ภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2/2556 ที่ขยายตัว 2.8% ชะลอลงจาก 5.5% ในไตรมาสแรก และติดลบ 2 ไตรมาสต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า กลายเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันว่าเศรษฐกิจไทยถดถอยจริงหรือ แต่หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดเดือน ก.ค. 2556 ซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาส 3 รายงานออกมาก็มีความเห็นต่างกันว่า เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดหรือยัง
โดยทางกระทรวงการคลังค่อนข้างเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ขณะที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ยังลังเล โดยเห็นว่าเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวแล้ว
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังเดือน ก.ค. ว่า แม้ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ก.ค. จะชะลอตัว แต่หากเจาะลึกดูในรายละเอียดพบว่า เริ่มมีสัญญาณเศรษฐกิจ “วกกลับ” ที่ดีขึ้น เหมือนคลื่นใต้น้ำ ทำให้เชื่อได้ว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และกำลังฟื้นตัวขึ้น
โดยสัญญาณจุดวกกลับที่ สศค. มองว่าปรับตัวดีขึ้นคือ 1. การส่งออกที่ติดลบน้อยลง ที่สำคัญ การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 10% ของการส่งออกทั้งหมดเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวก 1% เป็นครั้งแรกในรอบหลายๆ เดือน 2. การนำเข้าเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบ และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และ 3. การท่องเที่ยว ไม่ใช่สัญญาณของจุดวกกลับ แต่เป็นตัวช่วยที่สำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
“ภาพหลายตัวที่มีสัญญาณดีขึ้น แม้จะเป็นเพียงคลื่นใต้น้ำ ที่ต้องลงไปเจาะลึกในรายละเอียดถึงจะเห็น แต่ทำให้เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดกลับมาฟื้นตัวได้แล้ว โดยคาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 และ 4 จะปรับตัวดีขึ้น ไม่ติดลบต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ขอดูข้อมูลเดือน ส.ค. อีกครั้งหนึ่งก่อน” ดร.เอกนิติกล่าว
ทั้งนี้ สศค. จะทบทวนประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ทั้งปี 2556 ในเดือน ส.ค. ซึ่งประมาณการไว้ที่ 4.5% ซึ่งก่อนหน้านี้ ธปท. ได้ปรับประมาณการจีดีพีลดลงอยู่ที่4.2% แต่ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที 21 ส.ค.ที่ผ่านมา ประเมินว่า จีดีพีปี 2556 และ 2557 อาจขยายตัวต่ำกว่าประมาณการณ์เดิมขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็ปรับลดลงไปก่อนหน้าอยู่ที่ 4%
ด้าน นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. รายงายว่า ภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.ค. ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า และ “เร็วเกินไป” ที่จะบอกว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เนื่องจากเครื่องชี้เศรษฐกิจที่ชะลอลงมีมากกว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจที่มีสัญญาณดีขึ้น ดังนั้นต้องรอดูข้อมูลเดือน ส.ค. อีกเดือนหนึ่งก่อนถึงจะเห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้น
“เศรษฐกิจเดือน ก.ค. ชะลอลงต่อเนื่องตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ลดลงจากการซื้อรถยนต์และสินค้าคงทนอื่น ขณะเดียวกัน ครัวเรือนเพิ่มความระมัดระวังการใช้จ่ายจากภาระหนี้ที่สูงขึ้น ส่วนการส่งออกสินค้ายังลดลงจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังเปราะบางและข้อจำกัดก้านวัตถุดิบของไทย ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวตาม แต่ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวดีต่อเนื่อง” นายเมธีกล่าว
อย่างไรก็ตาม สศค. และ ธปท. เห็นประเด็นตรงกันว่า แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ไม่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีมีเสถียรภาพจากเงินเฟ้อที่อยู่ระดับต่ำ อัตราการว่างงานต่ำ อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำ ขณะที่สินเชื่อแม้ชะลอลงแต่ยังขยายตัวได้ระดับสูง ทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยพื้นฐานช่วยให้เศรษฐกิจไทยไม่แย่ลง และเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ก็จะเอื้อต่อการส่งออกและการลงทุน จะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถปรับตัวดีขึ้นได้ในครึ่งหลังของปี
เพราะฉะนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ประเด็นที่ สศค. และ ธปท. จับตามองคือ 1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ว่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องหรือไม่ และเศรษฐกิจจีนแม้ชะลอลงจากที่ผ่านมา แต่หากขยายตัวได้ตามที่รัฐบาลจีนคาดการณ์ในอัตรา 7.5% ก็ถือว่าอยู่ระดับสูง 2. ปัญหาราคาน้ำมันจากสถานการณ์ตะวันออกกลางที่ยังไม่นิ่ง และ 3. ความผันผวนของค่าเงินในตลาดโลกซึ่งขึ้นอยู่กับการปรับลดมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีผลต่อกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายมากน้อยแค่ไหน
ขณะที่ปัจจัยในประเทศก็มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ภาวะค่าครองชีพที่มีแนวโน้มแพงขึ้นจากการขึ้นราคาแก๊สแอลพีจี การขึ้นค่าผ่านทางด่วน และปรับเพิ่มค่าไฟจากการขึ้นค่าเอฟที ซึ่งมีผลตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. 2556 ค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้อาจกระทบทำให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงได้
แต่ประเด็นค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นครั้งนี้ ธปท. ยืนยันว่า ได้ประเมินผลกระทบรวมไว้แล้วว่าไม่น่าเป็นห่วงมากนัก โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนด 0.5-3% และที่สำคัญมีโอกาสจะต่ำกว่า 0.5% ด้วยซ้ำไป โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานล่าสุดเดือน ก.ค. อยู่ที่ 0.85%
เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ขาลง หรือกำลังเงยหัวขึ้น ต้องติดตามข้อมูลเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างใกล้ชิด แต่เวลาจะพิสูจน์ว่าใครจะพยากรณ์ได้แม่นยำกว่ากัน ตอนนี้คงเร็วไปที่จะตัดสินเข้าข้างใดข้างหนึ่ง