ThaiPublica > เกาะกระแส > สหภาพฯ คุรุสภา จี้สอบทุจริตงบฯ จ้างพิมพ์ตำราเรียน ต้นเหตุที่ทำให้องค์การค้าฯ เจ๊ง

สหภาพฯ คุรุสภา จี้สอบทุจริตงบฯ จ้างพิมพ์ตำราเรียน ต้นเหตุที่ทำให้องค์การค้าฯ เจ๊ง

2 กรกฎาคม 2020


นายอารีย์ สืบวงศ์ ที่ปรึกษาและอดีตประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา (ขวา)

อดีตประธานสหภาพคุรุสภา เรียกร้องบอร์ดบริหารองค์การค้าของ สกสค. ทบทวนมติเลิกจ้างพนักงาน 961 คน จี้สอบทุจริต ต้นเหตุสำคัญที่ให้เกิดปัญหาขาดทุน – หนี้สินล้นพ้นตัว

หลังจากที่คณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค. ลงมติ และออกคำสั่งองค์การค้าของ สกสค. ที่ 85/2563 ให้เลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. จำนวน 961 คน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป โดยให้เหตุผลว่าองค์การค้าฯ ประสบปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 15 ปี ทำให้มีหนี้สินสะสมกว่า 5,700 ล้านบาท ประกอบกับองค์การค้าฯ มีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เกินกว่าปริมาณงานที่มีอยู่ จนกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ทำให้สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่เกือบทั้งหมด

  • องค์การค้า สกสค. ทนแบกขาดทุนต่อไม่ไหว สั่งเลิกจ้างพนักงาน 961 คน
  • อ่านซีรีส์ข่าว องค์การค้า สกสค. กับคำถาม “ความโปร่งใส”
  • ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 นายนิวัติชัย แจ้งไพร ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา พร้อมด้วยนายอารีย์ สืบวงศ์ ที่ปรึกษาและอดีตประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา แถลงข่าวเรียกร้องให้คณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค. ทบทวนมติเลิกจ้าง พร้อมชี้แจงสาเหตุที่ทำให้องค์การค้าของ สกสค. ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง ณ ศาลาศูนย์การเรียนรู้ชุมชน กศน. แขวงวังทองหลาง วัดสามัคคีธรรม ลาดพร้าว

    นายอารีย์ สืบวงศ์ ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา กล่าวว่า จากคำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ พอสรุปเหตุที่องค์การค้าของ สกสค. ต้องเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ เนื่องจากองค์การค้าฯ ทนแบกภาระค่าใช้จ่าย ค่าจ้างพนักงานไม่ไหว รวมทั้งมีปัญหาขาดสภาพคล่อง และมีหนี้สินล้นพ้นตัวประมาณ 5,700 ล้านบาท จำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานขององค์การค้าทั้งหมด

    ดังนั้น ทางสหภาพฯ จึงต้องมาหาคำตอบ ยอดขาดทุนสะสมขององค์การค้าฯ 5,700 ล้านบาท มีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งผู้บริหารขององค์การค้าฯ ไม่เคยพูดถึงเรื่องความล้มเหลวในการบริหารงาน ถามว่าผู้บริหารขององค์การค้าฯ ทราบหรือไม่ว่ามีเรื่องทุจริต ต้องบอกว่าทราบ แต่เอาไว้ก่อน สิ่งที่ทำตอนนี้ ขอเอาลูกจ้างออกก่อน

    “แต่ตามหลักกฎหมาย สถานประกอบการทุกแห่ง ก่อนที่จะเลิกจ้างพนักงาน ก็ควรต้องทำความเข้าใจกับลูกจ้างให้เข้าใจถึงเหตุและผลว่านายจ้างกำลังจะทำอะไร สมมตินายจ้างต้องการจะยุบองค์กร จำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด หรือนายจ้างต้องการจะปรับปรุงโครงสร้างองค์กรใหม่ อาจต้องเลิกจ้างพนักงานบางส่วน เรื่องอย่างนี้ควรทำความเข้าใจ ชี้แจงให้ลูกจ้างรับทราบก่อน ลูกจ้างมีความคิดเห็นอย่างไรก็มาคุยกัน นี่คือผู้บริหารที่มีธรรมาภิบาล” นายอารีย์กล่าว

    ประกาศคำสั่งองค์การค้าของ สกสค. ที่ 85/2563 พร้อมรายชื่อพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง

    นายอารีย์กล่าวต่อว่า เหตุที่องค์การค้าฯ เลิกจ้างพนักงาน เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ถามว่าจริงหรือไม่ ตนยอมรับว่าจริง ถามต่อไปว่าเริ่มขาดทุนตั้งแต่เมื่อไหร่ ตนขอเล่าให้ฟังสั้นๆ คือ ในปี 2539-2540 เป็นยุคที่องค์การค้าฯ รุ่งเรืองที่สุด ผลประกอบการในปีบัญชี 2539 มีกำไรสะสมกว่า 1,500 ล้านบาท สมัยนั้นพนักงานองค์การค้าฯ ได้โบนัส 2 เท่าของเงินเดือน จากนั้นในช่วงปี 2541-2543 องค์การค้าฯ ก็ยังมีกำไรสะสมเหลืออยู่ ช่วงไหนบริหารงานขาดทุนก็ไปเอากำไรสะสมมาใช้ และก็ใช้จนหมดในปี 2543

    พอถึงปี 2544 ไม่มีกำไรสะสมแล้ว องค์การค้าฯ ก็เริ่มทำโครงการ หรือทำแผนเข้าไปขอกู้เงินกับสถานบันการเงินต่าง ๆ แต่แผนงานที่ทำเสนอแบงก์ ก็เพื่อให้ได้รับการอนุมัติเงินกู้ เมื่อได้เงินมาแล้ว ก็เอาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ถามเหตุการณ์ลักษณะนี้เคยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงหรือไม่ ต้องบอกว่า “มี” แต่สหภาพไม่เคยเห็นผลการสอบสวนสุดท้ายได้ข้อสรุปอย่างไร

    “หลายคนอาจจะสมน้ำหน้าพนักงานขององค์การค้าฯ ปล่อยให้องค์การค้าฯ ขาดทุนมาตั้งหลายปี ตอนนี้เพิ่งจะออกมาโวยวาย เพราะถูกเลิกจ้าง อย่างนี้ก็ควรถูกยุบไปได้แล้ว ซึ่งผมคงต้องให้อภัยแทนสหภาพฯ ที่ผ่านมาเราไม่ได้นำประเด็นเหล่านี้ออกมาสื่อสารให้สาธารณชนได้รับทราบ แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสหภาพฯ ก็ไม่ได้ละเลย เราได้ทำเรื่องไปร้องเรียนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), คณะกรรมการ ป.ป.ช., กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักนายกรัฐมนตรี ไปตรวจสอบดูได้ที่หน่วยงานเหล่านี้ บางเรื่องถูกชี้มูลมาแล้ว ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ และองค์การค้าฯ ก็แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่จนถึงวันนี้ไม่มีเรื่องไหนที่ได้ข้อสรุป” นายอารีย์กล่าว

    นายอารีย์ กล่าวว่า อีกสาเหตุหนี่งที่ทำให้องค์การค้าฯ ขาดทุนต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี คือ การว่าจ้างเอกชนมารับงานพิมพ์หนังสือแทนองค์การค้าฯ โดยอ้างเหตุผลว่าองค์การค้าฯ ผลิตหนังสือไม่ทันตามเวลาที่กำหนด ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวันที่ 15 มีนาคม – 31 กรกฎาคมของทุกปี ถามว่าทำไมต้องเอาไปจ้างเอกชนพิมพ์ ซึ่งเรื่องนี้มันมีกระบวนการตามเอกสารต่างๆ ที่สหภาพฯ ตรวจสอบ และนำออกมาจากสำนักงานฯ ซึ่งตนไม่มีเจตนาจะไปกล่าวหาหรือว่าใครส่อทุจริต ถามผู้บริหารองค์การค้าฯ จะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ เขาบอกว่าตอนนี้พักไว้ก่อน เดี๋ยวหยิบมาพิจารณาแน่ แต่ในขณะนี้องค์การค้าฯ เลิกจ้างพนักงานไปแล้ว 961 คน ทั้งนี้ไม่นับรวมพนักงานที่กำลังเกษียณในเดือนกันยายนนี้จำนวน 60 คน และยังมีกรรมการหรือลูกจ้างอีก 19 คน ซึ่งต้องไปขออำนาจศาล สั่งยกเลิกสัญญาจ้าง รวมแล้วถูกเลิกจ้างเกือบจะทั้งองค์กร

    นายอารีย์ สืบวงศ์ ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา

    “ขณะนี้ทางสหภาพฯ ยังไม่ได้รับคำชี้แจงเหตุผลว่าทำแบบนี้เพราะอะไร ผมจึงอดคิดไม่ได้ คือ 1. องค์การค้าฯ ถูกยุบแล้ว เพราะไม่มีพนักงาน หรือ 2. ล้มกระดาน เลิกจ้างพนักงาน แต่ตัวองค์กรยังอยู่ เพราะตอนนี้มีการทำสัญญาว่าจ้างผู้อำนวยการองค์การค้าฯ คนใหม่เข้ามาทำงานแล้ว เพิ่งเดินทางเข้ามารับตำแหน่ง และจัดพิธีต้อนรับกันไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถ้าเป็นไปตามข้อที่ 2 นี้ ก็มีโอกาสที่องค์การค้าฯ จะจ้างพนักงานกลับเข้ามาทำงานใหม่ พนักงานที่เงินเดือนสูงๆ ถ้าอยากจะกลับเข้ามาทำงานใหม่ก็อาจจะต้องยอมรับเงินเดือนต่ำลงมาหน่อย ถามว่าใครจะไม่เอา ก็ต้องเอา ถ้าทำแบบนี้ ถือว่ามีคุณธรรมหรือไม่” นายอารีย์กล่าว

