จากผลสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปี 2552-2554 ได้คะแนนสอบเฉลี่ยทั้งประเทศไม่ถึงร้อยละ 50 ใน 5 วิชาหลัก คือ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์นั้น เป็นภาพสะท้อนหนึ่งของปัญหาการศึกษาไทย ที่ต้องเร่งพัฒนาและยกระดับศักยภาพอนาคตของชาติ โดยการแก้ไขอย่างเร่งด่วนในระดับนโยบายที่เป็นแผนระยะยาว
แต่ภายใต้กลไกการเมืองแบบไทยๆ การเปลี่ยนรัฐบาลและปรับคณะรัฐมนตรีบ่อยครั้ง เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็สั่นคลอนตามไปด้วย ทำให้นโยบายด้านการศึกษาขาดความต่อเนื่อง เพราะแต่ละรัฐบาล แต่ละรัฐมนตรี แม้จะเป็นพรรคเดียวกันก็มีโครงการและแผนงานใหม่ๆ เป็นของตัวเอง ทำให้ระบบการศึกษาไทยเป็นโจทย์ของสังคมว่า “ถอยหลัง” ลงเรื่อยๆ แม้จะได้รางวัลชนะเลิศระดับโลกในบางสาขา แต่คุณภาพการศึกษาโดยรวมของประเทศตกต่ำลงทั้งๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการจะมีอายุกว่า 100 ปีแล้ว และส่วนใหญ่ได้รับงบประมาณมากเป็นอันดับหนึ่งมาอย่างต่อเนื่อง
ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เคยกล่าวว่า ปัญหาของการศึกษาไทยมีอยู่ 6 ข้อ คือ 1. การขาดความรับผิดชอบในระบบการศึกษาของชาติ 2. การเมืองอยู่ในการศึกษา 3. ภาครัฐครอบงำการศึกษา 4. ขาดความมุ่งมั่นและต่อเนื่องในการยกระดับคุณภาพการศึกษา 5. ปัญหา governance และ 6. คุณภาพครู
จากปัญหาในข้อ 4. ขาดความมุ่งมั่นและต่อเนื่องในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ดร.วรากรณ์กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งเกิดจากนโยบายที่เปลี่ยนไปมาตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ว่าจะต่างรัฐบาลหรือรัฐบาลเดียวกัน
ดังที่นายปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2556 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในหัวข้อ “โมเดลใหม่ในการพัฒนา: สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยการเพิ่มผลผลิต” บทความที่ 3 “การพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อผลิต” ว่า “รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการต้องอยู่กันยาวๆ เพราะต้องวางนโยบายระยะยาว และต้องมีเจตจำนงที่แน่วแน่ในการปฏิรูปการศึกษา”
กระทรวงศึกษาธิการ หรือชื่อเดิมกระทรวงธรรมการ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2435 โดยมี “เสนาบดี” เป็นตำแหน่งสูงสุดในกระทรวง โดยในช่วงปี 2435-2475 มีเสนาบดีรวม 5 คน หลังจากนั้นมาจึงเปลี่ยนเป็นตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ” จนถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 53 คน จากคณะรัฐมนตรี ( ครม. ) 60 คณะ และมีนายกรัฐมนตรี 28 คน
ในแต่ละรัฐบาล มีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง เช่น รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ นิติธาดา (1 ปี) มี ครม. 3 คณะ, รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาครั้งที่ 1 (4 ปี) มี 4 คณะ ครั้งที่ 2 (1 ปี 4 เดือน) 1 คณะ, รัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ครั้งแรก (5 ปี 7 เดือน) มี ครม. 2 คณะ ครั้งที่ 2 (9 ปี 5เดือน) มี ครม. 6 คณะ, รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ครั้งที่ 1 (4 ปี) มี ครม. 5 คณะ, รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (2 ปี 8 เดือน) มี ครม. 2 คณะ, รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (2 ปี) มี ครม. 4 คณะ ฯลฯ ซึ่งในแต่ละ ครม. จะมีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) และรัฐมนตรีช่วยว่าการ (รมช.) ของหน่วยงานต่างๆ ด้วย
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ประเทศไทยเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย รัฐบาลทำหน้าที่ฝ่ายบริหารประเทศตามนโยบายต่างๆ ที่ได้กำหนดเอาไว้ ซึ่งผูกผันให้กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลนั้นๆ เช่นเดียวกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่รัฐมนตรีว่าการฯ ต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลที่เปลี่ยนแปลงไป
เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลนโยบายการศึกษาก็เปลี่ยนแปลง มีเพียงนโยบายบางส่วนเท่านั้นที่รัฐบาลใหม่จะนำมาสานต่อเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาการศึกษาและเพิ่มศักยภาพของบุคลากรไทย แต่ด้วยสภาพการเมืองไทยที่เปลี่ยนแปลงบ่อยทำให้การดำเนินงานด้านนโยบายส่วนใหญ่ขาดความต่อเนื่อง
