ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ตรวจการบ้าน “สภาสูง” เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย ออกสมุดพก ส.ว. เผย ลงมติน้อยกว่า ส.ส.

ตรวจการบ้าน “สภาสูง” เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย ออกสมุดพก ส.ว. เผย ลงมติน้อยกว่า ส.ส.

30 กันยายน 2012


ที่มาภาพ : http://www.thairath.co.th
ที่มาภาพ : http://www.thairath.co.th

ด้วยเพราะอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา มีทั้งการกลั่นกรองกฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินโดยการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี หรือเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาโดยไม่มีการลงมติ รวมไปถึงการพิจารณาเลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำ หรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งต่างๆ

ทำให้การทำหน้าที่ของ “วุฒิสภา” หรือที่เรียกกันว่า “สภาสูง” ในบางครั้งจึงถูกคาดหวังจากสังคมมากกว่า “สภาล่าง” หรือสภาผู้แทนราษฎร

แต่กระนั้น ที่ผ่านมา ในการทำหน้าที่บางปมบางประเด็น กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นพียงแค่ “สภาตรายาง” เท่านั้น!

เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย ได้ออกสมุดพก ส.ว. ประจำเดือนสิงหาคม 2555 ระหว่างวันที่ 6-28 สิงหาคม

โดยพบว่า ในเดือนสิงหาคม มีการประชุมวุฒิสภาสมัยสามัญทั่วไปทั้งหมด 4 ครั้ง มีการออกเสียงลงมติในเรื่องต่างๆ 29 ครั้งและมีผลงานดังนี้

1. กลั่นกรองกฎหมาย/พิจารณากฎหมาย จำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.กำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ในท้องที่เขตห้วยขวาง เขตวัฒนา และเขตสาทร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. …., ร่าง พ.ร.บ.สถาบันการพลศึกษา (ฉบับที่ …) พ.ศ. …., ร่าง พ.ร.บ.จดหมายเหตุแห่งชาติ พ.ศ. …., ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ. …., ร่าง พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง (ฉบับที่ …) พ.ศ. .…, ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ….

2. ติดตามตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน โดยการตั้งกระทู้ถามจำนวน 2 เรื่อง แบ่งเป็นกระทู้ถามด่วน 1 เรื่องที่ถามโดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว. กทม. ตั้งถามนายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้รัฐบาลชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในเดือนพฤษภาคมและชี้แจงต้นทุนเชื้อเพลิงในการคำนวณค่าไฟฟ้า และกระทู้ถามทั่วไป 1 เรื่องที่ถามโดยนายนายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว. ปราจีนบุรี ถามนายกรัฐมนตรี เรื่องการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางราง

3. สรรหาแต่งตั้งและตรวจสอบถอดถอนบุคคล 2 เรื่อง คือ เลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ ตามมาตรา 221 (3) ของรัฐธรรมนูญฯ และการดำเนินกระบวนการถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 271 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

4. กิจการสภา 2 เรื่อง คือ การเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ตามตำแหน่งที่ว่าง

สำหรับสถิติการลงมติในสมัยประชุมสามัญของสมาชิกวุฒิสภานั้น พบว่าสมาชิกวุฒิสภามีการเข้าลงมติเฉลี่ยร้อยละ 63 ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนการทำหน้าที่น้อยกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งนี้ จำแนกอัตราการลงมติได้ดังนี้

วุฒิสมาชิกที่ลงมติครบทุกครั้งจำนวน 9 คน

ลงมติสูงกว่าร้อยละ 70 จำนวน 62 คน

ลงมติสูงกว่าร้อยละ 50-69 จำนวน 24 คน

ลงมติต่ำกว่าร้อยละ 50 จำนวน 41 คน

ลงมติต่ำกว่าร้อยละ 20 จำนวน 10 คน

สำหรับวุฒิสมาชิกที่ลงมติต่ำกว่าร้อยละ 20 จำนวน 10 คนนั้น ประกอบไปด้วย พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ ส.ว. อ่างทอง, นายจักรธรรม ธรรมศักดิ์ ส.ว. สรรหา, นายถาวร ลีนุตพงษ์ ส.ว. สรรหา, นายบุญชัย โชควัฒนา ส.ว. สรรหา, พล.ท.พงศ์เอก อภิรักษ์โยธิน ส.ว. พะเยา, รศ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ส.ว. สรรหา, นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ส.ว. พิษณุโลก, นายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว. สรรหา, นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ ส.ว. สรรหา และนายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล ส.ว. กาฬสินธุ์

อย่างไรก็ตาม หากจำแนกวุฒิสมาชิกออกตามประเภทของ “ที่มา” ระหว่าง “สรรหา” กับ “เลือกตั้ง” จะพบว่า

ส.ว. ที่ลงมติทุกครั้งหรือร้อยละ 100 พบว่าเป็น ส.ว. เลือกตั้ง 7 เปอร์เซ็นต์ และ ส.ว. สรรหา 6 เปอร์เซ็นต์

ส.ว. ที่ลงมติร้อยละ 70-99 พบว่าเป็น ส.ว. เลือกตั้ง 38 เปอร์เซ็นต์ และ ส.ว. สรรหา 47 เปอร์เซ็นต์

ส.ว. ที่ลงมติร้อยละ 50-69 พบว่าเป็น ส.ว. เลือกตั้ง 18 เปอร์เซ็นต์ และ ส.ว. สรรหา 14 เปอร์เซ็นต์

ส.ว. ที่ลงมติต่ำกว่าร้อยละ 50 พบว่าเป็น ส.ว. เลือกตั้ง 37 เปอร์เซ็นต์ และ ส.ว. สรรหา 33 เปอร์เซ็นต์