ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท วิบากกรรมธปท. ปมร้อนยิ่งแตะยิ่งร้อน

หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท วิบากกรรมธปท. ปมร้อนยิ่งแตะยิ่งร้อน

3 มกราคม 2012


ปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นในปี 2540 จำนวน 1.3 ล้านล้านบาท ผ่านมาเกือบ 14 ปี ยอดหนี้ยังอยู่ระดับสูง 1.14 ล้านล้านบาท หรือลดลงไปเพียง 1.63 แสนล้านบาท ทำให้ภาระดอกเบี้ยเบ่งบานเป็นภาระงบประมาณปีละหลายหมื่นล้านบาท เคยสูงสุดถึง 6.7 หมื่นล้านบาท ในปี 2551 อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังประเมินล่าสุดว่าภาระดอกเบี้ยส่วนนี้จะลดลงเหลือประมาณ 45,000 ล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยลดลง

การชำระหนี้เงินกู้เพื่อชดเชยความเสียหายแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ
การชำระหนี้เงินกู้เพื่อชดเชยความเสียหายแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ
ที่มา มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

จากปัญหาภาระดอกเบี้ยดังกล่าว ทำให้เกือบทุกรัฐบาลที่มีปัญหางบประมาณ พยายามหาหนทางลดภาระดอกเบี้ยนี้ ด้วยการผลักภาระไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยอ้างถึงสาเหตุที่ภาระดอกเบี้ยเบ่งบาน เป็นเพราะธปท. ลดหนี้เงินต้นไม่ได้ตามกำหนด เพราะว่ามีปัญหาการดำเนินงานขาดทุน ดังนั้นธปท. ควรรับผิดชอบหนี้ก้อนนี้ด้วยการรับโอนไปไว้ที่ธปท. เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระหนี้สาธารณะและภาระงบประมาณที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกปี

อีกเหตุผลหนึ่งมักเป็นข้ออ้างให้ธปท. ต้องรับภาระหนี้กองทุนฯ คือ วิกฤตเศรษฐกิจการเงินปี 2540 ที่เกิดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาดจนนำไปสู่การลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อ 2 ก.ค. 2540 ดังนั้น ธปท. ต้องรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา

ทุกครั้งที่มีประเด็นการแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนฯ จะเกิดขึ้้นพร้อมๆ กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้ังเห็นด้วยกับแนวคิดของกระทรวงคลัง และเสียงคัดค้านเข้าข้างธปท. แต่สุดท้ายยังคงเงื่อนไขเดิมตามที่กฎหมายที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2541 และ 2545 คือ ธปท. รับภาระจ่ายเงินต้น ส่วนรัฐบาลรับภาระจ่ายดอกเบี้ย

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาหนี้กองทุนฯ โดยการออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 กับพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 ถือเป็นเงื่อนปมสำคัญที่ทำให้หนี้กองทุนฯ ซึ่งเป็นของประเทศที่นับเป็นหนี้สาธารณะ กลับถูกทำให้เชื่อว่าเป็นหนี้ของธปท. ขณะที่ประเทศอื่นๆ เมื่อเกิดปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินเหมือนประเทศไทย ก็นับหนี้ที่เกิดขึ้นจากการดูแลแก้ปัญหาสถาบันการเงินเป็นหนี้สาธารณะกันทั้งนั้น

การออกพระราชกำหนดฯทั้งสองฉบับ ระบุเขียนในกฎหมายว่า ธปท. รับผิดชอบเงินต้น จึงเปรียบเสมือนเป็นการตีตราจองว่า หนี้จำนวนนี้เป็นหน้าที่ธปท. ต้องรับผิดชอบ

โดยพระราชกำหนดฯ 2541 ให้นำเงินกำไรสุทธิของธปท. ในบัญชีฝ่ายการธนาคาร นำไปชำระเงินต้นหนี้กองทุนฯ 5 แสนล้านบาท (FIFD 1) และพระราชกำหนดฯ 2545 กำหนดให้นำสินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปี ที่อยู่ในบัญชีทุนสำรองเงินตราที่ฝ่ายออกบัตรธนาคาร ไม่ต้องโอนเข้าบัญชีสำรองพิเศษ แต่ให้นำไปชำระหนี้เงินต้นกองทุนฯ 1.12 แสนล้านบาท ( FIFD 2 ) และหนี้เงินต้น 6.93 แสนล้านบาท (FIDF 3) อย่างไรก็ตาม หนี้กองทุนฯ FIDF 2 ได้ชำระหนี้หมดแล้ว