เฉพาะรัฐบาลที่อยู่ครบวาระ 4 ปี มีเพียงรัฐบาลเดียวคือ รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครั้งแรก (17 กุมภาพันธ์ 2544 – 10 มีนาคม 2548) ในขณะที่รัฐบาลอื่นๆ สิ้นสุดลงเพราะรัฐประหารและยุบสภามากที่สุด ที่เหลือจะเป็นนายกรัฐมนตรีประกาศลาออก, คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือเสียชีวิต
นอกจากนี้ ภายในรัฐบาลเดียวกันมีปรับ ครม. หลายครั้ง และเปลี่ยนรัฐมนตรีหลายคน เฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดถึง 6 คนในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 1 ขณะที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา เปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา 4 คน ส่วนรัฐบาลนายชวน หลีกภัย และรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เปลี่ยนรองลงมาคือ 3 คน และรัฐบาลที่เปลี่ยน รมว.กระทรวงศึกษาธิการ 2 คน ได้แก่ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ, รัฐบาลพันตรีควง อภัยวงศ์ และรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม
ระยะเวลาดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเฉลี่ย 2.1 ปีต่อคน นับตั้งแต่ พ.ศ. 2435-ปัจจุบัน แต่ถ้าหากนับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา รัฐมนตรีกระทรวงกระทรวงศึกษาธิการนั่งเก้าอี้เฉลี่ย 1.5 ปีต่อคน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่เปลี่ยนแปลงบ่อยมากที่สุดภายในรัฐบาลเดียวกัน ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา ดำรงตำแหน่งเฉลี่ย 0.95 ปีต่อคนเท่านั้น
โดยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 2 คนใน 1 ปี รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ครั้งที่ 2 มี 3 คนใน 3 ปี รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครั้งที่ 1 มี 5 คน เฉลี่ย 0.8 ปีต่อคน
รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครั้งที่ 2 (1 ปี 6 เดือน) รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ (1 ปี 3 เดือน) รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช (8 เดือน) และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (2 เดือน) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรัฐบาลละ 1 คน
รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (2 ปี 8 เดือน) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 2 คน เฉลี่ย 1 ปี 4 เดือน และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (2 ปี 3 เดือน) มี 4 คน เฉลี่ยดำรงตำแหน่ง 6.75 เดือนต่อคน
อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุด 2 เดือน คือ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน สมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และดำรงตำแหน่งนานที่สุด 2 ปี 4 เดือน คือนายสัมพันธ์ ทองสมัคร สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ครั้งที่1
ในกรณีที่เปลี่ยนรัฐมนตรีตามรัฐบาล ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสั้นที่สุดประมาณ 4 เดือน คือ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครั้งแรก และนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่วนผู้ที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด 3 ปี 4 เดือน คือนายชวน หลีกภัย ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
สำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ดำรงตำแหน่งหลายสมัยยาวนานที่สุดคือ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ดำรงตำแหน่งรวม 11 ปี ติดต่อกัน 3 รัฐบาล ช่วง พ.ศ. 2500-2512 ในรัฐบาลนายพจน์ สารสิน รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร (2 ครม. แรก) และรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
นโยบายแต่ละยุคสมัย
ด้านนโยบายทางการศึกษาของแต่ละรัฐบาลมีความต่อเนื่องของโครงการน้อยมาก ย้อนกลับไปที่ประมาณ 20 ปี มีนโยบายที่ได้สานต่อชัดเจนเป็นรูปธรรมในปัจจุบันอยู่ 2 โครงการ คือ ขยายการศึกษาภาคบังคับ และกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
ทั้งนี้ การขยายการศึกษาภาคบังคับเริ่มในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ครั้งแรก ช่วง พ.ศ. 2535-2538 ที่ขยายการศึกษาภาคบังคับจาก 6 ปี เป็น 9 ปี ให้ทั่วถึงทั้งในและนอกระบบโรงเรียน ต่อสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ก็สานต่อโครงการนี้โดยมีเป้าหมายขยายการศึกษาภาคบังคับให้ถึง 12 ปี โดยเร็ว
