หลังจากที่นายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ เลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบคุณสมบัติ เพื่อเข้ารับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ องค์การค้าของ สกสค. มี 3 ราย ได้แก่ นายสมมาตร์ มีศิลป์, นายชวลิต ลีลาศิวพร และ นายปิติ นุชอนงค์
หนึ่งในสามของผู้สมัครที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ เข้ารอบรอสัมภาษณ์ และแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหา ในวันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม 2555 คือนายสมมาตร์ อดีตผู้อำนวยการ องค์การค้าคุรุสภา (ชื่อเดิม) เคยถูกองค์การค้าคุรุสภาแจ้งความดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ 10 คดี ในสมัยที่นายชุมพล ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งองค์การค้าคุรุสภามีคำสั่งบอกเลิกสัญญาว่าจ้างนายสมมาตร์ในเวลาต่อมา คำสั่งคุรุสภา เลิกสัญญาจ้างนายสมมาตร์
แหล่งข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า ถ้าดูตามประกาศคณะกรรมการ สกสค. เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคล เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.นั้นมีสถานะเป็นกฎหมาย ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 63(5), (6) และมาตรา 90 แห่ง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา 2546 โดย น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามอนุมัติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2555
ในข้อที่ 1.10 กำหนดคุณสมบัติทั่วไปและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครขอรับการสรรหาเอาไว้ว่า “ต้องไม่เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก ไล่ออก หรือถูกเลิกจ้าง จากหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน แต่ไม่นับรวมกรณีเลิกจ้าง เนื่องจากสัญญาว่าจ้างสิ้นสุด”
กรณีองค์การค้าคุรุสภามีคำสั่งบอกเลิกสัญญาว่าจ้างนายสมมาตร์ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2541 ประเด็นนี้จะเข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัครขอรับการสรรหา ตามข้อ 1.10 หรือไม่ ประกาศคณะกรรมการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2550 องค์การค้าของ สกสค. ออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการสรรหาและแต่งตั้งบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 โดยเพิ่มคุณสมบัติทั่วไปและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ข้อ 1(12) ว่า”ต้องไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างถูกฟ้องในคดีที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงาน หรือมีธุรกิจการค้ากับองค์การค้าของ สกสค.” ซึ่งแตกต่างจากประกาศหลักเกณฑ์ฯ ฉบับเดิมที่ถูกยกเลิกไป
ขณะนั้นมีผู้สมัคร 2 ราย คือนายบำเรอ ภานุวงศ์ กับนายสมมาตร์ มีศิลป์ ผลการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาปรากฏว่า นายบำเรอมีคุณสมบัติถูกต้อง ตามประกาศของคณะกรรมการ สกสค. ว่าด้วยเรื่องการสรรหาฯ เพียงคนเดียว
นายสมมาตร์คุณสมบัติไม่ผ่าน จึงทำเรื่องไปร้องต่อศาลปกครอง กรณีที่ สกสค. ไปเพิ่มข้อความ “ลักษณะต้องห้าม” ในประกาศของคณะกรรมการ สกสค. ว่าด้วยเรื่องการสรรหาฯ เป็นการกระทำที่ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2550”
ต่อมา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2554 ศาลปกครองเพิ่งจะมีคำวินิจฉัยว่า “ลักษณะต้องห้ามดังกล่าวนี้ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกลั่นแกล้ง และกีดกันนายสมมาตร์ ไม่ให้ได้เข้ารับการสรรหา” จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนประกาศของคณะกรรมการ สกสค. ว่าด้วยเรื่องการสรรหาฯ
แต่ในทางปฏิบัติไม่มีผลบังคับใดๆ เพราะบอร์ด สกสค. ได้มีการแต่งตั้งนายบำเรอเป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. และอยู่ในตำแหน่งจนพ้นวาระไปแล้ว
แหล่งข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการกล่าวต่อไปอีกว่า จากการที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาดังกล่าว อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้คณะกรรมการสรรหาฯ ที่มีนายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ เป็นประธานคณะกรรมการ ไม่แน่ใจว่า กรณีองค์การค้าคุรุสภาเคยมีคำสั่งเลิกจ้างนายสมมาตร์ เข้าข่าย “คุณสมบัติต้องห้าม” ตามข้อ 1.10 หรือไม่
หากไปตัดสิทธินายสมมาตร์ อาจจะถูกฟ้องศาลปกครอง เพราะคำสั่งเลิกจ้างไม่ได้ระบุชัดเจนว่า สาเหตุของการเลิกสัญญาจ้างมีต้นเหตุมาจากข้อกล่าวหายักยอกทรัพย์ นอกจากนี้ ทั้ง 10 คดี ก็ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด
หากย้อนกลับไปดูประวัติของนายสมมาตร์ องค์การค้าคุรุสภาแจ้งความดำเนินคดีอาญานายสมมาตร์ ในช่วงปี 2548-2549 ข้อหายักยอกทรัพย์ถึง 10 คดี คิดเป็นมูลค่าทุนทรัพย์กว่า 90 ล้านบาท ปัจจุบันคดีทั้งหมดที่องค์การค้าของ สกสค. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมมาตร์ยังอยู่ในระหว่างการต่อสู้ในชั้นศาล
ที่ผ่านมาทั้ง 10 คดี ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง 6 คดี โดยศาลชั้นต้นมองว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไม่มีอำนาจลงนามแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษองค์การค้าของ สกสค. ได้ อัยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ล่าสุดมีอยู่ 1 คดี ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาออกมาว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ และสั่งให้ส่งเรื่องกลับไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ นายสมมาตร์จึงทำเรื่องอุทธรณ์ไปที่ศาลฎีกา ปัจจุบันคดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ส่วนอีก 4 คดีที่เหลือ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้อง ทางองค์การค้าของ สกสค. ให้อัยการทำเรื่องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา