ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” เปรียบแบงก์ชาติเป็นตำแหน่ง “full back” ช่วยประคองเศรษฐกิจ ท่ามกลางการเมืองป่วน

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” เปรียบแบงก์ชาติเป็นตำแหน่ง “full back” ช่วยประคองเศรษฐกิจ ท่ามกลางการเมืองป่วน

2 เมษายน 2014


“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้แจงกรรมาธิการฯ การเมืองฉุดเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ติดลบ ระบุนโยบายการเงินไม่ใช่ยาสามัญรักษาได้ทุกโรค และเปรียบแบงก์ชาติเป็นตำแหน่ง “full back” และ “center half” ในทีมฟุตบอล ท่ามกลางการเมืองมีปัญหา นโยบายการเงินทำได้แค่ช่วยประคองเศรษฐกิจ ขณะที่เอดีบีห่วงไม่มีรัฐบาลใหม่ในไตรมาส 3 ฉุดเศรษฐกิจปีนี้โตต่ำกว่า 2% และต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้ ด้านศูนย์วิจัยกสิกรประเมินกรณีเลวร้ายจีดีพีปีนี้โตแค่ 1.3%

ผู้ว่า ธปท. แจงผลกระทบการเมืองต่อเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2557 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา ซึ่งมีนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. สรรหา เป็นประธาน โดยกรรมาธิการฯ ได้สอบถามเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และผลกระทบของการเมืองต่อเศรษฐกิจ

ดร.ประสารชี้แจงว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว แต่ปีที่แล้วปัจจัยแวดล้อมน้ำหนักส่วนใหญ่เป็นผลจากเศรษฐกิจต่างประเทศฟื้นตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ปลายปีที่แล้วต่อเนื่องมาถึงต้นปีนี้ เหตุผลมาจากปัจจัยในประเทศ โดยเฉพาะไตรมาสแรกปัจจัยมาจากในประเทศ เพราะการมีรัฐบาลรักษาการทำให้ด้านการคลังมีข้อจำกัดมาก

สำคัญที่สุดคือกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน สะท้อนให้เห็นชัดเจนจากการบริโภคและการลงทุนชะลอตัวลงมาก รวมถึงการท่องเที่ยวก็ถูกกระทบทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวน้อยลงต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ในเชิงเปรียบเทียบที่อาจดีขึ้นบ้างคือเศรษฐกิจต่างประเทศ โดย ธปท. คาดว่าเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าขอไทยปีนี้ดีขึ้น น่าจะทำให้การส่งออกของไทยเติบโตได้ด้วย

ดร.ประสารระบุว่า ปีนี้อุปสงค์ในประเทศขึ้นอยู่กับภาวะการเมืองไม่น้อย สมมติฐานของ ธปท. คือถ้าเหตุการณ์การเมืองคลี่คลายช่วงครึ่งหลังของปีนี้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 57 น่าจะโตได้ 2.7% แต่ถ้าเหตุการณ์การเมืองล่าช้าออกไปก็จะกระทบเศรษฐกิจ ซึ่งต้องติดตามดูข้อมูลต่างๆ ในระยะต่อไปก่อนจะมีการพิจารณาปรับประมาณการจีดีพีครั้งต่อไปในเดือนมิถุนายน 2557

วันที่ 1 เมษายน 2557 ดร.ประสาร ไตรรัตรน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ชี้แจงต่อที่ประชุมกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา ในประเด็นสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และผลกระทบของการเมืองต่อเศรษฐกิจ
วันที่ 1 เมษายน 2557 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ชี้แจงต่อที่ประชุมกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา ในประเด็นสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และผลกระทบของการเมืองต่อเศรษฐกิจ

