ThaiPublica > คอลัมน์ > ใหญ่แค่ไหนก็ต้องติดคุกได้

ใหญ่แค่ไหนก็ต้องติดคุกได้

8 กรกฎาคม 2014


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

3 ข่าวไล่เรียงกันในอาทิตย์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่นายพลระดับสูงของจีน อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส และอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียโดนเล่นงานคดีคอร์รัปชัน ข่าวเหล่านี้เตือนใจให้นึกถึงการเอาคนคอร์รัปชันมาเข้าคุกในบ้านเรา

นายพลสวี ไฉโห่ว (Xu Cai-hou) เป็นรองประธานของ คณะกรรมาธิการทหารกลางของจีน ซึ่งเป็นตำแหน่งระดับสูงของกองทัพ ถูกถอดออกจากพรรคอมมิวนิสต์ และกำลังถูกดำเนินคดีคอร์รัปชัน นายพลสวีเป็นผู้นำทหารยศสูงสุดที่ถูกสอบสวนเรื่องคอร์รัปชันนับตั้งแต่ยุคสมัยของเติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) เป็นต้นมา

คดีนี้ฮือฮามากเพราะประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พูดมาตลอดว่าจะปราบคอร์รัปชัน นายป๋อ ซีไหล (Bo Xilai) ผู้นำคนสำคัญหนึ่งของพรรคซึ่งอาจได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมการกรมการเมือง (Politburo Standing Committee) ในสมัยประชุมที่ 18 ในปี 2012 ก็ถูกจับข้อหาคอร์รัปชัน และศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตไปแล้ว

นายพลสวี ไฉโห่ว (Xu Cai-hou) เป็นรองประธานของ คณะกรรมาธิการทหารกลางของจีน(ซ้าย) ที่มาภาพ : http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/a/a6/Xu_and_Gates.JPG
นายพลสวี ไฉโห่ว (Xu Cai-hou) เป็นรองประธานของ คณะกรรมาธิการทหารกลางของจีน(ซ้าย)
ที่มาภาพ : http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/a/a6/Xu_and_Gates.JPG

ข้อหาของนายพลสวี ก็คือรับเงินโดยตรงหรือผ่านญาติเพื่อเลื่อนยศทหาร และรับเงินเพื่อช่วยเหลือธุรกิจ เป็นที่รู้กันดีว่าในกองทัพประชาชนจีนนั้นมีการรับสินบนเพื่อให้ได้เป็นทหารและเพื่อขายตำแหน่งตั้งแต่ชั้นผู้น้อยขึ้นมา ผู้นำทหารเกรงว่าคอร์รัปชันลักษณะนี้จะบั่นทอนกองทัพอย่างฉกรรจ์จนนำไปสู่การทำลายประสิทธิภาพ

คดีที่สองคืออดีตประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี (Nicolas Sarkozy) ของฝรั่งเศส นั้นได้ถูกสอบสวนยาวนานกว่า 15 ชั่วโมงในเรื่องที่ว่าเขาส่งทนายส่วนตัวไปรับข้อมูลจากผู้พิพากษาคนหนึ่งที่กำลังพิจารณาคดีการรับเงินบริจาคผิดกฎหมาย 68 ล้านเหรียญจากประธานาธิบดีมูอัมมาร์ กัดดาฟี (Muammar el-Qaddafi) ของลิเบียในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2007 โดยแลกเปลี่ยนกับการเลื่อนตำแหน่งของผู้พิพากษาคนนั้น

คดีนี้มีการแอบดักฟังการสนทนาทางโทรศัพท์ของนายซาร์โกซีกับทนายของเขา และอดีตรัฐมนตรีสองคนเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี จนมีหลักฐานเพียงพอต่อการดำเนินคดี

กรณีที่สามคือการตัดสินคดีของศาลต่อต้านคอร์รัปชันของอินโดนีเซียให้จำคุกอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญตลอดชีวิตในข้อหาคอร์รัปชันและฟอกเงิน ผู้ต้องหาคือนายอาคิล มอกตาร์ (Akil Mochtar) ถูกจับได้คาหนังคาเขาขณะรับเงินสินบนเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วเพื่อช่วยการเลือกตั้งของนักการเมืองท้องถิ่น 2 คน

ในการสอบสวนพบว่าเขารับสินบนในเรื่องเลือกตั้งท้องถิ่นรวมไม่น้อยกว่า 10 กรณี นอกจากนี้ยังพบอีกว่าเขามีความผิดในการฟอกเงิน 15.2 ล้านเหรียญในปี 2002 ตอนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย

ทั้งสามคดีนี้สะท้อนให้เห็นการเอาจริงเอาจังกับคอร์รัปชันอย่างไม่ไว้หน้า ไม่ว่าจะมีตำแหน่งใหญ่โตเพียงใดก็ตาม ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน และต้องถูกดำเนินคดีอย่างเสมอหน้ากัน

ในประเทศที่ทรงไว้ด้วยหลักนิติธรรมนั้น แม้แต่ประธานาธิบดีก็ติดคุกได้ โดยเฉพาะคดีคอร์รัปชันดังที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ ไต้หวัน และอิสราเอล อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ถึง 2 คนที่ติดคุกเพราะคดีคอร์รัปชัน คือ ชุน ดูฮวาน (Chun Doo-hwan) และ โรห์ แตวู [(Roh Tae-woo) ชุน ดูฮวาน เป็นประธานาธิบดีต่อจากชอย เคียวฮา (Choi Kyu-hah, ผู้ครองอำนาจช่วงปี 1979-1980 ต่อจาก ปาร์ก จุงฮี (Park Chugn hee)] โดยเป็นประธานาธิบดีระหว่างปี 1980-1988

ส่วนโรห์ แตวู นั้นเป็นประธานาธิบดีต่อจากชุน ดูฮวาน โดยครองอำนาจระหว่าง 1988-1993 ทั้งสองโดนข้อหาคอร์รัปชันและกบฏ โดยติดคุกอยู่ 2 ปี ก่อนที่ประธานาธิบดีคนต่อมาคือ คิม ยังซัม (Kim Young-sam) ซึ่งเป็นประธานาธิบดีช่วงปี 1993-1998 อภัยโทษให้ในปี 1997

ติดคุกไปแล้ว 2 คนยังไม่พอ ยังมีคนที่ 3 อีกคือนายโรห์ มูฮยุน (Roh Moo-hyun) ผู้ครองตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงปี 2003-2008 ที่ถูกสอบสวนคดีคอร์รัปชันพร้อมกับภรรยาหลังพ้นจากตำแหน่งแล้ว แต่กรรมตามเขาไม่ทันเพราะในปีต่อมาคือ 2009 เขาก็หนีคดีที่ถูกกล่าวหาว่ารับเงิน 6 ล้านเหรียญจากนักธุรกิจขณะอยู่ในตำแหน่งด้วยการฆ่าตัวตายด้วยการโดดลงมาจากหน้าเผาหลังบ้านพักของเขาในชนบท โดยทิ้งจดหมายลาตายว่าไม่ต้องการให้คนอื่นต้องมาทนทุกข์ทรมานกับเขาด้วย

ข้อสังเกตคือก่อนหน้านี้ไม่นานมีนักการเมืองในระดับชาติและท้องถิ่นที่กำลังถูกสอบสวนเรื่องคอรัปชั่นถึง 4 รายที่ฆ่าตัวตายไป และอีก 1 รายหลังจากที่นายโรห์ตายไปแล้ว

ล่าสุดเมื่อกลางปี 2012 ประธานาธิบดี ลี มุงบัก (Lee Myung-bak) ที่ครองอำนาจในช่วงปี 2008-2013 ออกมาขอโทษขอโพยประชาชนเรื่องคดีคอร์รัปชันของพี่ชายและผู้ช่วยหลายคนที่โดนตัดสินจำคุก เขายอมรับในความไม่รอบคอบในการควบคุมดูแลคนเหล่านี้

