ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > แบงก์ชาติตอบโจทย์บัญชีติดลบ : ทุนธปท.ติดลบ น่าเป็นห่วงจริงหรือ (2)

แบงก์ชาติตอบโจทย์บัญชีติดลบ : ทุนธปท.ติดลบ น่าเป็นห่วงจริงหรือ (2)

20 ตุลาคม 2011


ฐานะการเงินของแบงก์ชาติ ที่มีผลการดำเนินการขาดทุน และมีทุนที่ติดลบ จะทำให้แบงก์ชาติย่ำแย่เหมือนบริษัทเอกชนหรือไม่ อ่าน แบงก์ชาติตอบโจทย์บัญชีติดลบ : ทำความเข้าใจงบการเงินสไตล์ธปท.(1) เป็นอีกประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม และชวนสงสัย โดยทุนของแบงก์ชาติในปี 2553 ที่ติดลบ 431,829 ล้านบาท ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการเมือง และมีการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” นำมาโพสต์ในเฟสบุ๊ก แบบถามเองตอบเอง

บางส่วนที่เกี่ยวข้องกับฐานะของแบงก์ชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังเขียนเชิงตั้งคำถามว่า “ท่านทราบหรือไม่ว่าปี 2553 ธปท. มีผลขาดทุนจากดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนสูงถึง 117,473 ล้านบาท และยังมีขาดทุนจากการตีราคาหลักทรัพย์อีก 260,211 ล้านบาท จำนวนเงินที่สูงมหาศาลเช่นนี้คือปัญหาที่ควรจะต้องแก้ไขครับ”

อีกข้อหนึ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังตั้งคำถามคือ การนำเงินทุนสำรองไปลงทุนแบบกองทุนมั่งคั่งของชาติเป็นการแทรกแซง ธปท. หรือไม่

เมื่อชงเองก็ตอบเอง คำตอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง “ไม่เป็นการแทรกแซง ธปท. ครับ แต่เป็นการช่วยกันคิดเพื่อแก้ปัญหา เพราะ ณ สิ้นปี 2553 ธปท. มีส่วนของทุนติดลบเป็นจำนวนเงินมหาศาล สูงถึง ติดลบ 431,829 ล้านบาท ถ้าเป็นธุรกิจเอกชนก็จะต้องปิดกิจการไปแล้ว นี่ไม่ใช่สี่แสนบาทนะครับ แต่เป็นสี่แสนล้านบาท”

ข้อความที่โพสต์ลงในเฟสบุ๊ก ธีระชัย ภูวนาถนานุบาล รมว.คลัง
ข้อความที่โพสต์ลงในเฟสบุ๊ก ธีระชัย ภูวนาถนานุบาล รมว.คลัง

ข้อมูลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังนำเสนอ เป็นตัวเลขที่ถูกต้อง แต่ถ้าไม่เข้าใจบัญชีและบทบาทหน้าที่ของแบงก์ชาติ เชื่อว่าจะมีคนเห็นพ้องกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ถ้าเข้าใจบัญชีและบทบาทหน้าที่ของแบงก์ชาติก็จะเห็นค้าน และเป็นที่ทราบกันว่า”ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” เป็นลูกหม้อแบงก์ชาติและตำแหน่งสุดท้ายคือรองผู้ว่าการธปท.

ปมร้อนเรื่องฐานะแบงก์ชาติย่ำแย่นั้น นางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการธปท.ด้านเสถียรภาพการเงิน อธิบายว่า การดูฐานะที่แท้จริงของแบงก์ชาติต้องดูรวมกัน 2 บัญชี คือ บัญชีฝ่ายการธนาคาร กับ บัญชีฝ่ายออกบัตร เพราะบัญชีสำรองพิเศษที่อยู่ในฝ่ายออกบัตร เป็นเหมือนกำไรสะสม ดังนั้นถ้าจะดูภาพรวมธนาคารกลางต้องเอาบัญชีสำรองพิเศษมาบวกด้วย ก็จะเห็นว่า ส่วนทุนของแบงก์ชาติไม่ได้ติดลบ

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2553 บัญชีสำรองพิเศษมีจำนวน 8.81 แสนล้านบาท ขณะที่บัญชีธปท.มีทุนติดลบ 4.31 แสนล้านบาท เมื่อรวมกัน จะเห็นว่า ทุนของแบงก์ชาติจะเป็นบวกกว่า 4 แสนล้านบาท