“อย่างไรก็ดี พื้นฐานเศรษฐกิจไทยค่อนข้างดี และทนทานปัญหาต่างๆ ที่เราเผชิญอยู่ได้ และน่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยผ่านปัญหาต่างๆ ไปได้สักระยะหนึ่ง แต่เราก็เสียโอกาสในขณะที่ประเทศต่างๆ พัฒนาขีดความสามารถไปเรื่อยๆ ถ้าเรายังประสบปัญหาแบบนี้ ขาดเงินทุน สักพักต้องกัดกร่อนศักยภาพเศรษฐกิจไทย ทำให้ความสามารถแข่งขันในรูปแบบต่างๆ แทนที่จะแข่งขันได้ก็จะมีปัญหา ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจสำคัญๆ ของประเทศต้องกลับมาสู่ปกติโดยเร็ว” ดร.ประสารกล่าว

ธปท. คาด ไตรมาสแรกจีดีพีติดลบ แต่ไม่ห่วงถดถอย

เศรษฐกิจในปัจจุบัน ถ้าติดตามข้อมูลเศรษฐกิจ 2 เดือน คือ มกราคมและกุมภาพันธ์ จะเห็นว่าชะลอลงต่อเนื่อง ก็อาจทำให้จีดีพีไตรมาสแรกของปีนี้ติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ที่ผ่านมา และเดือนมีนาคมที่คาดว่าจะปรับดีขึ้นไม่น่าจะชดเชยได้เพียงพอ ส่วนเศรษฐกิจไตรมาส 2 จะติดลบต่อเนื่องหรือไม่ต้องติดตามดู

ทั้งนี้ จีดีพีไตรมาส 4 ปี 2556 ที่ปรับฤดูกาลหรือเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าขยายตัว 0.6% และขยายตัว 0.6% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

ส่วนเศรษฐกิจจะถดถอยหรือไม่ ดร.ประสารอธิบายว่า ตามนิยามเศรษฐกิจติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าติดต่อกัน 2 ไตรมาส จะถือว่าเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ความจริงเราไม่ควรไปวางน้ำหนักมากเกินไปเกี่ยวกับนิยามของภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะควรพิจารณาเนื้อหาด้วย ที่สำคัญคือภาวะการจ้างงาน และการประกอบธุรกิจ

“ถ้าภาวะการจ้างงานยังดี และธุรกิจยังประกอบธุรกิจเดินไปได้ ก็จะไม่ต้องกังวลเรื่องภาวะถดถอยมากเกินไป เพราะเนื้อแท้ไม่มีปัญหาอะไร และคาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 และ 4 น่าจะดีขึ้น” ดร.ประสารกล่าว

นโยบายการเงินไม่ใช่ยาสามัญรักษาได้ทุกโรค

สำหรับในสถานการณ์การเมืองที่มีปัญหา มีผลทำให้นโยบายการคลังมีข้อจำกัด แล้วนโยบายการเงินจะเข้าไปช่วยหรือทดแทนได้หรือไม่ และมากน้อยแค่ไหนนั้น ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า อาจช่วยได้บ้าง แต่ช่วยไม่ได้ทั้งหมด เพราะของไม่เหมือนกัน และประสิทธิผลในเรื่องต่างๆ ก็ไม่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงินตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2556 ถึงปัจจุบันเป็นไปในทิศทางค่อนข้างผ่อนคลาย เพราะเห็นเศรษฐกิจชะลอ และมองไปในอนาคตมีความไม่แน่นอน โดยเชื่อว่ามีน้ำหนักค่อนข้างไปทางลงมากขึ้น ทั้งนี้ลักษณะการผ่อนคลายของ ธปท. มีหลายรูปแบบที่สำคัญคือ หนึ่ง พยายามให้สภาพคล่องมากพอสมควร ไม่เป็นอุปสรรคต่อธุรกรรมทางเศรษฐกิจ และสอง เรื่องอัตราดอกเบี้ย ตั้งแต่ครึ่งปีที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดอัตราลงมา 2-3 ครั้ง

ดร.ประสาร ไตรรัตรน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท. )
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

“ถ้าการชะลอตัวของเศรษฐกิจเป็นเพราะภาวะการเงินเป็นอุปสรรค การทำนโยบายการเงินก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงเหตุ แต่ถ้าสาเหตุไม่ใช่เพราะภาวะการเงิน แบบนี้ต้องระมัดระวัง เพราะของไม่เหมือนกัน และไม่มีประสิทธิผล” ดร.ประสารกล่าว

อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของเศรษฐกิจครั้งนี้ ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่าอาจไม่ใช่สาเหตุจากภาวะการเงิน เพราะสภาพคล่องในระบบยังมี และสินเชื่อขยายตัวได้ โดยสินเชื่อล่าสุดโต 9-10% ชะลอลงจากเมื่อต้นปีที่ขยายตัว 15% แต่สินเชื่อที่ชะลอลงยังสูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ราคาตลาด (nominal GDP) หรือ จีดีพีที่แท้จริงบวกกับเงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 4-5%

“ดังนั้น ถ้าสาเหตุของเศรษฐกิจชะลอไม่ใช่ภาวะการเงิน นโยบายการเงินก็ไม่ใช่เครื่องมือแก้ปัญหา ทำไปก็เสียกระสุน และไม่ได้ผล กล่าวคือ ถ้าเราลดดอกเบี้ยลงเยอะๆ คนก็จะไม่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และไม่ลงทุนเพิ่มขึ้น ตราบใดที่เขายังอ่านพาดหัวข่าวแล้วเห็นเหตุการณ์การเดินขบวน การประท้วง การทำร้ายพระสงฆ์” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

นโยบายการเงินทำแค่ระดับ “ยุทธวิธี” ไม่ใช่ “ยุทธศาสตร์”

ดร.ประสารย้ำอีกว่า นโยบายการเงินทำหน้าที่ช่วยได้เพียง “ประคอง” เศรษฐกิจให้ไปได้ เป็นการดำเนินนโยบายในระดับ “ยุทธวิธี” ไม่ใช่ระดับ “ยุทธศาสตร์” คือ ทุกนโยบายไม่ว่าจะเป็นนโยบายการคลัง นโยบายการเงิน การเมือง และอื่นๆ ต่างคนต่างมีความคิดและมาตรการในระดับยุทธศาสตร์และยุทธวิธี

ตัวอย่างเช่น นโยบายการเงิน ระดับยุทธศาสตร์คือ ต้องพยายามทำให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจได้ด้วย แต่สถานการณ์ปัจจุบัน การที่ กนง. ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงน้อย เพราะรู้ว่าสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอไม่ใช่ข้อจำกัดทางการเงิน

“ความจริงการประชุม กนง. ที่ผ่านมาเราคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก็ไม่ผิด แต่กรรมการ กนง. ส่วนใหญ่เห็นว่าควรปรับอัตราดอกเบี้ยลงเล็กน้อย เป็นการปรับเชิงยุทธวิธี เพื่อรักษาความเชื่อมั่น คือเพื่อให้มีผลทางความรู้สึกว่าทุกอย่างไม่มืดมน ส่วนระดับยุทธศาสตร์ ต้องไปคุยทางการเมืองให้รู้เรื่องจะดีกว่า” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร.ประสารกล่าวว่า โชคดีที่เงินเฟ้อแต่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเฟ้อ 0.5-3% ทำให้นโยบายการเงินผ่อนคลายได้ แต่การทำแบบนี้ต้องระมัดระวัง โดย กนง. พยายามติดตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก และการลดทอนมาตรการคิวอี ที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศจะปรับดอกเบี้ยขึ้นหลังจากทยอยลดมาตรการคิวอีหมดสิ้นปีนี้ หรือคาดว่าอีกประมาณ 6 เดือน ปฏิกิริยาแบบนี้จะกระทบต่อตลาดเงิน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนกลับไปอเมริกา

“เพราะฉะนั้น ถ้า กนง. ผ่อนคลายดอกเบี้ยมากๆ อาจทำให้ตลาดการเงินกลับหลังหันเร็วไป จึงต้องระวังถ้าอัตราดอกเบี้ยโลกกลับทิศ เงินทุนเคลื่อนย้ายอาจไหลกลับได้ แต่เราต้องดูแลไม่ให้รุนแรง” ดร.ประสารกล่าว

