ThaiPublica > คนในข่าว > จุดตัดน้ำ2สาย สู่จุดตายผู้ชนะ? “ประสพสุข บุญเดช” ถอดบทเรียน ปธ.1 ถึง ปธ.3

จุดตัดน้ำ2สาย สู่จุดตายผู้ชนะ? “ประสพสุข บุญเดช” ถอดบทเรียน ปธ.1 ถึง ปธ.3

16 สิงหาคม 2012


นายประสพสุข บุญเดช
นายประสพสุข บุญเดช

“…ถ้าประธานทำท่าจะไม่กลาง ไปเข้ากับข้างโน้น คนเขาก็ว่าไม่กลาง แต่ถ้าประธานแสดงให้เห็นว่าตัดสินไปตามเนื้อผ้า คนไหนดีก็ว่าดี คนไหนไม่ดีก็ว่าไม่ดี ผมว่าเขายังเชื่อนะ ดังนั้นก็รอดูท่าน ให้เวลาอีก 1-2 เดือน รอดูว่าภาพลักษณ์วุฒิสภาจะเป็นอย่างไร เพราะมันจะเป็นอย่างที่ท่านเป็น…”

บางคนบอกว่า “นิคม ไวยรัชพานิช” ได้ขึ้นเป็นประธานวุฒิสภาคนที่ 15 เพราะมีรากฐานจากการเป็น ส.ว. “สายเลือกตั้ง”

บางคนมองว่าเป็นผลจากรากเหง้าในฐานะคนร่วม “สายเลือด” อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย

บางคนชี้ว่าชัยชนะของเขาเกิดขึ้นได้โดยอาศัย “เสียงนอกสภา” ซึ่งสะท้อนผ่านผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ว่าไม่ต้องการ ส.ว. “สายลากตั้ง”

ขณะที่บางคนเห็นต่างว่า เป็นไปตามการบงการของ “เสียงนอกประเทศ” มากกว่า จนเกิดสมมติฐานที่ว่า “พรรคทักษิณ” กำลังยึดทั้งสภาล่างและสภาสูงหรือไม่?

หรือ “เสียงในวุฒิสภา” เองต่างหาก ที่สมัครใจย้ายไปยืนเคียงข้าง “ผู้ชนะ” ในวันที่การเมืองพลิกขั้ว?

หลัง “นิคม” ถึงฝั่งฝันบนบัลลังก์ที่รอคอยมานาน 4 ปีครึ่ง หลัง “อำนาจควบคุม” สลับมาอยู่ในมือ ส.ว. สายเลือกตั้ง

“ประสพสุข บุญเดช” อดีตประธานวุฒิสภาคนแรกของวุฒิสภาชุดนี้ บอกเล่าเรื่องลึกไม่ลับในกลอำนาจ-เกมการเมืองในสภาสูง ซึ่งถูกเปรียบเปรยว่าเป็นเสมือนน้ำ 2 สาย ผ่าน “สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” พร้อมชี้ให้เห็นถึงภาวะท้าท้ายและอนาคตวุฒิสภาภายใต้การนำของ “นิคม”

ไทยพับลิก้า : มองปรากฏการณ์คุณนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว. ฉะเชิงเทรา ได้ขึ้นเป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่อย่างไร

ก็เป็นเรื่องที่เคยคาดหวังกันอยู่แล้ว เพราะท่านนิคมเป็นแคนดิเดตมา 2 ครั้งแล้ว ก็น่าจะได้เสียทีหนึ่ง แล้วลึกๆ แล้วมันก็… สรรหาได้มา 2 คนแล้ว ก็ควรจะให้ได้เลือกตั้งบ้าง อันนี้คือลึกๆ แต่ที่ตอนแรกสรรหามาแข่งก็เพราะอยากจะลองกำลัง หรืออยากจะ… เอ่อ… บางคนเขาดูภาพพจน์ว่ามันอาจจะไม่เป็นกลางไง เขาต้องการคนเป็นกลางอะไรอย่างนั้น ก็เท่านั้นแหละ

ไทยพับลิก้า : ที่บอกว่า ส.ว. สรรหาต้องลงแข่งเพื่อรักษาภาพลักษณ์ความเป็นกลาง หมายถึงตั้งแต่คราวเลือกประธานวุฒิสภา 2 คนก่อน หรือหมายถึงกรณีล่าสุด

คนล่าสุด เขาอยากจะได้คนกลางๆ จริงๆ เขาก็ลองมาดู แต่เขาไม่ได้ซีเรียสอะไรนะ

ไทยพับลิก้า : หมายถึงคุณพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว. สรรหา ไม่ซีเรียสที่ไม่ได้เป็นประธาน

ท่านไม่ได้ซีเรียสหรอก แล้วรู้สึกไปบังคับท่านมาด้วยซ้ำ ท่านไม่ได้คิด ก็มีกลุ่มหนึ่งพยายามขอร้องให้ท่านมาแข่งสู้หน่อยเท่านั้นเอง แต่พอไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร

ไทยพับลิก้า : หากดูผลการลงคะแนนที่ออกมา รอบแรก คุณนิคมได้ 46 เสียง คุณเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว. ราชบุรี ได้ 35 เสียง คุณพิเชตได้ 66 เสียง แต่พอรอบ 2คุณนิคมได้เพิ่มเป็น 77 เสียง ส่วนคุณพิเชตได้ 69 เสียง แสดงว่าสวิงโหวตอยู่ที่ ส.ว. เลือกตั้ง

ใช่สิๆ ส.ว. เลือกตั้งเขาสวิงไป และก็มี ส.ว. สรรหาบางส่วนด้วย ลึกๆ ก็คือว่า ถ้าเผื่อท่านนิคมได้ มันก็จะมีรองฯ 1 ว่างไง เขาก็จะคิด อ๋อ… เดี๋ยวมีรองฯ 1 มาสู้กันอีก ได้อีก แต่ถ้าท่านพิเชตได้ มันไม่ได้อะไร เขาอาจจะบอกว่า เออ! ให้ท่านนิคมไป

ไทยพับลิก้า : ถ้าคิดและวางกันแบบนี้ โดยหลักการ คะแนนคุณนิคมควรจะทะลุกึ่งหนึ่งไปตั้งแต่รอบแรกแล้ว

ก็เพราะมาตัดกันเองไง ท่านเกชาได้ไป 35 เสียง

ไทยพับลิก้า : ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า ใน ส.ว. สายเลือกตั้งก็ไม่ได้เป็นเอกภาพนัก

คือ… มันไม่ใช่ว่าเป็นตัวแทนสายใครหรอก มันสนิทกับใครมากกว่า ต้องยอมรับความจริงนะครับ ที่ผ่านมาเลือกตั้งกับสรรหามันรวมกันจนไม่รู้ว่าใครเป็นเลือกตั้งหรือสรรหาแล้ว ตอนที่ผมอยู่ ผมก็จำไม่ได้ว่าคนนี้เป็นเลือกตั้งหรือสรรหา มันรวมกัน เป็นเพื่อนกันหมดแล้ว ดังนั้นเวลาจะเลือกใครนี่ เนื่องจากคุณสมบัติเท่าๆ กัน คนไหนสนิทกับใครเขาก็มักจะเลือกคนนั้น เรื่องที่บอกว่าแยกกันเด็ดขาด มันไม่ได้เป็นขนาดนั้น

ไทยพับลิก้า : ตอนแรกตัวคุณนิคมเองก็คงไม่มั่นใจว่าจะได้รับเลือก ถึงไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา

อ๋อ… ครับ นั่นแหละ อาจจะเป็นจุดนั้น ถ้าลาออกสิผลจะเป็นอีกอย่าง ถ้าลาออก ท่านนิคมอาจได้เลยตั้งแต่รอบ 1 เพราะมันมีคนยังติดใจว่าทำไมไม่ยอมลาออก มีคนคุยเหมือนกัน

ไทยพับลิก้า : เป็นไปได้หรือไม่ที่คุณนิคมกลัวถูกหักกลางอากาศ ทั้งแพ้โหวต ทั้งเสียเก้าอี้รองฯ 1

ไม่ใช่ล่ะ เพราะว่าสรรหายังไงเขาก็ต้องเอาท่านพิเชต และท่านพิเชตอย่างไรมันก็แค่นี้ พูดง่ายๆ ตอนแรกเท่าไหร่นะ 63 ได้ 63-65 มันก็เท่านี้

ไทยพับลิก้า : ปั่นสูงสุดได้เท่านี้

ครับๆ เท่านี้แหละ

ไทยพับลิก้า : ถ้าดูเกมและแต้มที่ออกมา คิดว่าประธานวุฒิสภาคนใหม่จะทำงานลำบากหรือไม่ เพราะนอกจาก ส.ว. จะแบ่งเป็นก๊กสรรหากับก๊กเลือกตั้งแล้ว ในก๊กเลือกตั้งยังแบ่งออกเป็น 2 ก๊กย่อยอีก

ไม่ลำบากหรอก เขาบอกว่าอย่างนี้ ถ้าฟังศัพท์ภาษาอังกฤษ ประธานวุฒิเขาเรียกว่า Speaker เท่านั้นนะ ไม่ใช่ President เขาว่าเป็นผู้แทนเท่านั้นเอง เวลาไปอังกฤษบอกเป็น President นี่ไม่ใช่ล่ะ เขามีแต่ Speaker of the House of Commons หรือ Speaker of the House of Lords เท่านั้นเอง เขาไม่ได้บอกเป็นประธานอะไร ดังนั้นผมคิดว่าไม่มีอะไร และอย่างที่ว่า ก็เป็นเพื่อนกันแล้ว เวลาเลือกตั้งแข่งขันกัน ใส่สีตีกัน อะไรก็แล้วแต่ พอเสร็จแล้วก็อยู่ด้วยกัน

นายประสพสุข บุญเดช

ไทยพับลิก้า : ในยุคที่การเมืองแบ่งขั้วชัดเจน ประธานวุฒิสภาจำเป็นต้องมีกองกำลังสนับสนุนในสภาสูงที่สามารถขานชื่อ-นับมือได้แน่ชัดหรือไม่