สำหรับไต้หวันนั้น ประธานาธิบดี เฉิน สุ่ยเปียน (Chen Shui-bian) และภรรยายังคงอยู่ในคุกตั้งแต่ปี 2009 เมื่อศาลตัดสินว่ามีความผิดในคดีคอร์รัปชันรับเงินสินบนเกือบ 14 ล้านเหรียญ

สุดท้ายประธานาธิบดีอิสราเอล โมเช คัตซาฟ (Moshe Katsav) ถูกศาลตัดสินในคดีข่มขืนหญิง 3 คน ขณะเป็นรัฐมนตรีท่องเที่ยวและเป็นประธานาธิบดี มีโทษจำคุก 7 ปี โดยอยู่ในคุกตั้งแต่ปี 2011

ทั้งหมดที่เล่ามานี้ต้องการชี้ให้เห็นว่าในประเทศอื่น ๆ นั้นคนใหญ่โตเขาติดคุกกันจริง ๆ และหนักด้วยสำหรับความผิดคดีอาญา โดยเฉพาะคดีคอร์รัปชัน และไม่มีการรอการลงอาญา ไม่มีการพิจารณาที่ยาวนานจนผู้คนลืมและลงโทษเบาๆ แบบ “เขกเข่า” เนื่องจากเป็น “ผู้ใหญ่”

สิ่งที่ทำให้การลงโทษคนทำผิดที่มีตำแหน่งสูงในราชการหรือการเมืองไทยในคดีคอร์รัปชันไม่เกิดขึ้นบ่อย ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ mental block (กำแพงใจ) ของคนไทยเราว่า “ผู้ใหญ่” ที่เคยทำ “ความดี” มาไม่สมควรถูกลงโทษติดคุก และจุดนี้แหละที่ทำให้ไม่สามารถปราบคอร์รัปชันได้

ทำไม “ผู้ใหญ่” ที่ทำผิดจึงติดคุกไม่ได้ ถ้าเราจะปราบคอร์รัปชันชนิดเฉพาะ “เด็ก” เท่านั้นที่ติดคุกได้ เมื่อไหร่เราจะฆ่าไอ้ปลวกร้ายที่บ่อนเซาะสังคมของเราได้หมด

คอร์รัปชันในภาครัฐซึ่งคือการเอาอำนาจที่รัฐมอบให้เอาไปใช้หาประโยชน์เข้าตัวเองจะหมดไปได้ก็ต่อเมื่อผู้คนใคร่ครวญประเมินผลที่คาดว่าจะได้รับจากคอร์รัปชันกับผลเสียที่เขาจะได้รับซึ่งได้แก่การถูกยึดทรัพย์สินและติดคุก

ถ้าผลได้ไม่คุ้มผลเสีย ก็จะไม่คิดคอร์รัปชัน ดังนั้นการป้องกันก็คือการทำให้เห็นว่าผลเสียมันสูงจริงและเกิดขึ้นจริงกับทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน ด้วยการดำเนินคดีคอร์รัปชันอย่างไม่ไว้หน้า

การปราบคอร์รัปชันต้องทำกับทุกโครงการที่ได้เกิดขึ้นในอดีตด้วย ไม่ใช่ลืมกันไปและยกโทษให้ ต้องให้ติดคุกกันจริงๆ ในทุกระดับ และปรับริบทรัพย์สินเข้าหลวงให้ใกล้เคียงกับที่โกงไปด้วย

ถ้าพวกเราไม่แก้ไขปัญหาคอร์รัปชันกันจริงจัง ใครชาติไหนจะทำให้เรา และถ้าไม่ทำกันในวันนี้ แล้วเมื่อไหร่จะทำ จะรอให้ไอ้ปลวกร้ายนี้กินบ้านหมดก่อนหรือไร

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่อังคาร 8 ก.ค. 2557