คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 แล้ว
โดยงบประมาณปี 2557 มีวงเงิน 2.5 ล้านล้านบาท และกำหนดให้งบประมาณขาดดุลจำนวน 2.5 แสนล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 จำนวน 5 หมื่นล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 16.7 คิดเป็นร้อยละ 1.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 2.5 ของปีงบประมาณ 2556
โดยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฉบับนี้ จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยวิสามัญ ในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้
สำนักข่าวไทยพับลิก้า ได้ตรวจสอบแผนความต้องการงบลงทุนเบื้องต้นประจำปีงบประมาณ2557 ตามที่สำนักงบประมาณได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบงบลงทุนที่หน่วยงานต่างๆ จำนวน 27 หน่วยงาน เสนอมายังสำนักงบประมาณ ซึ่งคิดเป็นจำนวนการของบลงทุนเบื้องต้นรวมทั้งสิ้น 1,053,248 ล้านบาท
แต่สำนักงบประมาณเห็นสมควรจัดทำข้อเสนอแผนความต้องการงบลงทุนเบื้องต้นจำนวน 564,251 ล้านบาท แบ่งเป็น งบครุภัณฑ์ 148,810 ล้านบาท งบที่ดินและสิ่งก่อสร้าง 415,440 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบผูกพันเดิม 123,497 ล้านบาท และรายการใหม่ 440,753 ล้านบาท
โดยสำนักงบประมาณได้ระบุว่า การจัดทำข้อเสนอดังกล่าวได้คำนึงถึงความสอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ประเทศ และยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ความพร้อมที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2557 และการใช้แหล่งเงินอื่นเพื่อสนับสนุนภารกิจต่างๆ แล้ว ซึ่งหน่วยงานที่ขออนุมัติงบลงทุนมากที่สุด 10 อันดับแรกได้แก่
1. กระทรวงคมนาคม ขออนุมัติ 114,176 ล้านบาท แบ่งเป็น งบครุภัณฑ์ 3,057 ล้านบาท ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง 111,118 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบผูกพันเดิม 26,219 ล้านบาท และรายการใหม่ 87,957 ล้านบาท
2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขออนุมัติ 94,131 ล้านบาท แบ่งเป็น งบครุภัณฑ์ 4,292 ล้านบาท ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง 89,838 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบผูกพันเดิม 7,667 ล้านบาท และรายการใหม่ 86,464 ล้านบาท
3. กระทรวงศึกษาธิการ ขออนุมัติ 81,197 ล้านบาท แบ่งเป็น งบครุภัณฑ์ 34,602 ล้านบาท ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง 46,594 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบผูกพันเดิม 12,786 ล้านบาท และรายการใหม่ 68,410 ล้านบาท
4. กระทรวงมหาดไทย ขออนุมัติ 74,558 ล้านบาท แบ่งเป็น งบครุภัณฑ์ 13,775 ล้านบาท ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง 60,782 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบผูกพันเดิม 15,149 ล้านบาท และรายการใหม่ 59,408 ล้านบาท
5. กระทรวงกลาโหม ขออนุมัติ 63,925 ล้านบาท แบ่งเป็น งบครุภัณฑ์ 52,754 ล้านบาท ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง 11,170 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบผูกพันเดิม 27,944 ล้านบาท และรายการใหม่ 35,981 ล้านบาท
6. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขออนุมัติ 27,350 ล้านบาท แบ่งเป็นงบครุภัณฑ์ 3,034 ล้านบาท ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง 24,316 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบผูกพันเดิม 2,863 ล้านบาท และรายการใหม่ 24,487 ล้านบาท
7. กระทรวงสาธารณสุข ขออนุมัติ 25,462 ล้านบาท แบ่งเป็นงบครุภัณฑ์ 7,474 ล้านบาท ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง 17,987 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบผูกพันเดิม 10,988 ล้านบาท และรายการใหม่ 14,473 ล้านบาท
8. รัฐวิสาหกิจ ขออนุมัติ 21,137 ล้านบาท แบ่งเป็นงบครุภัณฑ์ 936 ล้านบาท ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง 20,200 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบผูกพันเดิม 3,659 ล้านบาท และรายการใหม่ 17,478 ล้านบาท
9. ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ขออนุมัติ 10,653 ล้านบาท แบ่งเป็นงบครุภัณฑ์ 5,433 ล้านบาท ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง 3,086 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบผูกพันเดิม 3,086 ล้านบาท และรายการใหม่ 7,566 ล้านบาท
10. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขออนุมัติ 8,457 ล้านบาท แบ่งเป็นงบครุภัณฑ์ 6,276 ล้านบาท ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง 2,180 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบผูกพันเดิม 720 ล้านบาท และรายการใหม่ 7,736 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า กระทรวงคมนาคม ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่ขออนุมัติงบลงทุนในปีงบประมาณ 2557 มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ด้วยจำนวน 114,176 ล้านบาท แม้ว่าจะมีการออกร่าง พ.ร.บ.พระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม หรือพระราชบัญญัติกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณ สำนักนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ไว้ 8 ยุทธศาสตร์
ประกอบด้วย 1. ยุทธศาสตร์เร่งรัดการพัฒนาประเทศ และเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน 2. ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งรัฐ 3. ยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน 4. ยุทธศาสตร์การศึกษา คุณธรรม จริยธรรม คุณภาพชีวิต และความเท่าเทียมกันในสังคม 5. ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 6. ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม 7. ยุทธศาสตร์การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 8. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี