ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดผลสอบกรรมาธิการ “ถังก๊าซเอ็นจีวี” ระเบิดที่จ.สมุทรปราการ หวั่นมีถังล็อตนี้เรียกคืนไม่หมด ยังวิ่งเกลื่อนเมือง

เปิดผลสอบกรรมาธิการ “ถังก๊าซเอ็นจีวี” ระเบิดที่จ.สมุทรปราการ หวั่นมีถังล็อตนี้เรียกคืนไม่หมด ยังวิ่งเกลื่อนเมือง

4 กันยายน 2011


ผลสอบกรรมาธิการการพลังงานฯ กรณีถังก๊าซเอ็นจีวีระเบิดที่จ. สมุทรปราการ พบสาเหตุการระเบิดเกิดจากกระบวนการผลิตไม่ได้มาตรฐาน มีสารประกอบออกไซด์ปนอยู่ในเนื้อเหล็ก กัดผนังด้านในถังจนกลายเป็นหลุม และทำให้เกิดรอยปริแยกบริเวณก้นหลุม หลังจากที่นำรถไปเติมก๊าซ 40 ครั้ง ชี้หลังเกิดเหตุการณ์สยองขวัญ ผู้นำเข้าเรียกถังก๊าซที่ผลิตโดยบริษัทไฟน์เทค ส่งคืนเกาหลีแค่ 376 ใบ ส่วนที่เหลือกว่า 600 ใบ ยังไม่ทราบชะตากรรม นอกจากนี้ยังพบข้อมูลปตท. สั่งถังก๊าซรุ่นนี้เข้ามากว่า 25,000 ใบ

ปัญหาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูง ปัจจุบันก็ยังคงเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชน แม้ว่าวันนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 จะมีมาตรการยกเลิกการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้วก็ตาม แต่น้ำมันก็ยังมีราคาแพงอยู่ดี ทำให้ผู้บริโภคต้องปรับตัวหันไปพึ่งพาพลังงานทางเลือกอื่นกันมากขึ้น ด้วยการนำรถยนต์ไปติดตั้งอุปกรณ์ดัดแปลงเครื่องยนต์ไปใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากมีราคาถูกกว่าราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลถึง 3-4 เท่าตัว

แต่ทว่า ตอนนี้เอ็นจีวีที่เป็นพลังงานทางเลือกตามนโยบายรัฐบาลให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ จริงๆ แล้วมันเป็นพลังงานทางเลือกที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่

หลังจากที่มีเหตุการณ์รถโดยสารประจำทางของบริษัท สันติมิตรขนส่ง จำกัด ระเบิดเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2551 ขณะจอดเติมก๊าซเอ็นจีวีอยู่ที่ปั้มปตท. จ. สมุทรปราการ มีพนักงานเติมก๊าซได้รับบาดเจ็บขาขวาหัก 1 ราย และมีรถยนต์ที่จอดอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้รับความเสียหายอีก 7 คัน สภาพตัวอาคารพาณิชย์ได้รับความเสียหายบางส่วน เพราะโดนชิ้นส่วนของถังก๊าซที่ระเบิดกระแทกเข้าที่ตัวผนังของอาคารที่อยู่สูงจากพื้นดิน 30 เมตรทะลุ สภาพตัวรถโดยสารแหลกแทบจะไม่เหลือชิ้นดี

แหล่งข่าวจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยถึงผลการสอบสวนกรณีรถโดยสารติดเอ็นจีวีระเบิด ขณะจอดเติมก๊าซที่จ. สมุทรปราการเมื่อปี 2551 ว่า ภายหลังจากที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎรให้เข้าไปทำการตรวจสอบและวิเคราะห์หาสาเหตุการระเบิดของถังก๊าซเอ็นจีวี โดยรถโดยสารที่เกิดเหตุระเบิดนั้น มีการติดตั้งถังก๊าซเอ็นจีวี จำนวน 2 ใบ แต่ระเบิดเพียงใบเดียว ทางวว. จึงนำเศษชิ้นส่วนของถังที่ระเบิดมาทำการทดสอบเปรียบเทียบกับถังที่ไม่ระเบิด ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ พบว่าถังที่ระเบิดมีสิ่งแปลกปลอมเข้าเกาะอยู่ตรงด้านในผนังของถังที่ระเบิดหรือที่เรียกว่า “inclusion” ในปริมาณที่สูงเป็นสารประกอบออกไซด์

ภาพรถเมล์ระเบิด จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 8 สิงหาคม 2551
ภาพรถเมล์ระเบิด จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 8 สิงหาคม 2551

