วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
คนคนหนึ่งสามารถมีเพื่อนจำนวนเท่าใดที่เหมาะสมต่อการคุ้นเคย รักใคร่ชอบพอกัน และสามารถรักษาความเป็นเพื่อนไว้ได้เป็นอย่างดี
คำตอบนี้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Dunbar’s Number ขึ้น และตัวเลขนี้มีความหมายโยงใยไปถึงหลายเรื่องในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นขนาดของธุรกิจ ขนาดของกลุ่มออกค่ายอบรม ขนาดของหน่วยรบ ขนาดเครือข่ายของโซเชียลมีเดีย ฯลฯ
ในปี 1992 โรบิน ดันบาร์ (Robin Dunbar) ผู้เป็นศาสตราจารย์ทางมานุษยวิทยาของ Oxford ได้ให้ตัวเลขนี้แก่ชาวโลกจากการศึกษาเชิงการแพทย์ จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยา เพื่อหาจำนวนของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่สมองของมนุษย์คนหนึ่งสามารถจัดการได้เป็นอย่างดี ดันบาร์พบว่ามนุษย์มีทางโน้มที่สามารถจัดการกลุ่มของตนเอง (self-organize) ได้ดีเมื่อกลุ่มของตนนั้นมีจำนวนไม่เกิน 150 คน
ดังนั้น ตัวเลข 150 นี้จึงเป็นที่รู้จักกันดีในวงวิชาการและถูกเรียกว่า Dunbar’s Number ปัจจุบันโรบิน ดันบาร์ อายุ 67 ปี เป็นคนอังกฤษ ตอนปริญญาตรีเขาเรียนด้านจิตวิทยาและปรัชญาที่ Oxford และเรียนจบปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาจาก University of Bristol จากนั้นก็ทำวิจัยและสอนอยู่หลายแห่งในอังกฤษก่อนที่จะมีชื่อเสียงโด่งดังเพราะการให้ตัวเลขนี้
คำจำกัดความทางการของ Dunbar’s Number ก็คือ “ตัวเลขของจำนวนคนที่ทำให้เกิดข้อจำกัดเชิงการใช้ความคิดที่บุคคลหนึ่งสามารถทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนได้” พูดง่ายๆ ก็คือ มันเป็นตัวเลขที่สร้างข้อจำกัดในการทำงานของสมองของมนุษย์คนหนึ่งในการที่จะสามารถรักษาความสัมพันธ์กับคนอื่นได้เป็นอย่างดี
เขามิได้ยกเมฆตัวเลขนี้แต่ศึกษาอย่างรอบคอบในเชิงสังคมวิทยา บทความของเขาใน Journal of Human Evolution ในปี 1992 อธิบายว่าการมีสมองขนาดใหญ่ขึ้นทำให้สามารถแก้ไขปัญหาสังคมได้ดียิ่งขึ้น การอยู่อาศัยเป็นกลุ่มของมนุษย์แต่ดึกดำบรรพ์ทำให้เกิดประโยชน์มหาศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการป้องกันภัยจากศัตรู อย่างไรก็ดี การอยู่ร่วมกันเป็นเรื่องยากเพราะสมาชิกมักแย่งชิงอาหารและเพศตรงข้ามกัน ต่างต้องระวังการถูกโกงและการถูกกดขี่ข่มเหง แต่ในขณะเดียวกันก็ต่างหาช่องทางที่จะข่มขู่และกดขี่คนอื่นเพื่อการอยู่รอดด้วย
เมื่อขนาดของกลุ่มใหญ่ขึ้น ขนาดของข้อมูลที่สมองของสัตว์เผ่าพันธุ์ไพรเมต (primates) ซึ่งครอบคลุมลิงและมนุษย์จะต้องประมวลก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว กลุ่มที่มีคน 5 คน มี 10 คู่ของความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก ถ้ากลุ่มเป็น 20 ก็มี 190 ถ้ากลุ่มเพิ่มเป็น 50 ก็มี 1,225 เมื่อความซับซ้อนของความสัมพันธ์มากขึ้นเช่นนี้สมองก็จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีหลากหลายชั้นของเซลล์สมองเพื่อจัดการความสัมพันธ์ซึ่งสมองเป็นเครื่องมือสำคัญ
ดันบาร์ใช้โมเดลคณิตศาสตร์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของนีโอคอร์เท็กซ์ (neocortex: ส่วนสำคัญของสมอง) ของไพรเมตแต่ละประเภทกับขนาดของกลุ่มที่อยู่ร่วมกัน ยิ่งนีโอคอร์เท็กซ์ใหญ่เท่าใดขนาดของกลุ่มที่สามารถจัดการปัญหาของตนเองได้ก็ใหญ่ขึ้น แม้แต่มนุษย์ซึ่งเป็นไพรเมตที่ฉลาดที่สุด ก็ไม่สามารถอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่อย่างไม่มีที่สิ้นสุดได้
เขาพบว่าสำหรับลิงประเภทต่างๆ มีขนาดของกลุ่มที่อยู่ด้วยกันตั้งแต่ 5 ถึง 80 ตัว ส่วนลิงเอป (ape) มีขนาดของกลุ่มประมาณ 5 ตัว และขนาดของกลุ่มของมนุษย์คือ 147.8 คน
ดันบาร์พบข้อมูลจากประวัติศาสตร์ว่า ขนาดของกลุ่มทหารโรมัน กลุ่มทหารในศตวรรษที่ 16 กลุ่มชนที่เดินทางเร่ร่อนในสมัยโบราณ กลุ่มชนที่อาศัยในถิ่นต่างๆ ล้วนมีขนาดประมาณ 150 คน เช่นเดียวกับที่เขาคำนวณได้จากโมเดลคณิตศาสตร์
งานศึกษาของดันบาร์จนได้ตัวเลข 150 สร้างความฮือฮาในทางวิชาการในทศวรรษ 1990’s จนถึงปัจจุบัน มีคนนำไปประยุกต์ใช้ในทางการทหาร ทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องโซเชียลมีเดีย
กองทัพสหรัฐอเมริกาได้ลองผิดลองถูกกับขนาดของหน่วยรบที่มีประสิทธิภาพที่สุดมายาวนานและใช้ตัวเลข 150 เป็นจำนวนคนของทหารหน่วยรบในปัจจุบัน สำหรับบริษัทใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เช่น Gore-Tex นั้น หากสาขามีจำนวนลูกจ้างถึง 150 คน ก็จะแยกออกเป็นอีกสาขาหนึ่ง และสำหรับชุมชนปกครองตนเองในสหรัฐอเมริกา (เช่น พวก Hutterites ซึ่งคล้ายพวก Amish ซึ่งยึดการใช้ชีวิตแบบโบราณดั้งเดิม) หากสมาชิกเกิน 150 คน ก็จะแยกออกเป็นอีกชุมชนหนึ่ง
ในโลกของโซเชียลมีเดียนั้น Dunbar’s Number ถูกนำมาทดสอบเพื่อยืนยันจำนวนเพื่อนที่สมาชิกคนหนึ่งสามารถมีความสัมพันธ์ได้อย่างยั่งยืน ตัวเลขนี้มีความสำคัญเพราะเป็นขนาดของเครือข่ายที่จะต้องนำเอามาออกแบบเชิงธุรกิจ เฟซบุ๊กสนใจ Dunbar’s Number เช่นเดียวกับพาท (Path: แอปพลิเคชันโซเชียลเน็ตเวิร์กอีกตัวหนึ่ง) ซึ่งช่วยให้สมาชิกโพสต์รูปและความเห็นผ่านสมาร์ทโฟนตลอดจนบอกเวลานอนและตื่นได้ด้วย (จะบอกชาวบ้านเขาไปทำไม) ผู้บริหารพาทพบว่า เครือข่ายไม่ควรมีขนาดใหญ่กว่า 150 คน พาทประสบความสำเร็จจากการใช้จำนวนนี้จนปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 5 ล้านคน
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีและต่อเนื่องกับมนุษย์คนอื่น ถ้ามีจำนวนน้อยเกินไปก็ไม่เกิดประโยชน์เต็มที่ แต่ถ้ามีมากเกินไปก็ไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์อย่างดีไว้ได้ยั่งยืน ดันบาร์ให้ตัวเลข 150 ซึ่งอาจเหมาะสมกับวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งมีลักษณะของการรักษาความสัมพันธ์แตกต่างจากวัฒนธรรมอื่นๆ
ในสังคมตะวันออกโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา การให้ความสำคัญแก่พิธีกรรมเป็นพิเศษเพื่อสร้างและรักษาความสัมพันธ์ก่อให้เกิดค่าโสหุ้ยไม่ใช่น้อย (เช่น ของฝาก การไปร่วมงานพิธีต่างๆ ของขวัญ เป็นต้น) จนตัวเลข 150 นี้อาจไม่ถูกต้องก็เป็นได้ หากมีงานวิจัยเช่นนี้โดยคำนึงถึงบริบทวัฒนธรรมตะวันออกก็จะเป็นประโยชน์มาก
ระหว่างนี้ในบ้านเรา Dunbar’s Number อาจช่วยได้ในเรื่องขนาดของหอพัก ขนาดของสมาชิกสหกรณ์ ขนาดของห้องเรียน ขนาดของธุรกิจ ขนาดของนักเรียนในกีฬาสี ขนาดขององค์กร ขนาดของสภาต่างๆ จำนวนของสมาชิกการประชุมสัมมนาในแต่ละครั้ง ขนาดของครูในโรงเรียนหรือจำนวนข้าราชการในกอง ฯลฯ ก่อนที่จะมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมของเราออกมา
ในกลุ่ม 150 คนนี้ ญาติพี่น้องเราเลือกไม่ได้ แต่เราสามารถเลือกปิยมิตรมาให้ครบ 150 คน ได้เสมอครับ
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 6 ต.ค. 2557