บัญชีธปท. แสดงตัวเลขส่วนของทุนธปท.ที่ติดลบ  ณ สิ้นปี 2553
บัญชีธปท. แสดงตัวเลขส่วนของทุนธปท.ที่ติดลบ ณ สิ้นปี 2553
บัญชีสำรองพิเศษ แสดงกำไรสะสม ที่เป็นเหมือนทุนของธปท. ณ สิ้นปี 2553
บัญชีสำรองพิเศษ แสดงกำไรสะสม ที่เป็นเหมือนทุนของธปท. ณ สิ้นปี 2553

นางสุชาดาขยายความเพิ่มเติมว่า บัญชีธปท. ที่ฝ่ายการธนาคาร ขาดทุน สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะบัญชีธปท. มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ซึ่งเป็นผลจากตอนชำระคืนหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แบงก์ชาติต้องออกตราสารหนี้เงินบาทไปซื้อเงินตราต่างประเทศมาเพื่อชำระหนี้ ซึ่งเงินตราต่างประเทศก้อนนี้ไม่ได้อยู่ในสินทรัพย์ แต่เป็นการลดหนี้ไอเอ็มเอฟ ขณะที่ในบัญชีธปท. ด้านหนี้สินเป็นหนี้เงินบาทเพิ่มขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว

“ดังนั้นผลตอบแทนที่แบงก์ชาติไปลงทุนได้ดอกเบี้ยรับ ถ้าดูบัญชีธปท.อย่างเดียว ถึงอย่างไรดอกเบี้ยจ่ายก็มากกว่าดอกเบี้ยรับ เพราะจำนวนหนี้ที่มีมากกว่าสินทรัพย์”

ด้านสินทรัพย์อีกส่วนที่อยู่บัญชีสำรองเงินตรา จะเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีหนี้ ยกเว้นพันธบัตรออกใช้ที่หนุนหลังอย่างเดียว ดังนั้น บัญชีนี้จะมีสินทรัพย์ที่ปลอดหนี้ มีดอกผล ก็โอนไปอยู่ในบัญชีสำรองพิเศษ เท่ากับไม่มีภาระหนี้ต้องแบกรับ จะมีก็ค่าใช้จ่ายไม่มากทำให้บัญชีนี้มีรายได้สะสมเพิ่มขึ้นตลอด แต่เมื่อมีการตีราคา ถ้าบาทแข็ง 1 บาท มีสินทรัพย์อยู่ 2 ล้านเหรียญ เงินบาทก็จะหายไปทันที 2 แสนล้านบาท ก็เป็นปัญหาอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้น บัญชีทุนสำรองเงินตรา ข้างธนบัตรออกใช้ไม่ได้จ่ายดอกเบี้ย แต่ถูกกระทบเรื่องซื้อมาขายไป และการตีราคา

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2553 ดอกเบี้ยรับของบัญชีธปท. มีจำนวน 4.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่บัญชีทุนสำรองเงินตรามีจำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท รวมกันก็ 5.8 หมื่นล้านบาท แต่มีภาระดอกเบี้ยจ่าย 6.2 หมื่นล้านบาท

นางสุชาดาอธิบายว่า ปีก่อนๆ ถ้าดู 2 บัญชีรวมกันจะมีดอกเบี้ยรับมากกว่าดอกเบี้ยจ่าย แต่ในปี 2553 ดอกเบี้ยในประเทศเราสูงกว่าต่างประเทศ โดยดอกเบี้ยที่เราจ่ายกระจุกใหญ่คือ ตราสารหนี้ธปท. กับ ตราสารขายโดยมีสัญญาซื้อคืน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ยนโยบาย หรือดอกเบี้ยระยะสั้น ที่อยู่ประมาณ 3.5% ในขณะที่ข้างที่เราไปลงทุน ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่อยู่ในวิกฤติ และใช้นโยบายการเงินผ่อนปรน เช่น สหรัฐ ก็ยังใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.25% จะเห็นดอกเบี้ยจ่ายสูงกว่าดอกเบี้ยรับ

“อย่างไรก็ตาม การดูฐานะแบงก์ชาติ ถ้าจะให้เห็นภาพจริงๆ ต้องดู 2 บัญชีรวมกัน จึงจะสะท้อนฐานะของประเทศที่แท้จริง และถ้าคนต่างประเทศมาดูว่า ทุนแบงก์ชาติ ก็จะดู 2 บัญชีรวมกัน คือบวกแต่ตัวเลข ไม่ได้เอาบัญชีรวมกัน ก็จะเห็นว่าทุนแบงก์ชาติแข็งแกร่งหรือไม่ เพราะในต่างประเทศไม่ได้มีการแยกบัญชีแบบนี้ แต่ถ้าดูบัญชีเดียวคือ บัญชีธปท.จะเห็นส่วนของทุน ติดลบ 431,829 ล้านบาท เป็นเพราะว่าแบงก์ชาติมีขาดทุนสะสม ขาดทุนประจำงวด และขาดทุนจากการตีราคา ทั้ง 3 รายการนี้ทำให้แบงก์ชาติมีทุนติดลบ”

นางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.
นางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.

