วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) น.พ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบนโยบายงบประมาณ วงเงิน และโครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557
โดยนโยบายงบประมาณขาดดุลสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 กำหนดให้งบประมาณขาดดุลจำนวน 250,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 จำนวน 50,000 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 16.7 และคิดเป็นร้อยละ 1.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 2.5 ของปีงบประมาณ 2556
จากการที่สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.5 อัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 3.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนภาครัฐตามแผนบริหารจัดการน้ำและแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว ขณะที่ภาคส่งออกเริ่มฟื้นตัวจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มดีขึ้น
ทำให้สำนักงบประมาณคาดว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้รวมจำนวน 2,718,200 ล้านบาท เมื่อหักการคืนภาษีของกรมสรรพากร การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด การกันเงินชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก และการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว จะคงเหลือรายได้สุทธิจำนวน 2,275,000 ล้านบาท
จากสมมติฐานทางเศรษฐกิจ และประมาณการรายได้รัฐบาล สำนักงบประมาณจึงได้กำหนดนโยบายงบประมาณขาดดุลจำนวน 250,000 ล้านบาท และมีวงเงินงบประมาณรายจ่ายจำนวน 2,525,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย รายจ่ายประจำ 2,001,1368.5 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดเชยเงินคงคลัง 13,423.7 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 457,000 ล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 53,207.8 ล้านบาท
แนวทางการจัดทำและเสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557
1. ให้ความสำคัญต่อการดำเนินภารกิจของกระทรวง/หน่วยงาน ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล 16 ข้อ จุดเน้นของยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 และบูรณาการภารกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และขยายโอกาสแก่ประชาชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
2. จัดลำดับความสำคัญของแผนงาน/โครงการ ตามผลการประชุมเชิงปฏิบัติการการบูรณาการตามยุทธศาสตร์ประเทศ และตามแผนความต้องการงบลงทุนเบื้องต้นที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2556 ให้เหมาะสม สอดคล้องกับความจำเป็นและวงเงินงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมทั้งศักยภาพและความสามารถในการดำเนินงานของหน่วยงาน
3. คำนึงถึงความเชื่อมโยง สอดคล้อง และสนับสนุนแผนงาน/โครงการ จากแหล่งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ โดยเฉพาะพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 และร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ พ.ศ. ….
4. ให้กระทรวง/หน่วยงาน พิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินภารกิจที่มีความสำคัญในระดับต่ำ หรือหมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและสถานการณ์ในปัจจุบัน ตามหลัก 3R (Review Redeploy และ Replace) เพื่อนำงบประมาณดังกล่าวไปดำเนินภารกิจที่มีความสำคัญในระดับสูง