เปรียบบทบาท ธปท. เป็นตำแหน่ง “full back” ในทีมฟุตบอล

ผู้ว่า ธปท. ชี้แจงกรรมาธิการฯ

แต่ถ้าสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อไปถึงปลายปี ธปท. จะวางบทบาทอย่างไรนั้น ดร.ประสารกล่าวว่า กรรมาธิการฯ ที่คุ้นเคยกับเกมฟุตบอล ก็จะรู้ว่า การเล่นฟุตบอลเอาชนะคู่ต่อสู้ “ต้องเล่นเป็นทีม” แบงก์ชาติหรือธนาครกลางเปรียบเสมือน “full back” เป็น back ซ้าย back ขวา และอาจจะรวม “center half” ด้วย

ฉะนั้น เล่นเกมฟุตบอลเราก็จะเห็นอยู่ว่า full back จะยืนอยู่ข้างหน้าประตูคู่ต่อสู้คอยดูคอยฉวยโอกาสโหม่งประตู แต่ข้อที่โค้ชจะต้องเตือนเสมอคือว่า บทที่คู่ต่อสู้จู่โจมกลับมา พวกกองหลังต้องวิ่งกลับมาให้ทัน ถ้าวิ่งมาไม่ทันก็จะเสียประตูได้ง่าย

เพราะฉะนั้น ถ้ากลับพื้นฐานก็คือว่า เราเป็นประเทศที่ใหญ่พอสมควร มีสติปัญญา มีความรู้ ความสามารถในด้านต่างๆ ข้อสำคัญคือ ต่างคนต่างต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี คือถ้า full back ไปทำหน้าที่ศูนย์หน้า แล้วกลับมาทำหน้าที่ full back ไม่ทันก็อาจถูกจู่โจมได้ง่าย

“เพราะฉะนั้น เมื่อมีโอกาสก็ไปอยู่หน้าประตู ก็เพื่อจะโหม่งเข้า แต่ว่าอย่าลืมหน้าที่ของตัวเองที่เป็น full back และ center half ให้ดี นโยบายการเงินไม่ใช่ยาสารพัดจะรักษาทุกโรค ช่วยได้บ้าง แต่ไปแทนนโยบายอื่นๆ ไม่ได้” ดร.ประสารกล่าว

นอกจากนี้ ผู้ว่าการ ธปท. ยังชี้แจงกรณีประธานกรรมาธิการฯ ถามว่า ถ้าเปรียบเศรษฐกิจเป็นเกมฟุตบอล เราถูกบุกขนาดไหน full back จะเอาอยู่ไหม และถ้ายังไม่มีกองหน้าแบบนี้ไปอีกสัก 80-90 นาที ใกล้ๆ จะหมดเวลา สภาพของเกมนี้จะเป็นอย่างไรว่า ข้อมูลที่เราจะฟังได้บ้างคือ เครดิตเอเจนซีสำคัญๆ ล่าสุดเขายืนยันความมั่นคงเศรษฐกิจของประเทศ โดยยืนยันเรตติ้งเดิม และ out look ก็มีเสถียรภาพ อยู่ แต่ขณะเดียวกันก็ห้อยท้ายว่า ถ้าเราไม่แก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่ และปล่อยให้ยืดเยื้อออกไป เขาก็มีโอกาสที่จะปรับ out look เป็น negative (ด้านลบ) ได้ นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะเห็นได้จากการมองจากมุมภายนอกเข้ามา

ส่วนภายในเราก็มีความเห็นต่างๆ มามากในทำนองที่ไม่ถึงกับต่างกันมาก และถ้าเราสดับตรับฟังบรรดาทูตานุฑูตต่างๆ ที่ต้องเขียนรายงานไปให้เมืองหลวงเขาเป็นประจำก็จะออกมาคล้ายๆ กันทุกประเทศว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ชาวโลกทั่วโลกอยากให้เราแก้ไขปัญหาได้ ขณะเดียวกันก็สะท้อนว่า คนของเขายังรักเมืองไทยอยู่และอยากมาลงทุน แต่ถ้ามันนานๆ เข้า เขาก็มีทางเลือก

