ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท.แจง “ค่าเงินบาท” ต้องร่วมมือกันดูแลทั้ง “เอกชน-รัฐ” ปัดใช้ “ยาแรง” คุม

ธปท.แจง “ค่าเงินบาท” ต้องร่วมมือกันดูแลทั้ง “เอกชน-รัฐ” ปัดใช้ “ยาแรง” คุม

14 มกราคม 2020


นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.

ธปท.แจงค่าเงินบาทแข็งเหตุปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่เก็งกำไร ระบุไม่ใช่ ธปท.คนเดียวที่มีหน้าที่ดูแลค่าเงินบาท เร่งเอกชน-รัฐบาลเข้ามาร่วมสนับสนุน ชี้ไม่อยากให้ยาแรงเหตุกระทบเศรษฐกิจภาพรวม แต่มีเครื่องมือพร้อมดูแล

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานแถลงข่าว “Media Briefing เรื่อง นโยบายการเงินและสถานการณ์ค่าเงินบาท” โดยนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. เริ่มต้นจากอธิบายภาพรวมของค่าเงินบาทในปีที่ผ่านมาว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินบาท ได้แก่

  • การคาดการณ์นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จากเดิมที่คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปีและทำให้ค่าเงินบาททยอยอ่อนค่าลง แต่ภายหลังปรากฏว่าเฟดพลิกกลับมาลดดอกเบี้ยนโยบายจนมีแรงกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งอีกครั้ง
  • การเลือกตั้งของไทยมีภายหลังมีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้นักลงทุนหันกลับมาลงทุนในไทยมากขึ้น
  • การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในระดับสูงถึง 32,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งมีธุรกรรมจริงรองรับ ถึง 9,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การลงทุนในตลาดทุนตลาดเงินยังพบว่าเป็นการไหลออกสุทธิอยู่ สะท้อนว่าปัญหาค่าเงินบาทแข็งส่วนหนึ่งไม่ได้เกิดจากการเก็งกำไรในตลาดทุนตลาดเงินของไทย และส่วนใหญ่ของเงินในส่วนนี้ที่ต่างชาติมาลงทุนจะเป็นพันธบัตรเป็นส่วนใหญ่
  • ค่าเงินหยวนของจีนที่ไม่สามารถดำเนินนโยบายให้อ่อนค่าได้มากนัก เนื่องจากถูกจับตามองอยู่ จนทำให้ค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าตามไปด้วย
  • การลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน 2 ครั้งในปีที่ผ่านมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มากกว่าคาด ซึ่งช่วยส่งผลให้ค่าเงินบาทชะลอการแข็งลง แต่ไม่เพียงพอที่จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าได้
  • ปัจจัยที่ไม่เกี่ยวกับการไหลเข้าออกของเงิน แต่เป็นการตั้งราคาของค่าเงินจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยตรง

“สรุปแล้วปัญหาค่าเงินแข็งปีที่ผ่านมาเป็นปัญหาจากพื้นฐาน ไม่ใช่การเก็งกำไร ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างที่ทราบกัน การลงทุนในประเทศต่ำ เป็นการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งตอนนี้คาดว่าจะกลับมาขยายได้ เพราะงบประมาณผ่านออกมาได้แล้ว แล้วปัญหาเชิงโครงสร้างแบบนี้ต้องร่วมมือกันระหวางรัฐและเอกชนที่จะช่วยลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นเวลานาน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องขาดดุล แต่อาจจะลดการเกินดุลลง ให้มันสมดุลมากขึ้น เคลื่อนไหวสอดคล้องกับภูมิภาคมากขึ้น”

นายเมธีกล่าวต่อไปว่า สำหรับการดูแลค่าเงินบาทของ ธปท.ในระยะที่ผ่านมาได้แทรกแซงด้วยการเข้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐและขายเงินบาท เพื่อชะลอการแข็งค่าของค่าเงินบาท โดยดอลลาร์สหรัฐที่ซื้อเข้ามาอยู่ในรูปของเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งในระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่ปี 2558 ธปท.มีเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเกือบ 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และทำให้ในปัจจุบันไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศมากติดอันดับต้นๆ ของโลก สะท้อนว่าธปท.ได้เข้าดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องและหาก ธปท.ไม่ได้ดูแลค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินบาทอาจจะแข็งกว่าระดับปัจจุบัน

นอกจากนี้ ธปท.ยังได้ดูแลค่าเงินผ่านการเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติ โดยการออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาด้วยการปรับยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (NR) ลดลงและให้รายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติให้ลึกขึ้นถึงระดับชื่อของผู้ได้รับผลประโยชน์แท้จริง (ultimate beneficiary owners) เพื่อติดตามพฤติกรรมการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนได้เพิ่มเติมมาตรการผ่อนปรนเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออก เช่น การยกเว้นการนำเงินรายได้จากการส่งออกกลับประเทศ การเปิดเสรีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ การเปิดเสรีการโอนเงินออกนอกประเทศ

อย่างไรก็ตาม ผลของมาตรการต่างๆ เหล่านี้ยังต้องใช้เวลาให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องปรับกระบวนการภายใน เพื่อให้สอดรับกับการดำเนินการตามกฎเกณฑ์ใหม่ ซึ่ง ธปท.ได้ส่งคนเข้าไปติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดว่าคืบหน้าไปถึงไหนอย่างไร แต่ปัจจุบันยังไม่ค่อบคืบหน้าไปมากเท่าไหร่นัก

“อาจจะมีคำถามว่าในบางประเทศที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่าไทย แต่ค่าเงินกลับไม่แข็งแบบเงินบาท ตัวอย่างเช่นไต้หวันเกินดุลไป 13.3% ของจีดีพีและเกาหลีใต้เกินดุลไปประมาณ 5.2% ของไทยอยู่ที่ 8% กว่าๆ สาเหตุที่เป็นแบบนั้นประการแรกคือเขาไม่ต้องให้ผู้ส่งออกนำเงินต่างประเทศกลับมาและส่งเสริมให้คนในประเทศโดยเฉพาะนักลงทุนระยะยาวไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เรียกว่าการรีไซเคิลเงินที่ไหลเข้าให้ไหลออกไป เช่น กองทุนระยะยาว กองทุนบำเหน็จบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกัน ให้ออกกระจายความเสี่ยง แปลว่าเงินไหลเข้ามาเยอะก็ไหลออกเยอะ มีการสนับสนุนการลงทุนโดยตรงให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศได้”

นายเมธีกล่าวต่อไปว่าของไทย ในส่วนของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้ผ่อนปรนไปหมดแล้ว แต่เรื่องของการลงทุนในตลาดทุนอาจจะเพิ่งเริ่มเปิดให้ไปลงทุนมากขึ้นและคาดว่าจะมากขึ้นต่อไปในอนาคต อีกส่วนที่สำคัญคือกองทุนต่างประเทศของไทย หรือ foreign investment fund ในปัจจุบันที่ออกไปลงทุนค่อนข้างมาก แต่ในความเป็นจริงไม่ได้มีผลกระทบต่อค่าเงินบาทแต่อย่างใด เนื่องจากกองทุนเหล่านี้มักจะทำประกันความเสี่ยงเอาไว้หมดในภาวะที่ค่าเงินบาทที่ทิศทางแข็งค่าทางเดียว แต่ปัจจุบันเมื่อค่าเงินมีแนวโน้มจะเคลื่อนไว้ได้สองทิศทางมากขึ้น กองทุนเหล่านี้ก็อาจจะไม่ได้ประกันความเสี่ยงทั้งหมด โดยในอนาคต ธปท.จะสนับสนุนให้กองทุนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องประกันความเสี่ยงทั้งหมดด้วย

จี้ “เอกชน-รัฐ” ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา

สำหรับการดูแลค่าเงินบาทในภาพรวม นายเมธีกล่าวว่า ธปท.ประสานกับทางเอกชนและภาครัฐด้วย ไม่ใช่ ธปท.ดูแลเพียงคนเดียว มีการเสนอมาตรการต่างๆ มีการพูดคุยกับเอกชนว่าควรจะดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง การให้ความรู้การอบรม มีการเพิ่มเครื่องมือให้เอกชน และให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มากขึ้น

ที่สำคัญ ธปท.เหมือนเป็นประตูสุดท้ายในการดูแลค่าเงิน คือประตูแรกอยู่กับเอกชน ประตูที่สองอยู่กับภาครัฐ ถ้าสองฝ่ายร่วมมือกัน ธปท.ก็เบาหน่อยไม่ต้องดูแล เพราะพวกนี้จะถูกจัดการบริหารไปเรียบร้อยแล้ว เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเราก็มีข้อเสนอไปที่ภาครัฐหลายข้อ เอกชนมีการคุยกันอย่างใกล้ชิด เราก็กังวล ภาครัฐก็กังวล เอกชนก็กังวล แล้วทำไมไม่มาช่วยกันแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ ธปท.คนเดียวที่มีหน้าที่ดูแลค่าเงินบาท เช่น ผู้ส่งออกถ้ามีเงินเหลือจากการส่งออกแล้วถ้าเก็บไว้ในต่างประเทศได้ มันก็ไม่ได้เป็นแรงกดดันกับค่าเงิน หรือผู้นำเข้าที่จะต้องนำเข้าแน่นอนก็อาจจะเร่งการนำเข้ามาก่อนในช่วงบาทแข็งได้ เป็นโอกาสที่จะนำเข้าเครื่องจักรใหม่ๆ มาปรับเปลี่ยนปกระบวนการผลิตให้ดีขึ้น”

