ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > กนง.มีมติ 4 ต่อ 3 หั่นดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% หลังเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจชะลอตัวเกินคาด นัดแถลงข่าวปรับลดจีดีพี 20 มี.ค.58

กนง.มีมติ 4 ต่อ 3 หั่นดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% หลังเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจชะลอตัวเกินคาด นัดแถลงข่าวปรับลดจีดีพี 20 มี.ค.58

11 มีนาคม 2015


นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมกนง.มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2% ลดลงเหลือ 1.75% ต่อปี หลังจากที่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% มา 7 ครั้ง ทั้งนี้เนื่องจากเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 และ ในเดือนมกราคม 2558 ยังคงฟื้นตัวค่อนข้างช้า โดยมีแรงส่งทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนเอกชนน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นภาคเอกชนลดลง เศรษฐกิจในระยะต่อไป ยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวในอัตราต่ำกว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน สำหรับการส่งออกสินค้า คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่คาด แต่มีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะจีน อย่างไรก็ตามภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยชดเชยอุปสงค์ในประเทศได้บางส่วน

ด้านภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2558 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง และติดลบตามราคาน้ำมันโลกที่อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ยังปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เป็นบวก มองไปข้างหน้า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ คาดว่า ยังอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับที่คณะกรรมการฯ ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน สำหรับเสถียรภาพระบบการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามผลกระทบจากความเสี่ยงที่อาจสะสมจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (Search for yield) ภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน

ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ประเมินว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงกว่าที่ประเมินไว้ โดยแรงกระตุ้นจากภาคการคลังต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลชัดเจน และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่ง ภายใต้ภาวะดังกล่าวนี้ กรรมการกนง. 4 คน จึงมีความเห็นว่า “นโยบายการเงินควรผ่อนคลายเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจ และช่วยพยุงความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ส่วนกรรมการ 3 คนประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ผ่อนปรนเพียงพอในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และควรรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินไว้สำหรับเวลาที่จำเป็น และมีประสิทธิผลมากกว่าปัจจุบัน”

ทั้งนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจในปัจจุบัน ควรอาศัยแรงขับเคลื่อนด้านการคลังมากขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินการตามแผนการลงทุนของภาครัฐ ส่วนในระยะต่อไปคณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว

ผู้สื่อข่าวถามว่าสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวมีให้เห็นเป็นระยะๆ ทำไมกนง.เพิ่งมาตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย นายเมธี กล่าวว่า ในการประชุมกนง.ครั้งก่อน (วันที่ 28 มกราคม 2558) ที่ประชุมพิจารณาเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 ของปี 2557 ยังไม่ทราบข้อมูลภาวะเศรษฐกิจ เดือนมกราคม 2558 แต่เมื่อมีการพิจาณาตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2558 ที่ประชุมจึงเห็นว่าเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอ่อนตัวลง โดยเฉพาะการใช้จ่ายภายในประเทศของภาคเอกชน และภาครัฐเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้พอสมควร ทำให้แรงส่งในระยะต่อไปลดลง ส่วนประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายการเงิน ที่ประชุมกนง.ได้ติดตามมาระยะหนึ่งแล้ว พบว่ามีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยมาก แต่อาจจะมีผลในเชิงจิตวิทยาสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้บ้าง ในภาวะที่กลไกอื่นๆยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะแถลงข่าวปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ และนำเสนอรายงานนโยบายการเงินอย่างละเอียดอีกครั้งวันที่ 20 มีนาคม 2558

“การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ อาจจะมีผลต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯบ้าง แต่ไม่มาก ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯปรับตัวไปบ้างแล้วพอสมควร คิดว่าไม่น่าเป็นห่วง แต่อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมกนง.สั่งให้ติดตามผลกระทบความเสี่ยงที่อาจสะสมจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (Search for yield) เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำมานาน หมายถึงเมื่อดอกเบี้ยปรับลดลง นักลงทุนต้องแสวงหาการลงทุนประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า เช่น พันธบัตร หรือหลักทรัพย์ กรรมการกนง.ให้ติดตามอย่างใกล้ชิด การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1.75% ถือว่าต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้ ยกเว้นสิงค์โปร์ ไม่น่าเป็นห่วงเรื่องเงินทุนไหลออก เพราะลดแค่ 0.25% คงไม่มีผลอะไร ส่วนแนวโนม้เรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นอะไรที่คาดการณ์ยากมาก เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างประเทศด้วย”นายเมธี กล่าว