    นายอารีย์กล่าวต่อว่า การจ้างพิมพ์ภายนอก บอกได้เลยว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้องค์การค้าฯ ขาดทุน หากมีขบวนการการจ้างพิมพ์ที่ไม่สุจริต ตามเอกสารที่ได้แจกให้กับสื่อมวลชน คราวนี้มาดูโครงสร้างของราคาขาย ตามหลักการของการตั้งราคาขายหนังสือ โครงสร้างของราคาจะประกอบไปด้วยค่าวัตถุดิบ ค่าแรง ค่าจ้าง ซึ่งปรับขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ปกติถ้ามีการปรับขึ้นค่าแรง ก็ต้องมีการปรับขึ้นราคาสินค้า หรือ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆด้วย แต่องค์การค้าฯ ถูกสั่งให้ตรึงราคาหนังสือเอาไว้ นี่คือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้องค์การค้าฯ ขาดทุน

    “คราวนี้มาดูเรื่องการไปจ้างเอกชนภายนอกพิมพ์หนังสือ ปกติองค์การค้าฯ ก็จะมีต้นทุนค่าแรง ค่าล่วงเวลา ค่าซ่อมบำรุงแท่นพิมพ์ รวมอยู่ในผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดอยู่แล้ว และการที่ผู้บริหารองค์การค้าฯ เอางานขององค์การค้าฯ ออกไปจ้างเอกชนภายนอกพิมพ์หนังสือ เท่ากับองค์การค้าฯ ต้องจ่ายค่าจ้างแรงงาน 2 เด้ง เพราะเอกชนก็มีต้นทุนค่าแรง ค่าเครื่องจักร เช่นเดียวกับองค์การค้าฯ แถมยังต้องบวกกำไรอีก 10% พอนำหนังสือมาส่งให้องค์การค้าฯ เพื่อนำไปจำหน่ายต่อไป กระทรวงศึกษาธิการก็สั่งให้ตรึงราคา ขอถามหน่อย องค์การค้าฯ จะเอากำไรตรงส่วนไหน ดังนั้น การนำงานขององค์การค้าฯ ไปจ้างเอกชนพิมพ์ ขาดทุนแน่นอน แถมยังจ้างแพงอีกต่างหาก ประเด็นนี้ก็อยากให้สื่อมวลชนไปตรวจสอบ” นายอารีย์กล่าว

    นายอารีย์กล่าวต่อว่า ประเด็นเหล่านี้ตนเคยพูดให้ผู้บริหารองค์การค้าฯ หลายคนฟังไม่รู้กี่ครั้งแล้ว ผู้บริหารบางคนก็เชื่อ แต่ผู้บริหารรายนี้ถูกเด้งออกจากองค์การค้าฯ และถูกกล่าวหาว่าทุจริต แต่หลังจากการสอบสวนแล้ว ปรากฏว่าไม่พบทุจริต แต่ก็ต้องถูกเลิกจ้างไปในที่สุด ไม่สามารถกลับเข้ามารับตำแหน่งที่นี่ได้อีกต่อไป นี่คือการบล็อก ระยะหลังผู้บริหารที่นี่อยู่ไม่ครบเทอม ถูกตั้งคณะกรรมการสอบทุจริต ผู้บริหารประเภทนี้คือไม่ทำตามนโยบายของคณะกรรมการบริหาร กับอีกประเภทหนึ่งทำตามนโยบายของคณะกรรมการบริหาร แต่ถูกสหภาพฯ ตรวจสอบพบและมีมูล อยู่ไม่ได้ ต้องลาออกไป นี่คือสาเหตุที่ทำให้การบริหารงานที่นี่ล้มเหลว ถ้ารู้แล้วก็ต้องปิดช่องโหว่ โดยการแก้ไขระเบียบข้อบังคับต่างๆ ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น ปรากว่าในขณะนี้ก็ยังระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำธุรกิจในบางรายการใช้กันมาตั้งแต่ปี 2548-2549 ตอนนี้ก็ยังไม่ได้แก้ไข

    “ข้อเรียกร้องของสหภาพฯ คือ เรื่องการทุจริตก็ต้องสอบให้สัมฤทธิ์ผล ผมอยากจะฝากไปถึงคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค. ขอให้ทบทวนมติดังกล่าว รวมทั้งยกเลิกคำสั่งเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าฯ นี่คือจุดยืนของสหภาพฯ” นายอารีย์กล่าวทิ้งท้าย

    อ่านแถลงการณ์สหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา (ด้านล่าง)