ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลปกครองตัดสินให้ ขสมก. จ่ายค่าเสียหาย “เบสท์ริน” 1,159 ล้าน กรณียกเลิกสัญญาซื้อรถเมล์เอ็นจีวีไม่ชอบกฎหมาย

ศาลปกครองตัดสินให้ ขสมก. จ่ายค่าเสียหาย “เบสท์ริน” 1,159 ล้าน กรณียกเลิกสัญญาซื้อรถเมล์เอ็นจีวีไม่ชอบกฎหมาย

11 เมษายน 2018


เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 เวลา 13.30 น. นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานกรรมการบริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด (ขวา) พร้อมทนายความ เดินทางมาฟังคำพิพากษา ศาลปกครองกลาง

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 เวลา 13.30 น. ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ 662, 663/2560 ระหว่างบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด และพวกรวม 4 ราย เป็นผู้ฟ้องคดี กับ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดี กรณี ขสมก. บอกเลิกสัญญาซื้อ-ขายรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2560 โดยในวันนี้ ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ให้ ขสมก. ชำใช้ค่าเสียหายให้บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด, บริษัท อาร์ แอนด์ เอ คอมเมอร์เชียล วิฮีเคิลส์ เอสดีเอ็น บีเอชดี, บริษัท รถยนต์เซินหลง (เซี่ยงไฮ้) จำกัด และบริษัท เทคโนโลยีพลังงานใหม่ เป่ยฟังกวางโจว จำกัด รวมเป็นเงิน 1,159.97 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปีของเงินต้น 1,147.83 ล้านบาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 7 มิถุนายน 2560) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และส่งมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารไอซีบีซี (ไทย) แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ราย หากไม่สามารถคืนได้ ให้ชดใช้เป็นเงินตามจำนวนที่ระบุในหนังสือค้ำประกันภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่คดีสิ้นสุด และให้ยกคำฟ้องแย้งของ ขสมก. คืนค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนตามส่วนของการชนะคดีให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ราย

คดีนี้ศาลปกครองมีประเด็นสำคัญที่ต้องวินิจฉัย คือ เรื่องการบอกเลิกสัญญาซื้อ-ขายรถเมล์ NGV จำนวน 489 คันชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

ประเด็นนี้ศาลปกครองกลางมีความเห็นว่า สัญญาซื้อ-ขายรถเมล์ NGV จำนวน 489 คันที่ได้ลงนามเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 ข้อ 5.1 ระบุว่า ขสมก. จะชำระเงินค่าซื้อรถเมล์ NGV เมื่อได้รับเงินกู้จากกระทรวงการคลัง และจะชำระเงินเมื่อ ขสมก. ได้รับมอบรถตามจำนวนคันที่ส่งมอบแต่ละงวดภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ ขสมก. หรือ คณะกรรมการตรวจรับรถที่ ขสมก. แต่งตั้งได้ทำการตรวจรับรถเมล์เรียบร้อยแล้ว และออกหลักฐานการตรวจรับให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ราย

สัญญาฯ ข้อ 7 กำหนดว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ราย สัญญาว่าจะส่งมอบรถพร้อมคู่มือปฏิบัติงานและคู่มือบำรุงรักษาภาษาไทยจำนวน 12 ฉบับ ให้ ขสมก. ณ เขตการเดินรถของ ขสมก. ภายใน 90 วันนับจากวันลงนามในสัญญา วรรคที่ 2 กำหนดว่า ในการส่งมอบรถนั้น ต้องเป็นรุ่นที่ผ่านการทดสอบรถตัวอย่าง ผ่านการตรวจสภาพ เสียภาษีประจำปี จ่ายค่าประกันและจดทะเบียนจากกรมการขนส่งทางบกเรียบร้อยแล้ว วรรคที่ 3 การส่งมอบรถจะมีผลสมบูรณ์เมื่อคณะกรรมการตรวจรับรถได้ตรวจรับรถที่ส่งมอบถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาแล้ว

สัญญาฯ ข้อ 8 หลังจากคณะกรรมการตรวจรับรถ ตรวจรับรถแล้วถูกต้องครบถ้วน ก็จะออกหลักฐานการรับมอบให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ราย ใช้เป็นหลักฐานประกอบการขอรับเงินค่ารถ วรรคที่ 2 กำหนดว่า หากผู้ฟ้องส่งมอบรถไม่ตรงตามรายละเอียด คุณสมบัติ หรือไม่ผ่านการตรวจสอบจากกรมการขนส่งทางบก ขสมก. มีสิทธิไม่ตรวจรับรถได้ และข้อ 21 กำหนดว่า ขสมก. มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และข้อ 21.1 ระบุว่า หากผู้ฟ้องคดีไม่ส่งมอบรถ ส่งมอบรถทั้งหมดไม่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ หรือส่งมอบรถไม่ครบตามจำนวนที่กำหนด ขสมก. มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินประกัน รวมทั้งเรียกค่าเสียหายจากผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 รายได้