เงื่อนไขแบ่งความรับผิดชอบหนี้สาธารณะจากการชดใช้ความเสียหายแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ
เงื่อนไขแบ่งความรับผิดชอบหนี้สาธารณะจากการชดใช้ความเสียหายแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่มา มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

ทั้งนี้ การออกพระราชกำหนดฯ ปี 2541 เป็นยุคที่ ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล เป็นผู้ว่าการธปท. และ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรีคลัง ส่วนการออกพระราชกำหนดฯ ปี 2545 ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวากุล เป็นผู้ว่าการธปท. และ ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรัฐมนตรีคลัง

แนวคิดการออกพระราชกำหนดฯ ทั้งสองฉบับนั้น ผู้บริหารระดับสูงของธปท. ทั้งในปัจจุบันและในอดีต เล่าให้ฟังตรงกันว่า ธปท. ก็เหมือนรัฐวิสาหกิจทั่วไป คือเมื่อมีกำไรก็นำส่งเป็นรายได้กระทรวงการคลัง แต่ถ้าไม่มีกำไรก็ไม่ต้องนำส่ง และรายได้ที่กระทรวงการคลังได้ไปก็นำไปเป็นเงินงบประมาณใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ ซึ่งในอดีตก่อนวิกฤตปี 2540 ธปท. มีกำไรนำส่งรายได้กระทรวงคลังเกือบทุกปี ปีละเป็นหมื่นล้านบาท

แต่เมื่อเกิดวิกฤตในปี 2540 หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะหนี้จากการค้ำประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้รวมทั้งหนี้ที่เข้าแก้ไขฐานะสถาบันการเงิน รวมแล้วมีจำนวนสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท ธปท. จึงมีแนวคิดว่ากำไรที่ธปท.ต้องนำส่งเป็นรายได้กระทรวงการคลัง ถ้าไม่ระบุให้ชัดเจนว่าต้องนำไปชำระหนี้จำนวนนี้ เกรงว่ากระทรวงคลังจะนำเงินรายได้ไปใช้จ่ายอย่างอื่นแล้วไม่นำไปชำระหนี้ ทำให้การแก้ไขหนี้กองทุนฯ ปรับลดลงช้าหรือไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว

ดังนั้น เพื่อความรอบคอบ ธปท. จึงเขียนพระราชกำหนดฯ ระบุชัดเจนว่า เงินต้นหนี้กองทุนฯ จะนำกำไรจากธปท. ในฝ่ายกิจการธนาคาร และสินทรัพย์ในบัญชีผลประโยชน์ของบัญชีทุนสำรองเงินตราในฝ่ายออกบัตรธนาคาร ไปชำระเงินต้นหนี้กองทุนฯ จำนวน 1.3 ล้านล้านบาท ในขณะนั้นก็ประเมินว่าจะชำระหนี้หมดเป็นเวลา 29-30 ปี และเมื่อเป็นไปตามกำหนด ภาระดอกเบี้ยก็จะลดลง

อดีตผู้บริหารระดับสูงธปท. รายหนึ่งกล่าวว่า คนธปท. เป็นคนเก่ง มีความละเอียดรอบคอบ คิดทุกอย่างรอบด้าน ซึ่งมีเจตนาที่ดี แต่บางครั้งอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำตัวเป็น “คุณพ่อรู้ดี” หวังช่วยแก้ไขปัญหา แต่กลายเป็นสร้างปัญหาให้ตัวเองในภายหลัง เพราะทุกอย่างไม่เป็นไปตามคาดการณ์ เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องบัญชีธปท. ที่แยกเป็น 2 บัญชี
อ่าน แบงก์ชาติตอบโจทย์บัญชีติดลบ : ทุนธปท.ติดลบ น่าเป็นห่วงจริงหรือ (2)และ แบงก์ชาติตอบโจทย์บัญชีติดลบ : เงินสำรองฯ กับความเพียงพอ (3)

ขณะที่แหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงธปท. รายหนึ่งยอมรับว่าเช่นกันว่า เพราะกฎหมายเขียนให้ธปท. รับภาระเงินต้น จึงทำให้หลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นหนี้ของธปท. ดังนั้นเมื่อธปท. ชำระเงินต้นไม่ได้ตามกำหนด เพราะฐานะขาดทุน ส่งผลภาระดอกเบี้ยสูง ผู้ที่รับผิดชอบก็ต้องเป็น ธปท.

