนมากที่อาจมีจำนวนถึง 2 ใน 3 ของผู้ที่เรียนจบในปีนี้หรือประมาณ 2 แสนคนจะบอกว่าไม่รู้เพราะยังหางานทำไม่ได้ สถิติของการหางานทำของบัณฑิตในปัจจุบันก็คือ 2 ใน 10 คน มีงานทำในเวลาหนึ่งปี (ผู้เขียนคิดว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำเกินไป ถ้าใช้คำจำกัดการมีงานทำที่กว้างกว่านี้ เช่น ครอบคลุมไปถึงงานอิสระ ตัวเลขอาจอยู่ในระดับสูงกว่านี้พอควร ไม่ใช่เพียงแค่ 2)
จากการสังเกตด้วยตนเอง ผู้เขียนเชื่อว่าบัณฑิตที่หางานทำได้ยากหรือ “ทำงานต่ำกว่าระดับ” (ได้ค่าจ้างต่ำกว่าที่บัณฑิตอื่นๆ ได้รับกัน) มักเป็นบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยขนาดเล็กในต่างจังหวัดในสาขา “โหล” เช่น บริหารธุรกิจ จัดการทั่วไป ฯลฯ กอบกับตลาดแรงงานในต่างจังหวัดเล็ก จ่ายค่าตอบแทนไม่สูง และบัณฑิตไม่มีทักษะในระดับที่ตรงกับความต้องการของตลาด
สำหรับบัณฑิตส่วนใหญ่จากมหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัยใหญ่ๆ ที่มีคุณภาพในกรุงเทพมหานครทั้งรัฐและเอกชนในแทบทุกสาขา การมีงานทำและได้ผลตอบแทนตรงกับระดับความรู้ความสามารถไม่ใช่เรื่องยากแม้แต่ในยามนี้ที่สภาพเศรษฐกิจต้องการแรงกระตุ้นอย่างแรง ไม่ว่าจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีผลโดยตรง จากอำนาจซื้อจากนักท่องเที่ยว จากการลงทุนจากต่างประเทศ ฯลฯ
สำหรับบัณฑิตเหล่านี้ซึ่งอยู่ในยุคของ “Me Generation” ที่เพิ่งทำงาน จิตใจว้าวุ่นเพราะมีโอกาสในการเลือกงานพอควร สิ่งที่ได้ยินคือการเปลี่ยนงานหลังจากการทำไปได้ 1-2 เดือน หรือต่ำกว่านั้นเพื่อหาสถานที่ทำงานที่ “ดี” กว่า
“ดี” กว่าของบัณฑิตจำนวนมากก็คือเงินดี สวัสดิการดี ไม่ต้องเดินทางไกลมาก งานไม่หนักเกินไป ถ้าหายังไม่เจอก็จะทำงานไปพลางหาไปพลาง จนกว่าจะคิดว่าเจอ ในระหว่างทางก็ทำงานไปเรื่อยๆ โดยมิได้มุ่งมั่นบากบั่นมากนักเพราะใจคิดแต่จะย้ายเพื่อหางานใหม่ที่ ‘ดี’ กว่าอยู่ร่ำไป
การเรียนรู้งาน การพยายามเพิ่มคุณค่าของตัวเอง และการสร้างความไว้วางใจแก่ผู้เป็นนายและผู้ร่วมงานก็ย่อหย่อนไปเป็นธรรมดา เพราะใจมันไม่นิ่งเสียแล้ว บัณฑิตจบใหม่จำนวนมากทำงานในสภาวะจิตใจเช่นนี้
อย่างไรก็ดี ยังมีบัณฑิตจำนวนหนึ่งซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าแต่มีปัญญามากกว่า พวกนี้จะบากบั่นมุ่งมั่นทำงานที่ตนเองได้รับให้ดีที่สุด ถึงแม้จะไม่ใช่งานในฝันแต่ก็ไม่คิดจะย้ายงานในวันในพรุ่ง และถึงเงินจะไม่มากมายแต่หากเป็นงานที่ให้โอกาสที่ดีแก่ตนเองในการสร้างคุณค่าให้ตัวเองแล้ว พวกนี้จะทำงานเต็มที่ถึงแม้จะเป็นงานที่หนัก
