ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “สมมาตร์ มีศิลป์”ผอ.สกสค.ขอไกล่เกลี่ย ทำบันทึกถึงปลัดศึกษาฯชงเรื่องเข้าบอร์ด อนุมัติถอนฟ้องคดียักยอก ก่อนศาลฎีกา ชี้ขาด 24 ธ.ค. 57

“สมมาตร์ มีศิลป์”ผอ.สกสค.ขอไกล่เกลี่ย ทำบันทึกถึงปลัดศึกษาฯชงเรื่องเข้าบอร์ด อนุมัติถอนฟ้องคดียักยอก ก่อนศาลฎีกา ชี้ขาด 24 ธ.ค. 57

26 ตุลาคม 2014


นายสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค.
นายสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2557 เวลา 9.00 น. ศาลฎีกา นัดพนักงานอัยการ (โจทก์) กับนายสมมาตร์ มีศิลป์ และพวก (จำเลยทั้ง 5 คน) มารับฟังคำพิพากษา 4 คดี ประกอบด้วยคดีดำหมายเลข อ.912/2549, อ.2147/2549, อ.2871/2549 และ อ.2872/2549 ณ ที่ทำการศาลแขวงพระนครเหนือ

ในวันเดียวกันนายสมมาตร์และพวก (จำเลยที่ 1-5) ให้ทนายความรวบรวมพยานหลักฐานที่จัดเตรียมไว้ ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา พิจารณาขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษา โดยมีสาระระบุว่า “หลังจากที่นายสมมาตร์กลับเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) อีกครั้ง ได้รับความร่วมมือร่วมใจ และความเมตตาจากคณะกรรมการ สกสค. อย่างมาก ทำให้การบริหารงานเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น จการบริหารงานเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้น เพื่อประโยชน์ต่อองค์การค้าฯ และคณะกรรมการ สกสค., จำเลยจึงเห็นควรให้ยุติคดีความทั้งหลายต่อกัน โดยต่างฝ่ายต่างถอนฟ้องซึ่งกันและกัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้มีการหารือกันบ้างแล้วนอกรอบ”

ทั้งนี้ ทนายความของจำเลยทั้ง 5 คน ส่งพยานหลักฐานเป็นบันทึกข้อความที่นายสมมาตร์ทำถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557 ส่งให้ศาลฎีกาพิจารณา เพื่อชี้ให้เห็นว่า ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยกำลังเจรจาไกล่เกลี่ยยอมความ โดยบันทึกข้อความฉบับนี้มีใจความสำคัญว่า “กรณีศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาในวันที่ 22 ตุลาคม 2557 อาจจะมีผลกระทบต่ออำนาจการบริหารงานของคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ และคณะกรรมการ สกสค. ดังนั้น นายสมมาตร์จึงมีความประสงค์จะให้มีการไกล่เกลี่ยถอนคดีระหว่างกัน โดยให้สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ถอนฟ้องนายสมมาตร์ ขณะที่นายสมมาตร์ก็จะถอนฟ้อง สกสค. ด้วย จึงขอนำเรื่องนี้บรรจุเข้าวาระการประชุมคณะกรรมการ สกสค.”

ตามหลักฐานที่นายสมมาตร์ส่งให้ศาลฎีกาพิจารณาขอเลื่อนวันนัดอ่านคำพิพากษา ได้ระบุว่า “จะมีการนำเรื่องดังกล่าวนี้บรรจุเป็นวาระเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค. วันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 หากคดีสามารถตกลงกันได้ และต่างฝ่ายต่างถอนฟ้องซึ่งกันและกันแล้ว น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีของศาลและคู่ความ”

นอกจากนี้ ทนายของจำเลยได้นำหลักฐานว่า นายสมนึก บัวรุ่ง จำเลยที่ 4 ป่วยเป็นโรคปอดบวม ไม่สามารถเดินทางมาฟังคำพิพากษาได้ โดยมีใบรับรองแพทย์มายืนยัน ซึ่งแพทย์ให้นายสมนึกพักรักษาตัวเป็นเวลา 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 17-27 ตุลาคม 2557

จากนั้น เวลา 9.30 น.ของวันเดียวกัน ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์ที่ 26 พิจารณาคำร้องของจำเลย ขอเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาคดี หลังจากรับฟังเหตุผลของนายสมมาตร์ จำเลยที่ 1 ซึ่งกลับมาเป็นผู้อำนวยการ องค์การค้าฯ จะนำคดีความทั้งหมดส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค. พิจารณา (ต่างฝ่ายต่างถอนฟ้อง) ซึ่งคดีมีแนวโน้มว่าจะตกลงกันได้ ประกอบกับนายสมนึก จำเลยที่ 4 ป่วยเป็นโรคปอดบวมจริง ศาลฎีกาจึงตัดสินให้เลื่อนวันนัดฟังคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 24 ธันวาคม 2557 เวลา 9.00 น. ตามที่จำเลยร้องขอ(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

คดีที่สกสค.ฟ้องนายสมมาร์ต มีศิลป์

อนึ่ง ความเป็นมาของคดีนี้ เริ่มต้นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2541 องค์การค้าของคุรุสภา (ชื่อเดิม) รับมอบอำนาจจากนายชุมพล ศิลปอาชา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งความกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ปปป.ตร.) ดำเนินคดีอาญานายสมมาตร์และพวก ฐานยักยอกจำนวน 10 คดี ปปป.ตร. สรุปสำนวนคดีทั้งหมดส่งให้พนักงานอัยการฟ้องศาลแขวงพระนครเหนือ

ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2541 กระศึกษาธิการมีคำสั่งคุรุสภาที่ 15/2541 ยกเลิกสัญญาจ้าง นายสมมาตร์ออกจากงานไปทำอาชีพเลี้ยงเป็ด และใช้เวลาส่วนหนึ่งต่อสู้คดีมานานกว่า 15 ปี จนกระทั่งสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. เปิดรับสมัครผู้อำนวยการองค์การค้าฯ คนใหม่ โดยมีนายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาฯ นายสมมาตร์จึงมาลงสมัครขอรับการสรรหาครั้งนี้

วันที่ 7 สิงหาคม 2555 สกสค. ประกาศรายชื่อผู้สมัครที่มีคุณสมบัติผ่านหลักเกณฑ์การคัดเลือกมี 3 คน คือ นายสมมาตร์ มีศิลป์, นายชวลิต ลีลาศิวพร และนายปิติ นุชอนงค์ ทุกสายตาจึงพุ่งเป้าไปที่นายสมมาตร์ ผู้สมัครซึ่งเป็นคู่ความกับองค์การค้าของ สกสค. ถึง 10 คดี ช่วงนั้นคนกระทรวงศึกษาฯ และผู้ลงสมัครรายอื่นเกิดคำถามขึ้นในใจ นายสมมาตร์สอบผ่านหลักเกณฑ์การคัดเลือก (คุณสมบัติ) มาได้อย่างไร ซึ่งตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกฯ ข้อที่ 1.10 ระบุว่าต้องไม่เคยถูกเลิกจ้างจากหน่วยงาน และข้อ 1.11 ระบุว่า ต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย หรือผลประโยชน์โดยตรง หรือโดยอ้อม กับ สกสค.

วันที่ 24 สิงหาคม 2555 “สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” นำประเด็นที่หลายฝ่ายเกิดข้อสงสัยสอบถามต่อนายสมมาตร์ ระหว่างที่นายสมมาตร์มาแสดงวิสัยทัศน์กับคณะกรรมการสรรหา นายสมมาตร์ให้คำตอบว่า “ความหมายของคำว่า ‘ถูกเลิกจ้าง’ ตามประกาศคณะกรรมการสรรหาฯ ข้อ 1.10 คือ ต้องมีสาเหตุมาจากเรื่องทุจริตต่อหน้าที่ แต่กรณีของผมถูกเลิกจ้างเพราะไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่ ส่วนข้อ 1.11 ก็ไม่ถือว่าตนมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะคดีความที่ค้างอยู่ในชั้นศาล ศาลได้ไต่สวนสอบพยานบุคคลและพยานเอกสารต่างๆ ไปทั้งหมดแล้ว หากตนได้รับการคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ก็ไม่มีผลต่อรูปคดี เพราะคดีที่เหลือรอศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาตัดสินเท่านั้น และที่สำคัญ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุด ผู้ที่ถูกกล่าวหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์”

วันที่ 11 กันยายน 2555 คณะกรรมการ สกสค. มีมติเลือกนายสมมาตร์เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าฯ และดำเนินการทำสัญญาว่าจ้างในวันที่ 25 กันยายน 2555

ต่อกรณีที่นายสมมาตร์เคยให้สัมภาษณ์ว่า หาก สกสค. แต่งตั้งให้ตนดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ไม่มีผลกระทบต่อรูปคดี แต่ถ้าดูจากพยานหลักฐานที่นายสมมาตร์ส่งให้ศาลฎีกาพิจารณาขอเลื่อนนัด โดยเฉพาะบันทึกข้อความที่ทำถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้นำเรื่องถอนฟ้องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค. วันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 ก่อนที่ศาลฏีกานัดอ่านคำพิพากษาอีกครั้งวันที่ 24 ธันวาคม 2557 ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล และมีประเด็นเรื่องผลประโยชน์ขัดแย้งชัดเจน คณะกรรมการ สกสค. จะกล้าลงมติถอนฟ้องหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติมสรุปคดีนายสมมาตร์ มีศิลป์