ThaiPublica > เกาะกระแส > “อ.จรัส” แจกเกรดนักการเมือง เปิดสมุดพกปี’ 55 “ยิ่งลักษณ์” เป็น ส.ส.ดาวเดียว!

“อ.จรัส” แจกเกรดนักการเมือง เปิดสมุดพกปี’ 55 “ยิ่งลักษณ์” เป็น ส.ส.ดาวเดียว!

4 กุมภาพันธ์ 2013


อ.จรัส สุวรรณมาลา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับสมุดพก ส.ส. และ ส.ว.
อ.จรัส สุวรรณมาลา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับสมุดพก ส.ส. และ ส.ว.

เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย โดย “จรัส สุวรรณมาลา”อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “อรรถสิทธิ์ พานแก้ว” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแถลงเปิดตัวสมุดพก ส.ส. และ ส.ว. ปี 2554-2555 ที่ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งรวบรวมสถิติการทำหน้าที่ของ ส.ส. และ ส.ว. ชุดปัจจุบันตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 ถึง มิถุนายน 2555

ในปีที่ผ่านมามีการประชุม ส.ส. ทั้งสิ้น 84 ครั้ง แบ่งเป็นการประชุมสมัยสามัญทั่วไป 29 ครั้ง และ การประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติ 55 ครั้ง และมีการลงมติต่างๆ อาทิ การพิจารณาร่างกฎหมาย ญัตติติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล และพิจารณาเรื่องกิจการสภา จำนวน 168 ครั้ง

เมื่อเปิดสมุดพก ส.ส. จะพบว่า สถิติการเข้าประชุมของทั้งสภามีค่าเฉลี่ยที่ 95 เปอร์เซ็นต์ โดยมี ส.ส. ที่เข้าประชุมสูงกว่าค่าเฉลี่ยนี้ถึง 334 คน คิดเป็น 68 เปอร์เซ็นต์ของจำนวน ส.ส. ทั้งสภาและมี ส.ส. 140 คน เข้าประชุมครบทุกครั้ง

ส่วนการลงมตินั้น จากสถิติพบว่า ส.ส. สถิติการลงมติของ ส.ส. มีค่าเฉลี่ยที่ 74 เปอร์เซ็นต์ โดยมี ส.ส. กว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ออกเสียงลงมติน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของการลงมติทั้งหมด

“สถิติการเข้าประชุม” และ “สถิติการลงมติของ ส.ส.” จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทยนำมาเป็นเครื่องมือในการวัดระดับผลการทำงานของ ส.ส. ในสภา โดยให้สัญลักษณ์ “ดาว” แทนผลงานของ ส.ส. รายนั้นๆ ซึ่งมีตั้งแต่ 0-5 ดาว หรือ “แย่มาก” ถึง “ดีมาก”

ผลการจัดอันดับปรากฏว่า จากจำนวน ส.ส. ทั้งสภา 484 คน (ไม่นับ ส.ส. ที่ต้องงดปฏิบัติหน้าที่และ ส.ส. ที่เริ่มต้นปฏิบัติหน้าที่แทน ส.ส. ที่ลาออก)

มี ส.ส. ที่ได้ดาว 5 ดวง หรือมีผลงานการปฏิบัติหน้าที่ในสภาระดับดีมาก จำนวน 228 คน คิดเป็น 47 เปอร์เซ็นต์

ส.ส. 4 ดาว หรือมีผลงานการปฏิบัติหน้าที่ในสภาระดับดี จำนวน 89 คน คิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์

ส.ส. 3 ดาว หรือมีผลงานการปฏิบัติหน้าที่ในสภาระดับปานกลาง จำนวน 82 คน คิดเป็น 17 เปอร์เซ็นต์

ส.ส. 2 ดาว หรือมีผลงานการปฏิบัติหน้าที่ในสภาระดับน้อย จำนวน 69 คน คิดเป็น 14 เปอร์เซ็นต์

ส.ส. 1 ดาว หรือมีผลงานการปฏิบัติหน้าที่ในสภาระดับแย่ จำนวน 9 คน คิดเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ 1. นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส. ตาก พรรคประชาธิปัตย์ 2. นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ส.ส. นครปฐม พรรคเพื่อไทย 3. นายรังสิกร ทิมาตฤกะ ส.ส. บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย 4. นางอารีญาภรณ์ ซารัมย์ ส.ส. บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย

5. นายรุ่งโรจน์ ทองศรี ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย 6. นายจักรวาล ชัยวิวัฒน์นุกูล ส.ส. สุโขทัย พรรคภูมิใจไทย 7. นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ ส.ส. สระบุรี พรรคภูมิใจไทย 8. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย 9. นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