“สถานการณ์ไม่ถึงกับยากที่จะวิเคราะห์ในประเด็นความเป็นไปเวลานี้ ทั้งต่างประเทศมองเข้ามา ในประเทศดูตัวเอง และคนที่กึ่งอยู่ในประเทศแต่ต้องส่งรายงานไปให้เมืองหลวง ผลออกมาคล้ายกันคือบอกว่ามีปัญหา มีสถานการณ์เดิมพอดูแลคุ้มครองได้อยู่ แต่ถ้าไม่แก้ไขปัญหาไปสักพักหนึ่งก็คงจะเริ่มเห็นความอ่อนแอต่างๆ สำแดงออกมา” ดร.ประสารกล่าว

วิกฤติการเมืองคุ้มหรือไม่ “วัดยาก” แต่อย่างน้อยต้องได้บทเรียน

นอกจากนี้ ทางประธานกรรมาธิการฯ พยายามให้ผู้ว่าการ ธปท. ชั่งน้ำหนักว่า วิกฤติการเมืองครั้งนี้แม้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วคุ้มกันหรือไม่ เมื่อเทียบกับข้อดีที่เกิดจากวิกฤติการเมืองครั้งนี้ อาทิ ทำให้เกิดความตื่นตัวอย่างกว้างขวางในการต่อต้านคอร์รัปชัน เกิดการพูดถึงการปฏิรูปอย่างกว้างขวาง

รวมทั้งการที่ไม่ผ่าน พ.ร.บ. โครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท แม้ทำให้ไม่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่ต้องสูญเสียเงินคอร์รัปชัน 10-20% ของโครงการให้รั่วไหลออกไป และที่สำคัญ อย่างน้อยยังช่วยหยุดยั้งการเมืองไม่ให้แทรกแซง ธปท. จากก่อนหน้าที่การเมืองพยายามรุกคืบเข้าแทรกแซงการทำหน้าที่ของ ธปท.

ดร.ประสารกล่าวว่า ถ้าโจทย์นี้ตอบง่ายๆ ก็คงไม่มีเหตุการณ์ในยูเครน ในอียิปต์ และประเทศไทย เนื่องจากการวัดผลดีกับต้นทุนแบบนี้ทำยาก เพราะกรอบเวลาของผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่พร้อมกัน และผลดีในมิติต่างๆ มีความซับซ้อนมกว่าจะวัดด้วยทางบัญชีการเงิน และการวัดเรื่องเหล่านี้มีทั้งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ผลตอบแทนทางสังคม ซึ่งเรื่องเหล่านี้วัดด้วยการเงินเป็นตัวเลขจีดีพีไม่ได้

“ผมเห็นด้วยกับที่ประธานพูดถึง เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ระบบสถาบันต่างๆ ต้องเข้มแข็งพอ และการให้เวลาสถาบันต่างๆ เข้มแข็งเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นตัวชี้วัดประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ แต่ของพวกนี้เหมือนการลงทุน และลงทุนไปแล้วถ้าไม่ได้รับบทเรียนก็สูญเปล่า แต่ถ้าลงทุนไปแล้วได้บทเรียน แม้วัดไม่ได้ก็ยังดี เพราะฉะนั้น ความท้าทายของประเทศคือ ได้บทเรียนต่างๆ หรือไม่” ดร.ประสารกล่าว

เอดีบีคาดจีดีพีไทยปีนี้โต 2.9%

ADB outlook 2014

ดร.ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ประจำประเทศไทย รายงานการวิเคราะห์เศรษฐกิจเอเชียปี 2557 (Asian Development Outlook 2014 – ADO) ว่า ในกรณีประเทศไทย เอดีบีประเมินว่า อัตราการเติบโตทางของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยจะเติบโตได้ 2.9% เท่ากับปีก่อน แต่ปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.5%

“ก่อนหน้านี้ในรายงาน ADO ปี 2556 เคยประมาณการเศรษฐกิจไทยจะโต 5% จากนั้นช่วงที่ update ADO ในเดือนตุลาคม 2556 ได้ปรับประมาณการลงเหลือ 4-4.5% และล่าสุดคือครั้งนี้ปรับประมาณการลงเหลือ 2.9% ซึ่งการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจครั้งนี้ เหมือนคลำอยู่ในความมืด เพราะไม่รู้การเมืองจะเป็นอย่างไร และมีผลกระทบต่อความรู้สึก (sentiment) ไปหมด” เศรษฐกรอาวุโส เอดีบี กล่าว

ดร.ลัษมณกล่าวว่า ในการประเมินจีดีพีของไทย เอดีบีมีข้อสมมติฐานคือ การส่งออกจะขยายตัวได้ 5.5-6% การลงทุนรวมอยู่ที่ 1-1.5% และการบริโภครวมอยู่ที่ 1.5-2% และครึ่งปีแรกยังไม่มีรัฐบาลใหม่ หรือคาดว่าภายในไตรมาส 2 ของปีนี้จะมีรัฐบาลใหม่ที่ออกนโยบายได้ และทำเรื่องการเบิกจ่ายได้ทั้งหมด แต่ถ้าไม่ใช่ตามสมมติฐานนี้ ตัวเลขต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไปหมด

โดยรายละเอียดการปะเมินตัวเลขเศรษฐกิจของไทยนั้น เอดีบีมองว่า ความมั่นใจของผู้บริโภคลดลง รวมกับที่ชาวนาไม่ได้เงินจำนำข้าวและไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่จะเดินหน้าจำนำข้าวหรือไม่ บวกกับปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ระดับสูง ทั้งสามปัจจัยนี้ทำให้การบริโภคในประเทศปีนี้ไม่ค่อยดี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนนั้น นักลงทุนต่างระมัดระวังรีรอดูสถานการณ์การเมือง เพราะมีความไม่แน่นอนในเรื่องต่างๆ และต้องยอมรับว่าการที่ไม่มีโครงการ 2 ล้านล้านบาท ทำให้เสน่ห์ของประเทศไทยหายไป อย่างไรก็ตาม ถ้ามีความมั่นใจอะไรเกิดขึ้นในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เชื่อว่าจะทำให้การลงทุนกลับมาสูงขึ้น

ส่วนทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ย ดร.ลัษมณกล่าวว่า การประชุม กนง. ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา เอดีบีประเมินว่า กนง. จะไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยลง แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยลงไปเหลือ 2% ประกอบกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ทางเอดีบีจึงคาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงที่อยู่ระดับ 2% จนถึงสิ้นปีนี้ และเมื่อสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย ก็คาดว่า กนง. จะไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยลงอีก

เอดีบีห่วง ไตรมาส 3 ไม่มีรัฐบาลใหม่ ฉุดจีดีพีโตต่ำกว่า 2%

ทั้งนี้ ดร.ลัษมณกล่าวว่า การประเมินตัวเลขจีดีพีของไทย เป็นการประเมินไว้เมื่อ 3 สัปดาห์ที่แล้ว ก่อนที่จะรู้ผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาเป็นโมฆะ แต่เพิ่งออกรายงานมาวันนี้ (1 เม.ย. 2557) จึงทำให้ประเมินว่าจะมีรัฐบาลใหม่ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ถ้าสิ้นไตรมาส 3 ของปีนี้ยังไม่เห็นหน้าตารัฐบาลใหม่ น่าจะกระทบทำให้จีดีพีของไทยทั้งปีนี้โตได้ต่ำกว่า 2%

“เศรษฐกิจไทยปีนี้ผูกติดอยู่กับการเมืองเป็นสำคัญ เพราะถ้าการเมืองมีปัญหาจะทำให้การลงทุนขนาดใหญ่เดินหน้าไม่ได้ เพราะต้องขอมติคณะรัฐมนตรี และทำให้การจัดทำงบประมาณปี 2558 ซึ่งมีความจำเป็นต้องล่าช้าออกไปอีกประมาณ 1 ไตรมาส แต่ถ้ามีรัฐบาลใหม่ช้ากว่าที่คาด การจัดทำงบประมาณก็จะล่าช้าออกไปอีก” ดร.ลัษมณกล่าว

เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าภูมิภาค

เอดีบีประมาณการอัตรการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เอดีบีประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ เอดีบีได้คาดการณ์ว่าจีดีพีภูมิภาคเอเชียยังเติบโตแข็งแกร่งขยายตัวได้ 6.2% ในปี 2557 และเพิ่มขึ้นเป็น 6.4% ในปี 2558 จากปีที่ผ่านมาเติบโตได้ 6.1% เนื่องจากได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วปรับตัวดีขึ้น โดยสหรัฐฯ ปีนี้เศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นอยู่ที่ 2.8% จาก 1.9% ในปีก่อน และปีหน้าคาดว่าจะดีขึ้นไปอีกเป็น 3% ส่วนยุโรปเศรษฐกิจถดถอยจบไปแล้ว จะกลับมาขยายตัว 1% และปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 1.4% สำหรับญี่ปุ่นคาดว่าจะขยายตัว 1.3% ในปีนี้และปีหน้าก็ยังขยายตัวได้ 1.3%

ดร.ลัษมณกล่าวว่า หากเจาะเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือว่าเศรษฐกิจยังเติบโตได้ดี โดยอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เศรษฐกิจขยายตัวไปได้ดี มาเลเซียก็ไม่เลวนัก แต่เมื่อมองประเทศไทยจะเห็นการเติบโตที่ต่ำกว่าอนุภูมิภาค แต่คาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ถ้าสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย

“อย่างไรก็ดี เอดีบีประเมินว่า ข้อดีของเศรษฐกิจไทยคือปัญหาเงินเฟ้อไม่น่าห่วง ปีนี้ประชาชนจะไม่เดือนร้อนเรื่องนี้ โดยคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้จะขยายตัว 2.4% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากได้รับผลจากเงินบาทอ่อนและราคาก๊าซหุงต้มที่เพิ่มขึ้น และปีหน้าคาดว่าอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นอาจส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ดังนั้น ช่วง 2 ปีนี้คาดว่าเงินเฟ้อไม่น่ามีปัญหาต้องกังวล” ดร.ลัษมณกล่าว

กสิกรไทยชี้กรณีเลวร้าย จีดีพีเสี่ยงโตแค่ 1.3%

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ลงมาที่ 1.8% ในกรณีพื้นฐานจากประมาณการเดิมอยู่ที่ร้อยละ 3.0 บนสมมติฐานว่ามีรัฐบาลใหม่ได้ภายในกลางปี เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่อเค้าว่าจะยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาด ทำให้สมมติฐานที่ประเทศไทยจะมีรัฐบาลเข้ามาทำหน้าที่ได้ภายในกลางปีนั้นเริ่มมีความเป็นไปได้น้อยลง

โดยภายใต้ภาวะสุญญากาศที่ไม่มีรัฐบาลที่แท้จริงดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบให้การดำเนินนโยบายของรัฐในหลายด้าน ต้องประสบกับอุปสรรค ไม่สามารถเดินหน้าได้ อีกทั้งโครงการลงทุนของภาคเอกชน ก็ติดปัญหาในขั้นตอนการอนุมัติโครงการจากหน่วยงานภาครัฐเช่นกัน และขณะนี้ ก็ยังไม่สามารถระบุตารางเวลาที่แน่ชัดว่า กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลที่สามารถผลักดันนโยบายเศรษฐกิจได้นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อใด ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเศรษฐกิจในกรณีเลวร้ายว่า หากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองยืดเยื้อจนมีผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนในระดับที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งหากการส่งออกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดคือขยายตัวเพียง 3% จากที่คาดการณ์ 5% เศรษฐกิจไทยในปี 2557 ก็อาจขยายตัวได้เพียง 1.3% เท่านั้น แต่กรณีที่ดี สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วภายในกรกฎาคม 2557 ก็จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 2.4%

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับลดกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2557 ลงมาที่ 1.3-2.4% จากกรอบคาดการณ์เดิมที่ 2.2-3.7%