ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > ประชุมนัดพิเศษ “คลัง-ธปท.- กนง.- เอกชน” พูดภาษา “ดอกไม้-ไร้รอยต่อ”

ประชุมนัดพิเศษ “คลัง-ธปท.- กนง.- เอกชน” พูดภาษา “ดอกไม้-ไร้รอยต่อ”

14 พฤษภาคม 2013


การประชุมเรื่องผลกระทบค่าเงินบาทต่อเศรษฐกิจไทยที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2556 นับเป็น “ครั้งแรก” ที่ผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องค่าเงินบาททุกฝ่ายมาประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง หลังจากช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ที่ต่างฝ่ายต่างพูดและต่างแสดงความคิดเห็นขัดแย้งกันผ่านทางสื่อต่างๆ หรือหารือกันระหว่าง ธปท.กับองค์กรอื่นๆเช่น ส.อ.ท. เป็นต้น

การประชุมฯ นำทีมโดย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมหารือ และมีผู้เข้าร่วมประชุมได้แก่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง คณะกรรมการนโยบายการเงิน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ตลอดจนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

ผลของการประชุมครั้งนี้ออกมา “ชื่นมื่น” กันทุกฝ่าย โดยภายหลังการประชุม ตัวแทนของทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมต่างแสดงความ “พอใจ” ในการประชุมและเห็นตรงกันว่า การประชุมเป็นไปด้วยความ “สร้างสรรค์” และมีบรรยากาศที่ดีมาก

งานดิเบท “กิตติรัตน์ ณ ระนอง”รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง กับ “กรณ์ จาติกวานิช” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2556
งานดิเบท “กิตติรัตน์ ณ ระนอง”รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง กับ “กรณ์ จาติกวานิช” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2556

โดยในการประชุมนั้น เรื่องที่หารือกันแทบไม่มีการพูดถึงเรื่องมาตรการค่าเงินบาทและอัตราดอกเบี้ยเลย แต่เป็นเพียงการรับฟังข้อมูลของแต่ละฝ่ายเพื่อให้เห็นข้อมูลและมองปัญหาตรงกัน และมีข้อสรุปที่เห็นตรงกันว่า “ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน” ที่สำคัญ ไร้แรงกดดันการทำของ กนง. ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายมีความกังวล

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ไม่คิดว่าเป็นแรงกดดัน กนง. ในการประชุมครั้งต่อไป (29 พ.ค. 2556) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ดำเนินการประชุมในทางที่ดีมาก ในทางที่สร้างสรรค์ ไม่ได้มีอะไรที่รู้สึกเป็นแรงกดดันใดๆ เลย

“วันนี้ไม่ได้พูดเรื่องมาตรการ และไม่พูดถึงดอกเบี้ยด้วยไป ส่วนใหญ่พูดภาพรวมเศรษฐกิจ และความท้าทายของเศรษฐกิจโลกที่จะต้องเผชิญในระยะกลางและระยะยาว โดยในที่ประชุมทุกภาคส่วนก็มีความเห็นตรงกันว่า ในการเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ” ดร.ประสาร กล่าว

ดร.ศิริ การเจริญดี ในฐานะกรรมการ กนง. กล่าวว่า บรรยากาศการประชุมดีมาก ทุกคนมาให้ข้อมูลและให้มุมมองของตัวเอง โดยการประชุมครั้งนี้ได้ผลที่น่าพอใจ คือ ทุกฝ่ายในที่ประชุมยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปีนี้ชะลอลง และแนวโน้มจะไปทางไหน ทำให้การมองปัญหาตรงกัน จากที่ผ่านมามองปัญหาต่างกัน ทำให้เกิดความคิดเห็นขัดแย้งกัน เมื่อมองภาพเดียวกันแล้ว การแก้ปัญหาและการทำงานร่วมกันจะทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งในที่ประชุมเน้นย้ำว่าทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะผู้ดำเนินนโยบายการเงินการคลัง เริ่มจะเข้าหากันมากขึ้น ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดได้มากขึ้น

“สิ่งที่ต้องติดตามคือ จากนี้ไปทุกฝ่ายจะทำงานร่วมกันตามที่เห็นพ้องกันหรือไม่ แต่ถ้ามีอะไรที่ติดขัด ก็สามารถมาประชุมปรับจูนกันได้อีกในลักษณะเช่นนี้ และหากทุกฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างนี้ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ” ดร.ศิริกล่าว

สำหรับบรรยากาศในการประชุม ดร.ศิริกล่าวว่า บรรยากาศเป็นมิตร เป็นการประชุมหารือในลักษณะมารับฟังความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย และไม่มีการกดดันการทำงานของ กนง.