แม้แบงก์ชาติจะมีทุนติดลบ แต่นางสุชาดายืนยันว่า ไม่กระทบความสามารถในการทำหน้าที่ของแบงก์ชาติ เพราะหน้าที่ดูดซับสภาพคล่อง เพื่อดูแลอัตราดอกเบี้ย ดูแลอัตราแลกเปลี่ยน แบงก์ชาติยังสามารถทำได้ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนด โดยทำให้ตลาดหรือการคาดการณ์เงินเฟ้อไปในทิศทางที่กนง. ต้องการ

นอกจากนี้ แม้ทุนแบงก์ชาติติดลบ ก็ใช่ว่าแบงก์ชาติจะไม่มีเงิน ไม่มีสินทรัพย์ แต่แบงก์ชาติยังมีเงินตราต่างประเทศอยู่ ดังนั้น การที่แบงก์ชาติมีทุนติดลบจำนวนมาก แต่ก็มีเงินตราต่างประเทศจำนวนมากเช่นกัน เพราะฉะนั้น ถ้าแบงก์ชาติเกิดต้องทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพค่าเงิน เมื่อเกิดเงินไหลออกมากๆ จนทำให้ค่าเงินบาทอ่อนมากๆ ก็สามารถดูแลได้

นางสุชาดาอธิบายว่า ที่จริงเมื่อมีเงินไหลออกมากๆ แบงก์ชาติมีทางเลือก 2 ทาง คือ ปล่อยอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากแล้วแบงก์ชาติคิดว่าอาจกระทบเงินเฟ้อ หรือจำเป็นต้องชะลอการอ่อนตัวมากๆ ของเงินบาท แบงก์ชาติก็มีของที่จะออกไปเป็นเครื่องมือในการดูแล โดยขณะนี้มีเงินสำรองระหว่างประเทศประมาณ 100,000 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่อยู่ในบัญชีฝ่ายการธนาคาร สำหรับใช้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าแบงก์ชาติจะใช้เงินสำรองฯทั้งหมด แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ก็มี นี่คือความเชื่อมั่นที่ตลาดหรือนักลงทุนข้างนอกเขามองเมื่อเราเทียบกับประเทศที่เกิดวิกฤตทั้งหลาย คนก็คงมาดูว่า ถ้าธนาคารกลางต้องทำหน้าที่ เขาก็ต้องดูว่ามีเครื่องไม้เครื่องมือเพียงพอหรือเปล่า ซึ่งขณะที่ถ้ารวมกัน 2 บัญชี แบงก์ชาติมีเงินสำรองระหว่างประเทศเกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์ แต่ในแง่การทำนโยบายการเงิน แบงก์ชาติคงเน้นในบัญชีธปท.เท่านั้นคือ แสนกว่าล้าน เพราะในบัญชีเงินสำรองเงินตรา กฎหมายกำหนดเฉพาะไว้หนุนหลังธนบัตร เพื่อความมั่นคง

“อะไรจะเป็นอุปสรรคอะไรที่เราจะทำงานไม่ได้ เพราะถ้าเราจะดูดสภาพคล่อง เราก็มีเครื่องมือดำเนินการได้ ในขณะเดียวกันถ้าเราจะแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเราก็มีเครื่องมือ เพียงแต่งบดุลโชว์ฐานะการเงินที่ดูไม่ดี”

นางสุชาดาบอกว่า งบดุลแบงก์ชาติ ที่ส่วนของทุนติดลบนั้น ต้องเข้าใจว่าเทียบกับบริษัทเอกชนไม่ได้ เพราะเมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ในทางบัญชีถ้าตีราคาจะทำให้ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น เอกชนอาจขายเงินตราต่างประเทศ แต่แบงก์ชาติทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะถ้าแบงก์ชาติขายก็ยิ่งแย่ใหญ่ ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก ยิ่งทำให้ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น และที่สำคัญผิดวัตถุประสงค์ต้องดูแลให้ค่าเงินไม่ผันผวนมาก ตรงนี้แบงก์ชาติจึงไม่เหมือนธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเอกชน

“ถึงแม้ว่าตัวเลขทุนของธปท.จะติดลบ แต่แบงก์ชาติก็ยังความสามารถทำหน้าที่ในการดูแลหรือทำหน้าที่ทำนโยบายการเงินได้อยู่”