ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กระทรวงศึกษาเตรียมสอบสัญญาเช่าแท่นพิมพ์ตำราเรียน 18 ล้านเล่ม องค์การค้า สกสค. – บ.ศิริวัฒนาฯ เอื้อประโยชน์ใคร

กระทรวงศึกษาเตรียมสอบสัญญาเช่าแท่นพิมพ์ตำราเรียน 18 ล้านเล่ม องค์การค้า สกสค. – บ.ศิริวัฒนาฯ เอื้อประโยชน์ใคร

19 พฤษภาคม 2013


ในช่วงที่ผ่านมา องค์การค้าของ สกสค. ประสบปัญหาผลิตตำราเรียนล่าช้า ส่งมอบหนังสือไม่ทันเปิดเทอม แต่ละปีองค์การค้าฯ ต้องผลิตตำราเรียน 35-40 ล้านเล่ม ขณะที่เครื่องพิมพ์ขององค์การค้าฯ มีกำลังการผลิตรวมกันแค่ 17 ล้านเล่ม ที่เหลือต้องไปจ้างโรงพิมพ์เอกชนมาช่วยพิมพ์งาน อย่างเช่น ในปีการศึกษา 2555 องค์การค้าฯ จ่ายเงิน 700 ล้านบาท ให้กับโรงพิมพ์เอกชนเป็นค่าจ้างพิมพ์หนังสือเรียน 25 ล้านเล่ม

นายสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค.
นายสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.

ส่วนในปีการศึกษา 2556 ตามแผนงานแล้วองค์การค้าฯ ต้องผลิตตำราเรียนทั้งหมด 35.78 ล้านเล่ม ในจำนวนนี้องค์การค้าฯ พิมพ์เอง 17.32 ล้านเล่ม ส่วนที่เหลืออีก 18.46 ล้านเล่ม ต้องจ้างเอกชน แต่ยังไม่เริ่มผลิต เครื่องพิมพ์หลักของโรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว ก็มาเกิดเหตุระเบิดพังเสียหาย ทางองค์การค้าฯเกรงว่าอาจจะผลิตตำราเรียนไม่ทัน
จึงมีการทบทวนแผนบริหารจัดการงานพิมพ์กันใหม่ และเนื่องจากองค์การค้าฯ มีปัญหาขาดทุนสะสมกว่า 3,000 ล้านบาท ไม่มีเงินที่จะซื้อเครื่องพิมพ์ตัวใหม่มาทดแทนเครื่องพิมพ์ที่ถูกแรงระเบิดพังเสียหาย หากยกโควตาหนังสือส่วนที่เกินจากกำลังการผลิตไปจ้างเอกชนพิมพ์จะมีต้นทุนสูงกว่าองค์การค้าฯ พิมพ์เอง นายสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ได้เสนอว่า แทนที่จะไปจ้างเอกชนพิมพ์หนังสือเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ให้เปลี่ยนมาเช่าเครื่องพิมพ์แทน โดยนายสมมาตร์กล่าวว่า “การเช่าเครื่องพิมพ์มาพิมพ์หนังสือเองจะทำให้องค์การค้าฯ ประหยัดงบประมาณปีละ 100 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับการไปจ้างเอกชนพิมพ์หนังสือ”

เนื่องจากองค์การค้าฯ ต้องผลิตตำราเรียนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2556 นายสมมาตร์ได้เสนอขอมติจากที่คณะกรรมการบริหารขององค์การค้าฯ โดยให้เหตุผลความจำเป็นเร่งด่วน คณะกรรมการบริหารขององค์การค้าฯ จึงมีมติให้ใช้วิธีพิเศษในการเช่าเครื่องพิมพ์ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้มีความโปร่งใส องค์การค้าฯ จึงเลือกใช้วิธีประกวดราคา