“ตอนแรกเป็นห่วงว่าจะมีการกดดันการทำงานของ กนง. แต่ก็ไม่มี บรรยากาศการประชุมเป็นมิตรมาก ในฐานะคนทำงานจึงรู้สบายใจ ทำให้การทำงานได้ง่ายขึ้น” ดร.ศิริกล่าว

ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การประชุมร่วมกันในวันนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันใน 4 เรื่องสำคัญ คือ 1. การใช้จ่ายภาครัฐ 2. การสร้างบรรยากาศการลงทุนให้เกิดการลงทุนใหม่หรือขยายการลงทุนเดิม 3. ทิศทางและกำลังซื้อของผู้บริโภค 4. สถานการณ์การส่งออกและการท่องเที่ยว

โดยในที่ประชุมฯ เห็นตรงกันว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังเติบโตได้ดี แม้ในปี 2555 เศรษฐกิจจะเผชิญความยากลำบากจากการเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาอุทกภัยใหญ่ในปลายปี 2554 รวมทั้งปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า ส่วนการส่งออกในปีนี้ เห็นว่าทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนควรทำงานร่วมกัน นอกเหนือจากเรื่องการดูแลปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน

“เงินบาทที่แข็งค่าเกินไปและมีความผันผวนจะทำให้การส่งออกขยายตัวลำบาก ทุกภาคส่วนควรดูแลและทำงานร่วมกัน ให้เงินบาทเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ ไม่มีความผันผวนเมื่อเทียบกับสกุลเงินของทั้งประเทศคู่ค้าและประเทศคู่แข่ง เพื่อให้การส่งออกเติบโตได้ตามเป้าหมาย” นายกิตติรัตน์กล่าว

รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง ในฐานะประธานการประชุม เริ่มต้นการประชุมในลักษณะประนีประนอมด้วยการบอกว่า “การประชุมครั้งนี้ไม่ได้ต้องการให้พูดเรื่องค่าเงินประเด็นเดียว ต้องการภาพกว้างทั้งหมด” ทำให้อุณหภูมิความเห็นต่างระหว่าง ธปท. กับกระทรวงคลังและภาคเอกชนที่ร้อนแรงในช่วงก่อนหน้านี้เบาลง และมีบรรยากาศการประชุมที่ดี

“ประเด็นที่คุยกันกว้างมาก และเรื่องค่าเงินกับดอกเบี้ยอาจฟังมาเยอะแล้ว จึงมีแต่การพูดเรื่องปัญหาของแต่ละภาคส่วน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องซ้ำๆ เหมือนเดิม แต่ไม่มีการบี้เรื่องมาตรการดูแลค่าเงินบาทหรือการกดดันให้ลดดอกเบี้ย” นายพรศิลป์กล่าว

ทั้งนี้ นายพรศิปล์เล่าบรรยากาศในประชุมว่า การชี้แจงข้อมูลเริ่มต้นจากการให้ข้อมูลของภาคเอกชน โดยทางประธาน ส.อ.ท. เริ่มให้ข้อมูลผลกระทบค่าเงินบาทต่อภาคส่งออก และเรื่องปัญหาของภาคอุตสาหกรรม ส่วนสภาหอการค้าไทยเตรียมข้อมูลเสนอในที่ประชุม 9 ข้อ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่เตรียมจะนำไปประชุมร่วมกับ ธปท. ซึ่งนัดไว้วันที่ 16 พฤษภาคม นี้ แต่นำมาเสนอในที่ประชุมนี้ก่อน โดยประธานกรรมการหอการค้าไทยเป็นผู้ชี้แจงบางประเด็น อาทิ เสนอให้สถาบันการเงินของภาครัฐ เข้ามาสนับสนุนวงเงินสำหรับป้องกันความเสี่ยงให้กับ SMEs อย่างเพียงพอ และในส่วนผลกระทบ ถ้าเงินก่อเปลี่ยนแปลง 1% จะกระทบค่าเงินเท่าไร ซึ่งทางมหาวิทยาลัยหอการค้าได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลให้ เช่น ธุรกิจน้ำตาล ถ้าค่าเงินแข็งค่าขึ้น 1 บาท รายได้ทั้งอุตสาหกรรมจะหายไป 4,000 ล้านบาท และเสนอให้สนับสนุนเงินบาทเป็น Currency Base ในการค้าขายของภูมิภาคการค้าชายแดน โดยเฉพาะประเทศลาว กัมพูชา พม่า เป็นต้น

“วันนี้ค่าเงินบาทอ่อน แต่เงินบาทแข็งก็อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้น ภาครัฐจึงควรมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและมีขั้นตอนที่ชัดเจน หรือมีสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าให้ภาคเอกชนทราบ เพื่อจะได้ปรับตัวและไม่ตื่นตระหนก เรื่องนี้เป็นอีกข้อเสนอหนึ่งของสภาหอการค้าไทย” นายพรศิลป์กล่าว

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ให้สัมภาษณ์เรื่องมาตรการคุมเงินไหลเข้า และอัตราดอกเบี้ยก่อนเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การกู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่รัฐสภาพ เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2556
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ให้สัมภาษณ์เรื่องมาตรการคุมเงินไหลเข้า และอัตราดอกเบี้ยก่อนเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การกู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่รัฐสภาพ เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2556

เมื่อภาคเอกชนชี้แจงข้อมูลเรียบร้อย รองประธานสภาหอการค้าไทยกล่าวว่า ทางผู้ว่าแบงก์ชาติได้ชี้แจงข้อมูลภาวะเศรษฐกิจ โดยสาระสำคัญเป็นการเล่าย้อนอดีตเรื่องค่าเงินดอลลาร์ตั้งแต่ระบบเบรตตัน วูดส์ (Bretton Woods System) จนมาถึงปัจจุบันและแนวโน้ม รวมถึงเล่าว่าเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปมาก บทบาทสหรัฐอเมริกาลดลง มีกลุ่มประเทศอื่นพยายามขึ้นมาแทนที่ และยังเล่าถึงเศรษฐกิจยุโรปและเศรษฐกิจญี่ปุ่น พร้อมกับเตือนให้ระวังเรื่องความอ่อนไหวของระบบเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ยังเล่าเรื่องสกุลเงินอื่นๆ ที่พยายามจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นแทนเงินดอลลาร์ เช่น เงินหยวนของจีน แต่ยังไม่สามารถทดแทนได้ในระยะสั้น นอกจากนี้ยังพูดเรื่องตลาดพันธบัตรที่มีเงินไหลเข้ามามาก เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เงินบาทแข็งค่า

“ผู้ว่าฯ เล่าเรื่องต่างๆ เหมือนสอนหนังสือ ก็เป็นสิ่งที่ดี ทำให้ทุกคนเห็นภาพตรงกัน และทำให้ภาคเอกชนเข้าใจระบบเศรษฐกิจโลกและกลไกตลาด เหมือนกับกำลังบอกว่า ถ้าเข้าใจกลไกเศรษฐกิจแล้ว เมื่อเกิดปัญหาจะได้ไม่ต้องออกมาโวยวาย แต่ทุกคนต้องร่วมมือกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เรื่องนี้สำคัญและต้องทำให้เกิดขึ้นจากนี้ไป” รองประธานกรรมการหอการค้าไทยระบุ

โดยสรุป แม้การประชุมครั้งนี้จะไม่มีมาตรการออกมา แต่นายพรศิลป์กล่าวว่า ไม่แปลกใจ เพราะคาดการณ์ไว้ก่อนแล้ว และการประชุมครั้งนี้คงต้องการเปิดให้มีเวทีคุยพร้อมหน้าพร้อมตากัน จากหลายเดือนที่ผ่านมาต่างคนต่างพูดผ่านสื่อ โดยภาคเอกชนที่เดือดร้อนออกมาโวยเรื่องผลกระทบเงินบาทแข็ง ส่วน ธปท. นิ่งไม่ตอบอะไร เพิ่งมีล่าสุดที่ทำหนังสือชี้แจงการทำงานของ ธปท. ส่วนรัฐบาลก็ออกมาเรียกร้องให้ลดดอกเบี้ย แต่ครั้งนี้ทุกคนเห็นตรงกันแล้ว ก็หวังว่าจะทำงานร่วมมือกันได้มากขึ้น