ถ้าเป็นประธานมันมีคนสนับสนุนอยู่แล้วโดยธรรมชาติ อย่างไรก็ต้องมีคนสนับสนุน ประธานจะไปทางไหน อย่างน้อยก็มีคุยกันก่อนว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร เราจะดำเนินการของวุฒิสภาอย่างไร การประสานงานกันอย่างไร เขาก็มีคนมาคุยกันอยู่แล้วคือวิปวุฒิ อันนั้นทำให้งานมันง่ายขึ้น

ไทยพับลิก้า : แล้วเวลาขึ้นบัลลังก์ทำหน้าที่ประธานการประชุมร่วมรัฐสภา จำเป็นต้องมีเพื่อน ส.ว. เป็นองครักษ์พิทักษ์แบบประธานสภาหรือไม่

ไม่มีหรอก ไม่มีเลย เท่าที่ผมประสบมาตอนเป็นประธานในที่ประชุมร่วม ถ้าเขามั่นใจว่าเราไม่เอนเอียงเข้ากับรัฐบาล ไม่เข้ากับฝ่ายค้าน เขาก็เคารพเรา เชื่อฟังเรา และเราก็มีมาตรการที่จะควบคุมการประชุมได้ จะต้อง แหม! มีองครักษ์พิทักษ์อย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่ต้อง มันไม่ได้เหมือนกับรัฐบาลนี่ (หัวเราะเล็กๆ) ใช่ไหม

ไทยพับลิก้า : แต่ระยะหลังมานี้ สมาชิกหันมาล่อประธานมากกว่าเล่นงานฝ่ายตรงข้าม

ใช่สิ เพราะเขาไม่เชื่อว่าประธานจะเป็นกลางไง เขานึกว่าประธานไปเข้ากับข้างโน้น ฝ่ายตรงข้ามก็ต้องเล่นงานประธาน แต่สังเกตดูสิ ถ้าเผื่อท่านธีรเดช (มีเพียร อดีตประธานวุฒิสภา) ขึ้น ไม่มีนะ เพราะอะไร เพราะเขาเชื่อว่าท่านธีรเดชไม่ได้เข้ากับใคร

ไทยพับลิก้า : แล้วคิดว่าคนจะเชื่อคุณนิคม ซึ่งเป็นน้าของคุณสุชาติ ตันเจริญ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย หรือเปล่า

ไม่ๆๆ ก็ต้องให้ท่านพิสูจน์ตัวเองสิ 1-2 เดือนก็รู้ใช่ไหม ถ้าท่านพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้ฝักใฝ่กับใคร ท่านเป็นกลางจริงๆ คนก็ต้องเชื่อ แต่ถ้าขึ้นปั๊บ ไปฝักใฝ่ฝ่ายใด คนก็จะทำเหมือนท่านสมศักดิ์ (เกียรติสุรนนท์ ประธานสภา)

ไทยพับลิก้า : นี่เป็นจุดที่คุณนิคมน่าจะรู้ตัวเหมือนกัน ถึงแสดงวิสัยทัศน์ยืนยันเรื่องความเป็นกลางทางการเมือง

ครับๆๆ

ไทยพับลิก้า: ก่อนหน้านี้คุณนิคมเคยระบุว่า ส.ว. เลือกตั้ง กับ ส.ว. สรรหา เปรียบเหมือนน้ำ 2 สาย ต้องหาทางทำให้เกิดความกลมกลืนพัฒนา ในฐานะเคยอยู่ร่วมธารมาก่อน เห็นว่ามันจะกลมกลืนกันได้อย่างไร

ก็อย่างที่ผมบอกนะ ขนาดผมยังไม่รู้เลยว่าคนนี้เลือกตั้งหรือสรรหา มันกลืนกันแล้ว แต่บังเอิญตอนเลือก ส.ว. สรรหากันใหม่ คนเก่ากลับเข้าไป 31 คนเท่านั้นจากทั้งหมด 74 คน ไม่ได้เข้าไป 43 คน ดังนั้นจะมีคนใหม่เพิ่มเข้ามา 43 คน พอคนใหม่เข้ามา มันจะไม่ค่อยเข้ากันแล้ว เพราะกิจกรรมที่จะทำร่วมกันมันน้อย ดังนั้นคน 43 คนกับคนเก่าที่เหลืออยู่ 100 กว่าคนมันไม่ค่อยเข้ากัน ไอ้น้ำ 2 สายนี่ก็ชักจะเกิดขึ้นแล้ว

ไทยพับลิก้า : อาจมีแตกไลน์ย่อยเป็นสายที่ 3 และ 4 ด้วย

อะไรอย่างนั้นครับ เพราะมาใหม่ คนเก่าเขาก็คุยกับคนเก่า และคนใหม่ 43 คน เนื่องจากเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ท่านก็ไม่ค่อยสุงสิงกันอะไรกัน มันก็เลยเข้ากันยากนิดหน่อย

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าข้อวิเคราะห์ของหลายฝ่ายที่ว่าการเลือกตั้งประธานวุฒิสภาหนนี้ เป็นการแข่งขันระหว่าง ส.ว. สายเลือกตั้งกับสรรหา อาจไม่ตรงเสียทีเดียว

