หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ่ายค่าเสียหายให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กรณีบอกเลิกสัญญาโครงการก่อสร้างระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานคร หรือ “โครงการโฮปเวลล์” เป็นเงิน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ปี ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน
ก่อนที่จะจ่ายเงินตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แต่งตั้งคณะทำงานคดีโฮปเวลล์ชุดใหญ่ขึ้นมาตรวจสอบความถูกต้อง ปรากฏว่าคณะทำงานชุดนี้ไปตรวจพบหลักฐานชุดใหม่ที่ยังไม่เคยส่งให้ศาลวินิจฉัยหลายประเด็น
เริ่มตั้งแต่ประเด็นที่มาของสัญญาสัมปทานฯ ที่ประชุม ครม. (คณะรัฐมนตรี) มีมติให้กระทรวงคมนาคมเป็นตัวแทนรัฐบาลไปลงนามกับบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ชนะการประมูลครั้งนั้น แต่เมื่อถึงวันลงนามสัญญาสัมปทานฯ ปรากฏว่า กระทรวงคมนาคมไปลงนามในสัญญาสัมปทานฯ กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี รฟท.ร่วมลงนามด้วย
คณะทำงานคดีโฮปเวลล์ จึงมีข้อสังเกตว่ากรณีกระทรวงคมนาคม และ รฟท.ร่วมกันลงนามในสัญญาสัมปทานฯ กับบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัดนั้น เป็นการดำเนินการตามมติ ครม.หรือไม่
จากนั้นคณะทำงานคดีโฮปเวลล์ ได้ไปตรวจสอบเอกสารการขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด และหนังสือบริคณห์สนธิที่ผู้ก่อตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นคำร้องต่อกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ (ปัจจุบันคือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2533 ก่อนที่จะเข้าทำสัญญาสัมปทานฯ กับกระทรวงคมนาคมและ รฟท.ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 พบว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด คือ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ประกอบกิจการอยู่ที่ฮ่องกง ถือหุ้นบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 599,991 หุ้นจากจำนวนหุ้นทั้งหมด 600,000 หุ้น โดยมีผู้ถือหุ้นทั้งหมด 10 คน เป็นคนต่างด้าวสัญชาติฮ่องกง, อังกฤษ, จีน และออสเตรเลีย รวม 7 คน ถือหุ้นรวมกัน 599,977 หุ้น ที่เหลือเป็นคนไทย 3 คน ถือคนละ 1 หุ้น โดยมีนายกอร์ดอน วู ยิง เชง เป็นกรรมการบริษัท
ดังนั้น บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวหรือนิติบุคคลต่างด้าว ขณะที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 (ปว. 281) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในขณะนั้น ห้ามไม่ให้คนต่างด้าวหรือนิติบุคคลต่างด้าวเข้ามาประกอบกิจการขนส่งทางบก น้ำ และอากาศในประเทศไทย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ตามที่ระบุไว้ในประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ข้อ 2
คำถามคือ กรมทะเบียนการค้า รับจดทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้อย่างไร?
คณะทำงานคดีโฮปเวลล์จึงขยายผลการตรวจสอบต่อไป พบหลักฐานกระทรวงคมนาคมเคยทำหนังสือที่ คค 0207/7365 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2533 ถึงนายกรัฐมนตรี (พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ) ขอให้เสนอ ครม.มีมติให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด 4 ข้อ คือ
-
1. ให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน
2. ยกเว้น ปว. 281 ตามหลักเกณฑ์ข้อ 2
3. ยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม
4. ขอสนับสนุนและอำนวยความสะดวก กรณีการก่อสร้างโครงการรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนราชการหรือพื้นที่เอกชน
ต่อมา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ ครม.เศรษฐกิจนำข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมทั้ง 4 ข้อไปพิจารณา ปรากฏว่าที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2533 มีมติเห็นชอบให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด แค่ 2 ข้อ คือ ให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน กับยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จากนั้นที่ประชุม ครม.วันที่ 20 มิถุนายน 2533 ก็มีมติเห็นชอบตามมติที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจเสนอทั้ง 2 ข้อ โดยสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ออกหนังสือเวียนแจ้งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ระบุว่า ครม.มีมติอนุมัติสิทธิประโยชน์แก่บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด แค่ 2 ข้อเช่นกัน ส่วนคำขอสิทธิประโยชน์ยกเว้น ปว. 281 และขอสนับสนุนกรณีการก่อสร้างโครงการรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนราชการและเอกชนนั้น ทั้ง ครม.เศรษฐกิจและ ครม.ไม่ได้มีมติเห็นชอบ จึงไม่ได้กล่าวถึงคำขอสิทธิประโยชน์ 2 ข้อหลังนี้
จากข้อมูลหลักฐานใหม่ที่คณะทำงานคดีโฮปเวลล์ตรวจพบ เป็นเหตุให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ต้องออกมาต่อสู้อีกครั้ง โดยมอบหมายให้นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานชุดนี้ รวบรวมพยานหลักฐานและเอกสารทั้งหมดส่งให้ 4 หน่วยงาน อันได้แก่ กระทรวงการคลัง, สำนักงานประมาณ, สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และกรมบัญชีกลาง ร่วมกันพิจารณาและตรวจสอบรัฐบาลจะสามารถจ่ายเงินค่าเสียหายให้กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้หรือไม่ เป็นประเด็นที่จะต้องติดตามกันต่อไป
ขณะเดียวกันเป็นปมที่ทำให้ “โฮปเวลล์”ขอเจรจาหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแล้ว