ภายหลังการทำสัญญา ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ราย สั่งซื้อรถเมล์ NGV จากบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด ขณะนำเข้าถูกกรมศุลกากรสั่งอายัดรถ อ้างว่ารถเมล์แจ้งถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ราย จึงนำเงินค่าภาษีไปวางเป็นหลักประกอบต่อกรมศุลกากร 40% ของราคานำเข้า กรมศุลกากรจึงยอมปล่อยรถออกจากด่านศุลกากร 390 คัน วันที่ 24 มกราคม 2560 ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ราย เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการตรวจรับและทดสอบรถ ที่ประชุมมีมติร่วม กำหนดส่งมอบรถเมล์ลอตแรก 130 คัน ภายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560, ลอตที่ 2 จำนวน 129 คันภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560, ลอตที่ 3 จำนวน 100 คัน ภายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560

ผู้ฟ้องคดีจึงนำรถเมล์ 390 คัน ไปติดตั้ง GPS และจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก เปลี่ยนเป็นชื่อของ ขสมก. 292 คัน แต่ ขสมก. ไม่ยอมตรวจรับรถ โดยอ้างว่าได้รับหนังสือจากสำนักงานอัยการสูงสุดแจ้งว่าให้รอกรมศุลกากรตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าก่อน ไม่สามารถตรวจรับรถบางส่วนได้ ซึ่งเป็นการขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการตรวจสอบรับและทดสอบรถเมล์ NGV มีมติให้มีการส่งมอบเป็นงวดๆ ได้ ดังนั้น กรณีที่ ขสมก. อ้างว่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญากับผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ราย โดยไม่กำหนดระยะเวลาพอสมควรและบอกกล่าวให้ผู้ฟ้องคดีส่งมอบรถภายในกำหนดเวลานั้น การบอกสัญญาจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 387 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการที่ ขสมก. มอบอำนาจให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ราย นำรถไปจดทะเบียนต่อกรมการขนส่งทางบก รวมทั้งเปลี่ยนเป็นชื่อของ ขสมก. จำนวน 292 คัน ถือเป็นการตรวจรับรถโดยปริยาย

สำหรับกรณีที่ ขสมก. อ้างถึงสัญญาข้อ 2.1 วรรคที่ 1 ว่า ขสมก. ตกลงซื้อและผู้ฟ้องคดีตกลงขาย รถเมล์ NGV ยี่ห้อ Sunlong ผลิตจากประเทศจีน นำไปประกอบที่ประเทศมาเลเซีย ดังนั้น เรื่องแหล่งกำเนิดของรถเมล์ และโรงงานประกอบรถเมล์ จึงถือเป็นสาระสำคัญในสัญญาฯ

ประเด็นนี้ศาลเห็นว่า เมื่อพิจารณาประกาศ TOR ที่ระบุว่า ขสมก. มีความประสงค์จะจัดซื้อรถเมล์ NGV พร้อมระบบซ่อมบำรุงรักษา 489 คัน โดยเป็นรถนำเข้าจากต่างประเทศทั้งคัน หรือรถที่ประกอบในประเทศไทย หากพิจารณาจากประกาศ TOR จะเห็นได้ว่า เจตนารมณ์ในการจัดซื้อครั้งนี้ไม่ได้คำนึงแหล่งผลิตหรือแหล่งประกอบรถเป็นสาระสำคัญ ถึงแม้ในสัญญาฯ ข้อ 2.1 จะระบุว่า ต้องเป็นรถเมล์ผลิตที่ประเทศจีน ประกอบขึ้นที่มาเลเซีย ดังนั้น หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่ารถเมล์ที่นำมาส่งมอบให้ ขสมก. เป็นรถที่นำเข้ามาจากประเทศจีนทั้งคัน ตามที่ ขสมก. กล่าวอ้างก็ตาม การส่งมอบรถเมล์ไม่ตรงตามสัญญาข้อ 2.1 ก็ไม่ใช่ข้อแตกต่างที่เป็นสาระสำคัญถึงขนาดที่จะกระทบต่อเจตนารมณ์ของ ขสมก. ที่ได้ทำสัญญากับผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ราย หรือ ทำให้ ขสมก. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในบริการสาธารณะได้

ดังนั้น กรณี ขสมก. อ้างถึงแหล่งกำเนิดรถเมล์และโรงงานประกอบรถ ถือเป็นสาระสำคัญของสัญญา การบอกเลิกสัญญากับผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ราย ถือเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประเด็นนี้ศาลปกครองเห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวไม่อาจรับฟังได้ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ราย จึงไม่ต้องชดใช้ค่าปรับ ค่าชดเชยรายได้ให้ ขสมก. และค่าเสียหายเพิ่มขึ้น

ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาให้ ขสมก. ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ราย กรณีไม่ชำระค่ารถเมล์ NGV พร้อมดอกเบี้ย 1,048.50 ล้านบาท, ค่าเสียหายจากการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง 12.09 ล้านบาท, ค่าจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถเมล์ 98.83 ล้านบาท และค่าเสียหายจากการคืนหนังสือค้ำประกันล่าช้า 5.47 แสนบาท รวมเป็นเงิน 1,159.97 ล้านบาท

ด้านนายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เมื่อศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ ขสมก. ชดใช้จ่ายเสียหายให้กับบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป 1,159 ล้านบาท ทาง ขสมก. ก็จะต้องยื่นคำร้องขออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

อ่านคำพิพากษาศาลปกครองกลางที่นี่!