ส.ส. ไร้ดาว หรือมีผลงานการปฏิบัติหน้าที่ในสภาระดับแย่มาก มีจำนวน 7 คน คิดเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ ประกอบด้วย 1. นายพงศ์เวช เวชชาชีวะ ส.ส. จันทบุรี พรรคประชาธิปัตย์ 2. นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส. ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ 3. นายมนต์ ไชย ชาติวัฒนศิริ ส.ส. บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย

4. นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส. ลำพูน พรรคเพื่อไทย(เสียชีวิต) 5. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย 6. นายปัญญวัฒน์ บุญมี ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และ 7. พล.อ.พิชาญเมธ ม่วงมณี ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

สมุดพกนักการเมือง

สำหรับผลการทำงานของ ส.ว. ในภาพรวมนั้นพบว่า สถิติการลงมติเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 62 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการออกเสียงลงมติของ ส.ส. ในรอบปีเดียวกันอยู่ร้อยละ 12

โดยมี ส.ว. ออกเสียงลงมติสูงกว่าร้อยละ 70 จำนวน 46 คน คิดเป็นร้อยละ 31 ของ ส.ว. ทั้งหมด ในจำนวนนี้มี ส.ว. ที่ออกเสียงลงมติครบทุกครั้งเพียง 1 คน เท่านั้น คือ นายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว. พัทลุง

หากแบ่งตามที่มาของ ส.ว. นั้นจะพบว่า การออกเสียงลงมติระหว่าง ส.ว. ที่มีที่มาจากการเลือกตั้งและจากการสรรหาแทบไม่มีความแตกต่างกัน โดย ส.ว. สรรหา ออกเสียงลงมติเฉลี่ย 62 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ ส.ว. เลือกตั้งออกเสียงลงมติ 61 เปอร์เซ็นต์

เมื่อจัดอันดับตามสถิติการลงมติของ ส.ว. พบว่า มี ส.ว. ที่ได้ 5 ดาว เป็นจำนวนเพียง 4 คน ประกอบด้วย 1. นายสุพจน์ เลียดประถม ส.ว. ตราด 2. นายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว. พัทลุง 3. นายสุริยา ปันจอร์ ส.ว. สตูล และ4. พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ส.ว. สรรหา

ส.ว. 4 ดาว จำนวน 19 คน

ส.ว. 3 ดาว จำนวน 24 คน

ส.ว. 2 ดาว จำนวน 40 คน

ส.ว. 1 ดาว จำนวน 30 คน

ส.ว. ไร้ดาว จำนวนถึง 32 คน

ทั้งนี้ ในการแจกสมุดพก ส.ส. และ ส.ว. ของเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทยในครั้งนี้ มีการนำเสนอข้อมูลประกอบที่น่าสนใจ คือ ค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้ ส.ส. 1 คน มาทำงาน โดยจะต้องใช้งบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนถึงวันละ 20,856 บาทต่อ ส.ส. หรือ ส.ว. 1 คน หรือปีละ 7.3 ล้านบาท (คำนวณจากค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งเขตละ 5 ล้านบาท และค่าใช้จ่าเพื่อการสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. รายละ 6.9 ล้านบาทต่อปี)

อาจารย์จรัสกล่าวว่า สมุดพกเล่มนี้เป็นการสะท้อนการทำหน้าที่ของ ส.ส. และ ส.ว. ชุดปัจจุบัน โดยมีแนวคิดมาจากสมุดพกของนักเรียน เพื่อที่จะรายงานพฤติกรรมของ ส.ส. ให้ประชาชนซึ่งถือเป็นผู้ปกครองได้รับทราบและตรวจสอบหลังจากส่ง ส.ส. และ ส.ว. มาทำหน้าที่ในสภา โดยเบื้องต้น เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทยได้มอบสมุดพกให้กับ ส.ว. ทุกคนแล้ว และกำลังจะมอบให้ให้ ส.ส. ในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ ในสมุดพกยังแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างสถิติการเข้าประชุมและการลงมติต่างๆ ที่มีความแตกต่างกัน โดยจะพบว่า พรรครัฐบาลจะเข้าร่วมประชุมและลงมติมากกว่าพรรคฝ่ายค้าน เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นในทุกสมัยไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ทำให้การลงมติในบางครั้งเป็นที่น่าสังเกตว่าอาจจะไม่ใช่ประโยชน์ของประชาชน แต่เป็นประโยชน์ร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลก็ได้

“ขอแสดงความชื่นชมการทำงานของประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำให้ค่าเฉลี่ยในการเข้าร่วมประชุมของ ส.ส. สูงขึ้น และขอเรียกร้องให้ ส.ส. และ ส.ว. หลายคนมีจิตสำนึกในการทำหน้าที่ให้คุ้มค่ากับเงินงบประมาณที่เสียไป โดย ส.ส. 1 คน จะต้องใช้เงินงบประมาณถึง 20,856 บาทต่อวัน หรือเดือนละกว่า 6 แสนบาท ซึ่งประชาชนควรจะพิจารณาว่า ส.ส. ในพื้นที่ของตัวเองทำหน้าที่ได้อย่างคุ้มค่าหรือไม่ และถ้าไม่คุ้มค่า ควรที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่” อาจารย์จรัสกล่าว

