ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > บิ๊กตู่เข็น 2 พ.ร.บ. โยกรายได้ 4G – พับงบลงทุน 8.9 หมื่นล้าน โปะงบกลางวงเงินพุ่งกว่า 5 แสนล้าน แซง “เพื่อไทย”

บิ๊กตู่เข็น 2 พ.ร.บ. โยกรายได้ 4G – พับงบลงทุน 8.9 หมื่นล้าน โปะงบกลางวงเงินพุ่งกว่า 5 แสนล้าน แซง “เพื่อไทย”

23 มีนาคม 2016


หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 ผ่านความเห็นชอบพระราชบัญญัติประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2559 วงเงิน 56,000 ล้านบาท 3 วาระรวด ภายใน 3 ชั่วโมง โดยให้นำเงินรายได้จากการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่โทรคมนาคม (4G) วงเงิน 56,290 ล้านบาท มาตั้งงบกลางปี 2559 เตรียมไว้เป็นค่าใช้จ่ายตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล 3 โครงการ คือ

1. จัดสรรงบกลางปี 2559 วงเงิน 32,661 ล้านบาท โอนเข้า “งบกลาง” เพื่อเตรียมไว้เป็นค่าใช้จ่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งและก้าวหน้าของประเทศตามแนวทางปฏิรูปของรัฐบาล

2. จัดสรรงบกลางปี 2559 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ให้สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร นำไปใช้ใน “โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ”

3. จัดสรรงบกลางปี 2559 วงเงิน 8,339 ล้านบาท ชำระคืนเงินคงคลังที่รัฐบาลนำมาจ่ายค่าเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ก่อนหน้านี้

แผนโอนงบลงทุน

จากนั้น ที่ประชุม ครม. วันที่ 8 มีนาคม 2559 มีมติเห็นชอบปฏิทินโอนงบประมาณรายจ่ายปี 2559 กำหนดให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจไม่สามารถลงนามจัดซื้อ-จัดจ้างได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2559 ส่งคืนสำนักงบประมาณ ตามมติ ครม. วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 และให้สำนักงบประมาณโยกงบลงทุนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2559 หมวด “งบกลาง” รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2502 บัญญัติไว้ในหมวด 4 มาตรา 18

ทั้งนี้ ปฏิทินโอนงบประมาณรายจ่ายปี 2559 กำหนดให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่ไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2559 ต้องทำหนังสือชี้แจงเหตุผลส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 25 มีนาคม 2559 เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 29 มีนาคม 2559 พิจารณาว่าจะโอนงบลงทุนของโครงการใดเข้ามาอยู่ในร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2559 จากนั้นให้สำนักงบประมาณยกร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2559 พร้อมรายละเอียดเสนอที่ประชุม ครม. วันที่ 10 พฤษภาคม 2559 เพื่อส่งให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาในวาระที่ 1-3 วันที่ 26 พฤษภาคม 2559

งบลงทุนที่เบิกจ่ายไม่ทัน

ในปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลตั้งวงเงินลงทุนไว้ที่ 540,000 ล้านบาท หักงบลงทุนที่อยู่ในหมวด “งบกลาง” ออก 90,000 ล้านบาท เหลือวงเงินงบลงทุนสุทธิ 450,000 ล้านบาท รายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณของกรมบัญชีกลาง ระบุว่า ณ วันที่ 11 มีนาคม 2559 มีส่วนราชการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือก่อหนี้ผูกพันแล้ว วงเงิน 300,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 66% ของวงเงินงบลงทุนสุทธิ และในจำนวนนี้เบิกเงินจากกรมบัญชีกลางแล้ว 130,000 ล้านบาท คงเหลือวงเงินลงทุนที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาก่อหนี้ผูกพัน 150,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 34% ของวงเงินงบลงทุนสุทธิ

แหล่งข่าวจากกรมบัญชีกลางเปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลการเบิกจ่ายงบลงทุนของส่วนราชการที่ยังไม่ลงนามในสัญญาก่อหนี้ผูกพันวงเงิน 150,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นโครงการลงทุนของส่วนราชการ 12 แห่งที่ได้รับการจัดสรรงบลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวม 40,000 ล้านบาท กรมบัญชีกลางได้รับคำยืนยันจากส่วนราชการ 12 แห่ง ทำสัญญาผูกพันก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2559 คิดเป็นวงเงินรวม 28,000 ล้านบาท และทำสัญญาไม่ทันวงเงิน 12,000 ล้านบาท กลุ่มที่ 2 เป็นโครงการลงทุนของส่วนราชการทั่วไป วงเงินรวม 110,000 ล้านบาท ได้รับคำยืนยันก่อหนี้ผูกพันทันตามกำหนดเวลา 18,000 ล้านบาท ทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันมาทัน 45,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือแจ้งความประสงค์ขอดำเนินการเอง 33,000 ล้านบาท และมีเงินเหลือจ่ายจากการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง 14,000 ล้านบาท กรมบัญชีกลางคาดว่าจะมีส่วนราชการที่ทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันไม่ทันวันที่ 31 มีนาคม 2559 ไม่ต่ำกว่า 57,000 ล้านบาท

ส่วนโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจวงเงิน 300,000 ล้านบาท ได้รับรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจว่า ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันแล้ว 280,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เบิกจ่ายเงินแล้ว 42,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 16,000 ล้านบาท ทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันไม่ทัน 16,000 ล้านบาท ไม่ต้องส่งเงินคืนสำนักงบประมาณ เพราะเป็นเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจเอง

งบกลางที่เพิ่มขึ้น

รายจ่ายงบกลางของรัฐบาลปี41-59

และจากการที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกกฎหมายงบประมาณ 2 ฉบับ โยกเงินจากแหล่งต่างๆมากองรวมอยู่ใน “งบกลาง” ทำให้ยอดงบกลาง รายการสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็นในปีงบประมาณ 2559 มีวงเงินมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ มากกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา

จากตัวเลขที่กำหนดในเอกสารงบประมาณปี 2559 วงเงินเดิม 422,271 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 513,082 ล้านบาท มีขนาดใกล้เคียงงบฯ กระทรวงศึกษาธิการวงเงิน 517,077 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18.5% ของวงเงินงบประมาณรวม 2,776,000 ล้านบาท (รวมงบกลางปี 2559) หรือเทียบงบกลางกับปีอื่นๆ อาทิ ปีงบประมาณ 2547 มีสัดส่วนสูง 22.8% และปีงบประมาณ 2548 มีสัดส่วน 20% ตรงกับสมัยรัฐบาลไทยรักไทย (ขณะนั้น) ที่ถูกนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการจัดงบประมาณรายจ่ายที่มุ่งเน้นภารกิจยุทธศาสตร์มากกว่าภารกิจพื้นฐาน นำเงินงบกลางไปใช้จ่ายในโครงการประชานิยมหลายโครงการ โดยไม่ชี้แจงแผนการใช้จ่ายเงินอย่างละเอียด

อนึ่ง ข้อมูลจากระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐ (GFMIS) ของกระทรวงการคลัง พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 18 มีนาคม 2559 มีการเบิกจ่ายงบประมาณแล้ว 1,310,148 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 48.16% ของวงเงินงบประมาณรวม 2,720,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การเบิกจ่ายงบประจำ 1,169,197 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 53.67 ของวงเงินงบประจำ 2,183,145 ล้านบาท และเป็นการเบิกจ่ายงบลงทุน 140,951 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 26.25% ของงบลงทุน 536,854 ล้านบาท