อนึ่ง การนำเข้าเครื่องจักรของไทยปัจจุบันตกปีละประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แปลว่าทุก 1 บาทที่ค่าเงินแข็งค่าขึ้น ประเทศจะประหยัดไปได้ราว 50,000 ล้านบาท ดังนั้นหากธุรกิจที่เห็นโอกาสนี้จะสามารถสร้างความได้เปรียบคู่แข่งขันด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตจากการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรที่ถูกลง เช่นเดียวกัน ในแง่ธุรกิจและประชาชนที่เป็นหนี้ต่างประเทศจะมีหนี้ลดลงจากค่าเงินที่แข็งขึ้น โดยปัจจุบันธุรกิจและประชาชนไทยมีหนี้ค้างจ่ายต่างประเทศอยู่ราว 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แปลว่าทุก 1 บาทที่แข็งค่าขึ้น ธุรกิจและประชาชนจะมีหนี้ลดลงประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งคนที่จะได้รับประโยชน์ก็คือคนที่จะชำระหนี้คืน และสุดท้ายสำหรับภาคเศรษฐกิจโดยรวม ปกติไทยนำเข้าน้ำมันดิบปีละประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แปลว่า 1 บาทที่แข็งค่าขึ้น ก็จะช่วยประหยัดต้นทุนของประเทศไปได้ 20,000 ล้านบาทเช่นกัน

นายเมธีกล่าวต่อไปว่า ถ้าถามว่าสำหรับมาตรการหรือเครื่องมือของ ธปท.เพียง “คนเดียว” เพียงพอหรือไม่ กรณีนี้ถ้า ธปท.ใช้อาจจะต้องเป็นมาตรการที่รุนแรงและทุกคนก็ไม่ได้อยากให้ ธปท.ออกมาทำอะไรมาก เพราะถ้าเกิดแก้ไขอยู่คนเดียวต้องใช้ยาแรงถึงจะอยู่และกระทบกับเศรษฐกิจ แบบนี้ถ้าร่วมมือกันจะเป็นมาตรการที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย เหมือนกับโรคมะเร็งที่จะรักษามันมีหลายวิธี ถ้าไปคีโมบำบัดเพียงอย่างเดียวมันจะมีผลที่รุนแรงต่อรางกายผู้ป่วย แต่ถ้าใช้ธรรมชาติบำบัดค่อยๆ รักษาไปอาจจะช้าลง แต่ร่างกายรับได้ไม่มีผลข้างเคียงมาก อาจจะเป็นทางออกที่ดีกว่า 

ส่วนประเด็นปัญหาว่าการร่วมมือกัน 3 ฝ่ายอาจจะล่าช้าเกินไปหรืออาจจะต้องเร่งออกมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่ นายเมธีกล่าวว่า ปัจจุบันพูดคุยกันอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง แต่หลายมาตรการหรือแนวทางต้องใช้เวลาดำเนินการ เช่น การเร่งนำเข้า การชำระหนี้ หรือการลงทุนของรัฐที่ต้องรองบประมาณที่กำลังจะออกมา อย่างไรก็ตาม แนวทางความร่วมมือแบบนี้แม้จะใช้เวลาแต่จะยั่งยืนถาวรกว่ากรณีที่ ธปท.เป็นผู้ดูแลและใช้ยาแรงเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจมากนัก ขณะที่ข้อได้เปรียบเสียเปรียบที่อาจจะเกิดขึ้นกับธุรกิจเอสเอ็มอีกับธุรกิจขนาดใหญ่ ภาครัฐอาจจะต้องเข้ามาช่วยดูแลให้สามารถปรับตัวได้ เนื่องจากความคล่องตัวที่ต่ำกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น ช่วยเรื่องการนำเข้ามาปรับปรุงกระบวนการผลิตที่ดีขึ้น

ชี้ “กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ” ไม่ช่วยแก้ค่าเงิน

นายเมธีกล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดตั้ง “กองทุนความมั่นคั่งแห่งชาติ” หรือ Sovereign Wealth Fund (SWF) เพื่อมาดูแลค่าเงินบาท ต้องดูวัตถุประสงค์ของกองทุนว่าจะจัดตั้งเพื่ออะไร เนื่องจากเงินสำรองระหว่างประเทศถือว่าอยู่ในต่างประเทศอยู่แล้ว ขณะที่การจัดตั้งกองทุนฯ เป็นเพียงการเปลี่ยนประเภทของตราสารทางการเงินที่ไปลงทุนเท่านั้น และไม่ได้เกี่ยวข้องกับค่าเงินบาทโดยตรง ซึ่งการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงขึ้นต้องแลกมากับความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วยและปัจจุบันตราสารเหล่านี้ถือว่าอยู่ในช่วงที่ค่อนข้างแพง ถ้าจัดตั้งขึ้นมาตอนนี้ก็เหมือนไปซื้อของแพงแทน