อาจารย์จรัสได้ตอบคำถามกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี ได้เพียง 1 ดาว ว่า เข้าใจว่าตำแหน่งที่อยู่ในฝ่ายบริหารอย่างนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมาร่วมประชุมน้อยเพราะไม่ค่อยได้อยู่เนื่องจากติดภารกิจ ดังนั้น เกณฑ์จึงมีความแตกต่างไปจาก ส.ส. ทั่วไป แต่การที่จะไม่เข้าประชุมเลยก็ถือว่าเป็นปัญหาเช่นกัน หรือบางคนได้ตำแหน่งแล้วแต่ใช้ตำแหน่งนี้มาแก้ตัวถึงการที่ไม่เข้าประชุมมันก็มากไปหน่อย ตนคิดว่านายกฯ เองควรที่จะเข้าประชุมสภาให้มากกว่านี้

ส่วนกรณีที่ ส.ส. ไม่สามารถลงหรือไม่ลงมติอย่างเป็นอิสระปราศจากการควบคุมของพรรคการเมืองที่สังกัดอยู่นั้น อ.จรัส กล่าวว่า วันนี้พรรคการเมืองของประเทศไทยไม่ใช่พรรคการเมือง แต่เป็นพรรคที่รับเหมาประเทศ มีคนตั้งพรรคขึ้นมาไปรับเหมาประเทศ ส.ส. จะออกนอกมติของพรรคก็ไม่ได้ เพราะนอกจากจะรับเงินเดือนของสภาแล้วยังรับเงินเดือนของพรรคอีก ส.ส. จึงไม่ต่างอะไรไปจากลูกจ้างของพรรค ดังนั้น พรรคการเมืองของประเทศไทยควรที่จะพัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง ให้เป็นพรรคการเมืองอย่างแท้จริง

4 พฤติกรรม ส.ส. ผู้ทรงเกลียด?

เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทยได้รวบรวมเหตุการณ์ที่แสดงถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของ ส.ส. ในการทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎรดังนี้

1. เสียบบัตรแทนกัน ในระหว่างการนับองค์ประชุมเพื่อลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ…. ในวันที่ 25 มกราคม 2555 น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส. สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นประท้วงต่อประธานในการประชุมว่า มี ส.ส. บางคนเสียบบัตรประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงคะแนนเสียงแทน ส.ส. คนอื่น ซึ่งได้ทำให้เกิดการโต้แย้งระหว่าง ส.ส. จากพรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ส. พรรคฝ่ายค้านในประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง แม้จะไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนในประเด็นนี้ แต่ในโลกออนไลน์ได้มีคลิปที่แสดงการเสียบบัตรแทนกันในสภาฯ ออกมาเผยแพร่ นอกจากนี้ นางรสนา โตสิตระกูล ส.ว. กทม.ได้นำรูปถ่ายมาแสดงให้เห็นว่ามีการเสียบบัตรแทนระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 2 อีกด้วย

2. ใช้วาจาไม่สุภาพ หยาบคาย ส่อเสียด โดยในระหว่างการประชุม ส.ส. บางคนได้มีการใช้วาจาไม่สุภาพต่อเพื่อนสมาชิก ส.ส. ด้วยกันอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ประชาชนผู้รับชมและรับฟังการถ่อยทอดสดการประชุมสภา หรือติดตามข่าวจากสื่ออื่นๆ รู้สึกเบื่อหน่ายกับการใช้คำพูดเหล่านี้ จนทำให้ภาพลักษณ์ของสภาผู้แทนราษฎรติดลบในสายตาประชาชน

3. ดูภาพลามกในขณะประชุมสภา ส.ส. รายหนึ่งถูกฟ้องด้วยภาพว่าดูภาพวาบหวามในระหว่างการประชุมสภา

4. ใช้กำลังในสภา “กระชากเก้าอี้ประธานสภา” “ขว้างหนังสือใส่ประธานสภา” “บีบคอ ส.ส.” เหล่านี้ล้วนเป็นพฤติกรรมการใช้กำลังที่ ส.ส. ทำในขณะประชุมสภา สาเหตุของการแสดงออกเช่นนี้ก็เพียงเพื่อต้องการเอาชนะกันในเกมการเมือง

พฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งประชาชนควรที่จะพิจารณาว่า ส.ส. ในเขตเลือกตั้งของตนแสดงพฤติกรรมอย่างไร และเหมาะสมกับการดำรงตำแหน่ง ส.ส. ที่ได้ชื่อว่าเป็นตำแหน่งที่ “ทรงเกียรติ” หรือไม่?