ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > งบประมาณปี’61 หั่นงบกลาง-ศึกษา โปะมหาดไทย-คลัง-กลาโหม ชี้ตั้งวงเงินใช้หนี้ขาดเกือบ 3 หมื่นล้าน

งบประมาณปี’61 หั่นงบกลาง-ศึกษา โปะมหาดไทย-คลัง-กลาโหม ชี้ตั้งวงเงินใช้หนี้ขาดเกือบ 3 หมื่นล้าน

13 มิถุนายน 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2560
ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/

ภายหลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2561 ในวาระแรก เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2560 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยถึงสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2561 ผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายครั้งนี้ถือว่าแตกต่างจากที่ผ่านมาค่อนข้างมาก โดยรัฐบาลพยายามมุ่งเน้นให้การตั้งงบประมาณมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และดูแลจัดสรรให้ตรงกับความต้องการของประชาชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด จึงมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดทำงบประมาณในหลายมิติ ดังนี้

มิติแรก คือ การจัดสรรงบประมาณมีความชัดเจน เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ โดยส่วนแรก คือ งบประมาณที่สนับสนุนงานฟังก์ชัน หรืองานประจำ ในครั้งนี้มีการปรับลดลงกว่า 240,000 ล้านบาท เนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลต้องการลด ชะลอ หรือยกเลิก โครงการที่ซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงาน ล้าสมัย และยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ จึงนำงบประมาณส่วนที่ปรับลดลงมานี้ไปเพิ่มให้กับงานบูรณาการ 130,000 ล้านบาท และ งานยุทธศาสตร์อีก 110,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนนโยบายและการปฏิรูปประเทศให้เกิดผลอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม ตรงความต้องการของประชาชน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ซึ่งจะทำให้สามารถขับเคลื่อนและเดินหน้าโครงการต่างๆ ได้คล่องตัวขึ้น รวมทั้งสามารถประเมินการใช้งบประมาณได้ดียิ่งขึ้น(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

มิติที่ 2 คือ การจัดสรรงบประมาณให้สามารถสนับสนุนการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการใช้จ่ายงบประมาณร่วมกันให้ได้ สะดวกยิ่งขึ้น เพิ่มการประสานงาน และลดความซ้ำซ้อนของการทำงาน ทั้งแผนคน แผนเงิน แผนงบประมาณ ต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน แบ่งความรับผิดชอบ สามารถตรวจสอบได้ง่าย ทำให้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด เพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และพัฒนาประเทศให้มีความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน

มิติที่ 3 คือ การสร้างความคุ้มค่าให้กับการใช้งบประมาณ โดยมีกลไกในการป้องกันการทุจริตผ่าน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง จัดให้มีคณะกรรมการคุณธรรม ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และ กระบวนการคัดกรองตรวจสอบอื่นๆ ที่รัดกุมยิ่งขึ้น

และมิติที่ 4คือ การปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศ และผลักดันการปฏิรูปด้านต่างๆ ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะกลไกมาตรฐานกฎหมายต่างๆ ทั้งที่มีการบัญญัติขึ้นมาใหม่ ปรับปรุงเพิ่มเติม หรือยกเลิกบางส่วน ให้สอดคล้องกันทั้งระบบ ทั้งนี้เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ความต้องการในการปฏิรูปประเทศ ระบบการบริหารราชการ การกระจายอำนาจ และการกระจายงบประมาณออกไป โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพ ความสามารถ และความพร้อมของทุกอย่างในระบบด้วย ซึ่งจะต้องดำเนินการวางโรดแมปในการจัดทำระบบสร้างข้าราชการที่ดี ข้าราชการรุ่นใหม่ และเพิ่มกระบวนการเรียนรู้ทุกระดับ รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้มีหลักคิดไปพร้อมๆ กันด้วย

“ที่สำคัญที่สุดภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ การเดินหน้าปฏิรูปประเทศ คือ กฎหมายต้องสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย รวมทั้งกฎหมายการค้าที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจ กฎหมายที่ทำให้สังคมมีระเบียบ ทั้งด้านอาชญากรรม ยาเสพติด โดยมองประชาชนเป็นจุดศูนย์กลาง ขณะเดียวกันก็ต้องมองประเทศชาติว่าจะเดินหน้าไปได้อย่างไรด้วย ตอนนี้คณะกรรมการด้านกฎหมายหลายๆ คณะก็กำลังเร่งดำเนินการเพื่อสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงให้กับการปฏิรูปประเทศในช่วงต่อไป” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

สำหรับโครงสร้างงบประมาณประมาณรายจ่ายปี 2561 ยังคงเป็นงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 (นับจากปี 2550) วงเงินรายจ่ายรวม 2.9 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 23,000 ล้านบาท (รวมงบประมาณเพิ่มเติมกลางปี 2560) หรือลดลง 0.8% ปีนี้กระทรวงการคลังคาดว่ารัฐบาลจะมีรายรับรวมทั้งสิ้น 2.45 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 79,921.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.3% จึงตั้งวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณไว้ที่ 450,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 102,921.7 ล้านบาท หรือลดลง 22.9%

ทั้งนี้ โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายวงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย

  • รายจ่ายประจำ 2,153,133.7 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 2,552.3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 74.2% ของงบประมาณทั้งหมด
  • รายจ่ายลงทุน 659,924 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 875.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.8% ของงบประมาณทั้งหมด
  • รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 86,942.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,755.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3% ของงบประมาณทั้งหมด

ส่วนรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ปีนี้ไม่มีการจัดตั้งงบประมาณรายจ่ายในหมวดนี้

กระทรวงที่ได้รับการจัดสรรวงเงินงบประมาณมากที่สุด 5 อันดับแรก มีดังนี้

  • อันดับที่ 1 กระทรวงศึกษาธิการ 510,961.81 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17.6% ของงบประมาณทั้งหมด หากเปรียบเทียบกับปีก่อนลดลง 3,000 ล้านบาท
  • อันดับที่ 2 งบกลาง 394,326.06 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13.6% ของงบประมาณทั้งหมด เปรียบเทียบกับปีก่อนลดลง 54,554.4 ล้านบาท
  • อันดับที่ 3 กระทรวงมหาดไทย 355,995.34 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12.3% ของงบประมาณทั้งหมด เพิ่มจากปีก่อน 20,850 ล้านบาท
  • อันดับที่ 4 กระทรวงการคลัง 238,356.05 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.2% ของงบประมาณทั้งหมด เพิ่มจากปีก่อน 20,643 ล้านบาท
  • อันดับที่ 5 กระทรวงกลาโหม 222,436.60 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.7% ของงบประมาณทั้งหมด เพิ่มจากปีก่อน 8,893 ล้านบาท

ส่วนกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมมากที่สุด 5 อันดับ ประกอบด้วย

    1. กระทรวงมหาดไทย ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่ก่อนมากที่สุด จำนวน 20,849.80 ล้านบาท

    2. กระทรวงการคลัง ได้รับการจัดสรรงบฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20,642.50 ล้านบาท

    3. กระทรวงคมนาคม เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15,486.40 ล้านบาท

    4. หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12,524.40 ล้านบาท

    5. กระทรวงกลาโหม เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8,892.6 ล้านบาท

จากสถิติการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายที่นำมาแสดงจะเห็นว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการถูกปรับลดวงเงินงบประมาณรายจ่ายมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากปีงบประมาณ 2559 ได้รับจัดสรรงบฯ 517,077 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 18,917 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.8% ปีงบประมาณ 2560 ได้รับจัดสรรงบฯ 513,962 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 3,115 ล้านบาท หรือลดลง 0.6% และปีงบประมาณ 2561 ได้รับการจัดสรรงบฯ 510,962 ล้านบาท ลงลงจากปีก่อน 3,000 ล้านบาท หรือลดลง 0.58%

ส่วนงบกลางนั้น หลังจากรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ถูกนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากในปีงบประมาณ 2559 ตั้งวงเงินงบกลางสูงถึง 455,383 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 82,642.5 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 จึงตั้งวงเงินไว้ที่ 448,881 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 6,502 ล้านบาท และล่าสุด ปีงบประมาณ 2561 รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ หั่นวงเงินงบกลางลงมาเหลือแค่ 394,326 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 54,554.4 ล้านบาท ขณะที่งบฯ กระทรวงกลาโหมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปีงบประมาณ 2561 ตั้งวงเงินงบประมาณไว้ที่ 222,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8,893 ล้านบาท

