เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงข่าวหลังการประชุม กนง. ครั้งที่ 8/2560 ซึ่งมีกรรมการลาประชุม 1 คนว่า กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% โดยให้เหตุผลว่ายังต้องติดตามการกระจายตัวของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งรายได้จะปรับดีขึ้นและยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควรและยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนแม้ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ แต่การลงทุนบางส่วนยังชะลอตัวตามการลงทุนของภาครัฐที่ล่าช้าออกไป เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็นต้น
ทั้งนี้ สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาด้านอื่นๆ มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกที่แม้ว่าในปี 2561 จะปรับการเติบโตลงแต่เป็นผลของฐานสูงในปีนี้ หากคิดเป็นมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนยังเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปี 2560 ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญแม้การเบิกจ่ายงบลงทุนจะล่าช้าออกไปบ้าง
ส่วนความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงด้านลบที่จากต่างประเทศต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด เช่น ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐอเมริกาและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ขณะเดียวกัน ปัจจัยการเติบโตของการค้าโลกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนจะเป็นปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในอนาคต ซึ่งทำให้ความเสี่ยงโดยรวมมีความสมดุลต่างจากครั้งก่อนหน้าที่จะโน้มไปทางด้านต่ำมากกว่า
“ถ้าหากรัฐบาลลงทุนได้ตามแผนก็จะช่วยให้เอกชนลงทุนตามได้ เพราะฉะนั้น 2 ตัวนี้มันก็พันกันอยู่ ส่วนการเลือกตั้งในปีหน้าคิดว่าต้องดูที่เม็ดเงิน ถ้าสามารถผลักดันโครงการและเม็ดเงินออกไปได้ก็คิดว่าเอกชนจะลงทุนเพิ่มขึ้น ไม่เกี่ยวกับว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ขณะที่การบริโภคของเอกชนก่อนหน้านี้เรียกว่าบริโภคด้วยการก่อหนี้ ช่วงที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 10% ก็เหมือนเอาเงินในอนาคตมาใช้ผลก็ต่อเนื่องมาในปัจจุบันและต้องรอคืนหนี้ไปถึงระดับหนึ่งก่อน ส่วนความเสี่ยงของเศรษฐกิจครั้งนี้เรียกว่าสมดุลชัดเจน และคาดว่าถ้าการค้าโลกไปได้ดีกว่านี้หรือรัฐบาลสามารถเร่งการลงทุนออกมาได้มากขึ้นจะยิ่งเป็นปัจจัยบวกของเศรษฐกิจมากขึ้นและอาจจะมากกว่าที่คาดไว้ แต่คิดว่าตอนนี้จีดีพีปีหน้าจะโน้มไปทางด้านสูงกว่าที่ประเมิน” นายจาตุรงค์กล่าว
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นเล็กน้อยตามราคาพลังงานที่ทยอยปรับสูงขึ้น ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ปรับดีขึ้นบ้างแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต ทั้งนี้ ในระยะต่อไปอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆ ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และคาดว่าจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้กลางปีหน้าตามที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อนหน้า
ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำทำให้ภาคเอกชนสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีเริ่มปรับดีขึ้นในหลายธุรกิจด้านอัตราแลกเปลี่ยนเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับในระยะข้างหน้าอัตราแลกเปลี่ยนจะยังคงมีแนวโน้มผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนในต่างประเทศ กนง. จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
กนง. เห็นว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดที่อาจจะสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจ
นายจาตุรงค์สรุปว่า มองไปข้างหน้าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยด้านต่างประเทศ ในขณะที่ยังต้องติดตามความเข้มแข็งของการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ รวมถึงพัฒนาการเงินเฟ้อ กนง. จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ
ทั้งนี้ ธปท. ได้เผยแพร่ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจใหม่โดยปรับเพิ่มจีดีพีในปี 2560 เพิ่มขึ้นจาก 3.8% เป็น 3.9% โดยมีปัจจัยหลักจากการส่งออกสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นจาก 8% เป็น 9.3% ขณะที่การลงทุนและการบริโภคปรับลดลงเหลือเพียง 1.6% และ 3.1% จาก 2.3% และ 3.3% ตามลำดับ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ของปี 2560 ออกมาต่ำกว่าที่คาดเล็กน้อย ขณะที่ในปี 2561 ธปท. ปรับจีดีพีเพิ่มขึ้นจาก 3.8% เป็น 3.9% เช่นเดียวกัน โดยในรายละเอียดปรับขึ้นเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคภาคเอกชน, การอุปโภคภาครัฐ การส่งออก และการนำเข้า