กลุ่มที่มีปัญญานี้จะไปไกลในระยะยาวกว่าพวกชอบเล่น ‘ลิงจับหลัก’ เปลี่ยนงานเพื่อมองหางาน ‘เงินดี’ เพื่อสานฝันให้ตัวเองอย่างรวดเร็ว โดยหารู้ไม่ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ดีๆ ซึ่งเข้ามาอย่างรวดเร็วได้ (จะมีก็แต่น้ำท่วม หนี้ และความแก่เท่านั้น) ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไปโดยอยู่บนพื้นฐานของความมีคุณค่าของตนเอง หรือพูดอย่างภาษาเศรษฐศาสตร์ก็คือการมีผลิตภาพ (productivity) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คนในยุค Me Generation ส่วนใหญ่จะใจร้อน รอคอยอะไรไม่ค่อยได้ ครุ่นคิดแต่เรื่องจะ “ได้” โดยไม่ตระหนักว่าทุกอย่างมีต้นทุน (จะเก่งและรวยได้อย่างยั่งยืนก็ด้วยการเสียสละเวลา หยาดเหงื่อ และน้ำตา บากบั่นทำงานเพื่อเพิ่มพูนคุณค่าและผลิตภาพของตนเองเท่านั้น) โดยมีการมองชีวิตอย่างที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า myopic กล่าวคือมองชนิดใกล้ๆ แคบๆ อย่างขาดวิจารณญาณที่ดี
ถ้าพูดให้ทันสมัยก็คือ คนเหล่านี้เป็นเหยื่อของสิ่งที่เรียกว่า survivorship bias (Rolf Dobelli บัญญัติศัพท์นี้ใน The Art of Thinking Clearly, 2013) กล่าวคือมีความโน้มเอียงโดยธรรมชาติสู่ภาพลวงตาว่าความสำเร็จได้มาโดยง่ายในพริบตาเหมือนที่เห็นนางงาม นักแสดง และนักร้อง ร่ำรวยอย่างรวดเร็วในสื่อ โดยหารู้ไม่ว่าโดยแท้จริงแล้วมีคนอีกเป็นจำนวนแสนๆ และล้านๆ คนที่ล้มเหลว แต่ผู้คนไม่เคยรับรู้เรื่องราวของคนเหล่านี้ สื่อทำให้เห็นแต่เฉพาะผู้ประสบความสำเร็จซึ่งคนทั่วไปมีความเป็นไปได้ในการพบความสำเร็จต่ำมากๆ
ที่น่าสมเพชก็คือ คนใจร้อนเหล่านี้มีโอกาสสูงที่จะตกเป็นเหยื่อของคนฉลาดกว่าที่เข้าใจความใฝ่ฝันและความต้องการ ‘ได้’ อย่างรวดเร็วจนสามารถหาประโยชน์และเอาเปรียบได้เป็นอย่างดี
คำถามก็คือ ทำอย่างไรถึงจะเตือนบัณฑิตประเภท ‘ลิงจับหลัก’ ให้เข้าใจความจริงของชีวิตว่าความยั่งยืนของความมั่งคั่งในชีวิตนั้นอยู่ที่ใด? ใครที่พยายามจะเตือนก็จงเตรียมรับความผิดหวังไว้มากๆ เพราะคนเหล่านี้มัก ‘ฟังแต่ไม่ได้ยิน’ เนื่องจากหูของเขาอื้อ จะไม่รับฟังคำสอนหรือคำเตือนของผู้ใดนอกเสียจากว่าคำพูดเหล่านั้นตรงกับสิ่งที่เขาอยากได้ยิน
คนขาดปัญญาก็เสมือนคนขาดวัคซีนชีวิต มีโอกาสที่จะรับเชื้อ ‘ถูกเอาเปรียบ’ หรือ ‘ถูกหาประโยชน์’ จนช้ำใจหรือเสียผู้เสียคนได้ง่ายกว่าคนอื่นๆ
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 26 ส.ค. 2557