ต่อมา สมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จึงมีนโยบายให้การศึกษา 12 ปี แก่ประชาชนทุกเพศทุกวัย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาคน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะที่ 8 โดยเพิ่มการรับนักเรียนและนักศึกษาทุกระดับทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน (การศึกษานอกโรงเรียน-กศน.) รวมถึง เพิ่มงบประมาณด้านการลงทุนการศึกษา ให้มีสัดส่วนร้อยละ 40 ของงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ และจัดซื้อคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย
ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย(2) ก็สานต่อการขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่น้อยกว่า 12 ปี เพียงอย่างเดียว แต่ก็มีอีกหลายนโยบายที่รัฐบาลต่อๆ ไปนำไปสานต่อด้วย ดังนี้
ปรับปรุงการจัดการศึกษาทุกระดับโดยสนับสนุนให้เอกชน องค์กรวิชาชีพ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เช่น อบรมวิชาชีพและการจัดการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาเอกชนมีอิสระในการบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพโดยรัฐเน้นส่งเสริมและสนับสนุน รวมถึงมีมหาวิทยาลัยนอกระบบหรือมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
เน้นพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ผู้เรียนได้เรียนอย่างมีความสุข มีพัฒนาการรอบด้าน มีคุณธรรม และมีความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยตนเอง จัดให้มีมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติและระบบการประเมินและประกันคุณภาพทางการศึกษาเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยให้มีมาตรฐานเป็นเลิศ
นโยบายการพัฒนาครู
ด้านครู ได้พัฒนาวิชาชีพครูให้ได้รับการยกย่อง ได้ทำงานอย่างมีเกียรติ โดยปฏิรูปกระบวนการผลิตและการพัฒนาครู ซึ่งเน้นการผลิตครูในสาขาที่ขาดแคลน และส่งเสริมสวัสดิการของครู
ส่วนนโยบายที่หายไปในรัฐบาลหลังๆ คือ กฎหมายการศึกษาแห่งชาติ และให้ความรู้แก่พ่อแม่และครอบครัวในการวางรากฐานเบื้องต้นของชีวิตและเตรียมความพร้อมแก่เด็กก่อนเข้าเรียนชั้นประถมและส่งเสริมการจัดการศึกษาก่อนวัยเรียนให้ทั่วถึง รวมถึงกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็น 3 ระบบที่เชื่อมโยงกัน คือ ระบบวิทยาลัยชุมชน ระบบมหาวิทยาลัยซึ่งเน้นการผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรี และระบบมหาวิทยาลัยซึ่งเน้นการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาและการวิจัยชั้นสูงเป็นหลัก อีกทั้งใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศกระจายโอกาสทางศึกษาไปยังภูมิภาคด้วย
ต่อมา ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (1) ก็มีนโยบายด้านการศึกษาคล้ายคลึงกับรัฐบาลก่อนหน้า คือ เร่งจัดระบบการศึกษาและโครงสร้างทางการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเน้นคุณภาพ ประสิทธิภาพและความเที่ยงธรรมในการบริหารจัดการการศึกษาทุกระดับ รวมถึงมีวิทยาลัยชุมชน โดยเฉพาะในจังหวัดที่ไม่มีสถาบันอุดมศึกษา เสริมวิชาชีพครูและผลิตครูที่มีคุณภาพและคุณธรรม และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษาและเครือข่ายสารสนเทศเพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาให้คนเมืองและคนชนบท
ทั้งนี้ แม้จะไม่แถลงนโยบายว่าเรียนฟรี 12 ปี แต่โครงการนี้ก็ยังคงดำเนินการมาต่อเนื่อง
นอกจากนี้ก็มีนโยบายใหม่เกิดขึ้น คือ สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน, ส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการทางศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และกีฬาในเด็กและเยาวชน, ปฏิรูปการเรียนรู้โดยยึดหลักให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และจัดให้มีศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและสื่อการเรียนรู้ประเภทต่างๆ อย่างทั่วถึง ด้านหลักสูตรการศึกษาก็ปรับปรุงเพื่อให้เด็กมีวินัย รักงาน และทำงานเป็น และปฏิรูปการอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นและพัฒนาให้มีถึงปริญญาตรี
ประชานิยม-กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา:กยศ.
และเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นรัฐบาลอีกครั้ง ก็สานต่อนโยบายเดิมเรื่องเรียนฟรี 12 ปี และสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต และแถลงนโยบายใหม่ที่สำคัญและรัฐบาลต่อไปนำไปสานต่อคือ เร่งรัดปฏิรูปการศึกษาและกระบวนการเรียนการสอนทุกรูปแบบให้ทันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม พัฒนามาตรฐานวิชาชีพของแรงงาน จัดตั้งกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อสนับสนุนการศึกษาตั้งแต่ ปวส. ถึงอุดมศึกษา
นอกจากนี้ก็มีนโยบายสร้างแหล่งบริการความรู้กระจายให้ทั่วภูมิภาค รวมถึงเชื่อมเครือข่ายความรู้ของทุกโรงเรียนเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ต สนับสนุนผู้มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา และสนับสนุนให้โรงเรียนที่มีชื่อเสียงสามารถระดมทุนเองได้
ด้านรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ แถลงนโยบายการศึกษาสั้นๆ เพียง “ปฏิรูปการศึกษาโดยยึดหลักคุณธรรมนำความรู้ และจัดการศึกษาเน้นกระจายอำนาจสู่เขตพื้นที่”
ในขณะที่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช มีนโยบายด้านการศึกษาที่คล้ายคลึงกับรัฐบาลก่อนหน้าซึ่งมีโครงการที่สำคัญๆ คือ เรียนฟรี 12 ปี และกองทุน กยศ. โดยเพิ่มทุนการศึกษาเพื่อเรียนต่อทั้งในและต่างประเทศขึ้นมาด้วย และยกระดับคุณภาพการศึกษาทุกระดับทั้งในและนอกระบบ รวมถึงสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นอกจากนี้ก็มีนโยบายใหม่ๆ คือ ปรับระบบผลิตและพัฒนาครูให้มีคุณภาพและคุณธรรมอย่างทั่วถึง, ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนการสอน, ส่งเสริมอาชีวศึกษาให้สอดรับกับภาคการผลิตและบริการ และขยายบทบาทของระบบการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ผ่านองค์กรต่างๆ
ด้านรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้สานต่อนโยบายเรียนฟรี 12 ปี กองทุน กยศ. และทุนการศึกษาต่อทั้งในและนอกประเทศ ยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค รวมถึงปรับระบบการผลิตและพัฒนาครูให้มีคุณภาพและคุณธรรม และขยายบทบาทของระบบการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ผ่านองค์กรต่างๆ
ด้านนโยบายที่พัฒนาขึ้นมาจากรัฐบาลเดิม เช่น ส่งเสริมการเรียนภาษาไทยและประวัติศาสตร์, ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนรู้อย่างจริงจัง, ส่งเสริมการใช้สื่อการเรียนรู้ทางไกลให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วถึง และพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังมีนโยบายใหม่ๆ ที่รัฐบาลต่อๆ ไปนำไปสานต่อ คือ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสถาบันอุดมศึกษาด้านการวิจัยและนวัตกรรม และเร่งผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาเพื่อสนับสนุนขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ, กระจายอำนาจการจัดการการศึกษาไปยังเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา และส่งเสริมกลไกการบริหารจัดการการศึกษาทั้งระบบ เพื่อนำมาใช้ปรับกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง
สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นโยบายทางการศึกษาไม่ได้แปลกใหม่ แต่พัฒนาหรือต่อยอดมาจากนโยบายการศึกษาเดิม คือ ขยายโอกาสทางการศึกษาจาก 12 ปี เป็น 15 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมปลาย ขยายกองทุน กยศ. เพิ่มขึ้น พร้อมกับมีการประนอมและไกล่เกลี่ยหนี้ และส่งเสริมความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยสู่การเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและวิจัยพัฒนาในภูมิภาค ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
