ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดสมุดพก ส.ส. – ส.ว. เดือนกันยายน ส่วนใหญ่ “เข้าประชุม แต่ไม่ลงมติ”

เปิดสมุดพก ส.ส. – ส.ว. เดือนกันยายน ส่วนใหญ่ “เข้าประชุม แต่ไม่ลงมติ”

28 ตุลาคม 2012


ที่มาภาพ: www.thairath.co.th
ที่มาภาพ: www.thairath.co.th

เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย ได้เผยแพร่สมุดพกนักการเมือง เดือนกันยายน เพื่อสะท้อนการทำงานในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ผ่านทางเว็บไซต์ www.tpd.in.th

ทั้งนี้การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญทั่วไป เดือนกันยายน 2555 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ระหว่างวันที่ 5 กันยายน ถึง 27 กันยายน พ.ศ. 2555 มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 8 ครั้ง

โดยมีผลการดำเนินงานในห้วงเวลาดังกล่าวดังนี้

1. กลั่นกรองกฎหมาย/พิจารณากฎหมาย 14 ฉบับ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.จัดการศึกษาสำหรับคนพิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

2. ติดตามตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน โดยการตั้งกระทู้ถาม 26 กระทู้ อาทิ การระบายข้าวของรัฐบาล ที่มีนายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีเรื่องความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ถามนายกรัฐมนตรี และกระทู้ถามเรื่องความมั่นคงตามแนวชายแดน ที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักประเทศไทย ถามรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

3. ศึกษาปัญหาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาของประชาชนผ่านการเสนอญัตติ 2 ญัตติ คือ ญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและหามาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและหามาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

4. รับทราบรายงานเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน 10 เรื่อง อาทิ รับทราบรายงานการรับและใช้จ่ายเงินของกองทุนเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 และรับทราบรายงานการรับและการใช้จ่ายเงินรายได้ที่ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2551–2552

สำหรับสถิติการเข้าประชุมสภาของ ส.ส. ในเดือนกันยายนนั้นมีค่าเฉลี่ยการเข้าประชุมอยู่ที่ร้อยละ 92

โดยมี ส.ส. ที่เข้าประชุมเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 90 ของการประชุมทั้งหมด จำนวน 337 คน คิดเป็นร้อยละ 69

ส.ส. ที่เข้าประชุมเฉลี่ยอยู่ระหว่างร้อยละ 80-89 มี 70 คน คิดเป็นร้อยละ 14

ส.ส. ที่เข้าประชุมเฉลี่ยอยู่ระหว่างร้อยละ 70-79 มีจำนวน 52 คน คิดเป็นร้อยละ 11

ส.ส. ที่มีการเข้าประชุมต่ำกว่าร้อยละ 70 ของการประชุม มีจำนวน 31 คน คิดเป็นร้อยละ 6

แต่เมื่อพิจารณาสถิติการลงมติในการพิจารณาเรื่องต่างๆ จะเห็นว่า ส.ส. ยังคงออกเสียงลงมติได้น้อยกว่าการเข้าประชุม ซึ่งเห็นได้จากความแตกต่างของสถิติการลงมติและการเข้าประชุมสภา โดยสถิติการลงมติของ ส.ส. ทั้งสภามีเพียงร้อยละ 74 เท่านั้น ในขณะที่สถิติการเข้าประชุมสภาเฉลี่ยที่ร้อยละ 92 สะท้อนให้เห็นว่า ส.ส. ได้เข้าประชุมแต่กลับไม่ลงคะแนนเสียงทั้งที่เสียงของ ส.ส. คือเสียงที่ได้รับจากประชาชน

ทั้งนี้ สำหรับ ส.ส. ที่เข้าประชุมน้อยกว่าร้อยละ 50 มีจำนวน 8 คน ประกอบไปด้วย น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, นายรุ่งโรจน์ ทองศรี ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย, นางพรทิวา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท พรรคภูมิใจไทย, นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.บัญชีรรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์, นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์, นายปัญญวัฒน์ บุญมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์, และ พล.อ.พิชาญเมธ ม่วงมณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้สำหรับนายปัญญวัฒน์และ พล.อ.พิชาญเมธนั้น ได้รับแจ้งว่าไม่สบาย

ส่วน ส.ส. ที่ไม่เคยลงมติในเดือนกันยายนเลยแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งส่วนใหญ่จะมีตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยนั้น ได้แก่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, นางนันทพร วีรกุลสุนทร ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์, นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย, นายปัญญวัฒน์ บุญมี, ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