รวมทั้งงบฯ ชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยในปีงบประมาณ 2561 กระทรวงการคลังได้รับการจัดสรรวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 238,356 ล้านบาท ในจำนวนนี้ได้มีการจัดสรรให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) 213,662.74 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการบริหารหนี้สินของภาครัฐ 212,241.11 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 24,693.36 ล้านบาท จัดสรรให้กรมสรรพากร 9,384.46 ล้านบาท กรมศุลกากร 4,371.41 ล้านบาท กรมธนารักษ์ 3,444.83 ล้านบาท กรมสรรพสามิต 2,501.77 ล้านบาท สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 2,284.90 ล้านบาท กรมบัญชีกลาง 1,465.76 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง 1,014.63 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ 140.7 ล้านบาท และสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน 84.83 ล้านบาท

ข้อสังเกต ในเอกสารงบประมาณรายจ่ายปี 2561 โดยสังเขป หน้าที่ 4 ตั้งวงเงินรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ไว้ที่ 86,942.3 ล้านบาท และหน้าที่ 70 ตารางที่ 3-13 ตั้งวงเงินรายจ่ายดอกเบี้ยไว้ที่ 155,167.7 ล้านบาท รวมรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยมีวงเงินรวม 242,110 ล้านบาท ขณะที่เอกสารงบประมาณรายจ่าย ฉบับที่ 3 เล่มที่ 3 หน้าที่ 5-6 ตั้งวงเงินงบประมาณให้การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐให้ สบน. แค่ 212,241.11 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบวงเงินงบฯ ชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยไป 29,868.89 ล้านบาท

หากจำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี 2561 จะแบ่งออกเป็น 6 ยุทธศาสตร์ กับอีก 1 รายการ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายด้านนี้มีวงเงิน 273,954 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 9.5% ของงบประมาณทั้งหมด เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ สร้างความปรองดองและสมานฉันท์ ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านความมั่นคงรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ วงเงิน 476,596.6 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16.4% ของงบประมาณทั้งหมด เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้ง SME และ Micro SME พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล วิจัยและนวัตกรรม สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการ พัฒนาศักยภาพการผลิตภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการเงิน การคลัง พัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิต บริการ การค้า และการลงทุน พัฒนาและยกระดับผลิตภาพแรงงาน พัฒนาความร่วมมือด้านต่างประเทศ สร้างและรักษาผลประโยชน์ชาติ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน วงเงิน 575,709.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 19.9% ของงบประมาณทั้งหมด เพื่อพัฒนาศักยภาพคนตามช่วงวัย ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาด้านสาธารณสุขและสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก ส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตจากภายใน วงเงิน 332,584.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.5% ของงบประมาณทั้งหมด เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนให้เข้มแข็ง พัฒนาระบบประกันสุขภาพ สร้างความเสมอภาคเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ส่งเสริมการดำเนินงานตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งเสริมสร้างสวัสดิการสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิต

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน วงเงิน 125,459.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.3% ของงบประมาณทั้งหมด เพื่อจัดการปัญหาที่ดินทำกิน นำที่ดินบุกรุกมาจัดสรรให้กับประชาชน บริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขยะล้นเมือง การแยกขยะ ใช้พลังงานทดแทน ดูทั้งระบบขยายท่อระบายน้ำ ขยายเมืองง่ายกว่าย้ายเมือง บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ และภัยพิบัติ

ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ วงเงิน 784,210.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 27% ของงบประมาณทั้งหมด เพื่อป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ปฏิรูปกฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรม อำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ บริหารจัดการรายได้และรายจ่ายของภาครัฐ ตลอดจนพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน

สุดท้าย เป็นรายการค่าดำเนินการภาครัฐ วงเงิน 331,485.3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.4% ของงบประมาณทั้งหมด เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ ภัยพิบัติต่างๆ