แต่การที่เขียนไว้ในกฎหมายเช่นนั้นเนื่องจากมีแนวคิดว่าต้องการแก้ปัญหาเงินต้นให้ลดลงโดยเร็ว ซึ่งพระราชกำหนดฯ ปี 2541 นอกจากระบุให้นำกำไรของธปท.ไปชำระเงินหนี้เงินต้นแล้ว ยังระบุให้นำรายได้จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และดอกผลของกองทุนเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้เพื่อชดเชยความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (sinking fund) แต่สองข้อหลังทำไม่ได้ ขณะที่ธปท. ก็ขาดทุน จึงทำให้การลดเงินต้นไม่เป็นไปตามกำหนด

ขณะที่พระราชกำหนดฯ ปี 2545 คือ ฉบับที่แก้ไขจริงๆ เพราะเป็นการเขียนเปิดช่องให้นำสินทรัพย์ในบัญชีผลประโยชน์มาใช้ได้ชำระเงินต้นหนี้กองทุนฯ ( FIDF 2, FIDF 3) แทนที่จะนำส่งเข้าบัญชีสำรองพิเศษ

“เนื่องจากคนธปท. คิดละเอียด คิดรอบคอบ และตั้งใจดี แต่กลายเป็นการสร้างปัญหาให้ตัวเองภายหลัง กรณีนี้อาจจะบอกว่า ธปท. เสียค่าโง่ ก็คงได้” แหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงธปท. กล่าว

อีกประเด็นที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนคิดว่า หนี้กองทุนฯ เป็นหนี้ธปท. ต้องรับผิดชอบ เพราะธปท. เป็นต้นเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจการเงินครั้งนั้น ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท. พยายามอธิบายเรื่องนี้อีกครั้งเมื่อ 28 ธ.ค. 2554 ว่า”กองทุนฯ เป็นกลไกของกระทรวงการคลังไม่ใช่กลไกของธปท.เสียทีเดียว และที่กองทุนฯ ดำเนินการเมื่อปี 2540 ก็เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ดังนั้นบอกว่า คืนหนี้ธปท.จึงไม่ใช่ การไปใช้คำว่าคืนหนี้ให้แบงก์ชาติมัน mislead หลอกลวง”

ดร. ประสารย้อนเหตุการณ์ให้ฟังว่า ก่อนวันที่จะลดค่าเงิน นายกฯชวลิต (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) ได้ออกทีวีตอน 3 ทุ่มบอกว่า รัฐบาลจะค้ำประกันทั้งผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ระบบเศรษฐกิจ และ เดือน ส.ค. ปี 2540 มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตอนนั้นเรียกว่า blanket guarantee เพราะตอนนั้นเกิดแบงก์รัน คนถอนเงินไม่หยุดก็เลยเป็นนโยบายรัฐบาลว่าต้องรับประกันเงินฝากทั้งหมด 100 % ขณะเดียวกันบริษัทเงินทุนที่ปิดไป ผู้ถือตั๋วแลกเงินก็นำไปแลกตั๋วที่กรุงไทย ทำให้ FIDF ก็ต้องรับตั๋วนี้มาด้วย พวกนี้ล้วนเป็นการปฏิบัติตามนโยบายรัฐและมีหลักฐานเป็นมติครม.

“ปี 2540 ผมไม่ได้อยู่แบงก์ชาติ อยู่ ก.ล.ต. ( คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ) วันที่ 1 ก.ค. เป็นวันหยุดธนาคาร วันที่ 2 ประกาศ เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ก่อนหน้านั้น 1-2 ท่านนายกฯ ชวลิตออกทีวีว่าไม่ต้องห่วง แต่พอปรับค่าเงินเสร็จ ช่วงปี 2540 หน้าดำคร่ำเครียดกัน หลังจากนั้นในเดือนสิงหาคม ก็มีมติครม. ให้ค้ำประกันเงินฝาก มันเป็นกลไกของรัฐ ไม่ใช่นโยบายแบงก์ชาติ ” ดร. ประสารอธิบาย

นอกจากนี้ ผู้ว่าธปท. ยกตัวอย่างว่า เหมือนตอนนี้ ตามกฎหมาย 2551กองทุนฟื้นฟูฯ จะปิดกลางปีหน้า (2556) ล่าสุดก็มีหนังสือจากกระทรวงการคลังส่งมาว่า อย่าเพิ่งปิด ให้อยู่เป็นกลไกที่ดูแลสถาบันการเงิน ซึ่งถ้าปิดกองทุนฯ ก็หมายความว่าถ้าเกิดวิกฤตขึ้นมากระทรวงการคลังก็ออกพันธบัตรหรืออะไรมาช่วย เหมือนที่สหรัฐฯ ได้ดำเนินการ

