“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” เผย ธปท. จะปรับลดคาดการณ์จีดีพีและการส่งออก สะท้อนตามตัวเลขเศรษฐกิจจริง ระบุปีนี้แย่สุดแต่ไม่ติดลบ ชี้ระยะสั้นปัจจัยพื้นฐานยังแข็งแกร่ง แม้รายย่อยจะได้รับผลกระทบ ย้ำห่วงการลงทุนชะลอตัวลงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจระยะปานกลาง สอดรับกับข้อมูลแบงก์กสิกรเผยเอกชนรายใหญ่ชะลอและไปลงทุนนอกประเทศถึง 60% ชี้ในกลุ่มอาเซียนไปเมียนมาร์มากสุด
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2557 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธานเปิดงานมหกรรมการเงิน ครั้งที่ 14 หรือ Money Expo 2014 เปิดเผยว่าเศรษฐกิจยังคงได้รับผลกระทบจากการเมืองที่ยังไม่ชัดเจน ส่วนการส่งออกที่ฟื้นตัวจากเศรษฐกิจโลกไม่น่าจะชดเชยการหดตัวของการบริโภคและลงทุนในประเทศเนื่องจากปัจจัยการเมืองได้ ประกอบกับตัวเลขการส่งออกไตรมาสแรกที่ต่ำกว่าคาด อาจทำให้ต้องปรับลดจีดีพีลงจาก 2.7% และการส่งออกลงจาก 4.5% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ต้องรอดูตัวเลขจริงไตรมาสแรกก่อน แต่ถ้าการเมืองจบชัดเจนเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้ในปีหน้า
“การคาดการณ์ก่อนหน้านี้ การเมืองยังอยู่ในความเป็นไปได้ แต่ตอนนี้เหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ก็ยังไม่ถึงกับจบ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามว่าเหตุการณ์จะยุติได้ในลักษณะใด แต่เหตุการณ์มันก็จะวิวัฒนาการไป เราก็จะต้องเอาข้อมูลจริงมาประเมินเป็นระยะๆ แต่ตัวเลขที่จะแถลงในเดือนมิถุนายนก็ไม่คิดว่าจะติดลบ” ดร.ประสารกล่าว
ดร.ประสารมองว่าเศรษฐกิจระยะสั้นไม่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจัยพื้นฐานยังแข็งแกร่งอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพคล่องในระบบที่สูง รวมไปทั้งสัญญาณจากอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดเงิน ระบบสถาบันการเงิน ดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลบัญชีชำระเงิน ต่างก็ไม่แสดงถึงความตกใจหรือขาดความเชื่อมั่นในประเทศไทย รวมทั้งนโยบายการเงินที่เป็นอยู่ก็ผ่อนปรนและเอื้อต่อระบบเศรษฐกิจมากอยู่แล้ว
“ผมคิดว่ามันรับได้ว่าระยะสั้นจะไม่เกิดวิกฤติ แต่ก็จะมีปัญหาแน่ๆ โดยเฉพาะรายย่อยต่างๆ ที่จะขายของได้น้อยลง รายได้ลูกจ้างอาจจะลดลง การจ้างงานอาจจะอ่อนแอลงได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการลงทุนที่จะส่งผลในระยะกลางมากกว่า เพราะการลงทุนที่ชะลอตัวในช่วงนี้จากสถานการณ์ทางการเมืองจะไปส่งผลใน 2-3 ปีต่อไป ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถและความเชื่อมั่นของประเทศเพราะการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับหลายส่วน ทั้งเรื่องการจ้างงาน รายได้คน ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในระยะต่อไปของเราจะลดลง”ดร.ประสารกล่าว
ด้านนายวศิน วณิชย์วรนันต์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ว่าเอกชนรายใหญ่ที่มียอดขายมากกว่า 400 ล้านบาทขึ้นไปจำนวน 17,000 ราย มีความต้องการลงทุนอยู่ประมาณ 1.3-1.5 ล้านล้านบาท ปรากฏว่าไตรมาสแรกปี 2557 ได้ลงทุนในต่างประเทศ 60% ในประเทศ 40% เทียบกับปี 2556 ทั้งปีลงทุนในต่างประเทศ 35% อีก 65% ลงทุนในประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของเอกชนที่ลดลง
การลงทุนในต่างประเทศที่ไปลงทุนในอาเซียนพบว่าประเทศเมียนมาร์มากที่สุด จากเดิมคิดเป็นสัดส่วน 8% เพิ่มขึ้นเป็น 36% นอกจากนี้ กว่า 90% ของโครงการลงทุนในอาเซียนยังคงเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งมักเป็นโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมสินค้าและบริการเพื่ออุปโภคบริโภคในตลาดอาเซียน ส่วนการลงทุนในประเทศเป็นการลงทุนที่ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านๆ มา
นอกจากนี้ เมื่อดูสัดส่วนขั้นตอนการลงทุนในประเทศสามขั้น คือ 1) ริเริ่มโครงการ (Explore) 2) เก็บข้อมูลและตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ (Progress) และ 3) ลงมือลงทุน (Result) จากโครงการทั้งหมด พบว่าในขั้นที่สองมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 27% ในไตรมาสแรกของปี 2556 เป็น 59% ในไตรมาสแรกของปี 2557 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการก็ยังมองเห็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจในประเทศแต่ยังคงรอจังหวะอยู่ ขณะที่การริเริ่มโครงการก็ลดลงจาก 43% เป็น 32% เช่นเดียวกับโครงการลงทุนจริงที่ลดลงจาก 30% เหลือแค่ 10%
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ช่วงต้นปีศูนย์วิจัยกสิกรเคยตั้งเป้าเอาไว้ที่ 3% ก่อนจะปรับลดลงมาที่ 1.8% ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์คาดจีดีพีโตเพียง 1.6% ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยคาดโต 2.7% และสำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่าโต 2.6% ตามที่รายงานก่อนหน้านี้