ลำดับเหตุการณ์สัญญาเช่าแท่นพิมพ์

วันที่ 26 ตุลาคม 2555 องค์การค้าฯ ออกประกาศประกวดราคาเช่าเครื่องพิมพ์โดยวิธีพิเศษ ต่อมา วันที่ 13 พฤศจิกายน 2555 องค์การค้าฯ เชิญผู้ที่ซื้อซองประกวดราคามาชี้แจงกติกา สรุปว่าการประกวดราคาครั้งนี้จะมีคณะกรรมการรับรองเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติ โดยผู้เข้าร่วมประกวดราคาต้องเชิญให้คณะกรรมการรับรองไปถ่ายภาพเครื่องพิมพ์เพื่อยืนยันความพร้อม

จากนั้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นวันเปิดซองประกวดราคา มีผู้มายื่นซองกับองค์การค้าฯ 2 ราย คือ บริษัท ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้น จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด อุดมศึกษา มีข้อสังเกตุคือ คณะกรรมการรับรองไม่ได้ระบุว่ามีบริษัทใดไม่ผ่านการพิจารณา เพียงแต่ระบุว่ามีบริษัทศิริวัฒนาฯ รายเดียวที่เรียกคณะกรรมการรับรองไปถ่ายรูปเครื่องพิมพ์

ในวันเดียวกันนั้นเอง คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ให้เช่าได้เปิดซองราคาต่อหน้าผู้เข้าประมูลทั้ง 2 ราย ผลปรากฏว่า หจก.อุดมศึกษาเสนอราคาใกล้เคียงกับราคากลาง ขณะที่บริษัทศิริวัฒนาเสนอราคาสูงกว่าราคากลางเกือบเท่าตัว

จากนั้น คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ให้เช่า เชิญผู้เข้าประกวดราคาทั้ง 2 ราย ออกจากห้อง เพื่อพิจารณาประเด็นที่ หจก.อุดมศึกษาไม่มีภาพถ่ายเครื่องพิมพ์ ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญในการพิจารณา ผลปรากฏว่าคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ให้เช่า ตัดสินให้ หจก.อุดมศึกษาไม่ผ่านคุณสมบัติ เหลือบริษัทศิริวัฒนาฯ รายเดียวที่เสนอราคาสูงกว่าราคากลาง

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ให้เช่า ทำเรื่องถึงผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. เสนอให้ยกเลิกการประกวดราคาครั้งนี้ โดยนายสมมาตร์ลงนามอนุมัติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2555 และออกประกาศองค์การค้าของ สกสค. เลขที่ 38/2555 ยกเลิกการประกวดราคาเช่าเครื่องจักรทางการพิมพ์โดยวิธีพิเศษอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2555

หลังจากที่คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ให้เช่า ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการองค์การค้าฯ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ให้ยกเลิกการประกวดราคาเช่าเครื่องพิมพ์ ทางฝ่ายบริหารขององค์การค้าฯ เกรงว่าจะผลิตตำราเรียนไม่ทันวันที่ 31 มีนาคม 2556 จึงทำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดบริหารองค์การค้าของ สกสค. ครั้งที่ 7/2555 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 โดยบอร์ดฯ มีมติ “ให้องค์การค้าฯ ไปเชิญโรงพิมพ์ของรัฐและเอกชนมาทดสอบเครื่องพิมพ์ภายในวันที่ 4 ธันวาคม 2555 หากโรงพิมพ์ใดผ่านการทดสอบให้องค์การค้าฯ ถึงจะทำสัญญาเช่าเครื่องพิมพ์ได้”

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 องค์การค้าฯ ออกจดหมายเชิญชวนโรงพิมพ์ของรัฐและเอกชน 10 แห่ง ให้นำเครื่องจักรมาทดสอบ ได้แก่ บริษัท ศิริวิฒนา อินเตอร์พริ้น, บริษัท ไซเบอร์พริ้น, บริษัทโรงพิมพ์ตะวันออก, หจก.วรรณชาติเพลส, หจก.อุดมศึกษา, บริษัทศรีสยามพริ้นแอนด์แพค, บริษัทฐานการพิมพ์, โรงพิมพ์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง และโรงพิมพ์ตำรวจ

