วรากรณ์ สามโกเศศ
นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมรับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา Richard H.Thaler อเมริกันเชื้อสายยิวแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก เป็นผู้เดียวที่รับรางวัลประจำปี 2017 สิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาได้รับรางวัลน่าสนใจเพราะมีผลกระทบต่อผู้คนผ่านการใช้นโยบายของภาครัฐอย่างเห็นผล
ในปี 2002 Daniel Kahneman นักจิตวิทยา ได้รับรางวัลนี้เพราะมีบทบาทสำคัญในการขยายขอบเขตของเศรษฐศาสตร์ด้วยการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ ว่ามิได้มีเหตุมีผลดังที่เคยเชื่อและสมมติกันมา และเขาได้ทำสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนคือใช้การทดลองค้นหาความจริงของเศรษฐศาสตร์ในห้องปฏิบัติการเพื่อสร้างความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ในด้านการใช้วิจารณญาณและการตัดสินใจเชิงเศรษฐศาสตร์
ในปีนี้ Thaler ผู้มีอายุ 72 ปี เรียนจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จาก University of Rochester และเคยวิจัยศึกษาร่วมกับ Kahneman มายาวนาน Thaler สนใจพฤติกรรมของมนุษย์เชิงเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับเรื่องเงิน ตลอดจนการแปรความรู้จากนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
Thaler เป็นผู้บุกเบิกคนหนึ่งของเศรษฐศาสตร์สาขาใหม่ดังกล่าว คือ Behavioural Economics ทฤษฎีที่ทำให้เขาโดดเด่นเป็นที่รู้จักก็คือ “nudge theory” ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศและองค์กรกำลังพิจารณานำไปประยุกต์หลังจากเห็นความสำเร็จของอังกฤษในการหารายได้เพิ่มจากภาษีอากร คนบริจาคอวัยวะมากขึ้น ออมเงินได้มากขึ้น ประกันสุขภาพมากขึ้น ฯลฯ
ไอเดียของ “nudge theory” นั้นมีง่ายๆ ว่า เมื่อมนุษย์โดยทั่วไปขาดความมีเหตุมีผล มองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ในระยะยาว มองเห็นแต่ประโยชน์ใกล้ตัว อีกทั้งละเลยสิ่งที่ควรทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม การแก้ไขจึงจำเป็นต้องมาจากการใช้มาตรการด้านบวกและการแนะนำทางอ้อม เพื่อที่จะทำให้เกิดแรงจูงใจ เกิดการตัดสินใจของกลุ่มและปัจเจกชนอย่างเห็นพ้องโดยไม่มีการบังคับ (nudge แปลว่าสัมผัสหรือผลักอย่างเบาๆ เพื่อให้ได้รับความสนใจ หรือเพื่อชักจูงสนับสนุนให้ทำบางอย่าง)
โดยสรุป แนวคิด Nudge ก็คือการทำอย่างแนบเนียนให้มนุษย์เปลี่ยนพฤติกรรมไปในทิศทางที่สามารถคาดเดาได้โดยไม่มีการบังคับและอย่างนิ่มนวล
ตัวอย่างน่าจดจำไปเล่าต่อก็คือการใช้แนวทาง nudge ในการแก้ปัญหาเรื่องปัสสาวะในห้องน้ำชายของสนามบิน Schiphol ที่ Amsterdam ปัญหาที่มีคือเรื่อง “การเล็ง” ไม่แม่นจนปัสสาวะกระเด็นออกมาเลอะเทอะ ผู้บริหารแก้ไขในทางบวก ไม่มีป้ายเตือน ไม่มีการบังคับ แต่ใช้วิธีทาสีรูปตัวแมลงเกาะอยู่ในโถปัสสาวะเพื่อให้ “เล็ง” ในตำแหน่งที่เหมาะสม ผลปรากฏว่าชายทั้งหลายมีพฤติกรรมไปในทางเดียวกันคือ “เล็ง” ที่ตัวแมลงจนแก้ไขปัญหาปัสสาวะกระฉอกได้สำเร็จ
แนวคิดนี้ซึ่งมีลักษณะทางวิชาการที่เรียกว่า libertarian paternalism (การแทรกแซงโดยองค์กรเอกชนและสาธารณชนเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยยังคงเคารพเสรีภาพในการเลือก) ได้รับความสนใจมากเมื่อนายกรัฐบาลหญิงของอังกฤษ Theresa May ใช้แนวคิด nudge เก็บภาษีได้เพิ่มด้วยวิธีการเตือนอย่างนิ่มนวลและแนบเนียนว่าเพื่อนบ้านได้จ่ายภาษีกันไปแล้ว กล่าวคือ เป็นไปในทางบวก ไม่บังคับแต่เปิดช่องให้เลือกพฤติกรรม
ต่อมา Theresa May ประกาศว่าการบริจาคอวัยวะนั้นเป็นเรื่องสมัครใจ หากแต่มีเงื่อนไขว่าหากใครไม่ระบุว่าไม่ต้องการบริจาคก็หมายความว่าต้องการบริจาค ผลปรากฏว่ามีผู้บริจาคอวัยวะเพิ่ม 100,000 รายต่อปีทันที