และเมื่อนำไปวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี โดย EDX สิ่งที่เจือปนอยู่ในเนื้อเหล็กประกอบไปด้วย เซรามิค อลูมิเนียม ไทเทเนียม แคลเซียม ออกซิเจน เซลิคอน แมกนีเซียม ทองคำ เป็นต้น เมื่อรถโดยสารคันที่เกิดเหตุระเบิดติดตั้งถังเอ็นจีวีเสร็จได้นำรถไปใช้เป็นระยะเวลารวมกว่า 1 เดือน และก่อนเกิดเหตุระเบิดได้ผ่านการเติมก๊าซเอ็นจีวีมาแล้ว 40 ครั้ง ถังจะเกิดการกัดกร่อนที่ผนังด้านในของถังเป็นหลุมๆ และที่ก้นของหลุมมีรอยแยกหรือรอยร้าวเล็กๆ และที่รอยร้าวเล็กๆ มีสารประกอบออกไซด์เกาะอยู่เป็นจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับชิ้นส่วนของถังที่ไม่ระเบิด

ดังนั้น ทางวว. จึงสรุปสาเหตุที่ทำให้ถังก๊าซเอ็นจีวีระเบิดว่าเกิดจากการขยายตัวของรอยร้าว ซึ่งมีสิ่งแปลกปลอม (inclusion) เข้าไปเจือปนอยู่ในเนื้อวัสดุในระหว่างการใช้งาน ทำให้ความสามารถในการรับแรงดันของตัวถังก๊าซต่ำกว่าที่โรงงานออกแบบไว้ และเมื่อมีการนำรถไปเติมก๊าซ เครื่องอัดแรงดันที่ปั้มก๊าซก็จะไปดันให้รอยแยกยิ่งขยายตัวไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมาเกิดเหตุระเบิดเมื่อมีการนำรถไปเติมก๊าซครั้งที่ 40

ส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภา ได้หยิบยกประเด็นที่บริษัทปตท. นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปเติมอยู่ในเนื้อก๊าซเอ็นจีวีอาจจะไปทำปฏิกิริยาน้ำหรือความชื้นในถังแล้วจะกลายเป็นกรดคาร์บอเนตแล้ว อาจจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้เกิดการกัดกร่อนเร็วขึ้นนั้น ในกรณีของถังระเบิดที่จ. สมุทรปราการ ตอนนั้นทางวว. ตรวจแค่ตู้จ่ายก๊าซกับเครื่องอัดแรงดัน พบว่าปล่อยแรงดันอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ได้นำเนื้อก๊าซมาตรวจจึงไม่สามารถยืนยันอะไรได้ แต่ถ้าดูจากหลักฐานแล้วน่าจะมาจากเรื่องกระบวนการผลิตถังก๊าซเอ็นจีวีของโรงงานวูสี (Wuxi) ที่ยังไม่ได้มาตรฐานมากกว่า เพราะยังไม่สามารถขจัดสิ่งแปลกปลอมที่ปะปนอยู่ในเนื้อเหล็กได้

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือบริษัท สยามราชธานี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำเข้าถังล็อตนี้จากบริษัท ไฟน์เทค จำกัด ประเทศเกาหลีมีจำนวน 1,000 ใบ ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ระเบิดแค่ 1 ใบ ทางบริษัท สยามราชธานีฯ ได้เรียกถังก๊าซที่ติดตั้งไปแล้วกลับคืนมาได้เพียง 376 ใบ จากทั้งหมด 1,000 ใบซึ่งเป็นถังที่ผลิตจากเนื้อเหล็กชุดเดียวกัน (heat number) กับถังที่ระเบิด

นอกจากนี้ทางคณะอนุกรรมาธิการฯ ยังตรวจสอบพบว่าบริษัทปตท. ก็มีการนำเข้าถังของบริษัทไฟน์เทค มาอีก 25,000 ใบ โดยสั่งซื้อผ่านบริษัทโพลีเทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทสแกนอินเตอร์ จำกัดนำเข้ามาอีก 1,000 ใบ ในจำนวนนี้มีถังก๊าซที่ผลิตจากโรงงานวูสี จำนวน 7,800 ใบ กระจายปะปนอยู่ในสต็อกถังของ 3 บริษัท และยังมีผู้ประกอบการรายอื่นๆ ไปสั่งซื้อถังของบริษัท ไฟน์เทค ผ่านบริษัท โพลีเทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น อีก 7,800 ใบ เวลาผ่านมา 3 ปี ไม่แน่ใจว่าสภาพของถังหรืออายุการใช้งานของถังตอนนี้เป็นอย่างไร ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีหน่วยงานใดที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะไปเรียกถังก๊าซที่ไม่ได้มาตรฐานนำกลับมาทำลาย