ThaiPublica > คอลัมน์ > หงส์ดำ-แรดเทา-Homo sapiens

หงส์ดำ-แรดเทา-Homo sapiens

4 กรกฎาคม 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : https://asia.nikkei.com/Opinion/Nikkei-Editorial/Don-t-ignore-Xi-s-warning-about-black-swans-and-gray-rhinos

สัตว์สองชนิดกำลังเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางในโลกสมัยใหม่อย่างที่หากไม่ต้องการตกยุคต้องคุ้นเคยกับมัน หงส์ดำ (Black Swan) กับแรดสีเทา (Gray Rhino) คือสัตว์สองชนิดที่ดังขนาดไหนจนต้องทำความรู้จัก

ขอเริ่มต้นก่อนที่สัตว์อีกชนิด คือ ช้าง ในภาษาอังกฤษมีสำนวนเปรียบเทียบอันหนึ่งที่ได้ยินกันมายาวนานอาจถึง 200 ปี ด้วยซ้ำ นั่นก็คือ “an elephant in the room” ซึ่งหมายถึงการมีปัญหาหรือการเผชิญกับสถานการณ์ยากลำบากที่เห็นกันชัดเจนแต่ผู้คนไม่ต้องการพูดถึง บางครั้งก็กินความหมายไปถึงการมีอยู่ของปัญหาหรือความเสี่ยงแต่ไม่สังเกตเห็น

จากช้างก็นำไปสู่หงส์ดำซึ่งเป็นการเปรียบเปรยที่มาจากหนังสือดังของโลก ชื่อ “The Black Swan” (2007) เขียนโดยศาสตราจารย์ทางสถิติ และความเสี่ยงชื่อ Nassim Nicholas Taleb

มนุษย์รู้จักแต่หงส์ขาวมาเป็นเวลานับพันปีตั้งแต่สมัยโรมัน แต่ไม่เคยพานพบหงส์ดำเลยจนกระทั่งนักเดินเรือชื่อ Willem de Vlamingh พบที่ Swan River ในรัฐออสเตรเลียตะวันตกในปี ค.ศ. 1691 การไม่พบหงส์ดำมาก่อนมิได้หมายความว่ามันไม่มีอยู่ในโลก มันมีอยู่เพียงแต่เราไม่เคยคาดมาก่อนว่าจะพบมัน ซึ่งก็เปรียบเสมือนกับการเกิดขึ้นของเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงอย่างไม่คาดคิดเลยแม้แต่น้อย เพราะมีความเป็นไปได้ต่ำมาก

วิกฤติเศรษฐกิจ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ การระบาดของโลก การล่มสลายของประเทศ ฯลฯ คือตัวอย่างของ Black Swan สิ่งที่เน้นคือการมองไม่เห็นว่ามันจะเกิดขึ้นได้อย่างไรเพราะมีความเป็นไปได้ต่ำมาก แต่มิใช่หมายความว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้ คนทั่วไปมักคิดว่าธนาคารหรือบริษัทใหญ่ขนาดมหึมาจะไม่มีวันล้มได้ ประเทศที่กินดีอยู่ดียากที่จะผันผวนในระยะเวลาสั้นไปอยู่ในสภาพแร้นแค้น มหาเศรษฐีเป็นยาจกข้ามคืนไม่ได้ ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้เราเห็นกันมามากแล้ว

Black Swan ดังมาหลายปีจนถึงงานประชุมของ World Economic Forum ในปี 2013 นักวิเคราะห์นโยบายและนักเขียนชาวอเมริกันวัย 50 ปี ก็ปล่อยสัตว์อีกตัวหนึ่งออกมาอาละวาด นั่นก็คือ แรดสีเทา (Gray Rhino) และต่อมาเขียนเป็นหนังสือ ชื่อ The Gray Rhino (2016) (Gray คือการสะกดแบบอเมริกัน อังกฤษคือ Grey)

การเปรียบเปรยโดยใช้แรดสีเทาก็เพราะตำราบอกว่าแรดมีสองสีคือขาว (เผือก) และดำ แต่ในความเป็นจริงแล้วแรดทั้งหมดดูคล้ายกันเป็นสีเทาซึ่งตรงกับสิ่งที่เธอต้องการสื่อนั่นก็คือ Gray Rhino เปรียบเสมือนการเกิดขึ้นของเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวง หรือโดยมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นสูงมาก เพียงแต่ผู้รับผิดชอบแยกแยะไม่ออก มองไม่เห็นอาการหรือสัญญาณ หรือเห็นแต่คิดว่าไม่สำคัญ

อุปมาเหมือนกับแรดหนัก 2 ตันที่วิ่งเข้ามาด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยผู้ตั้งรับไม่สังเกตเห็นรายละเอียด ความใส่ใจถูกเบี่ยงเบนเพราะปัญหาภายใน ฯลฯ กว่าจะรู้ตัวก็ถูกชนสาหัส หรือตาย ต้องมาแก้ไขปัญหาภายหลัง ชนิด “วัวหายแล้วล้อมคอก” หนทางที่ถูกต้องคือมองหาและตรวจพิจารณาสัญญาณและแก้ไขก่อนที่มันจะวิ่งเข้าใส่

“หงส์ดำ” กับ “แรดเทา” เหมือนและต่างกันตรงที่ทั้งสองก่อให้เกิดผลกระทบได้อย่างกว้างขวางเหมือนกัน แต่ “หงส์ดำ” นั้นมีโอกาสเกิดได้ต่ำมากและเราไม่สามารถทำอะไรกับมันก่อนได้ ดังนั้นจึงอยู่ในฐานะ “ผู้ต้องยอมรับ” แต่ “แรดเทา” นั้นมีโอกาสในการเกิดสูงมากและสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้

“หงส์ดำ” และ “แรดเทา” ดังมากนับตั้งแต่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวในงานประชุมสำคัญเมื่อต้นปี 2019 ว่า จีนต้องพยายามเตรียมการรับมือกับ “หงส์ดำ” และตรวจจับสัญญาณจาก “แรดเทา” ให้ได้อย่างรวดเร็วเพื่อเป็นการป้องกัน

สิ่งที่เขาหมายถึงก็คือปัญหาหนี้สินท่วมตัวของบริษัทและเมืองต่างๆ ของจีนในปัจจุบัน การเก็งกำไรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ “สงคราม” ที่ต้องต่อสู้ในเรื่องการค้า การเมือง เทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่งอาจมีฝูง “แรดเทา” แฝงอยู่กับ” “หงส์ดำ” หลายตัวก็เป็นได้

แนวคิด Gray Rhino ประยุกต์ได้กับปัญหาที่โลกเผชิญอยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนทรัพยากรน้ำ อาหาร พลังงาน ปัญหาโลกร้อน ปัญหา “โลกสีเทา” (“คนเทา” สู้กับ “แรดเทา”) อีกทั้งปัญหาในระดับองค์กรเอกชน (บริษัทกำลังจะขาดสภาพคล่อง) ครอบครัวและบุคคล ในเรื่องความสัมพันธ์ (“เขากำลังคิดจะเลิกกับเรา?” “พ่อแม่กำลังทุกข์เพราะพฤติกรรมของเรา”) เรื่องการใช้จ่ายเงิน (ใช้บัตรเครดิตรูปแพะชนแกะ) เรื่องของสุขภาพ (ผลการตรวจเลือด ความแข็งแรงของร่างกาย) เรื่องการงาน (“เขากำลังจะบีบเราออก”)

คนจีนกำลังนิยมหนังสือเล่มนี้กันครั้งใหญ่ (ฟังดูคุ้นๆ กับเรื่อง Animal Farm ซึ่งคนในประเทศนี้ชอบฟังคำบอกเล่าแต่ไม่อ่านจึงวิจารณ์กันอย่างผิดๆ ประเด็นคือการล้อเลียนประชดประชันระบอบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์) หลังจากรู้จักสัตว์สองประเภทจากผู้นำ

สิ่งที่เป็นอุปสรรคใหญ่ของการไม่ให้ถูก “แรดเทา” วิ่งชนก็คือพฤติกรรมของมนุษย์ด้วยกันเองนี่แหละ งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมพบว่ามนุษย์มีเหตุมีผลน้อยกว่าที่เคยคิดกันมาก มนุษย์เป็นปุถุชนจึงถูกครอบงำด้วยอีโก้ (ego) มีความเชื่อมั่นว่าตนเองถูกต้องโดยใช้สัญชาติญาณและประสบการณ์ในการตัดสินใจมากกว่าการใช้ข้อมูล ความเอนเอียงของการตัดสินใจอันเนื่องมาจากความชอบเป็นส่วนตัว การไม่รับฟังคนอื่นมากเท่าที่ควร ฯลฯ ดังนั้นจึงละเลยอาการและสัญญาณที่ออกมาให้เห็นตลอดเวลา (เห็นควันลอยออกมาแต่เชื่อมั่นว่าเป็นควันบุหรี่แน่นอนเพราะเคยเห็นควันแบบนี้มาก่อน แต่คราวนี้ไฟไหม้จริง) กอปรกับมันเป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกิดขึ้นเพราะมันไม่เคยเกิดมาก่อน (ปรากฏการณ์ “หงส์ดำ” อาละวาด)

Gray Rhino เตือนใจให้เราระแวดระวังก่อนที่ภัยจะเกิด Black Swan เตือนให้เราตระหนักว่าสิ่งที่คิดว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ และ “an elephant in the room” เตือนให้ไม่ละเลยการพิจารณาปัญหาที่มีอยู่จริง ในโลกที่ซับซ้อนโยงใยและผันผวนได้ง่าย สัตว์ทั้งสามถือได้ว่าทำหน้าที่ซึ่งมีประโยชน์ คำถามก็คือแล้ว Homo Sapiens หรือพวกเราทำหน้าที่ของตนเองกันแล้วหรือยัง

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคาร 11 มิ.ย. 2562