“แต่เมื่อกระทรวงการคลังส่งหนังสือมาว่าอย่าเพิ่งปิด ถ้าดูตามหนังสือนี้ก็เท่ากับบอกว่ากระทรวงการคลังยังขอใช้กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นกลไกต่อไป ” ผู้ว่าการธปท.กล่าว

ขณะที่นักวิชาการ และนักธุรกิจหลายๆ คนแสดงความคิดเห็นไว้ ถ้ารัฐบาลเอาจริงเอาจังในเรื่องคอรัปชั่น ขอแค่ลดคอรัปชั่นได้เพียง 10 % ของงบลงทุน คงจะมีเงินงบประมาณในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีกหลายหมื่นล้านเพื่อนำไปชำระหนี้ หรือนำไปลงทุนพัฒนาประเทศได้อย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ เงินงบประมาณที่มีจำกัด แต่เกือบทุกรัฐบาลกลับทุ่มการใช้จ่ายเงินงบประมาณไปที่นโยบายประชานิยม เน้นการ “ลด แลก แจก แถม” แม้ในยามที่ฐานะการคลังขาดดุลงบประมาณ ก็ไม่มีการทบทวน ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่จำเป็นก่อนหลัง ยังคงเดินหน้าทำนโยบายมุ่งหาเสียงหวังผลในระยะสั้น ส่วนนโยบายหรือโครงการลงทุนระยะยาวที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศถูกให้ความสำคัญน้อยกว่า และเมื่อต้องการลงทุนเพิ่มมากๆ ก็ต้องกู้เงินสร้างหนี้เพิ่มขึ้น หรือเล่นแร่แปรธาตุหาเงินมาใช้เพื่อสนองนโยบายรัฐบาล

ประเด็นคอรัปชั่น และการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ มีการพูดถึงน้อยมาก หรืออีกนัยหนึ่งปัญหาเหล่านี้อยู่คู่สังคมไทยมานาน จึงเกิดเป็นความเคยชิน ถูกมองว่าเป็นเรื่องเล็กไปแล้ว ทั้งที่เป็นปัญหาอันใหญ่หลวงของประเทศ

ดังนั้น การแก้ปัญหาหนี้กองทุนฯ จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท โดยผลักภาระความรับผิดชอบให้ธปท. ทั้งหมด เพื่อไม่ให้เป็นหนี้สาธารณะ จะได้เพิ่มช่องทางให้รัฐบาลกู้ได้มากขึ้น อาจทำให้รัฐบาลขาดวินัยการคลัง ไม่ระมัดระวังการกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าธปท. รับโอนหนี้ไปทั้งหมด ธปท. ก็ต้องพิมพ์เงินเพิ่ม ขาดวินัยการเงินอย่างแรง และฐานะธปท. จะย่ำแย่ลงมีทุนติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านล้านบาท โอกาสจะทำกำไรนำส่งรายได้ให้กระทรวงคลังยิ่งหมดหวัง

แต่วิธีนี้ผลกระทบร้ายแรงสุดคือ ความเชื่อมั่น ของประเทศจะเสื่อมถอยลงในสายตาองค์กรระหว่างประเทศ สถาบันการเงิน บริษัทขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงประชาชน เพราะแนวทางดังกล่าวขาดทั้งวินัยการเงินการคลัง สร้างความเสี่ยงให้กับประเทศ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มาภาพ: http://www.suthichaiyoon.com/media/img/size1/2011
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ที่มาภาพ: http://www.suthichaiyoon.com/media/img/size1/2011

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2554 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมร่วมกับนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประาณ และเลขาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ประชุมหารือเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาหนี้กองทุนฯ วงเงิน 1.14 ล้านล้านบาท เป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมง

ภายหลังการหารือ นายธีระชัย และ ดร.ประสาร แยกกันให้สัมภาษณ์ตรงกันเกี่ยวกับการกรอบแก้ปัญหาหนี้กองทุนฯ ต้องยึด 3 หลักการสำคัญ ต้องไม่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย พิมพ์ธนบัตรเพื่อนำมาใช้หนี้ การดำเนินการต้องไม่กระทบกับเงินสำรองเงินตรา ไม่แตะต้องเงินคลังหลวงที่เป็นเงินบริจาคของหลวงตามหาบัว และจะต้องไม่เป็นภาระงบประมาณ หรือลดภาระการคลัง จากนั้นรออีกเกือบ 3 ชั่วโมง นายกิตติรัตน์ จึงลงมาให้สัมภาษณ์พูดตรงกันใน 3 หลักการสำคัญที่ดังกล่าวข้างต้น