นางพรทิวา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท พรรคภูมิใจไทย, พล.อ.พิชาญเมธ ม่วงมณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์, นายภูมิ สาระผล ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, นายรังสิกร ทิมาตฤกะ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย, นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ ส.ส.พิจิตร พรรคชาติไทยพัฒนา, นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์, นายอนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี พรรคมาตุภูมิ และนายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

ขณะที่การทำหน้าที่ของของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นั้น ในเดือนกันยายน 2555 ส.ว. ได้ทำการประชุมวุฒิสภาสมัยสามัญทั่วไปทั้งหมด 9 ครั้ง มีการออกเสียงลงมติในเรื่องต่างๆ 21 ครั้ง

ในการประชุมระหว่างเดือนกันยายน ส.ว. ได้พิจารณากฎหมายทั้งสิ้น 10 ฉบับ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

สำหรับการติดตามตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน ส.ว. ได้มีการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลจำนวน 5 กระทู้ อาทิ การดำเนินนโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐบาลและปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำ รวมถึงมีการสรรหาแต่งตั้งและตรวจสอบถอดถอนบุคคลอีกจำนวน 2 เรื่อง

ส่วนสถิติการเข้าลงมติในสมัยประชุมสามัญทั่วไป เดือนกันยายน พ.ศ. 2555 ของ ส.ว. นั้น เข้าลงมติเฉลี่ยร้อยละ 65 ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้

ส.ว. ที่ลงมติครบทุกครั้ง จำนวน 7 คน

ลงมติสูงกว่าร้อยละ 70 แต่ไม่ครบทุกครั้ง จำนวน 61 คน

ลงมติสูงกว่าร้อยละ50 แต่ต่ำกว่าร้อยละ 70 จำนวน 21 คน

ลงมติต่ำกว่าร้อยละ 50 แต่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 จำนวน 49 คน

และที่ลงมติต่ำกว่าร้อยละ 20 จำนวน 8 คน

ทั้งนี้ สำหรับ ส.ว. ที่ลงมติไม่ถึงร้อยละ 50 มีจำนวน 36 คน แบ่งเป็น ส.ว.สรรหา จำนวน 13 คน และ ส.ว.เลือกตั้ง 23 คน ประกอบด้วย นายประสงค์ ตันมณีวัฒนา ส.ว.สรรหา, นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา, นายวิรัติ พาณิชย์พงษ์ ส.ว.สรรหา, รองศาสตราจารย์กอบกุล พันธ์เจริญวรกุล ส.ว.สรรหา, นายวัชระ ตันตรานนท์ ส.ว.สรรหา, พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา, พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ ส.ว.สรรหา, พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา, นายบุญชัย โชควัฒนา ส.ว.สรรหา, หม่อมหลวงปรียพรรณ ศรีธวัช ส.ว.สรรหา, นายประวิทย์ จันทราประภาวัฒน์ ส.ว.สรรหา, นายจารุพงศ์ จีนาพันธ์ ส.ว.สรรหา, นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ ส.ว.สรรหา

นายจรัล จึงยิ่งเรืองรุ่ง ส.ว.สระบุรี, นางจิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา ส.ว.ชัยนาท, นายถนอม ส่งเสริม ส.ว.อุบลราชธานี, นายมงคล ศรีคำแหง ส.ว.จันทบุรี, นายสมศักดิ์ บุญเปลื้อง ส.ว.ลำพูน, นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล ส.ว.กาฬสินธุ์, นายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว.พัทลุง, นายประวัติ ทองสมบูรณ์ ส.ว.มหาสารคาม, นายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี, นายมูหามะรอสดี บอตอ ส.ว.นราธิวาส, นางสุอำาภา คชไกร ส.ว.สุโขทัย

นายธันว์ ออสุวรรณ ส.ว.ประจวบคีรีขันธ์, นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี, พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ ส.ว.อ่างทอง, นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ, นายไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ ส.ว.ปทุมธานี, นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล ส.ว.สมุทรสาคร, นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี, นายสุรพงษ์ ตันธนศรีกุล ส.ว.กาญจนบุรี, นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ส.ว.ขอนแก่น, นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี, น.ส.ศรีสกุล มั่นศิลป์ ส.ว.นครสวรรค์ และนายต่วนอับดุลเล๊าะ ดาโอ๊ะมารียอ ส.ว.ยะลา