แนวคิด nudge มีอิทธิพลต่อความคิดในปัจจุบันของผู้นำมาก เมื่อหนังสือชื่อ Nudge: Improving Decisions about Health, Wealth, and Happiness ออกมาในปี 2008 เขียนโดย Richard Thaler ร่วมกับ Cass Sunstein ประธานาธิบดี Obama สั่งตั้งหน่วยงานพิเศษในทำเนียบขาวเพื่อพิจารณาหามาตราการจากเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและ David Cameron นายกรัฐมนตรีอังกฤษตั้งหน่วยงานพิเศษคือ Behavioural Insights Team
นอกจากนี้ญี่ปุ่น เยอรมนี ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศกำลังสนใจใช้ nudge ในการออกนโยบายและแนวปฏิบัติที่อยู่พื้นฐานของการเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ในระดับย่อย โดยใช้วิธีการที่ “แนบเนียน” เพื่อเปลี่ยนแปลงโดยให้เสรีภาพในการเลือกมากกว่าที่จะใช้การบังคับในระดับรวมที่อยู่บนพื้นฐานว่ามนุษย์มีเหตุมีผลดังที่ปฏิบัติกันมา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อพัฒนาประสิทธิผลของการให้บริการสาธารณะ
ตัวอย่างอื่นของแนวคิด nudge ที่มีการทำกันก็ได้แก่ (1) ในระดับองค์กรเอกชนมีการให้พนักงานเข้าร่วมโครงการต่างๆ เช่น เข้าหลักสูตรการพัฒนาตนเอง การร่วมกิจกรรม CSR ฯลฯ โดยถือว่าเป็นการตอบรับหากไม่มีการปฏิเสธ (ผู้ทำงานมีเสรีภาพในทางเลือก แต่ทำให้เกิดความสะดวกที่จะเลือกเข้าร่วมอย่างแนบเนียน) (2) ในตอนแรกไม่มีคนร่วมโครงการรับเงินอุดหนุนในการสร้างฉนวนความร้อนที่บ้านมากนัก เมื่อหน่วยงานพิเศษของอังกฤษศึกษาพฤติกรรมก็พบว่าเหตุที่ไม่ร่วมก็เพราะเบื่อที่จะขนย้ายขยะ “สมบัติ” ที่สะสมไว้ เมื่อมีการช่วยเหลือเรื่องนี้ก็มีคนเข้าร่วมเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว (3) การเพิ่มการออมของประชาชนโดยหักจากค่าจ้างหรือเงินเดือนโดยอัตโนมัติ นอกเสียจากจะระบุว่าไม่ต้องการ เช่นเดียวกับการประกันสุขภาพ การประกันชีวิต การประกันอัคคีภัย ฯลฯ
นอกจากเรื่อง nudge แล้ว Thaler ได้ศึกษาเขียนหนังสือและบทความอีกมากมายในแนวนี้ เล่มหนึ่งคือ “Misbehaving: How Economics Became Behaviourial” (2015) ตลอดจนข้อเขียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์แนวพฤติกรรมให้แก่หนังสือพิมพ์และนิตยสาร เพื่อให้ความรู้แก่สาธารณชนจนเรียกได้ว่าเขามีส่วนร่วมในการทำให้เศรษฐศาสตร์สาขานี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผ่านการใช้นโยบายที่ได้ผล
“Mental Accounting” ของ Thaler เป็นอีกพฤติกรรมหนึ่งที่มนุษย์มีทางโน้มที่จะปฏิบัติอย่างไม่รู้ตัวโดยแบ่งแยกเงินที่ได้รับมาออกเป็นบัญชีย่อยในสมองตามแหล่งของเงินที่ได้รับมาหรือการตั้งใจใช้ เช่น เงินที่ได้มาจากการทำงาน มนุษย์จะใส่ไว้ในบัญชีหนึ่งที่มีคุณค่า ดังนั้นจะใช้จ่ายอย่างระวัง ส่วนเงินที่ได้มาง่ายๆ ไม่ว่าคนให้หรือถูกหวยจะอยู่ในบัญชีที่มักใช้จ่ายอย่างไม่ระวัง หนทางแก้ไขก็คือการปรับพฤติกรรมเอาเงินที่ได้มาโดยง่ายไปใส่รวมไว้ในบัญชีเงินที่ได้มายากเย็นในธนาคาร การใช้จ่ายในเรื่องไม่เหมาะสมก็จะลดน้อยลงได้
Thaler และผู้บุกเบิกพฤติกรรมพยายามทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะของความไม่เป็นเหตุเป็นผลของมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถพยากรณ์พฤติกรรมได้ และนำมาพิจารณารวมไว้ในการกำหนดนโยบายแต่แรก เขาต้องการให้เศรษฐศาสตร์สามารถนำความขาดเหตุขาดผลนี้เข้ามาใช้อธิบายทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เช่นเดียวกับที่เคยมีสมมติฐานว่ามีเหตุมีผลมาแต่แรก
คนถาม Thaler ว่าจะใช้เงินประมาณ 40 ล้านบาท ที่ได้จากรางวัลครั้งนี้อย่างไร เขาบอกอย่างตลกว่า “จะเอาไว้ใช้จ่ายอย่างขาดเหตุขาดผลเท่าที่เป็นไปได้”
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 17 ต.ค. 2560