ไม่ตรงหรอกๆ เพราะฝ่ายสรรหานี่ ตอนแรกเขาก็พยายามจะหาฝ่ายเลือกตั้งที่เขาเชื่อว่าเป็นกลางนะ เช่น ท่านประเสริฐ (ชิตพงศ์ ส.ว. สงขลา) แต่ต่อมาดูแล้วอาจคิดว่ายังสู้ไม่ได้ ก็เลยเป็นท่านพิเชต

ไทยพับลิก้า : วิเคราะห์ว่าชัยชนะของคุณนิคม เป็นผลจากแรงกดดันนอกสภาผ่านโพลที่ระบุว่าประชาชนร้อยละ 54 ต้องการให้ ส.ว. เลือกตั้งเป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่ หรือเป็นการตัดสินใจในรัฐสภาล้วนๆ

อ๋อๆๆ เสียงในสภา ในวุฒิ โพลเพออะไรนั่น ไม่มีความหมายอะไรเลย

ไทยพับลิก้า : กดดันได้ไหม

ไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น (เน้นเสียงหนักแน่น) เพราะ ส.ว. เวลาเขาจะเลือกใคร เขามีวุฒิภาวะ เขาไม่ฟังโพลอะไรนั่นหรอก เหมือนศาล เวลาจะตัดสินคดีอะไร ใครมากดดันอย่างไร เขาก็ไม่ฟังหรอก ไอ้ที่จะถอนประกัน จะอะไร ไม่มีใครฟังหรอก ขืนไปฟังสิยิ่งแย่ ถูกไหมครับ เวลาทำหน้าที่ต้องมีความกล้าหาญ ไม่กลัวอะไร ไม่มีอคติใดๆ ถ้าไปกลัวมันก็ทำไม่ได้ อันนี้ก็เหมือนกันนะ

ไทยพับลิก้า : ไม่เหมือน ส.ส. ที่ต้องเงี่ยหูฟังเสียงประชาชน

(พยักหน้า) เขาฟังเสียงข้างนอก อันนี้เขาไม่ล่ะ และเขาก็อยู่ได้อีกแค่ครั้งเดียวเท่านั้น เขากลับมาไม่ได้ ไม่เหมือน ส.ส. กลับมาได้เรื่อยๆ ดังนั้นเขาไม่กลัวใครอยู่แล้ว

ไทยพับลิก้า : การที่ขั้วการเมืองเปลี่ยน มีผลต่อตำแหน่งประธานวุฒิสภาในครั้งนี้หรือไม่

ไม่ล่ะ ไม่มี

ไทยพับลิก้า : มีข้อวิเคราะห์ว่า ส.ว. ก็ชอบอยู่กับข้างชนะเหมือนกัน ถ้าการเมืองไม่เปลี่ยนขั้ว ก็คงไม่ได้ ส.ว. สายเลือกตั้งเป็นหัวใหม่

ธรรมชาติคนนึกว่าคนชอบอยู่กับผู้ชนะ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่หรอก ทุกคนนี่เปลี่ยนใจยากนะ ชอบใครก็ชอบใคร เว้นแต่ชอบแล้วเขาทำผิด ทัศนะทางการเมืองไม่ตรงกันแล้ว ก็มีนะ ก็มี สมมุติบางคนไม่ชอบแก้รัฐธรรมนูญ แล้วเพื่อนไปสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ สมมตินะครับ เขาก็ไม่เอาแล้ว

ไทยพับลิก้า : ถ้าเช่นนั้น พฤติกรรมของวุฒิสภาหลังจากนี้จะออกมาในทำนองสนับสนุนรัฐบาลหรือเปล่า เพราะก่อนหน้านี้คุณนิคมคือหัวหอกล่าชื่อ ส.ว. ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291

ไม่ใช่ล่ะ อย่างที่ผมบอก อย่างไรมันก็เหมือนเดิม เพราะที่สู้กันมันเป็นลักษณะสู้กันเป็นรายบุคคลมากกว่า มันไม่ใช่ในทางการเมือง กฎหมายอันไหนดี วุฒิก็สนับสนุน แต่ถ้าไม่ดี วุฒิก็ไม่โหวตให้ผ่าน ผมว่าไม่เกี่ยวกัน

นายประสพสุข บุญเดช
นายประสพสุข บุญเดช

ไทยพับลิก้า : ปัจจุบันดูเหมือนสังคมไทยไม่อนุญาตให้ใครเป็นกลาง

(ยิ้ม) เหรอครับๆ

ไทยพับลิก้า : อะไรจะทำให้คนมั่นใจและเชื่อใจได้ว่าวุฒิสภาดำรงความเป็นกลางจริงๆ

ตัวประธานไง เวลาคนเขาตัดสินอะไร เขาตัดสินจากตัวประธาน ถ้าประธานทำท่าจะไม่กลาง ไปเข้ากับข้างโน้น คนเขาก็ว่าไม่กลาง แต่ถ้าประธานแสดงให้เห็นว่าตัดสินไปตามเนื้อผ้า คนไหนดีก็ว่าดี คนไหนไม่ดีก็ว่าไม่ดี ผมว่าเขายังเชื่อนะ ดังนั้นก็รอดูท่าน ให้เวลาอีก 1-2 เดือน รอดูว่าภาพลักษณ์วุฒิสภาจะเป็นอย่างไร เพราะมันจะเป็นอย่างที่ท่านเป็น

