ThaiPublica > เกาะกระแส > 16 นโยบายเร่งด่วน ที่ผ่านมติครม.มากสุดในรอบ 1 ปี

16 นโยบายเร่งด่วน ที่ผ่านมติครม.มากสุดในรอบ 1 ปี

22 พฤศจิกายน 2012


เว็บไซต์เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย ได้รายงานข่าวการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศในเรื่อง “ความสำเร็จของนโยบายเร่งด่วน 1 ปีแรกรัฐบาลยิ่งลักษณ์” โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 จำนวน 1,203 ตัวอย่าง พบว่าประชาชนมีความพึงพอใจในการทำงานของรัฐบาลในนโยบายประกันสุขภาพ หรือรู้จักกันทั่วไปว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” และนโยบายเบี้ยยังชีพรายเดือนสำหรับผู้สูงอายุแบบขั้นบันได โดยมีระดับความพึงพอใจ ร้อยละ 84.79 และ 81.05 ตามลำดับ ขณะที่นโยบายอื่นๆ เช่น การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ และการดูแลราคาสินค้า รวมถึงการแก้ไขปัญหาภาคใต้ มีระดับความพึงพอใจ ร้อยละ 40.98 และ 23.28 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มพลังประชาชน เช่น องค์การพิทักษ์สยาม ซึ่งนำโดย พล.อ. บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ได้รวมกลุ่มแสดงความไม่พึงพอใจต่อการทำงานของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพร้อมแสดงการเรียกร้องโดยการชุมนุมกดดันรัฐบาลในวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2555 รวมทั้งนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ผู้นำพรรคฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นขอเปิดอภิปรายในรัฐสภา เพื่อทำการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ในวันที่ 25-28 พฤศจิกายน 2555 นี้ จึงทำให้บรรยากาศการเมืองไทยเริ่มร้อนแรงและอ่อนไหวขึ้นมาอีกครั้ง

ดังนั้น จึงมีการติดตามและตรวจสอบผลการดำเนินงานของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกครั้ง โดยพิจารณาจากการประชุมของคณะรัฐมนตรี หรือมติ ครม. ในแต่ละสัปดาห์ว่า รัฐบาลได้ดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายเร่งด่วนตามที่ได้ประกาศไว้เพียงใด และให้ความสำคัญกับนโยบายใดเป็นพิเศษบ้างหรือไม่

“16 นโยบายเร่งด่วน” ที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2554 นั้น เมื่อพิจารณาจากมติ ครม. ตั้งแต่ กันยายน 2554 – ตุลาคม 2555 รวม 15 เดือน มีการประชุมไปทั้งหมด 64 ครั้ง และมีเรื่องผ่านการพิจารณาไปทั้งหมด 1,472 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ 16 นโยบายเร่งด่วน จำนวน 191 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของการประชุมคณะรัฐมนตรีทั้งหมด และเมื่อพิจารณาสัดส่วนการพิจารณานโยบายเร่งด่วนทั้ง 16 เรื่องที่มีต่อการประชุมคณะรัฐมนตรีในแต่ละเดือน พบว่า รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้ความสำคัญกับนโยบายเร่งด่วนเรียงตามลำดับดังนี้

1. นโยบายด้านการเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ เป็นการแถลงนโยบายไว้กว้างๆ เน้นการพัฒนาความสัมพันธ์กับทุกประเทศในทุกมิติ เช่น การแพทย์ วิทยาศาสตร์ เกษตรกรรม วัฒนธรรม และการค้าการลงทุน จึงกลายเป็นหัวข้อประจำในการประชุมคณะรัฐมนตรีทุกครั้ง ดังนั้น นโยบายด้านการเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์ และสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาชาติ เมื่อนำมาคิดเป็นสัดส่วนการออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีแล้ว จึงมีสัดส่วนร้อยละ 100 หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการพิจารณาและมีมติ ครม. เรื่องนี้ออกมาทุกเดือน

2. นโยบายการจัดการน้ำ พบว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันผลงานด้านการจัดการน้ำอย่างบูรณาการด้วยการสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่-กลาง–เล็ก อย่างมาก คิดเป็นร้อยละ 86.7 เนื่องจากปัญหาอุทกภัยในปี 2554 ส่งผลทำให้ประชาชน นักลงทุนในประเทศ และต่างชาติ ขาดความมั่นใจในรัฐบาลเป็นอย่างมาก ดังนั้น นโยบายนี้ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงให้ความสำคัญและให้น้ำหนักในการประชุมคณะรัฐมนตรีทุกครั้ง เพื่อติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่อง

3. ด้วยนโยบายด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่พรรคเพื่อไทยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ได้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งไว้ และได้รับกระแสความนิยมจากประชาชนอย่างมาก เช่น นโยบายเพิ่มรายได้แก่แรงงานวุฒิการศึกษาปริญญาตรี 15,000 บาท และพนักงานรายวัน 300 บาท รวมทั้งนโยบายเบี้ยยังชีพรายเดือนแบบขั้นบันไดสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 80 ของมติ ครม. นโยบายเหล่านี้ยังคงเป็นนโยบายที่มีข้อโต้แย้งทางวิชาการทั้งด้านบวกและลบ โดยเฉพาะนโยบายเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และ 15,000 บาท ยังถูกตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ของการนำไปบังคับใช้จริงทั่วประเทศในเดือนมกราคม 2556 ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นที่ร้อนแรงประเด็นหนึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่กำลังจะมาถึงด้วย

4. นโยบายด้านเศรษฐกิจ จากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน เช่น ปัญหาวิกฤตยูโร ปัญหาการว่างงานของอเมริกา เศรษฐกิจถดถอยของญี่ปุ่น รวมถึงเงินเฟ้อที่จีน ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมไทยในมุมกว้าง โดยเฉพาะเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ และประชาชน ดังนั้น รัฐบาลจึงดำเนินนโยบายเพื่อบรรเทาทุกข์บำรุงสุขของประชาชน เช่น นโยบายยกระดับสินค้าการเกษตรเพื่อเกษตรกร (นโยบายจำนำข้าว) และนโยบายการประกันภัยพืชผล ซึ่งมีสัดส่วนการประชุมเกี่ยวกับนโยบายเหล่านี้ คิดเป็นร้อยละ 73.3

5. มติ ครม. ในเรื่องนโยบายชะลอการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็นร้อยละ 60

6. นโยบายแก้ไขปัญหาความไม่สงบ และนำสันติสุขกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมติ ครม. คิดเป็นร้อยละ 53.3

ขณะที่นโยบายด้านอื่นๆ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญลดหลั่นกันลงมา

ที่มาภาพ: http://www.tpd.in.th/

7. นโยบายสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ ปัญหาความขัดแย้งทางความคิด และอุดมการณ์ทางการเมืองในประเทศ ได้ขยายวงกว้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมถึงสั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศ และต่างประเทศ ดังนั้นรัฐบาลจึงเร่งดำเนินการสร้างความปรองดอง และสมานฉันท์ในประเทศ โดยมีมติครม.คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.7

8. นโยบายให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน (เช่น กองทุนพัฒนาสตรี นโยบายกองทุนตั้งตัวได้ นโยบายกองทุนหมู่บ้าน) นโยบายนี้มีจุดประสงค์ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสามารถนำเงินทุนมาหมุนเวียนในธุรกิจของตนเอง ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจแก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ มีนักวิชาการหลายท่านแสดงความเป็นห่วงอย่างมากถึงวิธีการกระจายเงินทุนของรัฐบาล และการใช้เงินที่แท้จริงของประชาชน เมื่อพิจารณามติ ครม. พบว่า รัฐบาลมีการประชุมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40

9. นโยบายป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน นโยบายนี้มีสัดส่วนการประชุมของ ครม. คิดเป็นร้อยละ 26.7

10. ในโยบายป้องกันปัญหายาเสพติด (วาระแห่งชาติ) มีสัดส่วนในการประชุมของคณะรัฐมนตรีร้อยละ 20

11. นโยบายสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมสินค้าในท้องถิ่น (OTOP) คิดเป็นร้อยละ 20

12. นโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีสัดส่วนในการประชุมของคณะรัฐมนตรีร้อยละ 13.3

13. นโยบายแจกแทบเล็ตให้แก่นักเรียน คิดเป็นร้อยละ 6.7

14. นโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีสัดส่วนในการประชุมของคณะรัฐมนตรีเท่ากัน คิดเป็นร้อยละ 6.7

ส่วนอันดับที่ 15 และ 16 คือ นโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวมหัศจรรย์ไทยแลนด์ และนโยบายเร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมือง โดยพบว่าในการประชุม ครม. ในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้าบริหารประเทศ ไม่เคยมีมติเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวแต่อย่างใด

ในความเป็นจริง ภายหลังจากผ่านวิกฤตอุทกภัยปี 2554 รัฐบาลก็มีความพยายามในการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศไทย มีการสรุปภาพรวมการท่องเที่ยวไทยสม่ำเสมอแต่ยังไม่เด่นชัด จนประชาชนทั่วไปสามารถจดจำได้ ขณะที่นโยบายเร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมืองนั้น ในช่วงแรก เราจะเห็นความขมีขมันของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งมีแนวทางในการสนับสนุนและผลักดันการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ด้วยปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้การดำเนินการดังกล่าวยังติดอยู่ที่กระบวนการผ่านร่างกฎหมายของรัฐสภา ทำให้รัฐบาลยังไม่ได้มีมติ ครม. เกี่ยวกับนโยบายเรื่องนี้ที่เป็นรูปธรรมออกมา

การดำเนินการตาม 16 นโยบายเร่งด่วนที่ได้ประกาศไว้ โดยรัฐบาลยังคงมีระดับการให้ความสำคัญที่แตกต่างกันอยู่ กล่าวคือ บางนโยบายมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง บางนโยบายสามารถเห็นผลงานเป็นรูปธรรมเด่นชัดและสร้างความพึงพอใจแก่ประชาชนจำนวนมาก ในขณะที่บางนโยบายยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และบางนโยบายก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถดำเนินการได้

คงเป็นหน้าที่ของประชาชนคนไทยและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ จะต้องช่วยกันตรวจสอบติดตามทวงถามถึงนโยบายเร่งด่วน ซึ่งควรดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี ตามที่ประกาศไว้แต่ยังไม่คืบหน้า และคอยติดตามตรวจสอบนโยบายที่มีการดำเนินการไปแล้วด้วยว่า สามารถนำประโยชน์สุขมาสู่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่