ผลการประชุมหารือที่ออกมากำหนด 3 หลักเกณฑ์สำคัญ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการหาทางออกแก้ไขหนี้กองทุนฯ แต่หากจับถ้อยคำที่ ดร.ประสาร นายธีระชัย และนายกิตติรัตน์ พูดส่วนที่นอกเหนือจาก 3 หลักการสำคัญ ก็น่ากังวลใจ

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีการหารือเพื่อกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมที่ชัดเจนอีกครั้ง และเบื้องต้นคาดว่า คงจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย และจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ และในหลักการ 3 ข้อ นั้น ธปท. ยังไม่สามารถตอบได้ว่า พึงพอใจหรือไม่ เพราะเป็นหลักการที่ค่อนข้างกว้าง แต่มีสัญญาณที่ดีว่า จะไม่ให้ธปท. พิมพ์ธนบัตร ก็จะช่วยทำให้ตลาดการเงินคลายความกังวลลงได้” ดร. ประสาร กล่าว

ขณะที่นายธีระชัยกล่าวว่า”ประชุมวันนี้เห็นชอบในหลักการที่จะใช้กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นกลไกในการหาแหล่งเงินและรายได้เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ โดยจะมีการดำเนินการ คือ โอนรายได้ที่เกิดจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก นำรายได้ในส่วนนี้ไปอยู่ที่กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นการชั่วคราว ขณะนี้สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีรายได้ปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้นจะเสนอแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจให้แก่กองทุนฟื้นฟูฯ ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ จากระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่เป็นภาระมากเกินไป แนวทางนี้เชื่อว่าจะไม่เป็นภาระแก่งบประมาณในการชำระดอกเบี้ย และจะไม่กระทบต่อวินัยการเงินการคลัง”

ส่วนนายกิตติรัตน์กล่าวว่า”การหารือเป็นไปตามบัญชาของครม.ที่ให้ผมทำหน้าที่ปรึกษาหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในรายละเอียด ก็เห็นแนวทางที่มติ ครม.ได้มอบหมายแนวทางไว้ โดยการดูแลให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้รับภาระหนี้ แล้วให้ธปท.ช่วยเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ดูแล โดยที่มีการดำเนินการให้ไม่เป็นหนี้สาธารณะที่เป็นภาระของงบประมาณ ตรงนี้ปรึกษาหารือกันอย่างละเอียด ขณะนี้ก็เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการตามนั้นภายใต้หลักการ 3 ข้อ”

ขณะที่แหล่งข่าวรายหนึ่่งที่ร่วมประชุมด้วยเปิดเผยว่า ผู้ว่าการธปท. ไม่เห็นด้วยกับการให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ รับโอนภาระหนี้ไปดูแล โดยชี้แจงว่าอย่าสับสนหน้าที่ของกองทุนเพื่อการฟื้้นฟูฯ ที่ต้องทำหน้าที่เป็นตัวกลางช่วยเหลือสถาบันการเงินเมื่่อมีปัญหา กับการจะให้ทำหน้าที่แก้ปัญหาหนี้เก่า เพราะฝ่ายกฎหมายธปท.ดูแล้วว่า เงินที่กองทุนเพื่อการฟื้้นฟูฯ ได้มาต้องนำไปใช้ตามภาระกิจของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ แต่กฤษฎีกาบอกว่าพอทำได้ ด้วยการแก้กฎหมาย หรือออกพระราชกำหนด

ดังนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่หนังสั้นม้วนเดียวจบ วิบากกรรมของธปท. ก็คงไม่จบง่าย ต้องจับตาให้ดี เพราะขนาดวันหยุด 4 วัน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ยังซุ่มทำงานอย่างขะมักเขม่น โดยไม่มีเงาของรัฐมนตรีคลัง และ ผู้ว่าธปท. ร่วมวงหารือด้วย

อย่างไรก็ตาม การรู้ที่มาที่ไปของหนี้กองทุนฟื้นฟู น่าจะทำให้การแก้ปัญหาด้วยความเข้าใจมากขึ้น