ไทยพับลิก้า : คุณนิคมมาถึงก็เจองานยากเลย หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งสำนวนคดีคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส. สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตรองนายกฯ ก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรม กรณีมีคำสั่งแต่งตั้งสมาชิก ปชป. ไปช่วยงานกระทรวง มาให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอน

ผมว่าก็ไม่ยากหรอก คดีถอดถอนผมเคยทำมาแล้ว ถอดถอนนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ สมัคร สุนทรเวช ผมเคย ความจริงการถอดถอนคนออกจากตำแหน่ง มันต้องอยู่ในตำแหน่งถึงจะไปถอดเขาได้ ถูกไหม นายกฯ สมชายเขาออกจากตำแหน่งไปแล้ว ก็ยังไปถอดเขาอีก นายกฯ สมัครก็เหมือนกัน พอดีท่านเสียชีวิตไปก่อน

ไทยพับลิก้า : ถ้าเช่นนั้นตอนนี้คุณสุเทพไม่ได้เป็นรองนายกฯ แล้ว ก็ไม่น่าจะถอดถอนได้

ใช่สิ โดยหลักนะ เหมือนเราสั่งให้รื้อบ้าน บ้านเขารื้อไปแล้ว เราจะไปสั่งอีกทำไม แต่ทีนี้วุฒิสภาวางหลักไว้ตั้งแต่ตอนนั้นว่า แม้จะออกจากตำแหน่งก็ยังถอดถอนได้ มันเลยติดมาเรื่อย ที่ผมคิดคือ เวลาจะถอดถอนมันต้องผ่าน ป.ป.ช. ของคุณสุเทพตั้งเกือบ 3 ปีนะ ทำไมช้าล่ะ มันต้องแก้กฎหมาย ป.ป.ช. ว่าเรื่องถอดถอน พอส่งเรื่องไปถึง ป.ป.ช. ต้องทำให้เสร็จใน 60 วัน งานท่านก็เยอะ แต่ต้องเอาเรื่องนี้มาทำเป็นพิเศษ ไม่ใช่วิ่งไปตามคิว มันก็ 3 ปี ความจริงเรื่องถอดถอนมันไม่ยาก วุฒิสภาชุดนี้ก็ถอดถอนคุณภักดี โพธิศิริ (กรรมการ ป.ป.ช.) แต่ถอดไม่ได้ พอพูดเรื่องนี้นึกได้เลย คือกฎหมายมันไม่เท่ากัน ต้องใช้เสียง 3 ใน 4 ของสมาชิกวุฒิสภา หรือ 112 เสียง แต่ถอดถอนคุณสุเทพใช้ 3 ใน 5 ตอนนี้ก็ประมาณ 88 เสียง ทำไมล่ะ ถอดถอน ป.ป.ช. ทำไมต้องใช้เสียงเยอะนัก พอมาถอดถอนผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหมด ทั้งรองนายกฯ ประธานศาลฎีกา อัยการสูงสุด ใช้ 88 เสียงทั้งนั้น โห! แสดงว่า ป.ป.ช. นี่สำคัญมากกว่าหรือถึงต้องใช้เสียงเยอะ ที่ถูกนะผมว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ จะถอดถอนใครก็ตามให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง เพราะถ้าไปคุ้มครองมากไป ก็ถอดไม่มีได้สักรายล่ะ

กลับมาที่กรณีคุณสุเทพ มันอยู่ที่ข้อเท็จจริง ความผิดของท่านที่เอา ส.ส. ไปช่วยทำงานกระทรวงวัฒนธรรมมันเป็นการก้าวก่ายหรือเปล่า ข้อเท็จจริงมันชัดเจนนะครับ เมื่อมีคำสั่งไป แต่ต่อมาถอนเรียบร้อยก่อนจะไป อันนี้ความผิดมันสำเร็จหรือยัง เขาไปก้าวก่ายอะไรหรือยัง อันนี้ไม่รู้ เป็นเรื่องที่ต้องคิดกัน มันไม่ยากหรอก

ไทยพับลิก้า : ถ้าตัดสินตามเนื้อผ้าอาจไม่ยาก แต่ถ้าตัดสินตามวาระทางการเมืองล่ะ

การเมืองจะไประโยชน์อะไรจากการถอดถอนคุณสุเทพ สมมุตินะ จะได้ประโยชน์คือคุณสุเทพก็เล่นการเมืองไม่ได้อีก 5 ปี เท่านั้นเองไม่เห็นมีอะไร

ไทยพับลิก้า : ซึ่งปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่ง ก็เห็นเล่นการเมืองกันเยอะแยะ

ใช่ ผมว่าไม่มีอะไร คิดว่าเขาต้องตัดสินตามเนื้อผ้า

ไทยพับลิก้า : แต่พอคนนอกไปแบ่งข้างให้วุฒิสภาสายเลือกตั้งกับสายลากตั้ง ก็เลยไปเชื่อมโยงต่อว่าเป็นฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กับฝ่ายต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ

อ๋อ… เหรอครับ แล้วคำนวณกำลังดูแล้วจะได้ 88 หรือเปล่า ที่จะถอดคุณสุเทพนี่ ถึงหรือเปล่า 88

ไทยพับลิก้า :ถ้าเทียบจากคะแนนคุณนิคมแปลว่าไม่ถึง

ผมคิดว่าเขาคุยกันตามเนื้อผ้ามากกว่า

ไทยพับลิก้า : จินตนาการเรื่องพรรคพวก พ.ต.ท.ทักษิณกำลังยึดทั้งสภาล่างและสภาสูง เป็นความคิดที่ผิดหรือถูก

ก็แล้วแต่คนจะคิด แต่ในความรู้สึกผม เลือกสภาสูงครั้งนี้ เขาก็ไม่ได้เข้ามายุ่งมาก เขาก็ปล่อย

ไทยพับลิก้า : แต่มีข่าวว่า ส.ว. บางคนบินไปขอเสียงสนับสนุนจาก พ.ต.ท.ทักษิณที่เกาะฮ่องกง

อันนั้นไม่ทราบครับ

ไทยพับลิก้า : คิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณปล่อยเพราะอะไร

ผมคิดว่าอย่างนี้นะ อย่างไรเขาก็มีพรรคพวกอยู่ในวุฒิอยู่แล้ว อย่างไรก็มีอยู่แล้ว แล้วตำแหน่งประธานวุฒิมันไม่ได้สำคัญแบบประธานสภา มันไม่ได้เป็นจุดชี้เป็นชี้ตายอะไรหรอก

ไทยพับลิก้า : เป็นตัวช่วยได้หรือไม่ ทั้งเกมแก้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายปรองดอง

ไม่หรอกครับ อาจจะช่วยได้นิดๆ หน่อย เช่น บรรจุวาระเท่านั้นแหละ ช่วยมากๆ ไม่ได้หรอก เพราะวุฒิแต่ละคนเป็นอิสระ ไม่มีใครมาสั่งเขาได้ ถ้าเผื่อรัฐบาลทำผิดอะไร เขามีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) คุมทุกกระทรวงอยู่แล้ว ก็เรียกมาสอบข้อเท็จจริง ถ้าไม่มาก็มีโทษจำคุก

ไทยพับลิก้า : บางฝ่ายมีสมมุติฐานว่าการขึ้นเป็นประธานวุฒิสภาของสายเลือกตั้ง เท่ากับเป็นความสำเร็จของฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ และเป็นจุดเริ่มต้นในการล้างพิษปฏิวัติปี 2549

ผมว่าไม่ใช่หรอก มันไม่มีพิษอะไรหรอก ไม่มีพิษตกค้างอะไรนะ เพราะรัฐธรรมนูญก็ออกมาโดยชอบ มีสภาร่างขึ้นมา ไม่ใช่ผลไม้ของต้นไม้ที่เป็นพิษ ไอ้หลักผลไม้ของต้นไม้ที่เป็นพิษ เขาเรียกว่า Fruit of the poisonous tree มันมาจากกรณีความผิดทางอาญา เช่น เวลาไปค้นบ้านเขาไม่มีหมายค้น แล้วไปเจอยาเสพติด ปืนเถื่อน แล้วไปดำเนินคดีกับเขา เขาบอกไม่ได้ เพราะไม่มีหมายค้น การดำเนินการต่อๆ มาจึงไม่ชอบ แต่ตอนนี้เอามาขยายความทุกอย่างเลย แล้วเดี๋ยวนี้ที่อเมริกาซึ่งเป็นต้นแบบหลักผลไม้ของต้นไม้ที่เป็นพิษ ตอนแรกไปค้นเฮโรอีนมา ต่อมามาฟ้องศาล ก็บอกไม่มีหมายค้น ไม่ฟัง แต่ตอนหลังเขาแปลแล้วว่าถ้าคดีใหญ่ ไปเจอเฮโรอีนตั้ง 50-60 กิโลกรัมอย่างนี้ แล้วปล่อยคนขายเฮโรอีนไป เขาเลยบอกว่าในบางกรณีฟังได้ถ้าประเทศชาติจะวุ่นวายยับเยิน เขาก็ฟังเพื่อจะลงโทษคนนั้น เขาก็มีข้อยกเว้นได้

ไทยพับลิก้า : หากกระบวนการในขั้นต้นไม่ถูกต้อง ผู้เกี่ยวข้องก็ต้องพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าถ้าเดินต่อจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมมากกว่า

และถ้าเผื่อไม่ดำเนินการ จะเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างยิ่ง เขาก็ยกเว้นได้

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าที่กระแสผลไม้พิษในบ้านเราจุดติด เพราะบรรดาผู้เกี่ยวข้องที่มาจากช่องทางพิเศษ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ, ป.ป.ช., ส.ว. สรรหา ไม่สามารถทำให้สังคมประจักษ์ว่า ถ้าไม่มีพวกคุณแล้วสังคมจะแย่ ก็เลยถูกต่อต้าน

ผมว่ากระแสมาจากคนไม่เชื่อในศาลรัฐธรรมนูญมากกว่า ไม่เชื่อว่าทำอะไรแล้วไม่มีอคติ คนไปเชื่อว่าท่านมีอคติ อย่างมาตรา 68 ที่คนวิจารณ์อะไรนี่ แต่ผมไม่ค่อยกล้าวิจารณ์หรอก ทั้งๆ ที่อยากวิจารณ์นะ ถ้าผมไม่เป็นอดีตประธานวุฒิ ผมจะวิจารณ์ แต่นี่เป็น เกิดไปวิจารณ์มันก็ไม่ค่อยดี แต่ผมว่า บางทีเวลาจะทำอะไร มันต้องยึดหลักกฎหมายบ้างนะ

ประสบการณ์ “ประสพสุข” วัน “ประสบทุกข์” white lies

เวลา 1 ปีหลังสิ้นสถานภาพ “ประธานวุฒิสภา” นับจากปี 2554 “ประสพสุข บุญเดช” อยู่ในบทบาทแตกต่างหลากหลาย

เขาได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาธนาคารธนชาต เป็นที่ปรึกษาประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ การได้กลับไปทำงานที่รัก นั่นคือ “อาจารย์” สอนนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษาเนติบัณฑิตยสภา

“ช่วง 1 ปีมานี้ก็ได้กลับไปทำงานที่เคยทำ เป็นงานที่ชอบที่สุด เวลาเห็นแค่นิสิตนักศึกษา ก็ฝากความหวังว่าพวกนี้ที่จะนำพาประเทศไปได้”

แม้บุรุษวัย 67 ปีผู้นี้ จะเคยผ่านจุดสูงสุดในชีวิตหลายครั้ง

นายประสพสุข บุญเดช

ในแวดวงตุลาการ เขาเคยเป็นประธานศาลอุทธรณ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ฯลฯ

ในแวดวงวิชาการ เขามีตำแหน่ง “ศาสตราจารย์พิเศษ” สาขานิติศาสตร์แปะหน้าชื่อ

ในแวดวงการเมือง เขาถูกจารึกนามในฐานะ “ประมุขสภาสูง”

ทว่าสถานที่ทำงานที่ทำให้ “ประสพสุข” ประสบกับความสุขกาย-สุขใจ หาใช่ศาล หรือรัฐสภาไม่ หากแต่เป็นรั้วมหาวิทยาลัย

“เวลาไปอยู่ในบรรยากาศมหาวิทยาลัย มันรู้สึกปลอดโปร่งโล่งหัวใจ ไม่ต้องเสแสร้ง แล้วก็ไม่มีผลประโยชน์อะไรด้วย ความรู้สึกต่างกันมากเลยหากเทียบกับการไปสภา เวลาเดินเข้าสภา เราต้องสำรวมตน ต้องพยายามทักคนนั้นคนนี้ แสดงให้เห็นว่ามีมิตรจิตมิตรใจต่อกัน ทั้งที่นิสัยผมเป็นคนไม่ค่อยชอบคุยกับใคร เพราะที่ศาลนี่เขาไม่ค่อยคุยกันหรอก เวลาผมเป็นอธิบดี หรือเป็นหัวหน้าศาล ถ้าไปนั่งคุยกับลูกน้อง 2 ต่อ 2 แสดงว่าต้องมีเรื่องแล้ว ต้องไปเตือนเขาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าดีไม่ต้องคุย ตอนมาเป็นประธานวุฒิใหม่ๆ ผมก็นึกอย่างนั้น ไม่เคยไปคุยกับพวก ส.ว. หรอก เพราะดีอยู่แล้ว ไม่ต้องคุย ไม่ดีถึงไปคุย แต่เขาบอกตรงกันข้าม ต้องคุย ถ้าไม่คุยแสดงว่าไม่ชอบ มันต่างกันอย่างนี้”

เขายอมรับว่าเวลา 3 ปีบนบัลลังก์ประธานวุฒิสภาคือช่วงที่หนักใจที่สุด เพราะเป็นคนไม่ชอบการเมือง แต่ขณะเดียวกันก็ได้รู้จักและเข้าใจการเมืองมากขึ้น

“ช่วงแรกๆ ผมติดการเป็นอาจารย์ ใครมาถามอะไร ผมตอบหมด แต่หลังๆ ผมรู้เลย ประธานวุฒินี่พูดมากไม่ได้ แสดงความเห็นอะไรมากๆ ก็ไม่ได้ เพราะมันกระทบกระเทือน ผมเคยแสดงความเห็นคัดค้านท่านนายกฯ สมัยนั้น (นายสมัคร สุนทรเวช) เพราะไม่เห็นด้วยกับบางนโยบาย ก็มีคนมาเตือนว่าไม่ใช่หน้าที่เรานะที่จะไปวิจารณ์นโยบายนายกฯ ไม่ได้ ต้องแยกกัน เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าวุฒิสภาทั้งหมดไปวิจารณ์รัฐบาล มันไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ก็ต้องเอาเฉพาะเรื่องที่สำคัญๆ”

“ประสพสุข” เล่าว่า ต้องใช้เวลาถึง 6 เดือนในการปรับตัวเข้าสู่โลกการเมือง บางครั้งต้องแสร้งทำในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเองเลย

“ที่ต้องปรับคือต้องปดแบบที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า white lies รู้อะไรมากบางทีเราก็ต้องบอกว่ารออยู่ ไม่เหมือนเป็นอาจารย์ พอลูกศิษย์ถามเราก็ตอบได้ทันที แต่นี่ไม่ได้ เพราะมันไปกระเทือนคนอื่นเขา โห… ใช่ไหม”

ถือเป็นการเรียนรู้ที่จะหลบเลี่ยงแรงปะทะ!