วันที่ 4 ธันวาคม 2555 เป็นวันสุดท้ายของการเปิดรับใบสมัคร ปรากฏว่ามีบริษัทศิริวัฒนาฯ เพียงรายเดียวที่แจ้งความประสงค์จะขอเข้ารับการทดสอบเครื่องพิมพ์ ส่วน หจก.วรรณชาติเพลสแจ้งความประสงค์เข้ามาในวันที่ 18 ธันวาคม 2555 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาในการรับสมัครไปแล้วจึงไม่ได้รับการพิจารณา จากนั้น วันที่ 13 ธันวาคม 2555 บริษัทศิริวัฒนาฯ ขนเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่จำนวน 5 เครื่อง เข้ามาติดตั้งที่องค์การค้าฯ คาดว่าจะเริ่มทดสอบเครื่องได้ในวันที่ 11 มกราคม 2556

วันที่ 27 ธันวาคม 2555 ที่ประชุมบอร์ดบริหารองค์การค้าฯ ครั้งที่ 8/2555 มีมติอนุมัติให้บริษัทศิริวัฒนาฯ ทำการทดสอบเครื่องพิมพ์ และถ้าผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการทดสอบเครื่องจักร ก็ให้องค์การค้าฯ ทำสัญญาเช่าเครื่องพิมพ์ของบริษัทศิริวัฒนาฯ ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มา : www.moe.go.th
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ที่มา: www.moe.go.th

แต่ในระหว่างที่องค์การค้าฯ กำลังทดสอบเครื่องพิมพ์ของบริษัทศิริวัฒนาฯ อยู่นั้น ปรากฏว่ามีโรงพิมพ์ที่แพ้ประมูลทำหนังสือร้องเรียนถึงนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยร้องขอให้เข้ามาตรวจสอบการเช่าเครื่องพิมพ์ขององค์การค้าฯ ซึ่งเชื่อว่าอาจจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กับภาคเอกชนบางราย

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 นายพงศ์เทพแต่งตั้งนายประแสง มงคลศิริ เป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการเช่าเครื่องพิมพ์ขององค์การค้าฯ ตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ ศธ. 50/2556 นายประแสงถูกสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาคัดค้าน ขณะที่กลุ่มสหภาพฯ มีความเห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไม่มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 2546 ผู้มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงน่าจะเป็นบอร์ดของ สกสค. ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลองค์การค้าฯ โดยตรง และวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556 กระทรวงศึกษาธิการทำหนังสือไปสอบถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ในระหว่างที่คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังพิจารณาข้อหารือของกระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 5 มีนาคม 2556 องค์การค้าของ สกสค. ลงนามใน “สัญญาเช่าเครื่องพิมพ์พร้อมซอฟต์แวร์ระบบบริหารการพิมพ์และเครื่องจักรผลิตเล่ม” กับบริษัทศิริวัฒนาฯ

สัญญาฉบับนี้มีระยะเวลาในการเช่า 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 โดยองค์การค้าฯ จ่ายค่าเช่าเป็นรายเดือน ซึ่งคำนวณมาจากจำนวนผลงานการผลิตที่มีอัตราใกล้เคียงกับราคาที่บริษัทศิริวัฒนาฯ เสนอเข้ามาในช่วงที่มีการประกวดราคา

ค่าเช่าของบริษัทศิริวัฒนา

หลังจากที่องค์การค้าฯ ลงนามในสัญญาเช่าเครื่องพิมพ์กับบริษัทศิริวัฒนาได้ไม่นาน ช่วงปลายเดือนเมษายน 2556 คณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือตอบข้อหารือถึงกระทรวงศึกษาธิการ สรุปว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจเต็มในการแต่งตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเช่าเครื่องพิมพ์ขององค์การค้าฯ

แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานการเช่าเครื่องพิมพ์ขององค์การค้าฯ อยู่ภายใต้กรอบการจัดซื้อจัดจ้างแบบวิธีพิเศษ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารขององค์การค้าฯ ทุกขั้นตอน หลังจาก“สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา”ตอบข้อหารือแล้ว คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่มีนายประแสงเป็นประธานจะดำเนินการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงและผู้กระทำผิด