“การจัดประชุมครั้งนี้ รัฐบาลคงอยากให้เอกชนฟังกับหูว่า ธปท. คิดอะไร ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ ธปท. และ กนง. ฟังเองกับหูว่าเอกชนคิดอะไร รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้าประชุม ซึ่งวันนี้คุยกันละเอียดขึ้น และเป็นครั้งแรกที่มาคุยกันพร้อมหน้า จากนี้ไปคงต้องติดตามว่า สิ่งที่หารือกันจะทำเป็นรูปธรรมได้หรือไม่” นายพรศิลป์กล่าว

ขณะที่นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดี โดยภาคเอกชนได้สะท้อนข้อมูลผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเรื่องซัพพลายเชน (Supply Chain) ซึ่งก็ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง ทำให้มีผู้นำเข้าสินค้าราคาถูกมาแข่งขันกับผู้ประกอบการในซัพพลายเชน อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ค่าเงินบาทไม่ควรผันผวนหรือเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินไป

“ภาคเอกชนขอให้ ธปท. ช่วยดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนเปลี่ยนเร็วเกินไป คือ การเคลื่อนไหว 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ไม่ควรแข็งค่าเร็วเกินไป และควรดูแลให้เงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค และประเทศคู่แข่ง” ประธาน ส.อ.ท. กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากประชุมร่วมครั้งนี้ ท่าทีของ ส.อ.ท. ที่เคยเสนอให้ กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยลง 1% เพื่อแก้ปัญหาเงินบาทแข็งเริ่มมีท่าทีเปลี่ยนไป โดยนายพยุงศักดิ์กล่าวว่า มาตรการที่ดูแลอาจไม่จำเป็นต้องใช้การลดดอกเบี้ย หรือไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยถึง 1% ถ้ามีมาตรการอื่นๆ เข้ามาดูแล

“ถือว่าบรรยากาศการพูดคุยวันนี้เป็นไปด้วยดี เชื่อว่าหากภาครัฐและภาคเอกชนยังร่วมมือกันทำงานแบบนี้ ยังมีโอกาสที่จีดีพีจะเติบโตในระดับเกิน 5% ขึ้นไปได้” นายพยุงศักดิ์กล่าว

เมื่อฟังความเห็นของทุกฝ่ายในประชุมนัดพิเศษครั้งนี้ ซึ่งเห็นตรงกันว่า บรรยากาศเป็นมิตร พูดจาภาษาเดียวกัน และได้ข้อสรุปว่า “ทุกฝ่ายจะร่วมกันทำงาน” แบบ “ไร้รอยต่อ” จนแทบไม่เห็นร่องรอยของความขัดแย้งในช่วงที่ผ่าน โดยเฉพาะผู้ดำเนินนโยบายการเงิน การคลัง ที่ดูเหมือนเริ่มเข้าใจกันมากขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดี ช่วยสร้างความเชื่อมั่น ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ

เพราะฉะนั้น ถ้าเดินหน้าสานต่อแนวทางที่ตกลงกันได้คือ “ทุกฝ่ายจะทำงานร่วมกัน” น่าจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การเงิน อย่างสร้างสรรค์ และได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ

แต่มีข้อสังเกตว่า สาเหตุที่การประชุมได้ผลที่น่าพอใจ เพราะเป็นจังหวะที่เงินบาทอ่อนแตะระดับ 29.71-29.73 บาท/เหรียญสหรัฐฯ จึงทำให้บรรยากาศการหารือผ่อนคลายลง ไม่ร้อนแรงเหมือนที่ผ่าน แต่ถ้าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอีก ปัญหาความขัดแย้งก็อาจปะทุขึ้นมาอีก

ดังนั้น หวังว่างานนี้จะไม่เป็นเพียงการ “สร้างภาพ”