ขณะเดียวกัน เขาจำเป็นต้องมี “ตัวช่วย” คอยเช็คกระแส-อ่านเกมการเมืองซึ่งตนไม่ถนัด โดยเลือกใช้บริการ “ที่ปรึกษาส่วนตัว” แทนการบ่ายหน้าไปขอคำปรึกษา “เพื่อนร่วมรุ่น” นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2509 อาทิ “บัญญัติ บรรทัดฐาน, ไตรรงค์ สุวรรณคีรี. สุทัศน์ เงินหมื่น” ทั้งที่คนกลุ่มนี้จัดเป็น “เก๋าประจำสภา” ก็ตาม

“ผมไม่เคยถามพวกเขานะ เพราะมันมีฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ผมจึงไม่ไปเกี่ยว แล้วเขาก็ไม่มายุ่งกับผมด้วย การเมืองกับเพื่อนมันคนละอย่าง การเมืองก็การเมือง เพื่อนก็เพื่อน”

หากยังจำกันได้ ปมการเมืองที่เข้ามากระทบ “ประสพสุข” โดยตรง หนีไม่พ้นการถูกเพื่อน ส.ว. ทวงสัญญาสุภาพบุรุษ ถึงขั้นปิดล้อมห้อง-กดดันให้ลุกจากเก้าอี้ประธานวุฒิสภาเมื่อเดือนมกราคม 2554

โดยมี “นิคม ไวยรัชพานิช” รองประธานวุฒิสภา (ขณะนั้น) เป็นหัวหอกปลุกม็อบผู้ทรงเกียรตินั่นเอง

“ตอนนั้นผมถูกกดดันจากทั้ง 2 ฝ่ายเลย ฝ่ายจะให้อยู่ก็กดดัน ฝ่ายจะให้ออกก็กดดัน ผมเลยต้องชั่งใจว่าจะทำอย่างไร แต่มันมีส่วนลึกๆ บอกว่าผมต้องอยู่ต่อไปนะ ผมก็เลยต้องทน ถ้าเผื่อไม่มีอะไรนะ โอ้โห! ผมหนีออกไปนานแล้ว ผมเบื่อ ผมไม่อยากอยู่หรอก แต่มันมีส่วนที่บอกว่าอย่างไรต้องอยู่ ต้องประคับประคอง ผมเลยต้องยอม ต้องทนต่อการถูกกดดัน เพราะสถานการณ์ช่วงนั้นมันไม่ค่อยดี อย่างไรก็ต้องทน ตายก็ต้องยอม”

แสดงว่าคนที่ขอให้อยู่ต่อเป็นคนสำคัญมาก ไม่เช่นนั้นคงไม่ถึงขนาดตายก็ต้องยอม?

“ไม่หรอก แต่สถานการณ์ช่วงนั้นมันต้องพึ่งวุฒิฯ วุฒิฯ ก็ยังเป็นที่พึ่งอยู่”

แล้วถ้าเปลี่ยนวันนั้น…?

“มันก็คือวันนี้ไง คือท่านนิคมได้ขึ้น แต่ผมไม่อะไรนะ ผมเป็นคนลืมง่าย ใครทำอะไรก็ลืมไปแล้ว”

ท้ายที่สุด เมื่อให้มองย้อนกลับไปที่วุฒิสภา คิดว่าเก้าอี้ประธานมีอาถรรพ์หรือไม่ ถึงจบลงแบบไม่สวยกันเท่าไร โดยล่าสุด “พล.อ.ธีรเดช มีเพียร” ก็พ้นตำแหน่งเพราะคำพิพากษาศาลอาอาญา กรณีขึ้นเงินเดือนตัวเองเมื่อครั้งเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน

เขาแย้งว่า “ไม่ใช่หรอก อย่างท่านธีรเดช ผมว่ามันเป็นกรรมเก่า ท่านไม่ได้ตั้งใจจะเอาสตางค์อะไร ท่านก็เห็นศาลรัฐธรรมนูญก็ทำ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ก็ทำ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ก็ทำ ใช่ไหมฮะ และบังเอิญเลขาฯ ท่านเสนอขึ้นมา บอกทำได้ ท่านก็ทำ โอ้โห! กลายเป็นเรื่องใหญ่ไป ก็น่าสงสารท่านนะ ผมว่า ความจริงท่านถ่วงก็ได้ ไม่ไปฟังคำพิพากษา แต่ท่านบริสุทธิ์ใจ ก็คิดว่าไม่รู้ล่ะ ก็พูดไปตามนี้ แล้วก็ไปฟังคำตัดสิน”

สำหรับตัวเขา ยืนยันหนักแน่นว่าไม่ขอกลับไปสู่การเมืองอีก ไม่เอาแล้วจริงๆ!!!