อีกทั้งยังปฎิรูปการศึกษาทั้งระบบในเชิงโครงสร้างและการบริหารจัดการ, ส่งเสริมภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ โดยเน้นอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ด้านครูก็พัฒนาให้เก่ง ดี มีคุณภาพ มีคุณธรรม และมีวิทยฐานะสูงขึ้น รวมถึงจัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตครูขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย
นอกจากนี้ ยังพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาสถาบันอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาสู่ความเป็นเลิศ มีการปรับเงินเดือนอาชีวศึกษาให้สูงขึ้น และพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้วยการเพิ่มขีดความสามารถด้านวิจัยและพัฒนา รวมถึงส่งเสริมให้เด็กเยาวชนใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเชิงสร้างสรรค์อย่างชาญฉลาดเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ ส่งเสริมความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยสู่การเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและวิจัยพัฒนาในภูมิภาค ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ประชานิยมสุดซอย
ด้านรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีนโยบายต่อยอดและนโยบายใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย ดังนี้
ปฏิรูปความรู้ของสังคมไทยสู่สากล เช่น โครงการตำราแห่งชาติ ส่งเสริมการอ่าน การสอนภาษาต่างประเทศและภาษาถิ่น และปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาทุกระดับให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมีครูพอเพียงแก่เด็กทุกห้องเรียน อีกทั้งสนับสนุนให้มีสถาบันอาชีวศึกษาคุณภาพสูงในทุกพื้นที่ และพัฒนามหาวิทยาลัยไทยสู่ระดับโลก รวมถึงปรับโครงสร้างระบบบริหารการศึกษาที่กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
ด้านการสร้างและขยายโอกาสทางการศึกษาก็ยังคงสานต่อการศึกษาฟรีภาคบังคับแก่คนทุกกลุ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดาถึงจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น แม่บ้าน สามารถเทียบโอนวุฒิการศึกษาได้ นอกจากนี้กองทุน กยศ. ก็ยังคงสานต่อ อีกทั้งยังเพิ่ม “โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน” เพื่อขยายโอกาสให้เยาวชนได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ และจัดการศึกษาชุมชน เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา มีนโยบายการจัดการให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมการศึกษาสายอาชีวะให้เป็นที่ยอมรับและมีรายได้สูง รวมถึงสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างทุนปัญญาของชาติ พัฒนามหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก ให้ประเทศพึ่งตนเองได้ทางเทคโนโลยี จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อการวิจัยในสาขาที่จำเป็น รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน โดยให้สถาบันการศึกษาผลิตคนให้ตรงตามความต้องการของตลาด และเร่งจัดมาตรฐานวิชาชีพและมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครบทุกอุตสาหกรรม
นโยบายใหม่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้ทัดเทียมกับนานาชาติ โดยใช้เป็นเครื่องมือเพื่อยกระดับคุณภาพและกระจายโอกาสทางการศึกษา มีระบบการเรียนแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ พัฒนาระบบไซเบอร์โฮม แจกแท็บเล็ตเพื่อการศึกษาแก่เด็กประถม 1 และมีกองทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
ด้านครูก็มีนโยบายใหม่ๆ โดยปฏิรูปครูและยกฐานะครูให้เป็นวิชาชีพขั้นสูง ปรับปรุงการผลิตครูให้ทัดเทียมนานาชาติ ปรับเงินเดือนค่าตอบแทนครู พักชำระหนี้ครู พัฒนาระบบภูมิสารสนเทศเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนครู